A Quiet Place: Day One เป็นหนังลำดับที่ 3 ในตระกูลหนัง A Quiet Place
คอนเซปต์ของหนัง A Quiet Place คือสัตว์ประหลาดจากต่างดาวบุกโลกและแพร่เผ่าพันธุ์ไปทั่ว สัตว์ประหลาดไม่ชอบ ‘เสียง’ เมื่อมันได้ยินคนทำเสียงดังไม่ว่าจะพูดคุย ขยับตัว ฯลฯ มันจะจู่โจมไปเล่นงาน แล้วต่อให้มนุษย์ใช้อาวุธหนักขนาดไหนก็ไม่สามารถทำร้ายสัตว์ประหลาดได้เลย โลกหลังสัตว์ประหลาดบุกจึงเป็นโลกที่มนุษย์ต้องใช้ชีวิตอย่างเงียบกริบ อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ
A Quiet Place ภาคแรก คือการเอาตัวรอดของครอบครัวหนึ่งซึ่งคนเป็นพ่อไม่อยากให้ลูกต้องโตมาในโลกแบบนี้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่บนโลกยอมรับสภาพการใช้ชีวิตแบบอยู่เงียบๆ ไปตลอด งดการส่งเสียง แต่ตัวละครหลักในภาคนี้ทำให้เห็นว่าหากไม่สิ้นหวังคนเราก็ยังไม่พ่ายแพ้ คือการหยิบยกประเด็น ‘ความหวัง’ และทางเลือกที่เราจะตัดสินใจในการใช้ชีวิต
A Quiet Place Part II เป็นภาคที่เล่าเหตุการณ์ต่อจากภาคแรก แต่โครงเรื่องแบ่งตัวละครเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งยอมรับสภาพว่าโลกก็คงต้องเป็นแบบนี้ พยายามอยู่ใน safe place ซึ่งพวกเขาหลบซ่อนใช้ชีวิต ไม่สนับสนุนการออกไปหาที่อื่นๆ เพราะไร้ความหวังแล้ว แต่อีกกลุ่มคือไม่ยอมอยู่อย่างหลบซ่อนและยังเชื่อว่าน่าจะมีหนทางเอาชนะสัตว์ประหลาดแล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีเหมือนที่เคยเป็นมา
A Quiet Place Part II กระตุ้นให้เราตระหนักในความสำคัญของชีวิตที่มีความหวังว่า ความหวังคือสิ่งซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกยังมีเป้าประสงค์ (purpose) ในการใช้ชีวิต และตราบเท่าที่เรายังมีเป้าประสงค์เราก็จะยังตระหนักในคุณค่าของชีวิต แต่ถ้าเรายอมทิ้งอิสรเสรีแล้วใช้ชีวิตแบบกบดาน แม้มีชีวิตก็เสมือนไร้ชีวิตเพราะไม่สามารถ ‘ใช้ชีวิต’ อย่างที่มนุษย์พึงมี
ภาคสามนั้นเหมือน spin off ที่แยกไปเล่าอีกมุมหนึ่ง คือการขยายความหมายต่อเนื่องในประเด็นของ ‘การใช้ชีวิต’
ตัวละครหลักในหนังมีสองคน (และหนึ่งตัว) คือ แซม (กับแมวของเธอ) และเอริก, หนังเลือกเล่าในวันแรกที่สัตว์ประหลาดจำนวนมากตกมาจากท้องฟ้าแล้วบุกทำลายโลกขณะมนุษย์ไม่ทันตั้งตัว
ถ้าพิจารณาตามหลักเหตุผลปกติ พฤติกรรมของแซมผู้เลือกที่จะเดินกลับเข้าไปใจกลางเมืองนิวยอร์กเพื่อหาพิซซ่ากิน (ในขณะที่คนทั้งเมืองพากันหนีสัตว์ประหลาดออกนอกเมือง) คงดูเหมือนคนเสียสติและไม่สมเหตุสมผล เพราะถ้าเป็นเราก็ต้องหาทางหนีเอาตัวรอดก่อน
แต่ถ้าลองสำรวจชีวิตของแซม เธอคือผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งแต่ละวันต้องพึ่งยาแก้ปวดขนานแรงเพื่อให้ไม่ทรมาน ช่วงที่ผ่านมาก่อนสัตว์ประหลาดบุก แซมใช้ชีวิตแบบค่อนข้างเก็บตัว ขลุกอยู่ในสถานพยาบาลแล้วก็มีท่าทีขวางโลกและชอบเล่นมุกเสียดสีคล้ายกับว่าชีวิตนี้ไม่เหลือสิ่งน่าอภิรมย์ ได้แต่อยู่ไปวันๆรอให้มะเร็งมาพรากชีวิตของเธอไป
การเลือกที่จะเดินสวนทางคนทั้งโลกไม่ได้หมายถึงการเป็นคนสวนกระแส แต่แซมคงรู้แล้วว่าแม้จะหนีสัตว์ประหลาดไปได้ เวลาที่เหลือของชีวิตก็น้อยอยู่ดีเพราะเธอป่วยระยะสุดท้าย แถมชีวิตหลังจากหนีออกนอกเมืองก็ยังต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไปเรื่อยๆ และไม่อาจหายาแก้ปวดมาบรรเทาความทรมานได้สะดวกเพราะโลกถูกสัตว์ประหลาดถล่มราบเป็นหน้ากลอง แม้แต่คนเจ็บปางตายก็หายาลำบาก ดังนั้นถึงจะหลบรอดจากสัตว์ประหลาดไปกบดานที่ใดที่หนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตของแซมคงเลวร้ายกว่าเดิม
เธอจึงตัดสินใจเดินกลับเข้าเมืองเพื่อไปร้านพิซซ่าในความทรงจำวัยเด็ก
พิซซ่าสำหรับแซมจึงไม่สื่อความหมายในเชิงการหิวหรืออยากกินของอร่อย แต่สื่อรสชาติที่ยังจดจำได้คือประสบการณ์วัยเด็กที่เธอคิดถึงสมัยยังอยู่กับพ่อ เธอแค่อยากใช้ช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความหมาย คือการได้หวนไปสัมผัสความรู้สึกเสมือนประสบการณ์วัยเด็กที่เคยมีความสุข ซึ่งนั่นคือเป้าประสงค์ชัดเจนในการใช้ชีวิตช่วงที่เหลือ
ส่วนเอริก หนุ่มชาวอังกฤษผู้โดดเดี่ยวไร้ครอบครัวหรือคนรักเพิ่งมาอยู่นิวยอร์กได้ไม่นาน ในวันที่สัตว์ประหลาดบุกเขาก็เฉียดตาย เมื่อรอดมาได้ก็ตกอยู่ในสภาพหวาดกลัวและแพนิก เขาเลือกที่จะติดตามแซมไปหาพิซซ่า เพราะเมื่อเขาฟื้นลืมตา ในเมืองแทบไม่เหลือใครแล้ว มีแต่โฟรโด้ (แมวของแซม) ซึ่งพาเขาไปเจอแซมผู้มีเป้าประสงค์ชัดเจน แซมจึงกลายเป็นที่พึ่งชั่วคราวสำหรับเอิร์กซึ่งกำลังตื่นตระหนก ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากรอดตาย แต่การเลือกติดตามแซมก็น่าจะช่วยให้เขาอุ่นใจ คือการบำบัดอาการหวาดกลัวกับแพนิกด้วยการมีใครซักคน
มิตรภาพในช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่เอริกคอยดูแลแซม ตามหายาแก้ปวดให้แซม ช่วยเหลือโฟรโด้ ตามหาพิซซ่า และโชว์ครั้งสุดท้ายในบาร์เหล้าที่พังทลาย หรือการที่แซมส่งต่อสิ่งสำคัญในการมีชีวิตอย่างมีความหมายให้เอริก คือการมอบ ‘ความหวัง’ ‘คุณค่า’ และ ‘ความหมาย’ ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแซม และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของเอริก
นั่นคือจุดเด่นของ A Quiet Place: Day One ซึ่งคนทำหนังฉลาดในการฉีกแนวมาเล่าด้วยมุมมองใหม่ รวมถึงอารมณ์ของหนังที่เน้นดราม่าเป็นส่วนใหญ่จนเกิดลักษณะเฉพาะตัวอย่างน่าชื่นชม
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’
ภาพ: www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com