A Man Called Otto “Keep Living”

-

ออตโตคือชายสูงอายุชาวอเมริกัน ใช้ชีวิตตามลำพังหลังจากภรรยาตายไป เขาเพิ่งออกจากงาน กลับมาบ้านตัดสินใจยกเลิกบริการโทรศัพท์ในบ้าน เก็บข้าวของทุกอย่างเรียบร้อยและกำลังจะแขวนคอ แต่เผอิญเห็นบ้านฝั่งตรงข้ามมีรถคันใหม่กำลังพยายามจอดอย่างทุลักทุเล ออตโตทนเห็นคนขับรถอ่อนหัดไม่ได้จึงออกไปช่วย

บ้านฝั่งตรงข้ามเป็นครอบครัวของมาริซอล เมนเดส เธอคือเพื่อนบ้านคนใหม่ที่ย้ายมากับสามีและลูกสองคน มาริซอลกำลังตั้งท้อง สามีของเธอคือผู้ชายไม่เอาไหนในสายตาออตโตเพราะขับรถก็ไม่เก่ง งานช่างก็ไม่ได้ความ ทำอะไรก็ไม่คล่อง ฯลฯ 

แต่การยื่นมือช่วยเหลือครอบครัวมาริซอลได้ช่วยยับยั้งการฆ่าตัวตายครั้งแรกที่ออตโตตั้งใจไว้ แล้วเขาก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติต่ออีกวัน

ถัดมาอีกออตโตกำลังจะรมควันตัวเองบนรถ มาริซอลมาเคาะประตูโรงรถเรียกเขาให้ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาล

ครั้งถัดมาออตโตคิดกระโดดรถไฟฆ่าตัวตาย มีคนประสบอุบัติเหตุตกรางรถไฟต่อหน้า เขาเลยต้องช่วยชายคนนั้น

และก็อีกครั้งที่ออตโตกำลังเตรียมจะยิงตัวตาย แต่จู่ๆ ลูกศิษย์ของภรรยามากดออดหน้าบ้าน เพื่อขออาศัยชั่วคราวเพราะถูกพ่อไล่ออกจากบ้าน

หลายหนที่ออตโตพยายามจะตายแต่กลับมีเหตุให้ไม่ได้ตาย ทุกครั้งที่รอดตายเขาไม่รู้ตัวเลยว่าอุปสรรคเหล่านั้นค่อยๆ ทำให้เขา เห็นคุณค่าของมีชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้เลยว่า ‘อะไร’ ที่จะทำให้เขาอยากมีชีวิตต่อไปอีก

A Man Called Otto ดัดแปลงจาก A Man Called Ove นิยายสวีเดน (และเคยสร้างเป็นหนังสวีเดน)ซึ่งมีแปลเป็นฉบับภาษาไทยว่า ชายชื่ออูเว

ออตโต คือตัวละครเวอร์ชันที่ดัดแปลงเป็นคนอเมริกัน ทั้งสองเวอร์ชันมีบุคลิกเหมือนกัน คือหากไม่สนิทกันแล้วแรกเจอหน้าอาจขยาดชายคนนี้ ผู้ซึ่งมักมองอะไรในแง่ร้าย เช่น พนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ตเจอเขาครั้งแรกแล้วเสนอตัวช่วยเหลือก็ถูกตะเพิด

บุคลิกของเขาเป็นคนเจ้าระเบียบ ยึดกฎเกณฑ์คือสิ่งสำคัญและมีมาตรฐานสูงกว่าคนทั่วไป หงุดหงิดมากทุกครั้งเวลาคนไม่ทำตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้ เช่น ไม่แยกขยะในถังแยก ไม่ยอมจอดรถในจุดจอดแม้จะแค่ชั่วคราว ฯลฯ ละแวกนั้นรู้กิตติศัพท์ของเขาดี ภาพลักษณ์ของเขาเหมือนตาแก่จู้จี้ในเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ 

ถึงออตโตจะเป็นคนขี้บ่นหรือเกรี้ยวกราด แต่เพื่อนบ้านก็ยังรักห่วงใย ไม่มีใครเกลียดออตโตจริงจัง นั่นเป็นเพราะพวกเขารู้จักออตโตกับภรรยามาหลายปีดีดัก ทุกคนรู้ดีว่าภายใต้ท่าทางขี้หงุดหงิดรำคาญ ออตโตคือคนจิตใจดีและความเจ้าระเบียบของเขาก็ทำให้ชุมชนน่าอยู่ขึ้น

แต่หลังจากสูญเสียภรรยา ออตโตผู้อยู่กินกับภรรยามาค่อนชีวิตก็เหมือนทำชีวิตส่วนหนึ่งหายไป เรื่องราววัยหนุ่มของออตโต้ก็เหมือนแอนิเมชันเรื่อง Up คือชายคนนี้มีภรรยาเพียงผู้เดียวที่เห็นตัวตนที่แท้ของเขา ยอมรับและรักเขาอย่างสุดหัวใจ

ดังนั้นเมื่อออตโตขาดคู่ชีวิต ขาดเพื่อน ขาดคนดูแลซึ่งกันและกัน เขาจึงขาดแรงจูงใจและเป้าประสงค์ (purpose) ที่จะใช้ชีวิตต่อ

หากพาออตโตไปพบจิตแพทย์ แล้วถ้าหมอซักประวัติด้านอารมณ์พบว่าซึมเศร้า หดหู่ หงุดหงิด หรือมีความคิดที่เปลี่ยนไป รวมทั้งได้ประวัติปัญหาการนอนผิดปกติเกินสองสัปดาห์ แล้วอาการเหล่านั้นกระทบคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เราอาจได้คำวินิจฉัยว่าออตโตเข้าข่ายโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย

แต่ความคิดฆ่าตัวตายก็ไม่ได้เกิดจาก ‘โรค’ ซึมเศร้าเสมอไป

การที่ออตโตอยากตายไม่ได้แปลว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่เพราะเขาไร้จุดหมายของการมีชีวิต อยากตายเพราะหวังว่าจะได้ตามภรรยาไป อยากตายเพราะไม่เห็น ‘อะไรหรือใคร’ ตรงหน้าควรค่าแก่การต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อ

อยากตาย ไม่ได้ตาย

สิ่งแรกที่เหนี่ยวรั้งออตโตให้มีชีวิตหลังภรรยาตาย คือคำพูดของภรรยาที่เคยบอกไว้ว่า “โปรดใช้ชีวิตต่อไป (keep living)”

ด้วยคำพูดนี้ อาจไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะดึงดูดให้คนอยากตายกลับมาอยากใช้ชีวิต แต่ก็เป็นเหมือนคำขอร้องกลายๆ ให้ยังเลือกที่จะมีชีวิตต่อไปก่อน คล้ายการผัดวันประกันพรุ่ง (ที่จะตาย) ซึ่งถึงจุดหนึ่งการมีคำพูดแค่นี้อาจประวิงเวลาได้สักระยะ แต่หลายคนก็อาจท้อและกลับไปเลือกที่จะตาย เช่น ออตโต

แต่ด้วยความที่ออตโตถูกขัดจังหวะตลอด คือการที่ออตโตได้ทำอะไรเพื่อผู้คน ได้ช่วยเพื่อนบ้านท้องแก่ ได้ช่วยอดีตลูกศิษย์ภรรยา ฯลฯ และเมื่อก้าวออกมานอกบ้านก็ได้เจอว่ามีอีกหลายชีวิตที่ห่วงใยเขา ในขณะเดียวกันเขาก็มีส่วนให้ชีวิตของคนอื่นๆ ดีขึ้น

ออตโตได้กลับไปมีเพื่อน ได้ช่วยเหลือเพื่อนเก่า และได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมาริซอล ซึ่งเปรียบเสมือนการมีครอบครัวใหม่ที่ได้เป็นปู่ของหลานๆ แม้จะไม่ใช่สายเลือดเดียวกันแต่ก็ผูกพัน

ออตโตจึงเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงจากขั้นแรกที่อาจไม่ใช่แนวคิดซับซ้อน ไม่ต้องมีคำตอบว่าอยู่ไปทำไม แต่อย่างน้อยขอให้เลือกดำรงชีวิตในแต่ละวันและอย่าเพิ่งตาย ขอให้ใช้ชีวิตไปก่อน (keep living) เพราะคำตอบของชีวิตอาจไม่ได้ปรากฏในทันที มันอาจรอเวลาหรือจังหวะ และสุดท้ายก็เลือกจะอยู่ต่อ จนยกเลิกความคิดฆ่าตัวตาย คือการที่ออตโตค้นพบ 

  • – เป้าประสงค์ของการมีชีวิต (purpose) เราได้เห็นเป้าหมาย (goal) ย่อยๆ ในแต่ละช่วงที่ออตโตยังไม่ตาย เช่น หาทางช่วยเพื่อนเก่าให้ได้มีบ้านอยู่ ฯลฯ
  • – คุณค่า (value) ที่จะมีชีวิตต่อไป เราได้เห็นความสำคัญของเขาที่มีต่อชุมชน ความสำคัญของเขาที่มีต่อเพื่อนเก่าหรือเพื่อนบ้านใหม่ และคนเหล่านั้นก็ได้ ‘แสดงออกว่าขอบคุณและห่วงใย’ ออตโตเช่นกัน เป็นคุณค่าที่มีต่อตัวเองและต่อผู้อื่น
  • – การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การที่ออตโตกลายเป็นสมาชิกครอบครัวคนใหม่ของมาริซอล ซึ่งพลิกกรอบการมองชีวิตแบบเดิมๆ ของออตโตอย่างสิ้นเชิง เพราะเคยคิดว่าเขาไม่เหลือใครหรือสิ่งสำคัญอันใดในชีวิตแล้วหลังจากเสียภรรยา โดยลืมมองว่ายังมีเพื่อนและผู้คนรอบข้างที่เห็นเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่

คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!