มีหนังเล่าเรื่องปัญหา bully มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายเรื่องทำได้ดี เช่น ซีรีส์เกาหลีอย่าง The Glory หรือ Pyramid Game ส่วนใหญ่เน้นหนักฝ่ายผู้กระทำและเหยื่อ
แต่ A Place Called Silence เป็นหนังจีนที่เจาะจงประเด็น bystander หรือผู้เห็นเหตุการณ์ในแง่ผลกระทบของการวางเฉย
ในหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นการรังแก (bully), การล่วงละเมิดทางเพศ, ความรุนแรงในครอบครัวหรือระหว่างคู่รัก รวมถึงอาชญากรรม ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การทำร้ายเหยื่อเหล่านั้นสำเร็จคือมี ‘การเพิกเฉยหรือความเงียบ’ อยู่ด้วยเสมอ
Bystander เป็นผู้มีบทบาทช่วยยับยั้งการ bully ได้ เพราะหากผู้เห็นเหตุการณ์ได้แทรกแซง หรือรวมตัวกันแสดงออกว่าไม่ยอมรับการกระทำนั้น หรือหากไม่กล้าเผชิญหน้า อย่างน้อยควรแจ้งผู้มีอำนาจในหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ หรือตำรวจ ก็อาจช่วยเหลือเหยื่อได้
นอกจากคำว่า bystander ยังมีศัพท์ bystander effect หรือ ‘ภาวะการวางเฉย’ เป็นปรากฏการณ์สังคมซึ่งพูดถึงการที่ผู้เห็นเหตุการณ์เลือกที่จะไม่ยื่นมือช่วยเหยื่อ ดังกรณีของ Kitty Genovese หญิงอายุ 28 ปีที่ถูกข่มขืนแล้วฆ่าตายในตรอกใกล้อพาร์ตเมนท์ซึ่งเธออาศัย ว่ากันว่ามีพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์นี้กว่าสามสิบรายตั้งแต่เธอถูกทำร้ายแล้วกรีดร้องจนเสียชีวิต แต่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือหรือแม้แต่จะโทร.แจ้งความ
พยานบางคนบอกว่าได้ยินเสียงแล้วนึกว่าคนรักหรือขี้เมาทะเลาะกัน มีพยานเพียงคนเดียวที่โทร.แจ้งความหลังจากเหยื่อเสียชีวิตแล้ว และพยานผู้วางเฉยคนหนึ่งก็บอกปัดว่า “ฉันไม่อยากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง”
เหตุการณ์ในคดี Kitty Genovese เข้ากันได้ดีกับชื่อหนัง A Place Called Silence เพราะนอกจากเสียงกรีดร้องโหยหวนของเหยื่อ มันยังเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วย ‘ความเงียบของเหล่าพยานรู้เห็น’
หนัง A Place Called Silence เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์รุมรังแกเด็กนักเรียนหญิงเป็นใบ้ชื่อเฉินอวี่ถงในโรงเรียนมัธยมปลายจิ้งฮว่า คนรังแกเป็นกลุ่มนักเรียนหญิงในโรงเรียนเดียวกัน หัวโจกคือลูกของครูใหญ่ประจำ แม้จะมีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งผ่านมาเห็นเหตุการณ์แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปช่วย ส่วนภารโรงได้แต่ยืนดูแถมปรามไม่ให้เด็กคนอื่นเข้าไปยุ่ง
แต่แล้วไม่กี่วันถัดมา กลุ่มเด็กผู้รังแกก็โดนฆาตกรลึกลับไล่ฆ่าทีละคน
A Place Called Silence ผูกปมลึกลับชวนติดตามว่าใครคือฆาตกรในชุดเสื้อกันฝน โดยทยอยเปิดตัวผู้ต้องสงสัยมาหลายคนไม่ว่าจะเป็นแม่ของเฉินอวี่ถง, ตัวเฉินอวี่ถงเอง, คนแปลกหน้าที่มีพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ, หลินจ้ายฟู นักสังคมสงเคราะห์ที่มักส่อพิรุธ ฯลฯ แต่การสืบหาคนร้ายไม่ใช่จุดขายและผ่านไปครึ่งเรื่องก็พอจะเดาได้ไม่ยาก เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่มุ่งให้คนดูสนุกกับแนวสืบหาแบบ whodunit แต่ต้องการแสดงผลกระทบของภาวะการวางเฉยต่อความรุนแรงในหลายมิติ
ชื่อหนังที่มีคำว่าความเงียบ (silence) มาจากการวางเฉยและความพยายามปกปิด(เรื่องฉาวโฉ่) ไว้หนังตีแผ่การวางเฉยในรูปแบบต่างๆ รวมถึงสะท้อนผลสะเทือนที่ตามมาเนื่องจากความเงียบ
ภาวะการวางเฉยไม่ได้มีแค่ตอนเฉินอวี่ถงโดนรุมรังแก แต่มันเริ่มต้นมาก่อนหน้านั่นในโรงเรียนเมื่อครั้งฮุ่ยจวิน เพื่อนของเฉินอวี่ถง ถูกอันธพาลกลุ่มนี้ระรานในงานวันเกิดของเธอ
เหตุการณ์ (1) คือในตอนนั้นเฉินอวี่ถงทนไม่ได้และจะยื่นมือเข้ามาช่วยเพื่อน แต่คนที่ดึงเธอไว้ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวคือแม่ของเธอเองเพราะเกรงว่าลูกสาวจะเดือดร้อน เหตุการณ์คล้ายกับเหตุการณ์ (2) คือตอนที่เฉินอวี่ถงโดนรังแกแล้วภารโรงมากันและปรามนักเรียนคนอื่นไว้เพราะเกรงว่าเรื่องจะบานปราย
ทั้งสองเหตุการณ์ ผู้ใหญ่ (แม่ของเฉินอวี่ถง/ภารโรง) ต่างก็มีอำนาจพอที่จะห้ามหรือยับยั้ง หรืออย่างน้อยอาจแจ้งให้คนอื่นมาช่วยได้ แต่กลับลังเลและเลือกปล่อยผ่าน ที่สำคัญคือนอกจากตัวเองปิดปากเงียบแล้วยังเจ้ากี้เจ้าการให้เด็กคนอื่นปิดปากเงียบด้วย เหยื่อเลยถูกรังแกจนถึงที่สุด
หากมองย้อนไปยังเหตุการณ์ (1) แม่ของเฉินอวี่ถงไม่อยากให้ลูกสาวเดือดร้อน เลยไม่อยากขัดขวางการ bully แต่เธอคงคิดไม่ถึงว่าการปล่อยผ่านในเหตุการณ์ (1) จะนำไปสู่เหตุการณ์ (2) ซึ่งลูกของตัวเองเป็นเหยื่อ
ก็เหมือนหลายกรณีในเหตุการณ์จริงซึ่งพยานรู้เห็นเลือกจะวางเฉยเพราะตัวเอง ‘ไม่ได้เกี่ยวข้อง’ โดยลืมไปว่าวันหนึ่งเราอาจต้อง ‘เกี่ยวข้องในฐานะเหยื่อ’ เมื่อมันวกกลับมาหาคนที่เรารัก
หากตอนนั้น เธอรีบตัดสินใจช่วยเหลือเพื่อนของลูกสาวไม่ให้โดนรังแก กลุ่มเด็กกลุ่มนั้นก็จะได้รับบทเรียนหรือมีมาตรการป้องกันการรังแกในโรงเรียนเข้มงวดขึ้น และลูกสาวของเธอก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกเล่นงานในเวลาต่อมา หรือแม้จะไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยถ้าขัดขวางไว้ เหยื่อก็จะไม่โดนรังแกจนเกินไป แต่เมื่อเธอเลือกวางเฉย นั่นคือการ ‘เพิ่มโอกาสที่ความชั่วร้ายจะแพร่ขยายต่อไป’
ความเงียบซึ่งหนังต้องการสื่อสาร ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ bully ในรั้วโรงเรียนที่เป็นเหตุการณ์ (1) กับเหตุการณ์ (2)
แต่ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหนังสอดแทรกเจตนาวางเฉยหรือเลือกที่จะเงียบอีกหลายรูปแบบ เช่น กรณีแม่ของเฉินอวี่ถงถูกคนรักทำร้ายร่างกาย เจ้าของห้องเช่าก็รู้เห็นแต่กลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ช่วยเหลือ ไม่แจ้งความ มีคนเห็นสภาพของเธอซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าถูกทำร้ายร่างกาย บางคนกลับเบือนหน้าหนี และสุดท้ายเมื่อสมาชิกในสังคมพากันละเลยความชั่วร้าย อยากอยู่เงียบๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานที่เคยวางเฉยก็ต้องกลายมาเป็นเหยื่อของความชั่วร้ายไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
หรือกรณีเด็กถูกรังแกจนตายแต่ครูในโรงเรียนกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง เห็นว่าเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ขอให้ปิดเงียบและบิดเบือนเหตุการณ์ไปว่าเด็กคนนั้นฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายความเงียบกลับไม่ได้ช่วยอะไร มิหนำซ้ำยังส่งผลให้ความชั่วร้ายเก่า (กลุ่มเด็กที่รังแกคนอื่น) ได้ทำร้ายคนอื่นๆ ต่อมา และมีส่วนสร้างความชั่วร้ายใหม่(ฆาตกร)ที่เจ็บปวดและเคียดแค้นเนื่องจากความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในโรงเรียน
คอลัมน์ มองโลกผ่านจอ
เรื่อง “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )
ภาพ: อินเทอร์เน็ต