ผลงานของ “แพรพลอย วนัช” เคยผ่านตามาแล้วจากงานประกวดรางวัลวรรณกรรมบางเวที ลีลาภาษาและการเล่าเรื่องของ “แพรพลอย วนัช” ฉายแววความเป็นนักเขียน จนไม่ประหลาดใจที่หนังสือ 24 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้น 14 เรื่องจะมีเสน่ห์ชวนอ่าน แต่ละเรื่องเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนในกลุ่มต่างๆ ทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลูกจ้าง นายจ้าง ฯลฯ ซึ่งทำให้ผู้อ่านใคร่ครวญถึงช่องว่างระหว่างสัมพันธภาพของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจงใจ
เรื่องสั้นที่พูดถึงสัมพันธภาพเปราะบางในครอบครัวมีหลายเรื่อง เช่น เรื่อง “ตุ๊กแก” เป็นเรื่องศีลธรรมและจรรยาบรรณทางเพศของคนในครอบครัว ข่าวเรื่องญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายข่มขืนหลานสาวไม่มีวันขาดหายไปจากหน้าสื่อ จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติแต่ไม่มีวันที่จะเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำเลวร้ายนี้ไม่มีแม่คอยปกป้องทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ บาดแผลนี้จึงไม่มีวันเลือนหายจากจิตใจของผู้เป็นลูก เรื่อง “พิซซ่า” กล่าวถึงคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมานานปี กลายเป็นคนแปลกหน้าจนแทบจะหย่าขาดจากกัน ภรรยากลายเป็นหญิงอ้วน แก่ ขี้บ่น เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานเลี้ยงลูกและจัดการเรื่องทุกอย่างตามลำพังโดยไม่มีคู่คิด ส่วนสามีก็หมกมุ่นกับปัญหาหน้าที่การงานในแต่ละวัน วันที่เส้นสัมพันธภาพเปราะบางขาดผึงคือวันที่เธอคิดว่าสามีเห็นใจพนักงานร้านพิซซ่ามากกว่าใส่ใจความรู้สึกของเธอ เลยผลุนผลันออกจากร้านแล้วเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเธอกลับถึงบ้าน พิซซ่าซึ่งลูกๆ บอกว่าพ่อสั่งให้เก็บไว้ให้แม่กิน เป็นสิ่งบอกความใส่ใจของสามีที่เธออาจมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป มีเรื่องน่าเศร้าในครอบครัวอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราได้รับรู้เสมอคือเรื่องที่ลูกๆ ไม่อาจดูแลพ่อแม่ผู้ชราด้วยตนเองได้ จึงพาไป “ทิ้ง” ไว้ที่เนิร์สซิ่งโฮม โดยไม่ได้คิดถึงจิตใจเปราะบางของพ่อแม่ผู้ชราซึ่งเฝ้ารำลึกถึงวันที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ผู้เขียนสร้างความรู้สึกเศร้าสลดรันทดใจไว้ในเรื่อง “ซุปฝักทอง” ส่วนเรื่อง “ผีเสื้อ” ให้ข้อคิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ในเรื่องนี้ฝ่ายภรรยาเป็นมะเร็ง สามีพยายามยื้อชีวิตของเธอให้นานที่สุด แต่เธอกลับขอเลือกความตายแทนการรักษา เพื่อเก็บช่วงชีวิตแห่งความสุขระหว่างพ่อแม่ลูกไว้เป็นความทรงจำที่แสนประทับใจของทุกคนตลอดกาลนาน
สัมพันธภาพระหว่างคนแปลกหน้าก็เป็นเรื่องน่าประทับใจ เพราะในสังคมปัจจุบันซึ่งต่างคนต่างอยู่เช่นนี้ ความเอื้ออาทรต่อคนแปลกหน้าก็กลายเป็นมุมงดงามของชีวิต ดังเช่นเรื่อง “แผลสีเทา” ที่เริ่มด้วยนักเขียนซื้อเวลาและข้อมูลจากสาวบริการทางเพศ แต่แล้วทั้งสองกลับเป็นเพื่อนที่ให้กำลังใจกันในยามตกต่ำถึงที่สุด ดังที่เธอกล่าวว่า ”ตอนนี้เธอสำเหนียกและลึกซึ้งกับคำว่าเพื่อนแล้ว คำที่ไม่เกี่ยวข้องกับเวลา ไม่มีเพศ ไม่มีสูงต่ำดำขาว ไม่มีชนชั้นหรือเงื่อนไข ไม่ต้องมีคำพูดแต่เข้าใจกัน นี่แหละเพื่อน” และเรื่อง “คนแปลกหน้า” ซึ่งเป็นเรื่องชายหนุ่มแสดงน้ำใจแก่สาวน้อยแปลกหน้าที่ทำงานในตึกเดียวกัน โดยหารู้ไม่ว่าเธอเป็นผู้พิการและยากไร้ เธอสำเหนียกในความเป็นเพื่อนและน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ผู้ให้พื้นที่แก่คนเล็กๆ อย่างเธอ ส่วนเรื่อง “รอยเวลา” ก็อาจจะจัดอยู่ในลักษณะสัมพันธภาพระหว่างคนแปลกหน้า เพราะเป็นเรื่องของนักเขียนผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกำพร้าคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน แต่เขาขีดเส้นแบ่งสัมพันธภาพระหว่างตัวเขากับตัวเธอเอาไว้ จึงมารับรู้เรื่องราวของเธออีกครั้งหลังจากเธอตายไปแล้วผ่านเรื่องสั้นที่เธอเขียนถึงชีวิตรันทดและความใฝ่ฝันของเธอ น่าเศร้าที่เรื่องราวของเด็กหญิงไม่ได้กระทบความรู้สึกของนักเขียนมากเท่าใด เพราะเขาก็ยังใส่ใจกับตัวเองและครอบครัวมากกว่าโลกภายนอก
เรื่อง “ซูชิชิ้นสุดท้าย” เป็นเรื่องสัมพันธภาพของหมอกับคนไข้ ผู้ที่เคยเป็นคนไข้คงทราบดีว่าหมอแต่ละคนมีความเห็นใจและเอาใจใส่คนไข้แตกต่างกันไป ใครเจอหมอดูแลดีก็นับว่าโชคดี ใครเจอหมอที่รักษาคนไข้แบบไร้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ก็นับว่าโชคร้าย ในเรื่องสั้นเรื่องนี้แม่พบว่าหมอคนแรกไม่ตรวจร่างกายลูกชาย ไม่ทักทายให้เด็กคลายความหวาดกลัว ที่น่ารังเกียจคือพิพากษาต่อหน้าเด็กว่าโรคจะไม่หายตลอดชีวิต คำพูดนี้เป็นฝันร้ายของแม่และลูก เมื่อแม่พาลูกไปพบหมอคนใหม่ที่มีทั้งจิตวิทยา เมตตาธรรม และจรรยาบรรณของแพทย์ เธอและลูกจึงผ่านพ้นฝันร้ายนั้นมาได้ด้วยดี
เรื่องเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมีสองเรื่อง เรื่อง “กระดูกซุป” มีลักษณะที่แสดง สัมพันธภาพทางชนชั้น เจ้านายแบ่งกระดูกหมูที่ใช้ต้มน้ำซุปให้คนงานกิน แต่กลับเป็นเรื่องดราม่าเพราะเพื่อนคนงานด้วยกันวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเหยียดหยามดูหมิ่นเพราะกระดูกหมูเป็นอาหารของสุนัข ความมีน้ำใจจึงถูกแปรเจตนาไปทางลบเพราะอคติเรื่องชนชั้น ส่วนเรื่อง “เต่ากับเส้นด้าย” เป็นเรื่องของนายจ้างทำผิดกฎหมาย ลูกจ้างเลยขอลาออกจากงานแล้วยังถูกโกงเงินสะสมอีก การยอมจำนนเหมือนเต่าหดหัวในกระดองกลายเป็นการสั่งสมความเครียดและเกือบจะกลายเป็นเส้นด้ายที่ขาดผึงด้วยแรงโทสะเมื่อพบกับการถูกรังแกอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง “รุ่นพี่” แสดงสัมพันธภาพของรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมสถาบัน แต่ปัญหาหนี้สินเป็นเหตุให้เกลียวความสัมพันธ์คลายลงจนจากกันด้วยความตาย
มีเรื่องสั้นที่กล่าวถึงความหยิ่งผยองของสาวสวยที่คิดว่าเธอสามารถสยบคนรอบข้างได้ด้วยเสน่ห์ร้อนแรง หรือความโด่งดังที่ “ขายได้” ของเธอ นั่นคือเรื่อง “บังเหียน” เป็นเรื่องของชายหนุ่มและหญิงสาวที่เชื่อมั่นว่าเสน่ห์ร้อนแรงของเธอจะปราบเขาลงได้เหมือนที่เคยทำกับชายหนุ่มทุกคนมาแล้ว แต่ครั้งนี้เธอต้องผิดหวังและอับอาย ส่วนเรื่อง “สเต๊ก” เป็นเรื่องของสาวสวยที่ไต่เต้าจนเป็นดาราดังโดยใช้ร่างกายยวนเสน่ห์สมบูรณ์แบบที่เธอเปรียบตัวเองกับ “สเต๊ก” ชั้นพรีเมียม เธอจึงครบเครื่องทุกอย่างทั้งงาน เงิน ชื่อเสียง บ้าน คนรัก ทำให้หยิ่งผยองจนไม่เห็นหัวคนอื่น แต่ในที่สุดเมื่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก็ไม่มีอะไรติดตัวเธอไปได้สักอย่าง
คนบางคนเบื่อหน่ายความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ จึงมี “โลกส่วนตัว” ไว้หลบเร้น อย่างเช่นเรื่อง “แชนเดอเลียร์” เป็นเรื่องของหนุ่มใหญ่มีชาติตระกูล ฐานะ และมีครอบครัวดี เขาแยกทางกับภรรยาและมีพฤติกรรมคบหากับหญิงอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับหนุ่มที่กลับมาใช้ชีวิตโสดอีกครั้งหนึ่ง แต่ในสายตาของคนอื่น พฤติกรรมของเขากลับ “วิปริต” “น่าอับอาย” เพราะเขามีห้องลับที่เก็บความลับแห่งสัมพันธภาพระหว่างเขากับสิ่งหนึ่งเอาไว้ เนื่องจากในขณะที่เขารู้สึกแปลกแยกกับความสมบูรณ์พร้อมที่เป็นเปลือกห่อหุ้มตัวเขา เขากลับพบว่า “สิ่งนั้น” เติมเต็มความว่างเปล่าที่อยู่ภายในใจ
หนังสือรวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง ของ “แพรพลอย วนัช” จึงสะท้อนให้เราเห็นสัมพันธภาพอันเปราะบางระหว่างคนกับคน ในขณะที่สังคมกำลังก้าวรุดไปข้างหน้า แต่ภาวะของความอบอุ่นอันเกิดจากการที่ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” กำลังลดน้อยถอยลงทุกที
อนึ่ง ดังที่กล่าวในตอนต้นว่า “แพรพลอย วนัช” เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ใช้ภาษาดี แต่น่าแปลกใจที่คำว่า “กิริยา” สะกดผิดเป็น “กริยา” ทุกแห่ง คำคำนี้มีอยู่ในเรื่องสั้นทุกเรื่อง เป็นการเขียนผิดของนักเขียนหรือของบรรณาธิการก็ไม่ทราบแน่ แต่หากมีการพิมพ์ใหม่อีก ช่วยแก้ไขให้ถูกต้องด้วยเถิด เพราะ กิริยา หมายถึง อาการ ส่วน กริยา เป็นประเภทของคำที่ใช้แสดงอาการ (อยู่ในหมวดคำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ ฯลฯ)
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์