อุปกรณ์ลวงโลก เครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์

-

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM2.5 ได้เวียนกลับมาปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามคาด ก็เกิดประเด็น “เครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์” ให้เป็นที่ถกเถียงในสังคมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) นำมาติดตั้งทดสอบ แล้วอ้างว่า มันคือเครื่องมือที่จะช่วยให้คนกว่า 2 หมื่นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากฝุ่น PM2.5 จากรถเมล์เพียงคันเดียว

คำถามที่ตามมาทันที ทั้งในโลกโซเชียลและโลกแห่งความเป็นจริง นั่นคือ เจ้าเครื่องนี้ใช้งานได้ดีจริงอย่างที่อ้าง หรือว่าเป็นเครื่องมือลวงโลกอีกตัวหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก GT200 เมื่อ 10 ปีก่อน

มีความพยายามจะติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.

เรื่องนี้เริ่มจากการที่กระทรวงคมนาคมมีไอเดียจะทำเครื่องกรองอากาศเคลื่อนที่ติดบนหลังคารถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และใช้หลักการเหมือนเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน แต่ไม่ต้องใช้กระแสไฟ เพราะจะอาศัยการวิ่งของรถนำอากาศเข้ามาโดยผ่านไส้กรองอากาศ เพื่อให้ได้อากาศที่ปราศจากฝุ่นออกมา คาดว่าจะมีราคาราวๆ 7,500 บาท ราคาของไส้กรองอยู่ที่ 500 บาท ใช้ได้ประมาณ 15 วัน เครื่องกรองอากาศต้นแบบนั้นติดตั้งบนหลังคารถโดยสารประจำทางสาย 34 และถ้าได้ผลดี จะติดตั้งเพิ่มเติมในรถเมล์ให้ครบทั้ง 3 พันคัน ใช้งบประมาณรวม 21-22 ล้านบาท

หลังจากรถเมล์ซึ่งติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบบนหลังคารถได้ออกทดสอบวิ่งแล้ว ทาง ขสมก. ก็แถลงถึงความสำเร็จในการทดลองดังกล่าว และอธิบายว่า เครื่องกรองอากาศต้นแบบบนหลังคารถเมล์สามารถกวาดอากาศที่มีฝุ่น PM2.5 ซึ่งเเขวนลอยอยู่บนถนนที่มีการจราจรหนาเเน่นได้ 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร ต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว (เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางยาว 20 กิโลเมตร) เทียบเท่ากับการกรองอากาศให้แก่ประชาชนที่อยู่บนถนนถึง 2 หมื่นคน  ยิ่งกว่านั้น ทาง ขสมก. ได้วัดค่าฝุ่น PM2.5 เมื่ออากาศผ่านเครื่องกรองออกมาแล้ว จะมีค่าเหลือเพียง 1 – 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับได้ว่ามีคุณภาพอากาศที่ดีมาก

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านว่า นี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะจริงๆ แล้ว สาเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่มีมากในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. นั่นเอง ที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซลมาตรฐานต่ำ ระดับเครื่องยนต์แค่ยูโร 1 ยูโร 2 และยังมีอายุการใช้งานที่คร่ำคร่า คือมักเกิน 10 ปีขึ้นไป และจำนวนไม่น้อยที่มีอายุกว่า 20 ปี ดังนั้น สิ่งที่ ขสมก. ควรจะทำอย่างเร่งด่วน คือ เร่งปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ของรถโดยสารประจำทางให้ดีขึ้นต่างหาก รวมทั้งจัดหารถรุ่นใหม่ที่มีเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูง และมีระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น ยูโร 4 ยูโร 5 นอกจากนี้ควรใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าได้แล้ว ไม่ใช่พยายามจะหาทางแก้แบบปลายเหตุเช่นนี้

ลักษณะของเครื่องกรองอากาศเป็นกล่องยาวที่มีไส้กรองฟอกอากาศอยู่ด้านใน

ขสมก. อ้างว่า เครื่องสามารถกวาดอากาศที่มีฝุ่น PM2.5 ซึ่งปะทะหน้ารถและผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ แต่ความจริงแล้ว การที่อากาศจะเข้าในเครื่องกรองได้เอง รถเมล์จะต้องแล่นด้วยความเร็วสูงพอ ซึ่งขัดแย้งกับคำว่า “เมื่อการจราจรหนาแน่น” รถเคลื่อนตัวได้ช้ามากเนื่องจากการจราจรติดขัด แถมรถเมล์ยังต้องวิ่งด้วยความเร็วมากพอด้วย เพื่อให้เกิดแรงดันทะลุผ่านไส้กรองฝุ่นของเครื่อง มิเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการกรองฝุ่นขึ้น

ส่วนที่ ขสมก. บอกว่า เอาไอเดียมาจากเครื่องกรองอากาศบนรถประจำทางที่เมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษนั้น ก็แตกต่างกับที่ ขสมก. ติดตั้งอย่างมาก โครงการรถเมล์กรองฝุ่นดังกล่าวเป็นการจัดซื้อรถประจำทางรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานสูงระดับยูโร 6 ปล่อยมลพิษน้อยมาก เพื่อรณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และได้สร้างสีสันด้วยการติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM10 ไว้บนหลังคารถ เครื่องนี้ใช้พัดลมขนาดใหญ่ดูดอากาศเข้ามา ก่อนจะผ่านตัวกรองฝุ่นไปเก็บกักเอาไว้ และหลังจากทดลองวิ่งไป 100 วันนั้น พบว่าสามารถเก็บฝุ่นได้ปริมาณเพียง 65 กรัม หรือเท่ากับลูกเทนนิส 1 ลูกแค่นั้นเอง

ประเด็นที่ ขสมก. กล่าวอ้างว่า สามารถกวาดอากาศได้ 1 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว ก็เป็นการคำนวณที่ผิดวิธี เพราะไม่ควรวัดจากปริมาณของอากาศที่เข้าทางด้านหน้าของเครื่องกรอง แต่ต้องวัดจากปริมาณของอากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาด้านหลัง ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ต่างหาก โดยปกติแล้ว ปริมาณของอากาศที่ออกมาด้านหลังเครื่องนั้นน้อยกว่าปริมาณของอากาศที่เข้าทางด้านหน้าเครื่องเป็นอย่างมาก เพราะไส้กรองสำหรับใช้กรองฝุ่น PM 2.5 มีความหนาแน่นของเส้นใยของไส้กรองสูง ทำให้อากาศผ่านออกมาได้ยาก

การทำงานของรถเมล์ดูดฝุ่นที่เมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ

ที่หนักกว่านั้น คือการที่ ขสมก. อ้างว่าเครื่องกรองอากาศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดี เนื่องจากอากาศที่ผ่านไส้กรองมาแล้วนั้นมีค่าเพียง 1-5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่การรายงานผลการทดสอบแบบนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องการวัดประสิทธิภาพของเครื่อง เพราะการวัดปริมาณฝุ่นหลังจากผ่านไส้กรองแล้วได้ค่าน้อยลงนั้น เป็นเรื่องปรกติสามัญที่ควรจะเป็น เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนอ้างว่า ตู้เย็นตู้หนึ่งสามารถทำให้ทั้งสนามฟุตบอลเย็นได้ โดยการเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดอุณหภูมิหน้าประตูตู้เย็นที่เปิดอยู่ ก็จะเห็นว่า ค่าอุณหภูมิที่วัดได้นั้น ย่อมมีค่าต่ำเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และตู้เย็นตู้นี้ก็ไม่ได้ทำให้อากาศ “ทั้งสนาม” เย็นลงแต่อย่างใด

แต่ที่ขัดสายตาของประชาชนทั่วไปอย่างยิ่ง เมื่อเห็นการทดลองเครื่องต้นแบบกรองอากาศดังกล่าว คือการที่กล่องของเครื่องกรองนั้นติดตั้งไว้บนหลังคาตัวรถด้านหน้าของรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยไอเสียเป็นมลพิษ ดังนั้น แม้ว่าเครื่องกรองอากาศนี้จะทำให้ได้อากาศบริสุทธิ์โดยผ่านการกรองฝุ่นออกไปแล้วดังที่อวดอ้าง แต่อากาศดีที่ออกมาจากด้านหน้ารถ ก็จะถูกปนเปื้อนไปไปอย่างรวดเร็วหมดจดจากการปล่อยไอเสียของรถทางด้านท้าย และมีฝุ่น PM2.5 จำนวนนับร้อยนับพันเท่าของอากาศที่ได้จากเครื่องกรอง เรียกได้ว่าไม่มีประโยชน์เลย

ในขณะที่เรื่องนี้ยังไม่ถึงบทสรุปว่า ทางกระทรวงคมนาคมและ ขสมก. จะเดินหน้าติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารประจำทางต่อไปหรือไม่ หรือติดตั้งจำนวนกี่มากน้อย ก็น่าที่จะตั้งคำถามว่า ไม่มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทดลองนี้เลยหรือ ว่ามันเป็นแค่อุปกรณ์ลวงโลกที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง ยังสิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรอีกต่างหาก


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

 

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!