ฉบับนี้ คอลัมน์สินค้าเด่นไอเดียเด็ดหวนกลับมาอีกครั้ง พร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ กับเก้าอี้ AI เพื่อสุขภาพ (AI Ergonomic Chair) ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการตรวจจับและแจ้งเตือนการนั่งอย่างถูกวิธี ตัวช่วยหนุ่มสาวชาวออฟฟิศที่ต้องเผชิญกับโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)
เก้าอี้ AI เพื่อสุขภาพ คืองานวิจัยโดยทีมนักศึกษาและอาจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยนี้มาจากทีมวิจัยเล็งเห็นปัญหาของโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมักเกิดกับกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรืออยู่ในท่าทางเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานจนเกิดอาการปวดตึงที่คอ บ่า ไหล่ ส่งผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสรีระ เจ็บคอ เจ็บไหล่ เจ็บข้อมือ (การวางมือพิมพ์คีย์บอร์ด) แม้กระทั่งการใช้สายตาในระยะใกล้หรือไกลจากจอมอนิเตอร์ แต่คนส่วนมากมักไม่ทราบว่าอาการเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากการนั่งที่ผิดวิธี
ออฟฟิศซินโดรมสามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้ยา กายภาพบำบัด แต่ก็เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอยู่ในท่านั่งที่ถูกต้อง ปัญหาข้างต้นได้จุดประกายไอเดียของเบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ และ ปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จนเข้ามาปรึกษางานวิจัยกับอาจารย์และเสนอแนวคิดนำอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (sensor) ติดตั้งลงบนเก้าอี้ ทางด้าน ดร.กลกรณ์ มีงานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และตรวจสอบพฤติกรรมของมนุษย์ (human behavior analysis) อยู่แล้ว สอดคล้องกับงานสอนคือรายวิชาของระบบฝังตัว (embedded system) ในระดับปริญญาตรี และรับผิดชอบส่วนงานของวิชาระบบอัจฉริยะ (Intelligence system) ในหลักสูตรปริญญาโท ทั้งหมดนี้ทำให้ทีมช่วยระดมความคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมเก้าอี้ AI เพื่อสุขภาพขึ้น
การทำงานของเก้าอี้ AI คือตรวจจับน้ำหนักและท่าทางการนั่งของผู้ใช้ด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนเบาะนั่งกับพนักพิง และใช้ระบบ IoT (Internet of Things) ส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตไปยัง cloud server โดยมี AI (ปัญญาประดิษฐ์: artificial intelligence) ประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์น้ำหนักแต่ละจุดของเซ็นเซอร์ว่าท่าทางการนั่งอยู่ในลักษณะใด ไขว่ห้าง เอียงซ้ายขวา พิงหลัง หรือนั่งครึ่งก้น หากตรวจพบการนั่งผิดวิธีและอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป จะมีการแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนให้ผู้ใช้เปลี่ยนท่าทาง ในแอพฯ จะมีวิธีนั่งที่ถูกต้องคอยชี้แนะ ซึ่งนอกจากวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์แล้ว ยังมีระบบฐานข้อมูล (history) คอยเก็บประวัติต่างๆ ว่า ในหนึ่งวันผู้ใช้มีท่าทางการนั่งในลักษณะใดบ้าง เป็นการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ไปในตัว
นอกจากนี้ ยังมีเตียง AI เพื่อสุขภาพ อีกหนึ่งงานวิจัยน่าสนใจที่อยู่ในความดูแลของ ดร.กลกรณ์ ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายกัน คือติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ใต้ฟูกนอน ตรวจจับและวิเคราะห์ท่าทางการนอนหลับ หากเก้าอี้เน้นการใช้งานกับกลุ่มวัยทำงาน เตียง AI ก็จะเน้นสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ป้องกันการนอนตกเตียง ระวังการนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไปของผู้ป่วยแผลกดทับ หรือการลุกหายออกไปจากเตียงของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เตียงชนิดนี้จึงมีส่วนช่วยในการพยาบาลผู้ป่วยผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ทั้งสองงานวิจัย ดร.กลกรณ์ กล่าวว่าการสังเกตพฤติกรรมของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหรือการนอน สามารถใช้กล้องบันทึกภาพพฤติกรรมไว้ได้ แต่การกระทำเช่นนั้นจะก่อความกังวลแก่ผู้ใช้งาน รู้สึกไม่สบายใจและหวาดระแวงหากมีกล้องมาจับผิดพฤติกรรมส่วนตัว ดังนั้นการทำให้อุปกรณ์กลมกลืนกับสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยคำนึงถึง
ปัจจุบัน เก้าอี้ AI เพื่อสุขภาพยังเป็นเพียงอุปกรณ์ต้นแบบที่มีการทดลองใช้ แต่ไม่มีจัดจำหน่าย เมื่อเราถามถึงการต่อยอดในอนาคต ดร.กลกรณ์กล่าวว่า ระบบการทำงานและวิเคราะห์ผลได้ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีค่าความถูกต้องในการตรวจจับอยู่ที่ร้อยละ 96 ในผู้ใช้งานทั้งเพศหญิงและเพศชาย ดังนั้นสิ่งที่ทีมอยากพัฒนาต่อไปคือเรื่องรูปลักษณ์ของเก้าอี้ เพราะตัวต้นแบบเป็นเพียงการติดตั้งอุปกรณ์กับเก้าอี้สำนักงานธรรมดา ซึ่งหากออกสู่ตลาดในภายภาคหน้าคงต้องใส่ใจภาพลักษณ์และดีไซน์ ให้ได้ประโยชน์ทั้งการใช้สอยและความสวยงามมากกว่านี้
หวังว่าเก้าอี้และเตียง AI เพื่อสุขภาพจะได้รับการปรับปรุงให้ล้ำยุคเราได้ใช้นวัตกรรมดีๆ จากไอเดียคนไทยในเร็ววัน
คอลัมน์ : สินค้าเด่นไอเดียเด็ด
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All Magazine เมษายน 2563