เจมส์ แฮร์ริสัน (James Harrison) เป็นชายชาวออสเตรเลียที่จะมีอายุครบ 85 ปีในปลายเดือนธันวาคมนี้
ตอนที่แฮร์ริสันอายุ 14 ปี เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดทรวงอกและเสียเลือดไปมาก เดชะบุญที่ได้รับการถ่ายเลือดถึง 13 ถุงจนทำให้เขารอดชีวิตมาได้
แฮร์ริสันรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตต่อคนที่บริจาคเลือดให้เขา เขาจึงได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่าเมื่ออายุครบ 18 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์บริจาคเลือด เขาจะขอตอบแทนด้วยการเป็นผู้บริจาคเลือดบ้าง
ในค.ศ.1954 แฮร์ริสันจึงได้บริจาคเลือดเป็นครั้งแรก และคุณหมอก็ต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าพลาสม่าของแฮร์ริสันนั้นมีความเข้มข้นของแอนติบอดี้ (antibody) ชนิดหนึ่งสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า แอนติบอดี้ตัวนี้สามารถนำไปทำเป็นยาชื่อ Anti-D เพื่อป้องกันโรค Rh disease ได้
Rh disease หรือโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง จะเกิดขึ้นเมื่อทารกในครรภ์มีค่ากรุ๊ปเลือดต่างจากแม่ (ลูกเป็น Rh+ ส่วนแม่เป็น Rh-) ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายของแม่ผลิตภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเม็ดเลือดแดงของทารก ส่งผลให้หัวใจของทารกต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจเป็นโรคโลหิตจาง ดีซ่าน หรือแม้กระทั่งหัวใจล้มเหลวได้
เมื่อรู้ตัวว่าพลาสม่าของตัวเองหายากกว่าคนทั่วไป แฮร์ริสันจึงกลายมาเป็นผู้บริจาคโลหิตขาประจำเป็นเวลาหลายทศวรรษ เขาบริจาคพลาสมาไปแล้วถึง 1,173 ครั้ง และการบริจาคครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ในวัย 81 ย่าง 82
จริงๆ แล้วแฮร์ริสันยังอยากบริจาคต่อไปด้วยซ้ำ แต่คณะแพทย์ขอให้หยุดเพราะเขาเลยวัยที่จะบริจาคเลือดมาพอสมควรแล้ว
“วันนี้ถือเป็นวันที่เศร้าวันหนึ่งของผม เพราะมันเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางอันยาวนาน” แฮร์ริสันให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวในขณะที่เขานอนอยู่บนเตียงและเลือดของเขากำลังถูกถ่ายจากแขนขวาลงถุงเก็บพลาสมา มีคุณแม่หลายคนอุ้มลูกน้อยมายืนรอบข้างและกล่าวคำขอบคุณ
พลาสมาพันกว่าถุงตลอด 62 ปีที่แฮร์ริสันได้บริจาคนั้นถูกนำไปผลิต Anti-D ซึ่งฉีดให้แก่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วกว่า 2.4 ล้านคน รวมถึงลูกสาวของเขาเอง
โรบิน มาร์โลว์ (Robyn Marlow) หนึ่งในคณะแพทย์พยาบาลกล่าวว่า “ยา Anti-D ทุกโดสในออสเตรเลียมีพลาสมาของคุณแฮร์ริสันอยู่ในนั้น นี่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เขาช่วยชีวิตเด็กเป็นล้านคน แค่คิดน้ำตาฉันก็ไหล เขาดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีจนสามารถบริจาคพลาสม่าได้ต่อเนื่องและยาวนานขนาดนี้ เราจะไม่มีวันได้เจอคนอย่างคุณแฮร์ริสันอีกแล้ว”
เชื่อหรือไม่ว่า ทั้งที่บริจาคเลือดมานับพันครั้ง แต่แฮร์ริสันก็ยังกลัวเข็มอยู่ดี
“ผมจะมองหน้าพยาบาล มองเพดาน มองรอยเปื้อนบนกำแพง มองอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เข็มเจาะเลือด มันออกจะน่ากลัวไปหน่อยตอนที่มองเห็นตัวเองโดนเข็มเจาะ”
แม้จะกลัวแต่ก็ยังทำ แถมยังไม่หยุด จนเขาได้รับการขนานนามว่า “ชายผู้มีแขนทองคำ” (Man with the Golden Arm)
ในตัวเราทุกคนมี “ทองคำ” อยู่ที่ใดสักแห่ง
หามันให้พบ และนำออกมาสร้างประโยชน์ เพื่อช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นกันนะครับ
นี่คือบทความตอนสุดท้ายของผมในคอลัมน์มุมละไม ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา หากคิดถึง สามารถตามไปอ่านงานของผู้เขียนได้ทุกวันที่บล็อก Anontawong’s Musings ครับ
คอลัมน์: มุมละไม เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai
ประวัติผู้เขียน bit.ly/anontawongprofile
รูปของผู้เขียน bit.ly/anontawongpics