‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ กวีนิพนธ์ ชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565

-

กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าทุกปีคอลัมน์ถนนวรรณกรรม จะมีนัดสนทนากับผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากเวทีการประกวดเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 19 แล้ว สำหรับหนังสือที่ได้รับรางวัลในปี 2565 นี้ เราประเดิมด้วยสาขากวีนิพนธ์ กับรวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเรา ฝีมือการประพันธ์ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ อดีตอาจารย์มหาลัยที่ชะตาของเธออาจถูกลิขิตให้ต้องโคจรอยู่บนเส้นทางของบทกวี เพราะแม้ว่าชีวิตจะถูกพัดพาไปทิศทางอื่นใด สุดท้ายเธอก็หวนคืนสู่เส้นทางนี้ หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกในชีวิตของเธอ จะโอบกอดคุณไว้แม้ในยามที่โลกมืดมนและไร้อ้อมแขนของผู้ใด 

 

เส้นทางการอ่านของคุณเริ่มต้นอย่าไง

ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านกลอน และมักจดจำบทร้อยกรองได้เร็ว น่าจะเพราะจังหวะติดหู จำได้ว่าสมัยเรียนมัธยมปลายต้องคอยสรุปเรื่องอิเหนาให้เพื่อนฟัง เพราะเพื่อนอ่านแล้วไม่เข้าใจ จำชื่อจำตัวละครไม่ได้ แต่เรากลับรู้สึกว่ากลอนบทละครสนุกดีออก เพราะชอบอ่านมาแต่ไหนแต่ไรด้วย ช่วงมัธยมปลาย ก่อนเข้าแถวทุกเช้าจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ เพื่อสะสมข้อมูล ความรู้ ความคิด เอาไปคุยกับครูวิชาสังคม และเตรียมสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ หนังสือที่ชอบอ่าน (และต้องอ่าน) ในช่วงวัยนั้นคือหนังสือรัฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในระหว่างที่เรียนสาขานี้อยู่ก็เกิดคิดถึงและโหยหางานประเภทวรรณกรรมมากๆ เลยไปเรียนวิชาโทภาษาไทย ซึ่งเป็นวิชานอกคณะ ช่วงนี้เองที่ได้อ่านงานวรรณกรรมมากขึ้น ทั้งวรรณคดีโบราณ วรรณกรรมร่วมสมัย และกวีนิพนธ์ไทย

นักเขียนที่ชื่นชอบมีหลายท่าน อาทิ “ยาขอบ”, “พนมเทียน”, สถาพร ศรีสัจจัง ฯลฯ นักเขียนต่างประเทศชอบงานของ Jonas Jonasson

สนใจการเขียนตั้งแต่ตอนไหน

พอรู้ตัวว่าเราชอบกลอน ก็เขียนกลอนได้ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม-มัธยมแล้ว คำว่า “เขียนได้” หมายถึง เขียนถูกต้องตามข้อบังคับและสื่อความได้ แต่ไม่รู้หรอกว่าที่เขียนนั้นดีหรือเปล่า เขียนเรื่องทั่วๆ ไป รักใคร่ ลม ฟ้า อากาศ เขียนเล่นๆ ในกลุ่มเพื่อน แซวคนนั้นคนนี้ตามสนุก  สมัยเรียน ป.ตรี รัฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ (2547-2550) ก็ยังอาจหาญไปลงเรียนวิชานอกคณะคือวิชาประพันธ์ร้อยกรอง เพราะนึกเอาเองว่าพอจะเขียนกลอนได้ แต่เมื่อลงมือจริงนั้นไม่ง่ายเลย แม้อาจารย์จะบอกว่าน่าจะลองเอาดีทางนี้ดู  แต่ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าอยากทำให้ดีในรายวิชาเท่านั้น ไม่ได้อยากเป็นนักเขียน ทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สนใจอยู่ด้วย เลยปล่อยให้กระแสชีวิตพัดพาเราไป แทบจะไม่ข้องแวะกับการเขียน (กลอน) อีกเลยหลายปี

จนกระทั่งได้มาสอนอยู่ที่ราชภัฏบุรีรัมย์ ได้กลับมาจับปากกาอีกครั้ง เริ่มจากการเขียนกลอนปริศนาคำทาย (ผะหมี) ลงในจุลสารของสาขาวิชา และก็เขียนบทกวีลงในคอลัมน์ของนิตยสาร สะบายดีบุรีรัมย์ เลยได้ฝึกมืออยู่บ้าง แต่ยังห่างจากคำว่า “นักเขียน” อยู่มาก

เพิ่งเฉียดเข้าใกล้เส้นทางนี้ ก็ตอนที่ได้รับมอบหมายให้สอนวิชากวีนิพนธ์ไทย ตอนนี้เองที่เราตั้งเป้าว่าต้องจริงจังกับการเขียนบทกวีได้แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนลูกศิษย์ คงได้แต่ยกทฤษฎีและบทกวีของคนอื่นมาเป็นตัวอย่าง เลยลองลงสนามครั้งแรกโดยการส่งประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าเมื่อปี 2561 ซึ่งปรากฏว่าบทกวีเรื่อง “แล้วเธอล่ะเป็นใครในเมืองนี้” ได้รางวัลชมเชย และถัดจากนั้นในปีเดียวกันและปีต่อมาก็ได้รับรางวัลอื่นๆ อีกบ้าง จนกระทั่งมีโอกาสรวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2565

คุณฝึกเขียนบทกวีอย่างไร หรือเรียนจากใครบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเติบโตมากับจังหวะกลอนแบบกลอนนิราศ เช่น กลอนนิราศทั้งหลายของสุนทรภู่, นายมี, กลอนเพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง, กลอนเสภาขุนช้างขุนแผน ฯลฯ เราอ่านงานเหล่านี้เพลินๆ อ่านเอาสนุก และอ่านเพื่อเป็นแบบในการเขียนกลอนด้วย เมื่อเราเริ่มเขียนกลอนก็เลยเขียนเอาอย่างครูโบราณ จังหวะคลาสสิกแบบ 3-2-3 มีสัมผัสในวรรคให้อ่านไหลลื่น ครั้นมาอ่านกวีนิพนธ์ร่วมสมัย เช่น งานของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, “อุชเชนี”, วิทยากร เชียงกูล, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ศิวกานท์ ปทุมสูติ, สถาพร ศรีจังจัง, ศิริวร แก้วกาญจน์, ไพวรินทร์ ขาวงาม ฯลฯ เราเริ่มสังเกตว่า เราไม่ได้อ่านงานเหล่านี้เพื่อความสนุกแล้ว เราอ่านเพื่อดื่มด่ำสิ่งที่นอกเหนือจากเนื้อเรื่อง สารที่อยู่ในนั้นมันใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที ทั้งที่คำศัพท์ก็ธรรมดาสามัญ  แต่สัมผัสอารมณ์ได้ลึก กวีนิพนธ์เหล่านั้นแนบชิดอารมณ์ความรู้สึกเรามาก เลยเริ่มอยากเขียนบทกวีให้ได้แบบนั้น ก็เรียนรู้จากครูกวีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีของ “พนม นันทพฤกษ์”, ศิริวร แก้วกาญจน์, “ประกาย ปรัชญา” มีผลกับความรู้สึกเรามาก ชอบจังหวะบทกวีของเขา ชอบเสียงของคำ ชอบภาษา ชอบน้ำเสียงในบทกวี เราก็ “เลียน” จังหวะและกลวิธีนั้นๆ มาปรับใช้ในงานของตัวเอง

สไตล์การเขียนกวีของปาลิตาคือแบบไหน

ตอนนี้ยังคงสนุกกับการเขียนกลอนฉันทลักษณ์ (กลอนสุภาพ) ที่ไม่เคร่งครัดเรื่องจังหวะและจำนวนคำ และไม่พะวงกับเสียงสัมผัส (สระ) ภายในวรรคมากเกินไป ชอบใช้คำศัพท์ง่ายๆ แต่สื่อความหมายได้ตรงกับสิ่งที่เรารู้สึก สำคัญคือเราจะเขียนก็ต่อเมื่อเรา “อิน” กับสิ่งที่เราอยากเขียนจริงๆ  ถ้าเขียนเรื่องเศร้า เราต้องเศร้าซะก่อน ถ้าเขียนแบบเชือดเฉือนใคร เราต้องชิงชังคนนั้นซะก่อน มีนักอ่านบางท่านบอกว่างานของเราเป็นสไตล์หวานแบบดุๆ ก็อาจจะจริง

 

จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ เป็นรวมบทกวีเล่มแรกของคุณ แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้

บทกวีในเล่มนี้ส่วนมากเกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ครั้งใหญ่ เราต่างป่วยไข้และถูกเลี้ยงไข้ เราเจ็บปวด เราหายใจไม่ออก ภาวะแตกสลายของชีวิตที่เราประสบพบเห็นมันดาลอารมณ์เรา และการเขียนช่วยรองรับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกเหล่านี้ไว้ นอกจากนั้นยังมีแรงดาลใจที่มาจากบทสนทนาต่างๆ ซึ่งเรามีส่วนร่วม ทั้งรับฟังและสนทนา ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ แม้กระทั่งบทสนทนากับตัวเอง เราสนทนากันเรื่องอะไร? ก็เรื่องประเด็นต่างๆ ทางสังคม เช่นความคับข้องใจต่อการทำงานของผู้มีอำนาจ ความสังเวชใจกับความบัดซบเหลือทนของชีวิต ฯลฯ บทสนทนาด้วยความรู้สึกอันเข้มข้นเหล่านี้ล้วนมีส่วนบันดาลให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น

บทกวีในเรื่องแต่งขึ้นเพื่อรวมเป็นเล่มนี้โดยเฉพาะ หรือเป็นบทที่แต่งเก็บไว้เรื่อยมา

มีทั้งที่เขียนเก็บไว้และที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อรวมเล่ม กล่าวคือบทกวีเล่มนี้เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและโดยคาดไม่ถึง

โดยตั้งใจคือว่า เราปรารถนาที่จะมีรวมบทกวีของเราสักเล่มในชีวิตอยู่แล้ว แต่จะมีตอนไหนก็ช่างเถิด เราไม่ได้เข้มงวดกับตัวเอง เราค่อยๆ เขียน ค่อยๆ สะสมของเราไปเรื่อยๆ แต่พอดีว่าเมื่อกลางปี 2564 เราได้ไถ่ถอนตัวเองจากงานประจำ จึงมีเวลาใคร่ครวญชีวิตมากขึ้น  ชีวิตในยามนั้นทั้งนิ่ง สับสน ลังเล ระคนกันไปหมด จึงได้ขีดๆ เขียนๆ อะไรออกมาหลายอย่าง  ประจวบเหมาะเป็นช่วงเวลาที่เราต่างเผชิญหน้าสถานการณ์ที่สั่นสะเทือนหัวใจ ทั้งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ภาวะโรคระบาด ฯลฯ  ความนึกคิด ความโกรธเกลียด ชิงชัง สิ้นหวังและมีหวัง ซึ่งถูกบ่มไว้ก็ท่วมท้นออกมา เลยได้เขียนบทกวีในช่วงเวลานี้ค่อนข้างเยอะ และโดยไม่คาดคิดมันก็มากพอที่จะรวบรวมจนเป็นเล่มสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น

แต่กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นเล่ม ย่อมต้องเจอความท้าทายไม่น้อย

การเขียนบทกวีไม่ยากเท่าการรวมเล่มบทกวี ความยากอยู่ตรงที่จะทำยังไงให้ทั้งเล่มมีเอกภาพ ไม่หลุดคอนเซปต์  เราต้องกล้าตัดใจทิ้งบทกวีบางชิ้นที่ชอบ เพราะไม่เข้ากับบทอื่นๆ ยากตรงการเรียงลำดับให้เหมาะสม บทไหนควรก่อน-หลัง บทแรกที่ทักทายผู้อ่านควรเป็นเรื่องไหนดี ซึ่งจะดึงดูดให้อยากอ่านต่อ เราแก้ไปแก้มาหลายรอบ สิ่งที่ยากมากๆ อีกเรื่องคือ การแบ่งภาคให้สมดุลและต่อเนื่อง จะทำยังไงให้บทกวีแต่ละบทที่เราแบ่งไว้ 4 พาร์ต มีความสมเหตุสมผลว่าบทไหนควรอยู่ในพาร์ตไหน และจะทำยังไงให้รอยต่อแต่ละพาร์ตเชื่อมร้อยกันได้ นับเป็นความท้าทาย

 

 

มีเกณฑ์กำหนดธีมของเล่มยังไง จึงเกิดเป็น 4 พาร์ตนี้

คีย์เวิร์ดของเล่มนี้อยู่ที่คำว่า โอบกอด อันหมายถึงการเหลียวแล การมองเห็น การเอื้ออาทร การเห็นอกเห็นใจกัน การปฏิบัติต่อกันฉันมนุษย์ บทกวีทั้งเล่มจึงว่าด้วยเรื่องของ “เรา” – ผู้ซึ่งไม่ได้รับการโอบกอดจาก “โลก” และ “เรา” ที่บางคราวก็เป็นผู้ซึ่งผลักไสใครไปจากอ้อมแขนของโลกเสียเอง ที่แบ่งเป็นพาร์ตต่างๆ (4 พาร์ต)  ก็เพื่อแจกแจงให้เห็นเป็นฉากๆ ว่า “โลก” ไม่โอบกอดเราอย่างไรบ้าง / “เรา” สำคัญผิดว่าได้โอบกอดใครเอาไว้อย่างไรบ้าง / ชะตากรรมของใครบ้างที่โลกไม่โอบรับ และสุดท้าย เราจะหยัดยืนต่อไปอย่างไรดีในเมื่อยังอยากมีลมหายใจอยู่

ภาคแรก ฉายภาพผู้คนซึ่งพยายามแบกภาระชีวิตอันแสนหนักหน่วงไว้ในยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ (ที่ไม่ใช่แค่การแพร่พันธุ์เชื้อโรค) ภาคสอง ว่าด้วยเรื่องการมองสรรพสิ่งด้วยสายตาโรแมนติกเกินจริง  เช่น การบริจาค ให้ทาน ให้ทุน ฯลฯ ดูเผินๆ คล้ายว่าเราได้ช่วย “โอบกอด” ใครเอาไว้ แต่คำถามที่แฝงไว้ในนี้คือ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ? ภาคสาม เป็นการสาธกให้เห็นอีกครั้งว่า ใครบ้างที่ถูกหลงลืม ถูกผลักไสไปจากอ้อมแขนของโลก  อาทิ เยาวชนที่สังเวยวัยเยาว์แก่ยุคสมัย บัณฑิตจบใหม่ที่โลกยังไม่อ้าแขนรับ กระทั่งพูดถึงการโอบกอดที่รัดแน่นจนเกินไป อย่างพ่อแม่ที่ยัดเยียดคุณค่าบางอย่างให้แก่ลูก  และภาคสุดท้าย เมื่อเรามิอาจต่อสู้กับโลกอันมืดมน แต่เรายังอยากมีชีวิต ยังอยากรักษาจิตวิญญาณเอาไว้ เราคงต้องกอด “ความหวัง” เอาไว้แน่นๆ โดยหวังว่าโลกจะโอบกอดเราไว้เช่นเดียวกัน ไม่อย่างนั้นเราคงต้องโอบกอดตัวเราเอาไว้เอง

 

ที่มาของชื่อหนังสือ

ชื่อเรื่องมาจากการอ่านทวนเพื่อเกลาบทกวีชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องของเยาวชนวัยเรียนที่ต่อสู้กับปัญหาความยากจนในยุคสมัยแห่งความมืดมนนี้ไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจยุติการมีชีวิต มีวรรคที่เราเขียนว่า “กี่ชีวิตสูญเปล่าอีกเท่าใด โลกโอบกอดเธอไว้ไม่ทันแล้ว”  ตอนเขียนจบใหม่ๆ ยังไม่รู้สึกโดนใจเท่าตอนที่มาอ่านซ้ำ อยู่ๆ ชื่อเรื่องและคอนเซปต์ก็วาบขึ้นมา นี่แหละ กี่ชีวิตแล้วที่ไม่ได้รับการโอบกอดจากโลก แล้วก็เป็นเราเองนี่แหละ ที่อาจจะหลงลืมใครไป

 

สารที่อยากสื่อหรือข้อความที่อยากส่งผ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้คืออะไร

เราทำอย่างอื่นไม่เก่ง เราพูดไม่คล่อง เขียนอะไรยาวๆ ไม่ถนัด แต่เรามีความนึกคิด มีความรู้สึก เราเขียนบทกวีขึ้นก็เพื่อรับใช้ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อเยียวยาหัวใจตัวเอง เราไม่มีทางป่าวประกาศหรอกว่าเราเขียนบทกวีเล่มนี้เพื่อใคร เราเขียนเพื่อตัวเราเองนี่แหละ แต่ถ้ามันจะช่วยโอบกอดใครเอาไว้ได้ เราก็จะยินดีเป็นที่สุด

มีบทไหนที่ชอบหรือประทับใจเป็นพิเศษ

รักทุกบทพอๆ กัน แต่ที่ชอบเป็นพิเศษมีอยู่สองสามชิ้น เพราะมีฟีดแบ็กเยอะสุด และมีเรื่องประทับใจคือ พี่อาจารย์ที่เคยสอนอยู่ด้วยกันเล่าให้ฟังว่า ได้นำเอาบท “อ้อมอกเจ้าพระยา” ไปให้นักศึกษาในคลาสวรรณกรรมอ่าน ทุกคลาสจะต้องมีนักศึกษาร้องไห้ บางคนร้องไห้ตั้งแต่สองสามวรรคแรกแล้ว ไม่ได้ชอบเพราะเขาร้องไห้ แต่ชอบเพราะบทกวีชิ้นนี้คงมีพลังกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้เขาและเธอเหล่านั้นสั่นสะเทือนได้

อีกเหตุการณ์ที่ประทับใจ คือ มีนักอ่านท่านหนึ่งเจอเราในงานสัปดาห์หนังสือ เขาขอกอดเรา และบอกเราว่าขอบคุณที่เขียนงานนี้ เขาชอบบทกวีเรื่อง “404 not found – ไม่เคยถูกค้นพบ” มากๆ  อ่านแล้วร้องไห้ ร้องแล้วร้องอีก เราประหลาดใจตรงที่บทนี้ไม่สะท้อนอารมณ์เข้มข้นที่น่าจะทำให้เสียน้ำตาได้ แสดงว่าบทกวีนี้คงกระทบความรู้สึกของนักอ่านท่านนี้มากๆ เลยเป็นเรื่องประทับใจที่บทกวีของเรามัน “ทำงาน” แล้ว

 

รางวัลที่คุณภาคภูมิใจที่สุดคือรางวัลใด

ต้องยกให้รางวัลชมเชยจากเวทีพานแว่นฟ้าเมื่อปี 2561 ทั้งภูมิใจที่สุด ตื่นเต้นที่สุด ดีใจที่สุด เพราะเป็นชิ้นแรกที่ลองส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัล เป็นการเริ่มเขียนบทกวีอย่างจริงจัง เขียนอย่างประณีตและสุดความสามารถในขณะนั้น

ทำไมถึงสนใจส่งประกวดงาน 7 Book Awards และรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศ

แต่ก่อนเคยคิดว่าเวทีนี้ไกลตัว เพราะเขารับผลงานเป็นเล่ม แต่ปีนี้ประจวบเหมาะมาก เรารวมเล่มบทกวีครั้งแรก และเขาขยายเวลารับผลงาน เหมือนเป็นโชคชะตา และเป็นโชคของมือใหม่ บทกวีเล่มนี้ออกจากแท่นพิมพ์ก่อนหมดเขตส่งแค่ 3 วัน ทันเวลาพอดี เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมาไกลขนาดนี้ พูดจากหัวใจเลยว่า ต่อให้ไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไรสักนิด เพราะเราภูมิใจกับเล่มนี้มาก แค่มีผู้อ่านแม้เพียงหนึ่งคนชื่นชอบงานเรา นั่นถือเป็นรางวัลแล้ว (แต่ถึงจะไม่ชอบก็ไม่เป็นไรนะ เพราะยังไงเสียเราก็รักงานของเราเองได้)

 

 

สิ่งที่ยากที่สุดบนเส้นทางนักเขียนคืออะไร

สิ่งที่ยากที่สุดคือการถกเถียงกับความคิดของตัวเอง เป็นความคิดที่ว่า นี่เรากำลังเขียนอะไรอยู่ สิ่งที่เราเขียนนั้นมีคุณค่ายังไง  เขียนทำไม? เมื่อใดก็ตามที่เกิดความคิดเช่นนี้ เราจะไม่อยากเขียนอะไรเลย ต้องคอยสนทนากับตัวเองบ่อยๆ ว่า ก็แล้วทำไมล่ะ เราแค่เขียนในสิ่งที่รู้สึก ซื่อตรงต่อความรู้สึกของเรา คิดอะไร เชื่ออะไร ก็เอาออกมาจัดเรียงในรูปแบบที่เรารัก ที่เราถนัด ก็แค่นั้นเอง

มีภาพวงการกวีนิพนธ์ในฝันที่อยากเห็นไหม

อยากเห็นวงการนี้ “แมส” กว่านี้ อยากให้งานกวีนิพนธ์แต่ละเล่ม เป็นที่พูดถึง ติ ชม ถกเถียง ตีความ อ่านใหม่ ในวงการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากแวดวงเดียวกัน เผื่อจะได้ทัศนะใหม่ๆ  แปลกๆ เจ๋งๆ จากใครต่อใคร

ถ้าสนใจอยากเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ สามารถหาซื้อได้ช่องทางไหน

ติดต่อได้ทางเพจสำนักพิมพ์ผจญภัย และหาซื้อได้จากร้านหนังสือทั่วไป


หนังสือ 3 เล่มในดวงใจของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์

  • มายาคติ (Mythologies)

เขียนโดย Roland Barthes (โรล็องด์ บาร์ตส์) แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ

เล่มนี้ตรึงเราไว้ตั้งแต่คำนำเสนอบทแปลโดย นพพร ประชากุล แล้ว อ่านครั้งแรกสมัยเรียนปริญญาตรี เป็นเล่มที่ปลดปล่อยเราจากความเคยชินหลายอย่าง ไม่เคยคิดเลยว่า แค่ของเล่น ผงซักฟอก ไวน์ นม อาหารประดับประดาในนิตยสารสตรี ล้วนแล้วแต่มี “มายา” ทุกประโยค ทุกย่อหน้า อ่านแล้วต้องพยักหน้าตาม

  • ผู้ชนะสิบทิศ

เขียนโดย “ยาขอบ”

จริงอยู่ที่เรื่องนี้สนุกมาก มีการชิงไหวชิงพริบ กลศึก กลรบต่างๆ แต่เราไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเท่ากับลีลาภาษาของผู้เขียน อันที่จริงเล่มนี้เวลาอ่านทรมานสายตามาก เพราะแทบจะไม่ย่อหน้าเลย แต่เราก็สู้อ่าน เพราะติดใจสำนวนโวหาร ถ้อยสนทนา ภาษาของยาขอบเป็นภาษาที่ทั้งเท่และโรแมนติก ทั้งหวานและเข้ม

  • ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา

เรื่องโดยโรสนี นูรฟารีดา

บทกวีเล่มนี้ทรงพลังมากๆ เป็นกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ที่เต็มไปด้วยสัญญะเฉพาะ สำนวนภาษาคม ลุ่มลึก ตั้งคำถาม กระทุ้งความคิด สะท้อน-วิพากษ์ปัญหาสังคมได้เฉียบคม เป็นเล่มที่อ่านแล้วอ่านอีก


คอลัมน์ ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!