ดื่มเหล้าต่างเวลาต่างผลเสีย

-

ในความรู้สึกของทั่วไป มักบอกว่าการดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลากลางวันกับกลางคืนไม่น่าจะมีผลแตกต่างกัน เพราะมันก็ทำให้เมาได้เหมือนกัน แต่งานวิจัยล่าสุดของจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านแอลกอฮอล์พบว่ามันมีผลกระทบแตกต่างกัน และยังแฝงข้อคิดอย่างน่าสนใจด้วย

หากดื่มในเวลากลางคืน ผู้ดื่มจะรู้ตัวว่าเมื่อใดจะหยุดดื่ม นั่นคือเมื่อกินอาหารเย็นเสร็จสรรพ แต่สำหรับผู้ดื่มในเวลากลางวัน อาการู้ตัวทำนองนี้กลับไม่มี ดังนั้นจึงดื่มไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตอนบ่ายโดยไม่ได้นับแก้ว และถ้าดื่มทั้งวันตั้งแต่เช้า ก็จะไม่มีการนับแก้วเหมือนกัน โดยมีโอกาสสูงที่จะไม่มีอาหารเพียงพอในกระเพาะ ซึ่งต่างจากการดื่มในตอนค่ำ ดังนั้นจึงออกอาการเมาได้เร็วกว่า

การดื่มในเวลากลางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ร้อนจัดซึ่งส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำได้นั้น อาการเมาจะกำเริบ อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ปัสสาวะถี่ขึ้นจนของเหลวออกจากร่างกายมาก รวมทั้งโซเดียมและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายทำงานตามปกติด้วย

หลังการดื่มนั้นเป็นที่รู้กันว่าอาการเมาค้าง (hangover) คือ คลื่นไส้ ปวดหัว หรือวิงเวียน ก็จะเกิดที่ตามมา ยิ่งเริ่มดื่มก่อนบ่ายเร็วเพียงใดก็ยิ่งเกิดอาการเร็วเพียงนั้น ในขณะที่การดื่มยามค่ำคืนจะมีอาการเมาค้างในตอนเช้าหรือตอนสายของวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การดื่มจนเมามายจะซ้ำเติมการขาดน้ำของร่างกาย ดังนั้นการดื่มในเวลากลางวันจึงมักทำให้อาการเมาค้างรุนแรงกว่า วิธีที่ดีในการช่วยแก้อาการเมาค้างก็คือดื่มน้ำเปล่าตามมาในสัดส่วนน้ำหนึ่งแก้วต่อแอลกอฮอล์หนึ่งแก้ว รับประทานอาหารให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อีกทั้งจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มให้อยู่ในเกณฑ์อันเหมาะสม ไม่ว่าจะดื่มในเวลาใดก็ตาม

การขาดน้ำของร่างกายมักทำให้อาการเมาค้างรุนแรงขึ้น ในกรณีที่ดื่มมากและร่างกายขาดน้ำ มือจะสั่น รู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือแม้แต่เกิดความรู้สึกหวาดกลัว กระวนกระวาย ประหม่า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “hang-xiety” ในกรณีที่ขาดน้ำรุนแรงและดื่มจัด อาการเหล่านี้อาจสำแดงอยู่หลายชั่วโมงหรือหลายวันก็เป็นได้

การดื่มไวน์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนที่คิดว่าเป็นสูตรช่วยให้นอนหลับนั้น อาจทำให้ไม่หลับสนิท หรือต้องตื่นขึ้นมาเพื่อปัสสาวะกลางดึกจนไม่อาจกลับไปหลับได้อีกโดยง่าย ส่วนผู้ดื่มในเวลากลางวันก็อาจเกิดปัญหาการนอนหลับได้เช่นกัน การหลับงีบในเวลากลางวันเพราะง่วงจากอาการเมาอาจมีผลให้นอนหลับได้ยากขึ้นในเวลากลางคืนหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก

การหยุดดื่มเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน อีกทั้งมีการดื่มน้ำและอาหารในช่วงเวลานั้นด้วยทำให้ร่างกายมีโอกาสดูดซับแอลกอฮอล์ก่อนนอนจนร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก่อนถึงเวลานอน

โดยสรุปการดื่มแอลกอฮอล์ในเวลากลางคืนมีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าการดื่มในเวลากลางวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีอากาศร้อน แต่ถ้าจะให้เกิดผลเสียเพียงเล็กน้อยแล้ว ควรดื่มในปริมาณจำกัดและอย่างมีสติ


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!