เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม กวีนิพนธ์ชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566

-

และแล้วเวลาก็เดินหน้ามาจนถึงปลายปี 2566 ขอชื่นชมทุกคนที่สู้ชีวิตผ่านเรื่องร้าย-ดี และก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีในที่สุด เมื่อสงครามเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลาย สงครามใหม่ก็อุบัติขึ้น จนอดตั้งคำถามเช่นเดียวกับผู้เขียนหนังสือกวีนิพนธ์ ชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566 ไม่ได้ว่า เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม

‘นิตา มาศิริ’ นามปากกาของ สาวิตรี ทนแสน ชวนผู้อ่านตั้งคำถามผ่านบทกวี ว่าด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน รวมถึงในสังคมระดับมหภาค ไม่ว่าจะหน่วยเล็กหรือใหญ่ต่างมีความขัดแย้ง ความบาดหมางเกิดขึ้นเสมอ และทิ้งบาดแผลทางใจอันบอบช้ำไว้ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่พวกเราอยู่บนดาวดวงเดียวกันจริงไหม

 

ทำความรู้จัก ‘นิตา มาศิริ’ 


เราจบปริญญาตรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทันทีที่เรียนจบก็เข้าทำงานในบริษัทเอกชน ทำงานในตำแหน่งนักอาชีวอนามัย หรือที่เรียกกันว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน  จากนั้นเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานควบคู่กันไป ปัจจุบันยังประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ได้เป็นนักเขียนเต็มตัว เพียงแต่ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาจับปากกาเขียนเพื่อผ่อนอารมณ์ และถนัดเขียนบทกวีค่ะ

คุณเริ่มสนใจที่จะเขียนตั้งแต่ตอนไหน  

ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  เราเข้าร่วมกิจกรรมประกวดเรียงความวันพ่อ ได้รับรางวัลชนะเลิศของโรงเรียน และได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับเขต พอขึ้นชั้นมัธยมก็เริ่มสนใจบทกลอน ชิ้นแรกที่รู้สึกสะดุดใจเป็นกลอนรักวัยรุ่นทั่วไป แฟนสาวของพี่ชายเป็นคนเขียนให้เขาเนื่องในวันเกิด ประกอบกับช่วงนั้นอยู่ในยุคหนังสือกลอนรักวัยรุ่นของสำนักพิมพ์ใยไหมเฟื่องฟู เราตามอ่านอยู่หลายคน จนมีความรู้สึกอยากเขียนกลอนดูบ้าง เลยสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์เกี่ยวกับกลอน คือ www.dreampoem.com  และ www.thaipoem.com หลังจากนั้นก็ลงเว็บมาเรื่อย จนกระทั่งเข้าร่วมกิจกรรมวันสุนทรภู่ของโรงเรียน อาจารย์ก็พาไปแข่งในสนามต่างๆ ได้รับรางวัลมาบ้างประปราย   

พอเราเรียนจบ ป.ตรี  ก็เข้าทำงานเลยจนแทบไม่ได้เขียนอีก แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราลาออกจากงาน แล้วมาช่วยทำธุรกิจครอบครัว เป็นช่วงที่เรามีเวลาว่างเยอะ เลยกลับมาเขียนบทกวีอย่างจริงจัง แล้วก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก กระทั่งลองส่งไปประกวดตามนิตยสาร พอบทกวีชิ้นแรกได้ตีพิมพ์ เราดีใจมาก  ทีนี้ขยันเขียนเลย รางวัลแรกที่ได้คือรางวัลเปลื้อง วรรณศรี รองชนะเลิศอันดับ 2  ช่วงนั้นมีคนเริ่มตามอ่านงานเรามากขึ้น เขาก็เชียร์ให้รวมเล่ม เราก็ลองสักตั้ง เลยมีผลงานกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์เล่มแรกออกมาในปี 2559 ตอนนั้นเราได้งานที่ใหม่พอดี อันที่จริงไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียน เพียงแต่เรามีความรู้สึกอยากเขียนมากกว่า แล้วความถนัดของเราก็ค่อนข้างจำกัด เวลาที่จะทุ่มเทให้ก็มีไม่มาก เลยเรียกตัวเองได้แค่นักอยากเขียนค่ะ

 

ในยุคที่หนังสือรวมบทกวีอาจไม่เฟื่องฟู ทำไมถึงสนใจและเลือกการแต่งกวีนิพนธ์ 

เพราะบทกวีเป็นความชื่นชอบจนเรียกได้ว่ามันถูกปลูกฝังอยู่ในชีวิตจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก ถึงแม้กวีนิพนธ์ไม่ใช่หนังสือกระแสหลัก แต่เราก็ไม่คิดจะตามกระแส เราอยากทำในสิ่งที่เรารู้สึกชอบและรักจริงๆ อีกอย่างเราไม่ได้คิดจะสร้างฐานะด้วยการเขียนกวีอยู่แล้ว แม้ในใจลึกๆ จะรู้สึกยินดีหากเราเลี้ยงชีพได้ด้วยการขายหนังสือกวีนิพนธ์ แต่มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในยุคสมัยนี้ เพราะอย่างนั้น ด้วยงานประจำที่เราทำตลอด เราจึงแบ่งเวลาที่ยังพอมีเพื่อตามหาความฝันที่เรารักค่ะ

 

อยากทราบวิธีการฝึกเขียนบทกวีของคุณ

เราสั่งสมมาตั้งแต่เป็นสมาชิกในเว็บกลอน รุ่นพี่ให้คำแนะนำเป็นแนวทางว่า การแต่งกลอนก็เหมือนเขียนเรียงความ เริ่มต้นด้วยคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป สำคัญที่บทจบ ต้องให้ประทับใจ ตรึงใจ เรายึดหลักคิดนี้มาตลอด อาศัยครูพักลักจำบ้าง จนถึงวันนี้เราไม่เคยไปค่ายหรือเข้าอบรมเกี่ยวกับงานเขียนใดๆ เลย 

วิธีการเรียนรู้ของเราที่ผ่านมาคืออ่านงานให้หลากหลาย แล้วสังเกตชุดคำ จังหวะ พล็อตเรื่อง รวมถึงการสื่ออารมณ์ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทาง ช่วงที่เริ่มเขียนบทกวีจริงจังคือหลังปี 58 นั้น เราเล่นเฟซบุ๊กแล้วเข้ากลุ่มวรรณกรรม กวีนิพนธ์ ได้มีโอกาสรู้จักรุ่นพี่นักเขียน ตอนนั้นเรายังเขียนบทกวีผิดฉันทลักษณ์อยู่เลย เราจึงได้รู้จักทั้งกวีต้นแบบที่เราชื่นชอบ ได้มิตรภาพ และครูคอยชี้แนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมบทกวีเล่มล่าสุด หลายชิ้นเป็นการบ้านที่เราเขียนส่งครู ‘คมทวน คันธนู’  ซึ่งท่านก็ให้ความเมตตาแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคำ การตัดคำฟุ่มเฟือย การลงเสียงในแต่ละจังหวะ จนเรามาไกลกว่าที่เคยคิดไว้มาก

 

สไตล์การเขียนบทกวีของ ‘นิตา มาศิริ’ คือแบบไหน 

ถนัดเขียนบทกวีฉันทลักษณ์ หรือกลอนสุภาพ เรามีความรู้สึกว่าอยากเขียนให้ดีกว่าที่เคย เลยยังเป็นความท้าทายอยู่เสมอว่าจะเขียนบทกวีฉันทลักษณ์จนสุดความสามารถ แต่ต่อไปนี้คิดจะลองเขียนกาพย์ให้มากขึ้น ส่วนสไตล์งาน เราเป็นคนชอบอ่านงานที่มีความประณีต ละมุนละไม ถ้าแต่งกลอนรักก็เป็นรักหวานปนเศร้า ถ้าแต่งแนวชีวิต สังคม ก็อาจมีประชดประชันนิดๆ แต่ไม่ค่อยดุดันนัก เคยมีหลายคนบอกว่างานเราใช้คำสละสลวย ต้องฝากผู้อ่านพิสูจน์ค่ะ  

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือรวมบทกวี เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม

เริ่มจากการสังเกตผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่ละวันเราเจอคนหลากหลายรูปแบบ ทั้งในที่ทำงานและชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่อยู่ในหัวมาตลอดคือคำว่า ‘ความสัมพันธ์’ ไม่ว่ากับญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงาน บางคราวก็มีความไม่ลงรอยหรือความขุ่นข้องหมองใจเกิดขึ้น นอกจากนี้ในสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ผู้คนก็มีความคิดความเห็นต่างจิตต่างใจ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลายเป็นกลุ่มขั้วทางการเมือง เฉกเช่นในที่ทำงาน จากเพื่อนจึงกลายเป็นศัตรู  เลยเกิดคำถามในใจลึกๆ ว่า ตกลงแล้วเราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม

 

กำหนดธีมเล่มไว้อย่างไร จึงเกิดเป็น 6 พาร์ต

ธีมหลักของเรื่องคือการเล่าความเป็นไป ‘บนดวงดาว’ และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ตามชื่อเล่มว่า เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม เริ่มต้นตอนที่เราได้ลืมตาดูโลก มีบิดามารดาคอยเลี้ยงดู จึงเกิดเป็นพาร์ตที่ 1 ‘มือที่จับดินสอเขียนกอไก่’  หลังจากนั้นก็มีการเจริญเติบโตตามช่วงอายุ เข้าสู่วัยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แบกรับภาระหน้าที่ ตามความรู้ความสามารถ เกิดเป็นพาร์ตที่ 2 ‘มนุษย์คือสัตว์ทดลองของพระเจ้า’ ในพาร์ตที่ 3 ‘เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม’ เจาะลึกด้านความสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัว ทั้งในที่ทำงาน สังคมเมือง และประเทศ ส่วนพาร์ตที่ 4  ‘ดูสิดวงใจของใครหนอ’ บอกเล่าความรู้สึกนึกคิดที่เรามีต่อความสัมพันธ์กระทั่งกลายเป็นบาดแผลและบทเรียนในชีวิต ถัดมายังพาร์ตที่ 5 ‘สนิมบนขวานและบ้านของเรา’ พาร์ตนี้ต้องการสื่อเรื่องสังคมและการเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนข้องเกี่ยวและต้องรับผิดชอบร่วมกัน และจบที่พาร์ตสุดท้าย ‘สายธารที่ท้นหลั่งกำลังใจ’ ต้องการปิดเล่มด้วยการส่งต่อความหวังและกำลังใจให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย ในฐานะที่เราอยู่บนดาวดวงเดียวกัน ไม่มุ่งชี้นำทางความคิด แต่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราต่างประสบมา เพื่อให้เราฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วเราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม 

 

มีบทไหนที่อยากแนะนำเป็นพิเศษ หรือมีเรื่องราวเบื้องหลังที่ประทับใจ 

บทที่ชื่นชอบและอยากแนะนำเป็นพิเศษในเวลานี้คือ ‘นิทานดวงดาวและข่าวคราวของสงคราม’ สิ่งที่ประทับใจคือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยความรักและมิตรภาพเป็นสำคัญ ทีมงานเราค่อนข้างน้อย หลักๆ มีอยู่ 3 คน  คือ บก. (พี่ ‘จี๊ด’ ละเวง ปัญจสุนทร) พี่ ‘วัน’ พันปกรณ์ ผู้ออกแบบปกและจัดเล่ม แล้วก็เราเอง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่พี่ๆ มาช่วยทำให้ แล้วยังคิดค่าแรงเหมือนไม่ได้คิดด้วย นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 ท่านที่เราอยากขอบคุณมากๆ เขาช่วยดูการสะกดคำ ฉันทลักษณ์ คือ คุณหมอเสียงพิณ เตมียสถิต กับพี่ ‘ต้น’ พัฒนะ ปฐมพงศ์

 

เมสเสจที่ผู้เขียนอยากส่งผ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ 

ถ้าหากเรายังอยู่บนดาวดวงเดียวกัน บนพื้นฐานความเชื่ออันหลากหลาย ก็ขอให้ทุกหัวใจไม่สิ้นไร้ไฟศรัทธาและยังคงแบ่งปันความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันค่ะ

รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด และความรู้สึกหลังชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566 สาขากวีนิพนธ์

รางวัลที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือรางวัลชนะเลิศวรรณศิลป์อุชเชนี 2560 เพราะเป็นบทกวีที่ได้แรงบันดาลใจจากการเพิ่งสูญเสียคุณพ่อ เราเขียนด้วยความรักสุดฝีมือ แล้วรางวัลนี้ก็เป็นเสมือนของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เราทำให้คุณพ่อ ส่วนความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด คือความปีติปลาบปลื้มใจ ไม่ใช่ว่าไม่ภูมิใจนะคะ แต่ปลาบปลื้มใจมากกว่าที่ทุกย่างก้าวของเราไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ละวันที่ผ่านพ้นไป  คือการได้พิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางกวีนิพนธ์ เหมือนเราได้ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น มือที่เราจับราวบันไดไว้ ประหนึ่งผู้คนแวดล้อมที่คอยส่งความปรารถนาดีมาให้เรา เราเลยมีวันนี้ค่ะ  

 

มีภาพวงการกวีนิพนธ์ในฝันที่อยากเห็นไหม

อยากเห็นภาพในอดีตที่พื้นที่ของกวีนิพนธ์ยังครึกครื้น มีเวทีหลากหลายให้ส่งประกวด  มีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ รับพิจารณาต้นฉบับ มีหน้านิตยสารให้ลง ได้แต่หวังว่าหน้ากวีนิพนธ์จะได้รับการฟื้นฟู  อยากให้กวีนิพนธ์ไม่ใช่งานที่ยากแก่การทำความเข้าใจอย่างที่ใครๆ มักพูดกันว่า บทกวีอ่านยาก ต้องปีนกระไดอ่าน ในเมื่อคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเคยจีบกันด้วยบทกลอน กระทั่งเพลงที่คุ้นหูก็มีรากฐานมาจากบทกลอน เราอยากให้ภาพที่คนมองว่าบทกวีนั้นเชย เปลี่ยนเป็นเสน่ห์ที่งดงามในวงการวรรณกรรม

หากสนใจอยากเป็นเจ้าของหนังสือเราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม สามารถหาซื้อได้ทางไหน

สั่งซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬา หรือที่เฟซบุ๊ก ‘นิตา มาศิริ’ อีบุ๊กก็มีค่ะ

 

3 เล่มในดวงใจของ ‘นิตา มาศิริ’

  • ความปวดร้าวอันงดงาม 

เขียนโดย จิมมี่ เลียว  

เป็นหนังสือที่อ่านในวัยมัธยมแล้วรู้สึกหลงรักความงดงามของภาพและถ้อยคำ ชอบมากที่สุดในเล่มคือเรื่อง ‘หมีกากบาท’ ที่ตัวละครดำเนินไปพร้อมกับบาดแผลและความบอบช้ำในใจ แต่มุมมองของตัวละครที่มีต่อโลกและชีวิตนั้นกลับสวยงามและเปี่ยมด้วยความหวัง

 

  • เจ้าหงิญ

เขียนโดย ‘บินหลา สันกาลาคีรี’

ชอบจินตนาการอันเปี่ยมด้วยความอ่อนโยน พาความคิดเราท่องไปยังอีกดินแดนในจินตนาการ แต่ก็ยังผสานกับโลกของความจริง เราจึงได้แสวงหาความหมายและความสุขของชีวิตไปพร้อมๆ กับตัวละคร

 

  • เหมืองแร่

เขียนโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ 

เป็นหนังสือที่อ่านในช่วงเข้าทำงานที่แรก เราเองทำงานในสายอาชีวอนามัยประจำโรงงานผลิต  บางทีก็ไปประจำไซต์งานก่อสร้าง เป็นงานเสี่ยงและค่อนข้างหนัก พอเราเจอตัวละครที่สู้ชีวิต ผ่านงานหนักจนสายตัวแทบขาด หนักกว่าเราหลายสิบเท่า เราเลยมีแรงฮึดสู้ อดทนและพยายาม ล้มกี่ครั้งก็ลุกขึ้นไปต่อ คือสิ่งที่เราได้รับจากการอ่านเล่มนี้


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

 เรื่อง: ภิญญ์สินี

ภาพ: ‘นิตา มาศิริ’

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!