1. ทำไมคนขับรถแท็กซี่จำนวนมากไม่เรียนคอร์สวิชาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้สร้างสรรค์ข้อแก้ตัวที่ดีกว่า “ส่งรถ” “แก๊สหมด”
2. ทำไมเราเรียกร้องสิทธิสตรี แต่ยอมรับเรื่องผู้หญิงในละครถูกข่มขืนต่อเนื่องมานานหลายสิบปี
3. ทำไมเราชอบเสียเวลาแก้ตัวว่ารถติด ในเมื่อเราก็รู้ว่ารถติดเสมอ และสามารถหาทางไปให้ตรงเวลาได้
4. ทำไมเราสามัคคีกันเฉพาะเมื่อเกิดภัย และทะเลาะกันในยามสงบ
5. ทำไมข้าราชการบางอาชีพจึง “ยากจน” ใกล้อดตาย ถึงกับต้องเรียกค่าส่วยและสินบน
6. ทำไมเราตอบแทนคุณแผ่นดินที่เลี้ยงเรามาด้วยการคอร์รัปชั่น
7. ทำไมแม่เลี้ยงลูกสิบคน ลูกสิบคนเลี้ยงแม่คนเดียวไม่ได้
8. ทำไมบอกว่ารักพ่อแม่ แต่หาเวลาไปเยี่ยมไม่ได้
9. ทำไมเราบอกว่าเรารักชาติ แต่ไม่คิดพูดเขียนภาษาของเราให้ถูกต้อง
10. ทำไมเราบอกว่ารักชาติ แต่พูดโทรศัพท์มือถือขณะยืนตรงเคารพธงชาติ
11. ทำไมบ่นว่างานหนัก ไม่เคยมีใครบ่นว่างานเบาไป
12. ทำไมพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่พุทธพาณิชย์กลับรุ่งเรือง
13. ทำไมไม่ว่ายากจนแค่ไหน ก็มีโทรศัพท์มือถือ
14. ทำไมบอกว่างานยุ่ง แต่มีเวลาแชทกับเพื่อนนาทีต่อนาที
15. ทำไมเราสามารถหาเหตุผลมาพูดมากขึ้น เมื่อมีโทรศัพท์มือถือ
16. ทำไมขอทานจึงมีเงินซื้อสมาร์ทโฟนเล่นขณะขอทาน
17. ทำไมเราเชื่อว่าเรามีโอกาสรวยจากหวยมากกว่ารวยจากการทำงาน
18. ทำไมพระบางวัดสอนให้ลดละเลิกกิเลส แต่ตนเองทำตรงกันข้าม
19. ทำไมบางวัดสอนว่า ทำบุญด้วยเงินมากกว่า จะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงกว่า
20. ทำไมอาชีพขายความบันเทิงให้ค่าตอบแทนสูงกว่าอาชีพครูที่ให้ความรู้หลายพันเท่า
21. ทำไมสินค้ามอมเมาจึงมีแคมเปญส่งเสริมสังคม ถ้าสินค้าไม่ดีและรักสังคมจริง ทำไมไม่เลิกผลิต
22. ทำไมคนไทยชอบบอกว่าชาติเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร แต่สินค้าเกือบทั้งหมดเป็นของต่างชาติ
23. ทำไมเรายอมเสียเวลามีค่าของเราเพื่อจะรู้เรื่องชาวบ้านที่ไม่ก่อประโยชน์อะไรสักน้อยนิด
24. ทำไมเราต้องวิพากษ์วิจารณ์ทุกๆ เรื่องในโลก
25. ทำไมเราพูดจาสุภาพกับคนแปลกหน้ามากกว่าคนใกล้ตัว
26. ทำไมเราบอกว่าเวลามีค่า แต่กลับชอบฆ่าเวลา
27. ทำไมเมื่อเรียนจบแล้ว เราคิดว่าไม่ต้องหาความรู้อีก
28. ทำไมเราวัดค่าของคนที่ใบปริญญา
29. ทำไมนักศึกษาเข้าห้องสมุดเฉพาะช่วงสอบ
30. ทำไมเราผลักภาระหน้าที่สอนลูกเป็นของครู
31. ทำไมเราตัดสินอนาคตเด็กที่เกรด
32. ทำไมเราชอบบ่นให้คนที่เรารักฟัง และสร้างความเครียดให้เขาหรือเธอ
33. ทำไมเราบอกว่ารักลูกสุดใจ แต่บังคับให้เขาเรียนวิชาตามใจเรา
34. ทำไมเรารักประชาธิปไตย แต่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น คือไม่สามารถข้ามถนนบนทางม้าลายและขับรถให้ถูกกฎจราจร
35. ทำไมเราเชิดชูความเสมอภาค แต่ยอมจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกเรียนโรงเรียนชั้นยอด
36. ทำไมเราชอบทำบุญเพื่อชาติหน้าที่ดีกว่า แต่ไม่ใส่ใจรักษาถนนหนทางให้สะอาดในชาตินี้
37. ทำไมเมื่อเกิดความผิดพลาดในองค์กร เราชอบหาคนทำผิดก่อน
38. ทำไมเราสามารถจ่ายค่ากาแฟแก้วละ 150 บาท แต่พยายามทุกทางเพื่อหนีภาษี
39. ทำไมเราเชื่อว่าคนรวยแล้วจะไม่โกง
40. ทำไมเราสร้างเป็นแต่ศูนย์การค้า
41. ทำไมเราชอบรอให้คนอื่นทำดีกับเราก่อน จึงค่อยทำดีตอบ
42. ทำไมเราชอบอ้างว่า ถ้าสร้างละครซีเรียส จะไม่มีใครดู
43. ทำไมคนเราสามารถหาข้ออ้างเพื่อถ่ายนู้ดได้อยู่ร่ำไป
44. ทำไมเลือกตั้งกี่ทีๆ เราก็ได้นักการเมืองสายพันธุ์เดิมเสมอ
45. ทำไมเราใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลสำหรับการศึกษา เพื่อสร้างคนมีการศึกษาแต่คิดไม่เป็น
46. ทำไมเราสามารถดูละครเรื่องเดิม พล็อตเดิม แนวเดิมได้ปีแล้วปีเล่า
47. ทำไม “นังอิจฉา” ในละครไทยจึงต้องอิจฉา และไม่สามารถทำดีได้เลย
48. ทำไมเมื่อนิยายแนวใดฮิต คนอื่นๆ ก็มักพากันทำตามอย่าง
49. ทำไมเราจ่ายค่าตั๋วดูหนังแล้ว ยังต้องดูโฆษณายาวเหยียด
50. ทำไมเรายอมให้เจ้าของโรงหนังตัดสินและกำหนดรสนิยมการดูหนังของเรา
51. ทำไมใครๆ ก็อยากรวยแต่ไม่ต้องทำงาน
52. ทำไมเราเชื่อว่าเราจะถูกลอตเตอรี่ ในเมื่อมีโอกาสน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
53. ทำไมเรายอมจ่ายสลากกินแบ่งเกินราคา ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะถูกจริงหรือเปล่า
54. ทำไมเมื่อมีปัญหา เราพึ่งหมอดูช่วยแก้ให้
55. ทำไมเมื่อขาดเงิน เรากลับยอมเสียเงินให้หมอดูเพราะอยากรู้ว่าเมื่อไรจะมีเงิน
56. ทำไมเราเชื่อว่าเราสามารถแก้กรรมได้ด้วยเงิน
57. ทำไมเรารู้ว่าอาหารขยะไม่ดี แต่ยังกิน
58. ทำไมเราสร้างสะพานลอยข้ามถนนมาแล้วไม่ใช้
59. ทำไมนักการเมืองจึงยึดครองวลี “พ่อแม่พี่น้องที่รัก” เป็นสมบัติส่วนตัวไปแล้ว
60. ทำไม ส.ส. เอ่ยวลีสุภาพ “ท่านประธานที่เคารพ” นำหน้าข้อความบริภาษ
61. ทำไมเราให้ค่าประชาธิปไตยมากกว่าความสุขของประชาชน
62. ทำไมกฎหมู่มีอานุภาพมากกว่ากฎหมาย
63. ทำไมเรายอมรับความตายจำนวนมากช่วงเทศกาลหยุดยาวได้
64. ทำไมบางคนร่างกายครบสามสิบสองแต่ชอบจอดรถในช่องคนพิการ
65. ทำไมชาเขียวในเมืองไทยจึงหวาน
66. ทำไม “ผักปลอดสารพิษ” ของเรามีสารพิษ
67. ทำไมเราจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาคนขับแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร
68. ทำไมเราไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้สักที
69. ทำไมเราใช้ถุงพลาสติกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
70. ทำไมเราสร้างขยะได้มากขนาดนี้
71. ทำไมเราถึงปล่อยน้ำเสียลงคลองและแม่น้ำได้ลงคอ
72. ทำไมเราทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำ แล้วบ่นเมื่อน้ำท่วม
73. ทำไมเราบอกว่ารักธรรมชาติ แต่หากกิ่งไม้เพื่อนบ้านแผ่ข้ามรั้วเรามา เราก็ตัดมันโยนคืนกลับไป
74. ทำไมเราบอกว่ารักต้นไม้ แต่เทพื้นทั้งสวนด้วยคอนกรีต
75. ทำไมถุงพลาสติกนิยมพิมพ์ข้อความ “ช่วยกันรักษาธรรมชาติ”
76. ทำไมคนขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อค แต่คนซ้อนท้ายไม่ต้อง
77. ทำไมคนไทยลืมง่าย
78. ทำไมประเทศไทยเป็นเมืองคณิตศาสตร์ สามารถแปลงทุกอย่างเป็นตัวเลขนำโชค
79. ทำไมเราเก่งคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น ทุจริตเชิงนโยบาย
80. ทำไมเรามีความเมตตาสูงและไม่ทะเลาะกัน นั่นคือโกงแล้วแบ่งกัน
81. ทำไมร้านหนังสือจึงหดหายไปเรื่อยๆ
82. ทำไมนายทุนโรงหนังคัดแต่หนัง “เซมเซม” มาฉาย
83. ทำไมเราจึงยกมือไหว้คนร่ำรวยจากการโกง
84. ทำไมประเทศไทยมีแสงแดดเหลือเฟือและฟรี แต่เรากลับใช้พลังงานถ่านหินที่ต้องซื้อมา
85. ทำไมเราชอบจอดรถริมทางขวางคนอื่น เพื่อซื้อของ
86. ทำไมชอบมีคนอ้างว่าทำผิดกฎหมายเพราะยากจน
87. ทำไมเราเสียงบประมาณทำป้ายห้ามทำผิดกฎมากกว่าปลูกฝังคนไม่ให้คิดทำผิดกฎ
88. ทำไมนโยบายประชานิยมจึงไม่เคยมีเรื่องพัฒนาจิตใจ เช่น ให้ทุนทำความดี ให้ทุนบวช ฯลฯ
89. ทำไมเรารู้สึกว่าคนรวย “ชั่ว” กว่าคนจน ในเมื่อต่างก็ทำความผิดอย่างเดียวกัน
90. ทำไมภาพลักษณ์นักการเมืองไทยจึงเป็น “คนไม่ดี” เสมอ
91. ทำไมทุกครั้งที่รัฐขึ้นเงินเดือนหรือค่าแรง ราคาสินค้าก็ขึ้นตาม
92. ทำไมเรารักแพนดา แต่ขังมันไว้ในกรง
93. ทำไมเราสนใจจำนวนบรรทัดหนังสือที่อ่านมากกว่าเนื้อหา
94. ทำไมเรามองหา “อัศวินขี่ม้าขาว” มาช่วยเราแทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการพึ่งตนเอง
95. ทำไมเราทุ่มเทงบประมาณติดตั้งแสงสว่างเพื่อฉลองเทศกาลไม่กี่วัน แต่ปล่อยให้ซอยเล็กทั่วเมืองมืดเปลี่ยวทั้งปี
96. ทำไมเราสามารถกู้เงินมาซื้อของที่เราไม่จำเป็นต้องมี
97. ทำไมคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของไทยมีทรัพย์สินเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินทั้งประเทศ
98. ทำไมเราไปวัดเมื่อกลุ้มใจ แต่ไม่ไปยามมีความสุข
99. ทำไมเราสามารถกด “like” ข้อเขียนได้ทั้งที่ยังอ่านไม่จบ
100. ทามมายเด็กไทยยุกใหม่เขียนภาสาไทยมะค่อยถูก


คอลัมน์ ลมหายใจ / เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่