ชานันท์ ยอดหงษ์ เลือกที่จะถ่ายทอดประวัติศาสตร์ช่วง พ.ศ.2475 ในแง่มุมที่ไม่ซ้ำใคร เขาเลือกหยิบยกเรื่องราวของ “เมีย” ผู้เป็นคู่คิดคู่ชีวิตของบุรุษเรืองนามในคณะราษฎร โดยเผยให้เห็นความสำคัญของสตรีที่ทำหน้าที่หลังบ้าน ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลงานในบ้าน หากแต่คอยให้คำปรึกษา ช่วยตัดสินใจ เจรจาต่อรอง ทำธุรกิจ และขึ้นมาเป็นเสาหลักของครอบครัวยามสามีประสบเคราะห์ภัยทางการเมือง อีกทั้งยังมีบทบาททางการเมือง ขับเคลื่อนให้เกิดสวัสดิการต่างๆ อันเป็นคุณูปการต่อชนรุ่นหลัง ชานันท์ฉายแสงสปอตไลต์ให้แก่บรรดาสตรีผู้ที่ประวัติศาสตร์ละเลย และพาผู้อ่านไปพบกับประวัติศาสตร์อีกแง่มุมที่น่าศึกษา ด้วยความโดดเด่นนี้ หลังบ้านคณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง จึงได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสารคดี (ทั่วไป) จากเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565
ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
ก็ทำงานเหมือนเป็นนักวิจัยแหละ และมีตำแหน่งรับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายของพรรคเพื่อไทยด้วย
สนใจประวัติศาสตร์ได้อย่างไร
เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก เราอยู่กับญาติซึ่งอ่านหนังสือคนละแนว เราจึงได้อ่านหลากหลาย ยายอ่านสกุลไทย น้าอ่านพลอยแกมเพชร อิมเมจ สตาร์พิคส์ ส่วนตัวชอบแนวประวัติศาสตร์ อ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตอนเรียน ป.ตรี อยากเป็นนักเขียน มีนักเขียนในดวงใจคือพี่ ‘แขก’ หรือ ‘คำ ผกา’ (ลักขณา ปันวิชัย) พี่ ‘หนุ่ม’ โตมร ศุขปรีชา เคยส่งเรื่องไปลงวารสารหรือนิตยสารต่างๆ แต่ไม่มีที่ไหนรับเลย ไม่เป็นไรเป็นนักอ่านต่อไปเรื่อยๆ จนวิทยานิพนธ์ที่ทำตอนเรียน ป.โท ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 และมีกระแสพูดถึง เลยเปิดทางให้เราเข้าสู่โลกนักเขียน
เหตุใดประเด็นที่คุณให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี
เราสนใจประเด็นสิทธิสตรี และเควียร์ หรือ LGBTQ+ ด้วย เราชอบอ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก จึงเห็นว่าไม่ค่อยมีการพูดถึงคนกลุ่มนี้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เป็นเรื่องของคนตัวเล็กซึ่งถูกมองข้าม เลยอยากพูดถึงเพื่อให้รู้ว่าเขามีตัวตน มีเพศสภาพแบบนี้ในประวัติศาสตร์ ไม่ได้ต้องการอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ว่ามีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แต่เราคิดว่าประเด็นนี้จะทำให้สังคมคุ้นชิน และเห็นว่าสิ่งเหล่าเกิดขึ้นเป็นปกติตั้งแต่อดีต
อยากให้เล่าถึงที่มาว่าหนังสือหลังบ้านคณะราษฎร เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอนนั้นสมัครเรียน ป.เอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เงื่อนไขการสมัครคือต้องส่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่อยากทำไปก่อน พอดีเราได้อ่านหนังสือของอาจารย์ท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประวัติศาสตร์ช่วง พ.ศ.2475 ถึงไม่มีผู้หญิงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เลย หรือต่อให้เห็นก็มีน้อยคนมาก เช่น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะกล่าวขวัญถึงร่วมกับประวัติของสามี เราไม่เคยเห็นภาพรวมของผู้หญิงทั้งหมดที่มีส่วนขับเคลื่อนการปฏิวัติสยามนี้ นอกจากนั้น เราได้ดูละครเวทีเรื่อง เพลงรัก 2475 เกี่ยวกับประวัติท่านผู้หญิงพูนศุข ด้วยความที่เป็นการแสดง จึงเห็นมิติของความเป็นคน มีน้ำตา มีอากัปกิริยา จุดประกายเราว่าคนเหล่านี้มีตัวตนนะ ทำไมเราไม่ศึกษาว่าพวกเขาต้องเผชิญอะไร เขาทำอะไรในการปฏิวัติ และรักษาอุดมการณ์ของการปฏิวัติ 2475 อย่างไร เลยเสนอหัวข้อนี้ไป ทว่าด้วยสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตขณะนั้นทำให้เรียนไม่จบ ประจวบกับตอนนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำคำว่า “คณะราษฎร” กลับมาอีกครั้ง จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะนำเสนอเรื่องนี้เป็นหนังสือ
หลังบ้านคณะราษฎร พูดถึงอะไรบ้าง
หนังสือเล่มนี้พูดถึงบทบาทของผู้หญิงตามชื่อหนังสือเลย จะเห็นว่าการปฏิวัติสยาม 2475 นั้นผู้หญิงมีส่วนร่วมเยอะ เป็นบุคคลสำคัญที่หนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอุดมการณ์ที่ใช้ในการรักษาการปฏิวัตินั้นก็ผ่านผู้หญิง
ระหว่างการค้นคว้ามีสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เจอไหม
จากการศึกษาพบว่ารูปแบบความสัมพันธ์ในคณะราษฎรนั้น ไม่ได้มีแค่ ผัว-เมีย ชาย-หญิง แต่มีความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะเป็นคู่วายด้วยอย่างน่าตกใจ ซึ่งเราไม่เคยเอะใจเลย แล้วก็เรื่องเมียน้อย ภาพลักษณ์ของคณะราษฎรคือผลักดันเรื่องผัวเดียวเมียเดียว เพราะชนชั้นเจ้ามีผัวเดียวหลายเมีย ฝ่ายคณะราษฎรผลักดันเรื่องนี้เพราะต้องการแสดงถึงความมีอารยะ แต่สุดท้ายผู้ชายที่มีอำนาจ มีตัวตน มีสถานะการเงินที่ดี เขาก็มีเมียน้อยอยู่ดี
ในเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ท่านผู้หญิงละเอียดคือบุคคลสำคัญเบื้องหลัง ตอนแรก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่อยากเข้าร่วมการรัฐประหารนี้ ทั้งลูกศิษย์ ทหาร ตำรวจ กองทัพ ขอให้ไป ก็อิดออด จนท่านผู้หญิงละเอียดบอกไปเหอะ จอมพล ป. ก็ไปเลย หรือแม้กระทั่งเงื่อนไขสำคัญในการลาออกจากตำแหน่งของ จอมพล ป. ก็มีท่านผู้หญิงละเอียดอยู่เบื้องหลัง ท่านผู้หญิงละเอียดจึงมีบทบาทต่อการเมืองการปกครองสูงมาก ทว่านอกจากหนังสืองานศพของท่าน หรือหนังสือประวัติ จอมพล ป. ที่กล่าวถึงเมียด้วยแล้ว ก็แทบไม่มีการพูดถึงเลย ในขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกลับได้รับการพูดถึง และมีข้อมูลให้ศึกษาเยอะ ทั้งที่ท่านผู้หญิงละเอียดมีบทบาทมากกว่า เราจึงอุทิศหนึ่งบทพูดถึงคุณูปการสำคัญของท่านผู้หญิงละเอียดโดยเฉพาะ
ในเมื่อการพูดถึง “เมีย” ของคณะราษฎรมีน้อย ตอนหาข้อมูลมีอุปสรรคไหม
ก็ค่อนข้างหาข้อมูลยาก เรากังวลมาตลอดว่าข้อมูลจะเพียงพอไหม จึงนั่งหามาเรื่อยๆ เราทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2557-62 กินเวลา 5 ปี แต่ทำบ้างหยุดบ้าง วันไหนหาหนังสือในหอสมุดแห่งชาติเจอก็จะแฮปปี้ วันไหนไปแล้วไม่เจอก็เฟล แต่เราคุ้นชินกับความยากของงานประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เราพยายามจะใช้แต่ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช้วิธีการสัมภาษณ์ เพราะเคยสัมภาษณ์แล้วตอนหนังสือนายใน แต่ใช้อ้างอิงไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลมุขปาฐะ แล้วมัน cross-check (ตรวจสอบคร่าวๆ) ยาก คนนี้กับคนนั้นพูดตรงกันไหม อันไหนน่าเชื่อถือ สิ่งที่เขาเล่ามามีอคติรึเปล่า หรือเกิดจากความทรงจำหลงๆ ลืมๆ และพอเขียนไปแล้วเราต้องรับผิดชอบทั้งหมด เลยตัดสินใจว่าใช้ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะปลอดภัยกว่า แต่ก็น่าเสียดายนะ เพราะบางเรื่องที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ก็จะลืมเลือนไป
ใช้เกณฑ์อะไรในการเรียงเนื้อหาในเล่ม
เราเรียงตามช่วงเวลาเลย เริ่มจากก่อนการปฏิวัติสยาม บริบทสังคมเป็นยังไง ผู้หญิงสมัยนั้นเขาพบรักกันยังไง จีบกันแบบไหน ความสำคัญของการแต่งงาน การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อย่างไร ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในด้านใด และบทสุดท้ายหลัง พ.ศ.2500 เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจแล้วเขาอยู่กันอย่างไร
เทคนิคการเขียนที่ใช้
เมื่อเรากล่าวถึงผู้หญิงคนไหน เราพยายามให้เป็นประธานของประโยคในงานเขียน ที่ผ่านมาเราหงุดหงิดใจมากกับการที่งานเขียนต่างๆ อธิบายว่า เป็นภรรยาของ… ทำไมไม่ระบุชื่อผู้หญิงคนนั้นไปเลย โดยไม่ต้องอ้างอิงถึงสามี ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งจะมีตัวตนก็ต่อเมื่อมีสามี เราจึงให้ผู้หญิงในหนังสือเราเป็นประธาน แล้วมีผู้ชายมาอ้างอิงทีหลัง ไม่ได้ให้ผู้หญิงเป็นตัวรองของเรื่อง เป็นเทคนิคการเขียนที่เราตั้งใจ
กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นเล่มให้ได้อ่านนี้ ผ่านความยากลำบากอะไรบ้าง
เริ่มจากหาข้อมูลไม่ได้เลย ต้องไปนั่งเขียนตารางชื่อคณะราษฎร คนนี้อยู่สายไหน พลเรือน ทหารบก หรือทหารเรือ แล้วเมียเขาชื่ออะไร บางคนเปลี่ยนชื่อด้วย เพราะสมัยหนึ่ง จอมพล ป. ให้เปลี่ยนชื่อตรงกับเพศสภาพ ผู้หญิงบางคนจึงต้องเปลี่ยนชื่อ แล้วยังเปลี่ยนนามสกุลอีก เราได้ไปวัดพระศรีมหาธาตุ เพื่อดูตรงที่เขาฝังกระดูกคณะราษฎร และอ่านชื่อว่าเขาฝังไว้กับใคร ฝังไว้กับคนนี้ เมียแน่ๆ แล้วไปหาข้อมูลต่อ ผีก็กลัว หมาก็ดุ แต่ก็สนุก สืบค้นไปสืบค้นมาเจอเมียน้อยอีก (หัวเราะ) ต้องไปอ่านหนังสืองานศพ อ่านไมโครฟิล์มที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถามว่ายากไหม ก็ยากนะ แต่เรามีแพชชัน อยากให้ผู้หญิงได้มีตัวตนในพื้นที่ประวัติศาสตร์ เลยสนุกกับการค้นคว้า
เปรียบเทียบบทบาททางการเมืองของสตรีผู้เป็นหลังบ้านในยุคคณะราษฎรกับปัจจุบัน
ภรรยาของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา เรายังไม่เห็นว่ามีคนไหนมีบทบาทโดดเด่นเท่าท่านผู้หญิงละเอียด ด้วยความที่เราเลือกนายกรัฐมนตรีโดยผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง หากภรรยามีบทบาทด้วยจะมีลักษณะอำนาจแฝง คุณไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คุณแค่ได้กับนายกฯ แต่ในสมัย จอมพล ป.นั้นแบ่งหน้าที่กันชัดเจน จอมพล ป. ดูแลประชาชนเพศชาย ท่านผู้หญิงละเอียดดูแลประชาชนเพศหญิง จนมาถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง มันก็สะท้อนโครงสร้างการเมืองไทยเหมือนกันว่า ผู้หญิงจะมีบทบาททางการเมืองได้ คุณต้องมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับคนในแวดวงการเมือง เช่น เป็นภรรยา เป็นน้องสาว เป็นลูกสาว เป็นเครือญาติกับนักการเมืองชายที่มีมาก่อนหน้า
เป้าประสงค์ที่อยากสื่อสารผ่านผลงานเล่มนี้
ในที่สุดแวดวงวิชาการว่าด้วยการปฏิวัติ 2475 ก็ได้ประจักษ์ว่ามีผู้หญิงแล้ว เราไม่ต้องการยัดเยียดผู้หญิงเข้าไปในประวัติศาสตร์ แค่ต้องการให้มีผู้หญิงร่วมด้วย มันคือการขยายพรมแดนความรู้ที่ว่าด้วยคณะราษฎรให้กว้างขึ้น และดีใจตรงที่ได้เห็นว่านักวิชาการหลายคนศึกษาประวัติศาสตร์คณะราษฎรในมิติใหม่ เช่น สถาปัตยกรรม อาหาร เสื้อผ้า สุขอนามัย อิทธิพลของคณะราษฎรจึงไม่ได้มีแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น เช่น โรงพยาบาลราชวิถี บ้านพักคนชราบางแค แฟลตดินแดง เหล่านี้เกิดสมัยคณะราษฎร โดยใช้คำว่า “วัฒนธรรมสงเคราะห์” หรือ “สังคมสงเคราะห์” ปัจจุบันคำเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการอุปถัมภ์หรือการกุศลแทน ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐอย่างแต่ก่อน
เหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และพูดถึงคณะราษฎรอยู่เสมอ เช่น พ.ศ. 2552-2553 กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวและยกคณะราษฎรมาพูดถึง หรือปี 2563 กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็พูดถึงคณะราษฎรอีกเช่นกัน เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชนต้องการประชาธิปไตย และรู้ว่าใครคือศัตรูของประชาธิปไตย จึงยกคณะราษฎรขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง มีความพยายามที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าวหายไป มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่สำคัญซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงคณะราษฎร มีการขโมยหมุดการปฏิวัติสยาม ทำให้คนลืมคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงรู้สึกดีใจที่หนังสือถูกพูดถึง และได้รับรางวัล ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของการคืนประวัติศาสตร์ที่หายไป
รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ดส่งผลยังไงบ้าง
เราไม่คิดว่าจะได้รับรางวัล เพราะเนื้อหาค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนั้น คำนำก็เขียนแบบกวนมาก ตื่นเต้น เกิดมาไม่เคยได้รางวัลแบบนี้ มีนักเขียนฝ่ายซ้ายที่เรารู้จักกันมาก่อนแซวบ้าง ก็ไม่คิดอะไร ดีใจที่ได้รางวัล
สิ่งที่ได้จากการเขียน
เราใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง การที่งานเขียนของเราได้รับการตีพิมพ์ และมีคนนำไปอ่าน ต่อให้มีเพียงคนเดียวเราก็ดีใจแล้ว อย่างน้อยความรู้ที่เราพยายามสืบค้นเพื่อส่งต่อ ได้รับการเผยแพร่สำเร็จแล้ว
3 เล่มในดวงใจของ ชานันท์ ยอดหงษ์
- ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ
เล่มนี้เป็นรวมบทความนานาชาติว่าด้วยจะทำอย่างไรถ้าไม่ยอมรับการเกณฑ์ทหาร ประเทศอื่นเขาเคลื่อนไหวอย่างไร เราจะได้เห็นว่าหลายประเทศก็ต่อสู้เรื่องนี้เหมือนกัน ความน่าสนใจของเล่มนี้คือการกล่าวถึงสิทธิสตรีในการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ถ้าดูในประเทศไทยกลุ่มต่อต้านการเกณฑ์ทหารคือผู้ชาย แต่กลุ่มเฟมินิสต์ไทยกลับเงียบ ทั้งที่เป็นเรื่องซึ่งเธอมีส่วนได้ส่วนเสียเช่นกัน การที่เธอนิ่งเฉยแสดงว่าเธอยอมรับว่าความมั่นคงของประเทศนี้อยู่ในมือผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง
- ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
เรื่อง: ณัฐพล ใจจริง
เป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ซึ่งเรานำมาใช้อ้างอิงในหลังบ้านคณะราษฎรด้วย เล่มนี้ได้สะท้อนภาพตัวบุคคล ตัวแปรสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ รวมถึงการพิทักษ์คณะราษฎร การต่อสู้ของคณะราษฎรกับกลุ่มปฏิปักษ์ต่างๆ ค่อนข้างเปิดโลกเรามาก
- First Queer Voice from Thailand
เรื่อง: Peter A. Jackson
เล่มนี้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ของประเทศไทย ในทศวรรษ 1970 อาจารย์ปีเตอร์มาศึกษาค้นควาในเมืองไทย และค้นนิตยสารเก่าๆ เจอคอลัมน์ที่ผู้อ่านส่งเรื่องระบายความเศร้า เล่มนี้จึงได้สะท้อนตัวตนของ LGBTQ+ ในยุคนั้น เขามองตัวเองอย่างไร เขามองสังคมอย่างไร เผชิญอะไรบ้าง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ