จาก ‘อิแทวอน’ ถึง ‘ตากใบ’: โศกนาฏกรรมเมื่อคนเบียดกันจนตาย

-

คงไม่มีใครคาดคิดว่า ในกลางดึกคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2565 งานเทศกาลเฉลิมฉลองวันฮัลโลวีนอันมีชื่อเสียงของย่านอิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จะกลายเป็นเหตุสลดโศกนาฏกรรม เนื่องจากมีผู้คนนับแสนไปเบียดเสียดกันในบริเวณตรอกแคบๆ ที่กว้างเพียงแค่ 4 เมตร จนถึงแก่ความตายไปมากกว่า 150 คน นอกจากผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเกาหลีใต้แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย

ตามรายงานข่าวระบุว่า ย่านอิแทวอนนั้นเป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงอันเลื่องชื่อของกรุงโซล ปีนี้เป็นปีแรกหลังจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ซึ่งทางการอนุญาตให้จัดกิจกรรมกลางแจ้งได้ และคนที่เข้าร่วมก็ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ผู้คนจึงหลั่งไหลไปร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันฮัลโลวีนที่อิแทวอนกันล้นหลาม ในช่วงหัวค่ำนั้นยังไม่เกิดเหตุร้าย แต่พอประมาณสี่ทุ่มฝูงชนเริ่มเดินสะดุดและล้มลงภายในตรอกด้านหน้าโรงแรมแฮมิลตัน ซึ่งเป็นทางลาดลง ส่งผลให้ผู้คนที่เบียดเสียดกันเริ่มล้มทับกัน คนที่อยู่ด้านหลังก็เบียดดันทับคนที่อยู่ด้านหน้าไปเรื่อยๆ จนเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เริ่มมีคนหายใจไม่ออกและหมดสตินับร้อยคน

แม้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลฉุกเฉินซึ่งได้รับแจ้งเหตุและเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว (ว่ากันว่า ในตรอกซอยอื่นๆ ยังมีนักท่องเที่ยวที่ปาร์ตี้กัน โดยไม่รู้เรื่องว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว) จะได้พยายามปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติและกู้ชีพผู้ที่หัวใจหยุดเต้น แต่จำนวนผู้เคราะห์ร้ายก็มีมากมายจนเจ้าหน้าที่รับมือไม่ไหว ประชาชนบริเวณนั้นจึงเข้ามาช่วยกันทำ CPR กู้ชีพผู้บาดเจ็บกันเอง และปรากฏภาพศพผู้เสียชีวิตซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้พลาสติกสีดำคลุมเอาไว้

เหตุการณ์เช่นนี้ และหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้ มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “crowd crush” คือการที่ฝูงชนมาเบียดอัดกันแน่นอยู่ในพื้นที่ปิด และมีการดันกัน ผลักกัน จนเกิดการหกล้มทับซ้อนกันเนื่องจากคนที่ล้มลงไปไม่สามารถลุกขึ้นตั้งหลักได้ เปรียบเหมือนเวลาเล่นตัวโดมิโนให้ล้มไปข้างหน้า ยิ่งคนเยอะยิ่งเกิดแรงกดทับที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งต่างกับคำว่า “stampede” หรือการวิ่งเหยียบกันตาย ซึ่งผู้คนพอจะมีพื้นที่ว่างให้วิ่งได้ แต่ด้วยความแตกตื่นตกใจจึงวิ่งกรูกันไป แล้วเหยียบคนที่ล้มจนบาดเจ็บและเสียชีวิต

แต่ทำไมถึงมีการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเท? นั่นเป็นเพราะในขณะที่ผู้คนล้มทับกันนั้น ร่างกายจะถูกน้ำหนักกดทับทั้งจากด้านหน้าและด้านหลัง จนคนคนนั้นหายใจไม่ออก เนื่องจากปอดไม่มีพื้นที่ว่างพอที่จะขยายตัวเวลาหายใจเข้า และใช้เวลาแค่ 6 นาทีที่ผู้บาดเจ็บจะเข้าสู่ภาวะขาดอากาศหายใจเนื่องจากการถูกกดทับ (compressive asphyxia) และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตเมื่อเกิดการเบียดเสียดกันขึ้น

เหตุการณ์เบียดกันจนตายเคยเกิดขึ้นแล้วหลายๆ ครั้งทั่วโลก เคยมีการประมาณกันว่าในช่วง 10 ปีระหว่าง พ.ศ. 2535 ถึง 2545 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุนี้กว่า 6.6 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 232 รายจากกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาล ประเพณี และศาสนา การแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ตดนตรี หรือแม้แต่การแย่งกันซื้อสินค้าลดราคา โดยมากแล้วสาเหตุมักเกิดจากการจัดการความหนาแน่นของผู้คน อย่างไม่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่

โดยเฉลี่ยแล้ว ขนาดตัวของคนทั่วไปมีความกว้าง 60 เซนติเมตร ความหนา 30 เซนติเมตร และใช้พื้นที่รอบตัวเป็นวงรีขนาดประมาณ 0.18 ตารางเมตร ดังนั้น ถ้าอยู่กัน 1-2 คนต่อตารางเมตร เราก็ยังเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระโดยไม่ชนกันเอง และแม้ว่าอยู่กันหนาแน่นขึ้นเป็น 3-4 คนต่อตารางเมตร โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการเบียดกันก็ยังต่ำอยู่ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 คนต่อตารางเมตร เราจะเริ่มไม่สามารถขยับตัวได้ และถ้าหนาแน่นกว่านั้น ผู้คนจะเบียดอัดกันและไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง แต่จะไหลไปตามคลื่นฝูงชน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง ดังเห็นได้จากกรณีของอิแทวอน ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้ว่าอาจจะอัดกันแน่นถึง 8-10 คนต่อตารางเมตร จนมีคนเป็นลมทีละคนๆ เพราะหายใจไม่ออก

เส้นทางเดินที่ไม่มีการจัดการให้ชัดเจนว่าทางใดเป็นทางเข้า ทางใดเป็นทางออก ประกอบกับเป็นกิจกรรมที่เปิดทั่วไปให้สาธารณชนและนักท่องเที่ยวซึ่งกำลังกระหายงานสตรีทปาร์ตี้ได้เข้าร่วมงาน หลังจากถูกเข้มงวดมานานด้วยมาตรการโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัญหาของการดูแลความหนาแน่นของฝูงชนผู้มาร่วมงานฮัลโลวีนที่อิแทวอน ซึ่งแตกต่างกับพวกงานคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีที่มีการวางแผนมาก่อน และควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมจากบัตรที่จำหน่ายไปได้

แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีโศกนาฏกรรมจากการเบียดอัดของฝูงชนที่มาร่วมงานเทศกาลจนเสียชีวิตนับร้อยคนเช่นนี้ แต่เราก็เคยมีเหตุการณ์สลดทำนองนี้จากกรณีการประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีการปิดล้อมสลายการชุมนุม และจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดจนชาวบ้านที่มามุงดูไปกว่า 1.3 พันคน แต่ผู้ถูกจับกุมกลับเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายไปกับรถบรรทุกถึง 85 คน !

รายงานผลการสอบสวนระบุว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าอยู่บนรถ โดยนอนซ้อนทับกัน 4-5 ชั้นอย่างแออัดยัดเยียดในรถบรรทุก จนหลายคนหายใจไม่ออก และมีความอ่อนเพลียเป็นทุนเดิมจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจเนื่องด้วยหน้าอกถูกกดทับ รวมถึงเพราะขาดอาหารและน้ำ

หวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต ที่คาดว่าจะมีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ฯลฯ มีการวางแผนควบคุมความหนาแน่นของจำนวนคน และมีมาตรการช่วยเหลือกู้ภัยต่างๆ อย่างพอเพียงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้น


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!