เครื่องบินตกหลุมอากาศ ทำยังไงดี

-

เครื่องบินตกหลุมอากาศ ทำยังไงดี

            “ระทึก เครื่องบินสิงคโปร์ตกหลุมอากาศ เสียชีวิตหนึ่ง บาดเจ็บนับสิบ ลงฉุกเฉินที่ไทย!” เกิดอุบัติเหตุระทึกขวัญ เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 777-300 อีอาร์ ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งเดินทางจากท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ ไปยังท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ ได้เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง เหนือน่านฟ้าประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และถึงกับมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จนเครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉิน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่ประสบอุบัติเหตุทางการบินจนมีผู้เสียชีวิต

ตามรายงานข่าวระบุว่า ระหว่างพนักงานลูกเรือกำลังให้บริการอาหารเช้าแก่ผู้โดยสารอยู่นั้น เครื่องบินได้ประสบเหตุกระแสลมแปรปรวน และตกหลุมอากาศที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต (ประมาณ 11,000 เมตร) เหนือระดับน้ำทะเล เครื่องเลยร่วงลงในแนวดิ่งอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งถูกกระชากลอยขึ้นจากที่นั่ง และเกิดความเสียหายภายในเครื่องบิน หน้ากากออกซิเจนถูกดีดออกมา ส่วนสัมภาระของผู้โดยสารก็ตกหล่นจากช่องเก็บเหนือศีรษะ และกระเด็นไปทั่ว สำหรับผู้เสียชีวิตนั้น เป็นชายชาวอังกฤษอายุ 73 ปี ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเกิดอาการหัวใจวาย จนเสียชีวิต

สภาวะที่อากาศแปรปรวนจนเครื่องบินตกหลุมอากาศนั้น เป็นผลจากการเคลื่อนที่ของกระแสลมในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเกิดความแปรปรวนยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้น โดยคาดเดาได้ยากหรือสังเกตไม่เห็นเลย ดังที่เรียกว่า ‘clear air turbulence’ ซึ่งกระแสลมมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่างฉับพลัน ตามความแตกต่างของอุณหภูมิอากาศและแรงดันอากาศ ที่ระดับความสูงแตกต่างกันในบริเวณนั้น จึงทำนายการเกิดขึ้นได้ยาก นักบินไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง และไม่ปรากฏอยู่หน้าจอเรดาร์ตรวจอากาศ เลยเป็นการยากที่นักบินจะพาเครื่องบินหลีกเลี่ยง หรือแม้แต่กดสัญญาณเตือนให้ทัน

ในกรณีการตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงของเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ SQ321 นี้ มีสมมติฐานจากการตรวจสอบพยากรณ์อากาศว่า อาจเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง ที่ก่อตัวขึ้นอย่างกะทันหันใกล้กับเส้นทางการบินของเครื่อง จนเกิดการเคลื่อนที่ของมวลอากาศอย่างรวดเร็วรุนแรง นักบินคงแทบไม่มีเวลารับมือได้ทันถ้าเจออันตรายเฉพาะหน้า และน่าจะทำให้เครื่อง SQ32 โดนกระแสลมฉุดขึ้นและตกลง เกิดการเปลี่ยนระดับเพดานบินอย่างฉับพลัน

ถ้าอยากรู้ว่าภยันตรายจากเครื่องบินตกหลุมอากาศเป็นอย่างไร ก็ให้ลองนึกว่าตัวเรากำลังอยู่ใน ‘ตู้ลิฟต์’ ที่ตกลงอย่างกะทันหัน เป็นระยะทาง 60 เมตร แล้วเด้งลอยขึ้นมา 60 เมตร แล้วหล่นลงไปอีก 60 เมตร ส่งผลให้ร่างกายของเราพุ่งขึ้นไปกระแทกเพดาน แล้วหล่นลงมากระแทกพื้น หรือกระเด็นไปชนผนังตู้ หรือกระแทกกับคนอื่นๆ ในตู้ลิฟต์นั้น

อันตรายจากการตกหลุมอากาศเมื่อโดยสารเครื่องบิน ไม่ได้มีเพียงแค่การที่ร่างกายกระเด็นไปชนเพดานเครื่อง ชนเก้าอี้ หรือชนกับคนอื่นเท่านั้น แต่บรรดากระเป๋าเดินทางและข้าวของในช่องเก็บสัมภาระเครื่องบิน ก็อาจตกหล่นลงมากระแทกผู้โดยสารด้วย โดยมากมักเกิดอาการบาดเจ็บที่คอและศีรษะจากการกระแทก รวมถึงอาจมีกระดูกแขนขาแตกหัก หรืออาการตกเลือดในบริเวณช่องท้อง และเลือดออกในสมอง อันเนื่องจากลำตัวและศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง หรือการโดนน้ำร้อนลวก จากพวกเครื่องดื่มร้อน จนผิวหนังไหม้พอง

ยิ่งกว่านั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง อาจทำให้ผู้โดยสารบางคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคหัวใจ เกิดอาการหัวใจวายได้ นอกจากนี้ความเครียดที่เกิดขึ้นควบคู่กับสถานการณ์วิกฤติดังกล่าว  ยังไปกระตุ้นให้ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะวิตกกังวล, โรคแพนิก (ตื่นตระหนก), โรคลมชัก ลมบ้าหมู ฯลฯ กำเริบอีกด้วย

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศนั้น เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน จากการศึกษาของหน่วยงานด้านการบินพาณิชย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารในสหรัฐฯ ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 ถึง 2018 นั้น จำนวนกว่า 1 ใน 3 เกี่ยวข้องกับการตกหลุมอากาศ โดยมาก มักทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บ แต่กลับไม่เกิดความเสียหายแก่เครื่องบิน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 48 ชั่วโมง (2 วัน) อันเนื่องจากกระดูกหัก มีเลือดออกภายในอย่างรุนแรง และเกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะภายใน

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ของผู้ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องบินตกหลุมอากาศ มักเป็นลูกเรือของเครื่องบินเอง ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 ถึง 2022 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการตกหลุมอากาศระหว่างเดินทางในสหรัฐอเมริกา รวมกัน 163 คน เป็นผู้โดยสารเพียง 34 คน และเป็นลูกเรือถึง 129 คน ส่วนผู้เสียชีวิตนั้น ไม่พบแม้แต่รายเดียวในช่วงเวลาดังกล่าว

คำแนะนำที่ได้ผลดีสำหรับการเตรียมตัวเผชิญเหตุการณ์ตกหลุมอากาศแบบฉับพลัน ก็คือ ผู้โดยสารทุกคนควรคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่นั่งเครื่องบิน ไม่ใช่เพียงเฉพาะเมื่อมีสัญญาณไฟหรือประกาศจากกัปตันเท่านั้น บางคนอาจรู้สึกอึดอัดเวลาต้องใส่เข็มขัดนิรภัย ก็ขอให้คาดไว้แบบหลวมๆ ไม่ต้องดึงเน้น ซึ่งดีกว่าไม่คาดรัดไว้เลย

            ที่น่าคิดก็คือ จากการสำรวจข้อมูลของผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บนั้น กลับพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่กำลังยืนต่อคิวรอเข้าห้องน้ำ หรือกำลังเดินไปเข้าห้องน้ำในเครื่อง ขณะที่กลุ่มถัดมา คือกลุ่มที่นั่งประจำที่ โดยไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย

ดังนั้น ถ้าเกิดสภาพอากาศแปรปรวนขึ้นระหว่างเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน ให้รีบปิดฝาและนั่งลงบนโถส้วม  กางแขนทั้งสองข้างไปดันผนังห้องน้ำ หรือเหนี่ยวมือจับไว้ เพื่อยึดประคองตัวเองให้มั่น โดยไม่ต้องรีบร้อนออกจากห้องน้ำกลับไปยังที่นั่ง เพราะระหว่างนั้นเราอาจโดนเหวี่ยงลอยไปกระแทกกับสิ่งของที่อยู่รอบข้าง จนเป็นอันตรายได้

ภาพประกอบ 1 – เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ SQ321 เดินทางจากลอนดอนมาสิงคโปร์

ภาพประกอบ 2 – กระแสลมที่เคลื่อนผ่านภูเขา อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหลุมอากาศได้

ภาพประกอบ 3 – ห้องน้ำสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ในเครื่องบินสายการบินแอร์แคนาดา


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!