มายด์ โจริญ ตาออม แฮนน่า ฝ้าย พั้นช์ อ๊ะอาย ทั้งหมดคือผู้ชนะการแข่งขันจากรายการ 4EVE Girl Group Star เพื่อหาผู้เดบิวต์เป็นเกิร์ลกรุ๊ปในนาม 4EVE (โฟร์อีฟ)
16-22 ปี คือช่วงอายุของสมาชิกทั้ง 7 คน บางคนเพิ่งเปลี่ยนสรรพนามจากเด็กหญิงเป็นนางสาวไม่กี่ปี บางคนเพิ่งผ่านการบรรลุนิติภาวะ แต่เด็กสาวเหล่านี้คร่ำหวอดด้วยประสบการณ์การฝึกฝน ร้อง เต้น แรป การแสดง ผ่านเวทีการประกวดไม่น้อย และอาจมากกว่าผู้ใหญ่หลายคน เป็นความหวังของวงการเพลงที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นความหวังที่จะปลุกกระแสดนตรีทีป๊อป (T-POP) ในประเทศและขยายสู่ต่างประเทศ ทว่าเบื้องหลังความสามารถ ความเก่ง ความ ’มีของ’ ของพวกเธอนั้นต้องผ่านการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเธอจึงพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวเจ็บมาเยอะแต่ไม่ท้อแก่ผู้อ่านออล แม็กกาซีนแล้ว
แต่ละคนอายุกี่ปีและเรียนอะไรกันอยู่
อ๊ะอาย: 16 ปีค่ะ เรียนอยู่ม.5 เอกดุริยางค์ โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร
พั้นช์: อายุ 17 ปีค่ะ ออกมาสอบเทียบวุฒิม.6 ค่ะ
ฝ้าย: อายุ18 ปีค่ะ เรียนปี 1 คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
แฮนน่า: อายุ 20 ปีค่ะ หนูมาจากสปป.ลาว ตอนนี้เรียนปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
ตาออม: อายุ 21 ปีค่ะ เรียนนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพเหมือนกัน
โจริญ: ใกล้จะอายุ 22 ปีแล้วค่ะ เรียนคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ม.กรุงเทพ
มายด์: อายุ 22 ปีค่ะ เรียนจบแล้ว จบจากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศวค่ะ
กว่าจะมาเป็น 4EVE สาวๆ แต่ละคนผ่านการเรียนและการประกวดอะไรกันบ้าง
พั้นช์: แม่ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก อยากให้กล้าแสดงออก เลยเรียนโน่นนี่มาตลอดทั้งร้องเพลง เต้น เปียโน การแสดง แต่แม่จะบอกเสมอว่าเรื่องเรียนก็ห้ามทิ้งนะ
โจริญ: ย้อนไปตอนเด็กๆ คุณแม่อยากให้มีงานอดิเรก เลยส่งไปเรียนเต้นแจ๊สแดนซ์ ครั้งแรกตอนป.3 แล้วก็เรียนเต้นอย่างอื่นบ้าง ส่วนร้องเพลง เพื่อนในห้องเคยบอกว่าเราเสียงโอเค ให้เป็นตัวแทนห้องไปร้อง ก็รู้สึกว่าอาจมีแววทางนี้เลยไปลงเรียน หนูไม่ค่อยประกวดเพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีโอกาส แต่เวทีใหญ่ที่สุดเป็นเวที Zeed Idol เข้ารอบจนได้มาประกวดที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นก่อนลงเวทีไมค์กระแทกปากตัวเอง พี่ป๋อมแป๋มซึ่งเป็นกรรมการแซวหนู หลังจากนั้นทั้งสตูดิโอก็เชียร์หนู จนได้รางวัลที่หนึ่งมา ขอบคุณไมค์วันนั้น (ฮ่า)
ตาออม: ตอนเด็กๆ หนูเรียนเยอะมากแทบจะเป็นยอดมนุษย์ แต่ไม่ใช่สายวิชาการนะคะ คุณแม่เห็นแววตั้งแต่เล็ก เราชอบร้องชอบเต้นให้ดู รู้สึกตัวเองทำได้ดี (หัวเราะ) เลยส่งเรียนบัลเล่ต์ ดนตรี กีฬา ชอบที่สุดคือร้องเต้น เรียนเรื่อยมาจนถึงม.ต้น พอขึ้นม.ปลายอยากตั้งใจเรียนเลยหยุดกิจกรรมไป 4EVE Girl Group Star เป็นการประกวดเวทีใหญ่ครั้งแรก หนูไม่ชอบการแข่งขัน แต่ครั้งนี้เป็นความรู้สึกไม่อยากนึกเสียดายทีหลังหากไม่ได้ทำ
มายด์: ถ้าพูดถึงพาร์ทการเรียนอะไรสักอย่างจริงจัง คงเป็นการเรียนเต้นฮิปฮอปช่วงอายุ 13 ปี เรียนอยู่ 4-5 ปี จริงจังถึงขนาดไปแข่งรายการ Hip Hop International Thailand แข่งรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ลงแข่งสองปีได้ที่ 5 และที่ 4 ของประเทศไทย ส่วนการร้อง เราไม่เคยเรียน แต่ฝึกด้วยตัวเอง
แฮนน่า: เมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ที่บ้านมีพี่สาวชอบเต้นชอบร้อง ส่วนเราจะเงียบๆ เราเริ่มเรียนยิมนาสติกก่อน พ่อเห็นว่ามาทางนี้เลยส่งเรียนบัลเล่ต์ แต่ไม่อยากเรียน พอดีเจอเขารับสมัครคนเต้นคัฟเวอร์แดนซ์ในเฟซบุ๊ก เราสมัครทันทีเพื่อไม่ต้องเรียนบัลเล่ต์ จนไปประกวด แต่รู้ตัวว่าเต้นไม่เก่ง จากนั้นก็มีประกวดเดินแบบ เขาห้ามใส่บูท ต้องส้นเข็ม แต่หนูใส่ไม่เป็นเพราะเป็นเด็ก ก็ตีมึนใส่เดินเลย ปรากฏได้ที่สามเฉย พอดีมีผู้กำกับมาเชียร์เพื่อนเขาแข่งแล้วเห็นหนู เลยชวนไปแคสติ้ง จนได้แสดงซีรีส์ แล้วก็ประกวดมิสทีนได้ที่สามอีก และเป็นตัวแทนไปแข่ง Miss Asia Global แข่งกับผู้ใหญ่ หนูเด็กสุด ได้รางวัลป๊อปปูล่าร์โหวต ไม่คิดว่าจะได้ด้วย หลังจากนั้นก็มาแข่ง 4EVE Girl Group Star
ฝ้าย: หนูเรียนเต้น มีทีมเต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มเรียนป.2 แข่งเต้นตั้งแต่ป.5 เรียนทุกสไตล์การเต้นเพราะต้องใช้แข่ง
อ๊ะอาย: หนูเรียนร้องเพลงครั้งแรกตอน 7 ขวบ แต่รู้สึกไม่ชอบการเรียนเลยเลิก พอทำงานในวงการบันเทิงก็ได้เล่นละครเวที ได้ไปแข่ง The Trainer แข่ง The Voice Kid หนูเรียนรู้จากการทำงาน จากการประกวด เพราะทุกที่ก็มีครูคอยสอน
ทำไมถึงตัดสินใจมาประกวดรายการ 4EVE Girl Group Star กัน
พั้นช์ มายด์ ตาออม: มีพี่ทีมงานชวนให้มาออดิชั่น เราไม่อยากปิดโอกาสตัวเอง เลยลองดู
โจริญ: มีพี่ที่รู้จักเขารู้จักรายการนี้ แล้วตอนเปิดออดิชั่นหนูเพิ่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้ประมาณสองเดือน ไม่กล้าไปไหนนอกจากหอกับมหา’ลัย ก็ว่าง เบื่อ เลยลองออดิชั่นหาอะไรทำ
อ๊ะอาย: หนูเคยประกวดรายการ We Kid Thailand ของเวิร์คพอยท์ แล้วเป็นเพื่อนกับพี่ทีมงานในเฟซบุ๊ก เห็นเขาแชร์ประกาศรับสมัคร ก็ตัดสินใจมาลองดู ไม่คิดว่าจะผ่านด้วยเพราะหนูไม่ได้มาสายเต้น
ฝ้าย: หนูมาสมัครเพราะแม่เลยค่ะ ลูกของเพื่อนแม่เขาไปออดิชั่น แล้วแม่หนูก็ไปดูด้วย วันต่อมาหนูกำลังหลับอยู่ แม่ก็มาปลุก บอกให้ไปออดิชั่น เตรียมเอกสารทุกอย่างให้แล้ว หนูไปออดิชั่นแบบงงๆ ด้นสดวันนั้นเลย
แฮนน่า: หนูมาเที่ยวกรุงเทพฯ ตอนนั้นไม่มีโควิด-19 กำลังจะกลับอยู่แล้วนั่งรอเครื่องบิน เห็นเฟซบุ๊กพี่ที่เป็นคนลาวเหมือนกัน เขาถ่ายรูปว่ามาออดิชั่นที่เวิร์คพอยท์ หนูก็ใช้วิชาซูมรูปเลยค่ะ ได้ชื่อก็เอาไปเสิร์ช แล้ววันรุ่งขึ้นคือรับสมัครวันสุดท้าย หนูวิ่งหาที่ถ่ายรูปแถวอุดรธานีแล้วบินมากรุงเทพฯ ซ้อมบนเครื่องบินเลย วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปเวิร์คพอยท์แต่เช้า ได้คิวแรกสุด
ระหว่างที่แข่งขันในรายการมีโชว์ไหนประทับใจหรือท้าทายที่สุด
มายด์: ท้าทายทุกโชว์ค่ะ แต่โชว์เพลงแตกต่างเหมือนกันประทับใจเป็นพิเศษ วันนั้นเราไปด้วยพลังล้นเหลือ เตรียมไปสู้ เพราะก่อนหน้ามีน้องในทีมโดนหักคะแนน เราไปด้วยความรู้สึกจะเอาชนะให้ได้ เอาน้องเรากลับมา แล้วเพลงก็ค่อนข้างปลุกใจ แสงสีบนเวทีก็ส่งอารมณ์
โจริญ: เหมือนกันกับมายด์คือโชว์แตกต่างเหมือนกัน เป็นช่วงกลางๆ ของรายการแล้ว เราผูกพันกับสมาชิกในทีม ไม่อยากเสียใครไป ความรู้สึกนั้นกระตุ้นให้อะดรีนาลีนหลั่ง
ตาออม: เหมือนมายด์กับโจริญค่ะ เพราะเราสามคนอยู่ทีมเดียวกันคือทีม Fox
แฮนน่า: สำหรับหนูถ้าในแง่ท้าทายหนูให้อีพีแรกเลย หนูไม่ได้ซ้อมกับเพื่อน เพราะเราไม่ได้อยู่ไทยแล้วเป็นช่วงแรกๆ ที่โควิด-19 ระบาด ปิดประเทศมาไม่ได้ ต้องซ้อมผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วเราไม่เคยทำงานที่ไทยก็กลัวถูกตำหนิ คนที่ลาวก็คาดหวังกับเราสูงมาก กดดันตัวเอง ส่วนโชว์ที่ประทับใจคือโชว์วันตัดสิน ตอนนั้นหนูปล่อยวางทุกอย่าง เลิกกดดัน ทำสมองให้โล่ง ไม่คาดหวังอะไรแล้ว ฉันแค่ทำวันนี้ให้เต็มที่
ฝ้าย: โชว์ที่โหดที่สุดคือโชว์เพลงโปรดส่งใครมารักฉันที เป็นอีพีที่โชว์การร้องสด 100% ไม่ใช่ที่ผ่านมาเราไม่ร้องสดนะคะ แต่ร้องสดแค่ครึ่งหนึ่ง 50% มีเสียง backing track แล้วเราทั้งร้องทั้งเต้น มันเหนื่อยมาก ท่าเต้นก็เก็บทุกบีท ร้องก็เสียงสูงอีก ช่วงนั้นทุกคนฝึกกันหนัก ทุกคนไปวิ่งลู่วิ่งแล้วร้องเพลงคลอด้วย แต่พอผ่านมาได้ก็รู้สึก เฮ้ย เก่งวะ
อ๊ะอาย: เหมือนกันค่ะ หนูกับพี่ฝ้ายและพี่พั้นช์อยู่ทีมเดียวกัน หนูเคยแต่ร้องอย่างเดียว ไม่เคยเต้นไปด้วย แถมต้องแสดงสีหน้าอีก มันยากมากๆ กรรมการก็นั่งตรงหน้าเรา พอผ่านไปได้ก็ภูมิใจ
พั้นช์: ของพั้นช์เป็นเพลงต่อหน้าฉัน เป็นยูนิตสามคนมี ฝ้าย พั้นช์ และโมบายล์ สองคนในทีมเป็นนักเต้นอยู่แล้ว หนูแค่พอมีพื้นฐาน แล้วท่าเต้นก็ยากมาก ต้องร้องสด 100% อีก พั้นช์ต้องร้องท่อนเสียงสูงด้วย วันซ้อมใหญ่หนูปล่อยโฮเลย ไม่ไหวแล้วกดดันมาก แต่หลังจากนั้นมีพี่ที่สอนเต้นชมว่าพั้นช์จำท่าไวขึ้นนะ พอเราผ่านมาได้ก็พัฒนาตัวเองอีกก้าว
ก่อนจะพูดถึงความสำเร็จของการเป็นผู้ชนะ อยากให้แต่ละคนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รู้จักกับความพ่ายแพ้กัน
ฝ้าย: สำหรับหนูเป็นตอนแข่งเต้นจริงจังครั้งแรก ช่วงเราซ้อมที่สตูดิโอรู้สึกโชว์เราเฟี้ยวมาก อยากให้คนเห็นไวๆ เราแข่งกัน 21 ทีมเพื่อคัดเข้ารอบไฟนัล พอขึ้นไปแข่งยังไม่ทันไรตกรอบแล้ว ก็เซ็งๆ นะ แบบทำไมว้า โชว์เราไม่เฟี้ยวตรงไหน วันรุ่งขึ้นเลยไปดูแข่งไฟนัล อยากรู้ที่หนึ่งเป็นยังไง โอ้โห เปิดโลกมาก เรานำสิ่งที่เห็นมาปรับปรุง ปีต่อมากลับมาแข่งอีก คราวนี้ได้ที่สาม การแพ้ทำให้เราเซ็งแต่ก็ไม่ได้แย่เสมอไป
พั้นช์: พั้นช์มีสองเรื่อง หนูไปแข่งรายการออนไลน์ เป็นสัปดาห์ที่คนรอบข้างพากันพูดว่าพั้นช์เข้ารอบแน่ เดินไปที่ไหนก็มีแต่พั้นช์ได้แน่ พอได้ยินมากๆ เราก็มั่นใจ หวังเป็นพิเศษ แต่พอแข่งจริงเราไม่เข้ารอบ ทุกคนอึ้ง ตัวเราก็ผิดหวังมาก เสียใจ อีกเรื่องคือเราแข่งรอบร้องเพลงสากล หนูกับคู่แข่งอีกคนร้องเพลงเดียวกัน โอ้โห เปรียบเทียบกันชัดเจนเลย หนูขึ้นเวทีไปร้องก่อน ร้องจบคนดูปรบมือ ก็ลงจากเวที อีกคนขึ้นไปร้อง พอเขาร้องจบ คนดูลุกขึ้นยืนแล้วปรบมือให้ หนูเหมือนโดนตบหน้า เราเสียใจและผิดหวังมากจนอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ไม่มีใครพูดว่าพั้นช์ร้องเพลงไม่เพราะ ความผิดหวังในวันนั้นเป็นแรงผลักดันให้เรา
อ๊ะอาย: หนูเจอคำว่าแพ้มาหลายรอบมาก เพราะเราประกวดมาหลายเวทีด้วย ไม่มีทางที่จะชนะตลอด แต่เคยมีครั้งหนึ่งหนูร้องเพลง รู้สึกว่าวันนี้เราร้องดี จนท่อนสุดท้ายที่ต้องโชว์พลังเสียง เราตื่นเต้นเลยสะอึกน้ำลาย สะดุดไปนิดหนึ่ง คือรู้ว่าแพ้แล้ว หลังจากนั้นก็พยายามฝึกฝนเพื่อจะไม่ซ้ำรอยอีก นอกจากนั้นเวลาหนูไปแคสต์งานละครหรือซีรีส์ บางครั้งก็เจอคนพูดกับเราว่าบทนี้ของถนัดอ๊ะอายเลย อ๊ะอายกินขาดแน่นอน หนูไม่ได้ดีใจเลยนะเมื่อได้ยินแบบนั้น แล้วถ้าเราทำไม่ได้ล่ะ กลายเป็นยิ่งกดดันตัวเองต้องทำให้ดี พอไม่ได้ผลก็ผิดหวัง
โจริญ: ปกติหนูไม่ค่อยแข่งอะไรมาก แต่ที่โรงเรียนมีกิจกรรมแสดงวงดนตรี หนูเป็นนักร้องนำ แต่ไม่ใช่วงเด่นของโรงเรียน เป็นแค่ตัวเล็กตัวน้อย ไม่ได้มีคนรอกรี๊ด แต่มีครั้งหนึ่งที่รู้สึกแย่กับตัวเองมาก เหมือนเราขึ้นไปแสดงแล้วหูดับ ไม่ได้ยินเสียงดนตรี ไม่ได้ยินเสียงตัวเองร้อง ชีวิตนี้หนูไม่เคยคิดว่าตัวเองจะร้องเพลงแย่ขนาดนั้น ลงมาร้องไห้ นี่คือสิ่งที่คนดูได้ดูเหรอ เป็นการโชว์ที่หนูผิดหวังมากที่สุดในชีวิต
มายด์: สำหรับเราเป็นการแข่งเต้น เราแข่งระดับประเทศสองปีได้ที่สี่กับที่ห้า จริงๆ ตอนนั้นเราผิดหวังมากเลยนะ เพราะที่หนึ่งถึงสามมีสิทธิ์ไปแข่งที่อเมริกา ตอนนั้นเราหวังจริงๆ อยากไปเหยียบอเมริกา ปีแรกได้ที่ห้า ไม่เป็นไร เสียใจแต่กลับมาซ้อมให้มากขึ้น เพราะที่คิดว่าดีแล้วนั้นยังไม่พอ แข่งระดับประเทศคนเก่งเยอะมากจริงๆ ปีถัดมาได้ที่สี่ คือเกือบแล้ว อีกนิดเดียวเท่านั้น แต่นั่นคือปีสุดท้ายที่จะแข่งในระดับเยาวชนได้ ปีต่อไปถ้าจะแข่งอีกต้องลงในรุ่นผู้ใหญ่ ซึ่งคนเก่งมากมายเกินจินตนาการเลย ณ ตอนนั้น เด็กคนนั้นผิดหวังมากจริงๆ แต่ก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง เราไม่ได้เจ๋งที่สุด การแพ้ก็ทำให้รู้ว่าเราอยู่จุดไหน แล้วเป็นแรงผลักตัวเองอยากไปให้สูงกว่านี้
แฮนน่า: หนูแพ้มาตลอดค่ะ แต่ที่ผิดหวังสุดๆ เป็นเรื่องที่โรงเรียน มีการแข่งขันที่เรียกว่า Ambassador เป็นการแข่ง English speak contest แข่งพูดภาษาอังกฤษ กรรมการตัดสินคือนักการทูตประเทศต่างๆ คำถามไม่ซ้ำสักปี สมมติหัวข้อเอเชียก็ถามทำนองนี้ว่า คุณจะเตรียมพร้อมประเทศยังไง หนูลงทุกปี แต่ไม่เคยได้รางวัลสักครั้งจนโดนล้อ เคยโดนพูดเหน็บว่า เรามีพ่อเป็นฝรั่งเลยให้พ่อช่วยเรื่องคำศัพท์ยากๆ เราเสียใจจนเคยไม่กล้าลงแข่ง แต่ด้วยความอยากได้รางวัลนี้มากๆ เพราะคนชนะจะเป็นตัวท็อปของโรงเรียน หนูไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษแต่เราชอบพูด หนูลงแข่งอีก เขียนสปีชเอง ทำเองหมด คราวนี้ได้แข่งกับตัวท็อปของโรงเรียน คือเด็กอินเดียที่ฉลาดมากๆ หนูแข่งตัวต่อตัวกับเขา เราได้คำถามเกี่ยวกับไอที เข้าทาง หนูลุยเลย บอกตัวเองถ้าปีนี้ไม่ได้จะไม่แข่งแล้ว เราเสียหน้าทุกปี โดนล้อตลอด จะไม่ยอมอีกแล้ว แล้วปีนั้นหนูก็ชนะ จากคนที่โดนดูถูกมาตลอดขึ้นเป็นตัวท็อปของโรงเรียน
ตาออม: เรื่องผิดหวังของหนูคือ หนูเป็นคนชอบลองทุกอย่าง ศิลปะ ดนตรี กีฬา วิชาการ แต่เหมือนไปไม่สุดสักทาง จนไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไร พอต้องเข้ามหา’ลัยก็ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร สุดท้ายตัดสินใจเรียนบริหารธุรกิจ อย่างน้อยเรียนจบยังมาทำธุรกิจที่บ้านได้ แต่ก็ไม่ใช่ทางของตัวเองอีก ประกอบกับเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เป็นช่วงที่ห่อเหี่ยว คล้ายๆ จะเป็นซึมเศร้า ร้องไห้ทุกวัน ทำไมไม่รู้จักตัวเอง คุณแม่ก็แนะนำให้ย้ายคณะ ไปลองสิ่งที่ชอบ พอเราย้ายคณะ ได้เจอเพื่อนกลุ่มใหม่ ก็รู้สึกดีขึ้น และเป็นช่วงเดียวกับที่มาแข่งรายการ 4EVE Girl Group Star เราได้เจอมิตรภาพดีๆ จากที่นี่ จิตใจก็ได้รับการเยียวยา เราเรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การรู้ว่าเก่งอะไร แต่เป็นการมีความสุขกับสิ่งที่ทำ พบเจอมิตรภาพดีๆ ระหว่างทาง อยู่ในที่ที่เราสบายใจ ไม่ต้องคิดว่าเราเก่งที่สุดไหม แค่รู้ว่าเราอยู่ตรงนี้แล้วมีความสุข (จากนั้นสาวๆ 4EVE ก็หันมากอดส่งความรักให้แก่กัน)
หลังจากผ่านการแข่งขันอันดุเดือด ทั้ง 7 คนคือผู้ที่ได้เดบิวต์เป็นเกิร์ลกรุ๊ป รสชาติของชัยชนะเป็นอย่างไร
โจริญ: ภูมิใจที่สุดคือการได้พิสูจน์ว่าคนดูชอบโชว์ของเรา เมื่อก่อนที่เคยไม่มั่นใจเวลาขึ้นเวที ไม่ว่าทำอะไรก็ดูไม่โอเคเลย การได้รับเลือกอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ามีคนชอบการแสดงของเรา เหมือนได้ก้าวข้ามความรู้สึกของตัวเอง
มายด์: (ถอนหายใจเล็กน้อยก่อนตอบ) ถามว่าดีใจไหม ก็ดีใจกับผลลัพธ์ความพยายามของเรา แต่ขอยกคำพูดของพี่กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ที่กล่าววันประกาศผลว่า วันนี้คือวันแรกของวันที่เหลือ เราอาจเป็นผู้ชนะแต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังก้าวเป็นศิลปินที่ใหม่มากๆ เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญอีก
ตาออม: ตอนประกาศว่า 4EVE คือ 7 คนนี้นะ รู้สึกดีใจจริงๆ เพราะเราทุ่มเทเพื่อสิ่งนี้มาครึ่งปี เป็นธรรมดาที่จะดีใจกับผลลัพธ์ แต่อีกใจหนึ่งก็ อ้าว แล้วเพื่อนที่เหลือล่ะ เราไม่ได้สนิทกันแค่ 7 คน ยังมีคนอื่นๆ ที่พยายามด้วยกัน หนูจำได้ว่าวันรุ่งขึ้นต้องเดินสายโปรโมตเลย พอกลับถึงบ้านหนูร้องไห้หนักมาก คุยโทรศัพท์กับเพื่อน ถามว่าเราเป็นอะไร หนูไม่รู้ แค่รู้สึกคิดถึงน้องๆ คนคาดหวังว่าเราจะภูมิใจ ดีใจกับชัยชนะนี้ แต่วันแรกของการเป็น 4EVE เรากลับร้องไห้หนักมาก คิดถึงคนอื่นที่เก่งเหมือนกัน ทำไมเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนี้บ้าง เศร้าไปสองสามวันเลยค่ะ
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวง 4EVE คืออะไร
อ๊ะอาย: ตอนที่รู้ว่า 7 คนนี้ได้เดบิวต์ร่วมกันในนาม 4EVE หนูมองทุกคนแล้วรู้สึกพี่ๆ ดูโต ดูเท่ มีเราที่ยังเป็นเด็กน้อยอยู่ รู้สึกว่าเราแตกต่างกันนะ แต่พอได้ใช้เวลาร่วมกันพบว่าเป็นความแตกต่างที่ลงตัว เป็น 7 รสชาติที่รวมกันแล้วกลมกล่อม ดูจากทรงผมและชุดของพวกเรา แตกต่างแต่ลงตัวค่ะ
พั้นช์: 4EVE ทุกคนมีแคแรกเตอร์ของตัวเอง การเป็นเกิร์ลกรุ๊ปแล้วต้องดูเหมือนๆ กัน ต้องทำอะไรแบบเดียวกันมันน่าเบื่อ เราเป็นแบบนี้เพื่อเพิ่มความสไปซี่หรือชีวิตชีวาให้วงการ
เป็นศิลปินเต็มตัวมาหนึ่งปีแล้ว มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและได้เรียนรู้อะไรบ้าง
แฮนน่า: หนูไม่ได้มีบ้านที่ไทยแต่ได้มาเป็นศิลปินที่นี่ เท่ากับเราต้องใช้ชีวิตที่นี่หลังจากนี้ ก็ต้องวางแผนชีวิตตัวเองใหม่ แล้วพอได้ลงมือทำงานจริงๆ ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ ศิลปินบางคนเขาร้องอย่างเดียว ไม่ต้องซ้อมเต้น หรือทีมเต้นก็ซ้อมเต้นอย่างเดียว แต่เราต้องซ้อมทั้งร้องและเต้น เหมือนต้องฝึกคูณสอง แล้วเราต้องผลิตผลงานต่อเนื่อง มีช่องยูทูบ มีงานเข้ามา เราหยุดไม่ได้ คนยังรอติดตามอยู่ แล้วคู่แข่งของเราตอนนี้ไม่ใช่เด็กฝึกด้วยกันแต่เป็นศิลปินตัวจริง ศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด
ตาออม: เราต้องพัฒนาตัวเองไม่ใช่เพื่อชนะรายการแล้ว แต่เพื่อชนะใจคนดู และพิสูจน์ว่า 4EVE มีความสามารถมากพอเป็นศิลปิน อีกอย่างที่ได้เรียนรู้คือการวางตัว เราอยู่ในสปอตไลท์ คนหลายๆ แบบกำลังมองเรา แต่ละคนคาดหวังกับเราไม่เหมือนกัน เวลาหนูเช็คโซเชียลมีเดียก็พบความเห็นหลากหลาย ซึ่งเปิดโลกมาก บางครั้งการทำอะไรในชีวิตประจำวันของเราอาจกระทบใจอีกคน ก็ได้ปรับปรุงตัวเอง และระวังตัวมากขึ้น ยิ่ง 4EVE แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูงด้วย ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ใช่ว่าทุกคนจะชอบเรา
มายด์: เราก็ได้เข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้น สำหรับหนูก่อนเดบิวต์กับหลังเดบิวต์ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ในเชิงพฤติกรรมนะคะ แต่ก็มีเรื่องการวางตัวนี่แหละค่ะที่เป็นเรื่องใหญ่สุด ต่อให้ตัวตนเราเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่ามีกฎเกณฑ์ของสังคมอยู่ด้วย ก็เรียนรู้กันไป ค่อยๆ โตขึ้น
พั้นช์: การได้เป็นศิลปินเต็มตัวทำให้หนูอยากเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน มีคนดูเรา คาดหวังในตัวเรา เราจึงอยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เขา แน่นอนว่าต้องมีผิดพลาดกันบ้างเพราะเราก็คนธรรมดาคนหนึ่ง แต่จากวัยรุ่นที่ไม่ได้คิดอะไร ก็คิดมากขึ้น การได้มาอยู่ตรงนี้ก็พัฒนากระบวนการคิดด้วย แล้วศิลปินต้องเจอผู้คนเยอะ ต้องพัฒนาทักษะการสื่อสาร และต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของเราให้ดีด้วยค่ะ
เป้าหมายของ 4EVE อยากจะเติบโตไปถึงจุดไหน
แฮนน่า: โคเชลลา (Coachella-เทศกาลดนตรีจัดขึ้นที่ประเทศอเมริกา) ก็เบาไปค่ะ (ฮ่า)
พั้นช์: พั้นช์อยากพาทุกคนก้าวสู่ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลเลย อยากให้คนทั่วโลกรู้ว่าเด็กไทยไม่กระจอกนะ พั้นช์เสพสื่อตะวันตกเยอะ น้อยมากที่คนเอเชียจะไปดังโลกตะวันตกได้ ก็ฝันอยากไปให้ถึงค่ะ
ฝ้าย: เหมือนพั้นช์ตรงเราเสพสื่อตะวันตกเยอะ ก็อยากให้เขารู้จักเรา และอยากไปเจอเขาด้วย (ฮ่า) อยากรู้ว่ามืออาชีพทำงานกันแบบไหน
อ๊ะอาย: หนูอยากให้ 4EVE เป็นวงที่มั่นคง มีผลงานออกมาเรื่อยๆ มีคนชื่นชอบผลงานเรา อยู่ไปนานๆ
มายด์: แบบที่แฮนน่าพูดก็ไม่ผิด เราโตขึ้นทุกวัน เห็นโลกกว้างขึ้น นั่นเท่ากับว่าเป้าหมายของเราก็โตขึ้นได้ไม่จำกัด
โจริญ: ตอนแรกเราไม่คาดคิดว่าเพลงวัดปะหล่ะ จะมีคนดูถึงสิบล้านวิว เกิดคาดเราไปมาก แต่ตอนนี้ก็คิดว่าเราไปได้อีก นี่แค่เริ่มต้น
ตาออม: เราจะไม่พูดถึงกระแส เฮ้ย คราวนี้ดังแน่ แต่เราจะนั่งเช็คพาร์ทเต้น ใครเต้นสวย เราค่อนข้างคาดหวังกับการทำงานของตัวเอง กระแสจะดังหรือไม่ดัง คนจะฟังหรือไม่ฟังไม่รู้ แต่อยากให้ภาพออกมาดี
แฮนน่า: เราไม่หลงกระแสตัวเอง เท่านี้ฉันดังแล้ว ไม่ เราจะเอาอีก ยิ่งเวลาคนชมว่าเพลงนี้เต้นดี คนชอบใช่ไหม เราไม่ชอบ เรารู้สึกว่ายังน้อยไป ขึ้นเวทีครั้งหน้าจะเต้นให้ดีกว่านั้นอีก
เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สาวๆ ยังไม่ได้แสดงเพลงของพวกเธอให้แฟนๆ ได้ชมกันสดๆ พวกเธอจึงตั้งตารอวันที่จะได้เจอกับแฟนคลับ และโชว์สิ่งที่พวกเธอทุ่มเททั้งกายและใจฝึกซ้อมมา
ขอบคุณสถานที่ถ่ายแบบ
ที่อยู่: 441/1 ซอยศรีเวียง ถนนเจริญกรุง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
เบอร์ติดต่อ: 02-0902858 หรือ 062-5912288
อีเมล์: stay@princetheatrebangkok.com
Facebook: Prince Theatre Heritage Stay
Instagram: princetheatreheritagestay
Website: www.princeheritage.com