ระวังของเล่นเด็ก AI

-

การเกิดขึ้นของ Chat GPT ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้เทคโนโลยี AI เตือนให้พ่อแม่ต้องระวังของเล่นเด็กชนิดดังกล่าว เช่น ตุ๊กตาที่สามารถพูดโต้ตอบโต้กับเด็กได้อย่างรู้เรื่อง ของเล่นประเภทนี้แฝงอันตรายที่พ่อแม่ควรรับทราบ เรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในระดับโลก

         Chat GPT คือแอปพลิเคชันชนิดก้าวหน้าที่สามารถตอบคำถามและพูดคุยกับมนุษย์ได้อย่างฉลาด ข้อมูลและความรู้ทั้งหมดมาจากแหล่งต่างๆ ตลอดจนความเห็นที่มนุษย์ป้อนให้ โดยพึ่งเทคโนโลยี AI บริษัทสร้างซอฟต์แวร์ที่เลียนแบบการใช้มันสมองของมนุษย์ และทำให้การจดจำและการเรียนรู้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

           ขณะนี้ของเล่นเด็กดังกล่าวยังไม่วางตลาด แต่เชื่อว่าในเวลาอีกไม่นานจะมีของเล่น Chat GPT ซึ่งเป็นตุ๊กตาหมีน่ารักที่มี “มันสมองกล” อยู่ด้วย มันจะโต้ตอบกับเด็กเหมือนเพื่อน จะอ่านและเล่านิทานให้เด็กฟัง จะคอยปลอบโยนและสอนเด็ก พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเพื่อนเด็กตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน และเชื่อว่าเด็กจะติดตุ๊กตาหมีนี้อย่างแน่นอน เอาไปทุกหนแห่ง ชวนคุยและพูดความในใจด้วย ประเด็นสำคัญก็คือมันจะบันทึกจดจำทุกสิ่งที่เด็กพูด เข้าใจเด็ก รู้ว่าชอบและไม่ชอบอะไร รู้กระทั่งกลัวอะไร และมีอะไรเป็นความลับด้วย ตลอดจนเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่ และอาจรวมถึงความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ ในครอบครัว กล่าวคืออาจเข้าใจครอบครัวอย่างถึงแก่นจากข้อมูลที่ได้รับ

           อันตรายที่น่ากลัวคือ (1) ตุ๊กตาตัวนี้รู้ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งข้อมูลนี้บริษัทผู้ผลิตอาจเอาไปขยายเพื่อทำการค้าต่อตลอดชีวิตได้ รู้ว่าจะทำการค้าอะไรด้วย เนื่องจากมีข้อมูลส่วนตัวหมดไม่ว่าเรื่องสุขภาพหรือนิสัยใจคอ ความเป็นส่วนตัวของเด็กและของครอบครัวอาจไม่มีให้ปิดบังเหลือ การเปิดประตูให้คนนอกรับรู้สิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของลูกและครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงประสงค์อย่างแน่นอน

        (2) เราไม่มีทางรู้อย่างครบถ้วนว่าตุ๊กตาตัวนี้ที่ถูกใส่ข้อมูล ความรู้ และความเห็นในเรื่องต่างๆ ไว้นั้นจะสอนลูกเราอย่างไร การสอนให้เด็กเป็นคนมีนิสัยดีไม่ใช่เรื่องยากหากอยู่กับเด็กตลอดเวลา และมีคำพูดชักนำไปในทางที่ถูกที่ควร ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่บริษัทผู้ผลิตจะใส่คำพูดไว้ใน “สมองกล” อย่างไร พ่อแม่มิได้อยู่กับลูกตลอดเวลาดังเช่นตุ๊กตาตัวนี้ ดังนั้น AI จึงอาจมีอิทธิพลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพ่อแม่ เราไม่อาจรู้ได้ว่าลักษณะของการโน้มน้าวแฝงอยู่อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในแอปพลิเคชันนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด และมีอิทธิพลต่อบุคลิกและอุปนิสัยของเด็กอย่างไรต่อไปในอนาคต

         โดยสรุป อันตรายจากการอาจสูญเสียข้อมูลส่วนตัว และจากคำสอนที่เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นมาก คำถามที่น่าสนใจก็คือเราควรทำอย่างไรกับปัญหานี้ คำแนะนำคือ (ก) ให้กล้องและอุปกรณ์อื่นที่บันทึกข้อมูลนั้นทำงานเท่าที่จำเป็น (ข) หาทางให้พ่อแม่สามารถควบคุมของเล่นนั้นได้ในระดับหนึ่ง เช่น ควบคุมการบันทึกความจำ ตรวจสอบคำพูดที่สื่อสารกับลูก (ค) อ่านนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมดูแลข้อมูลส่วนตัวของบริษัทที่แนบมากับของเล่น หากไม่แน่ใจว่ามีการปฏิบัติจริงก็จงอย่าซื้อมา  และ (ง) ศึกษาหาทางลบข้อมูลความจำทั้งหมดเมื่อลูกเลิกเล่นแล้ว เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

        ข้อมูลเป็นแหล่งสร้างเงินทองจากการค้า หากไม่ระมัดระวังลูกจะกลายเป็นเหยื่อการค้าและถูกเอาเปรียบตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงผู้ใหญ่อย่างไม่รู้ตัว และอาจถูก “ล้างสมอง” อย่างแยบยลอีกด้วย


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!