จะ ‘นอนกินบ้านกินเมือง’ รึไง?

-

สวัสดีปีใหม่พุทธศักราช 2564 ค่ะ ขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านให้มีความสุขทั้งกายและใจตลอดปีนะคะ

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องตื่นตัว ขยันขันแข็งมากขึ้นกว่าเดิม มิฉะนั้นการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขก็จะเป็นไปได้ยากยิ่ง จะเห็นว่ามีสำนวนไทยหลายสำนวนที่ใช้กันมาแต่โบราณให้สื่อความหมายไปในทางเสียดสีประชดประชันหรือตำหนิติเตียนคนที่ขาดความกระตือรือร้นในการทำการทำงาน เช่น “นอนกินบ้านกินเมือง” “นอนเป็นพรหมลูกฟัก” ฯลฯ

 

นอนกินบ้านกินเมือง

ในสมัยโบราณกษัตริย์ทรงปกครองส่วนกลางคือราชธานี ส่วนภูมิภาคหรือส่วนหัวเมืองนั้นเป็นการปกครองแบบ “กินเมือง” หรือ “เหมาเมือง” คือกษัตริย์ทรงส่งเจ้านายหรือขุนนางที่ไว้วางพระทัยไปเป็น “เจ้าเมือง” ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองและรับผิดชอบในด้านต่างๆ เช่น การสงคราม การศาล การควบคุมดูแลด้านภาษีอากร ฯลฯ ระบบการกินเมืองหรือเหมาเมืองนี้เจ้าเมืองจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากกิจการต่างๆ ในเมืองนั้นๆ อาทิ มีรายได้จากการชักส่วนสิ่งของและเงินทองที่ได้จากภาษีอากรก่อนที่จะส่งไปยังส่วนกลาง เป็นต้น ดังนั้นนอกจากเจ้าเมืองจะมีอำนาจ อภิสิทธิ์ และอิทธิพลแล้ว ยังมีฐานะทางการเงินที่มั่งคั่งมั่นคงยิ่ง

มีการนำ “กินบ้านกินเมือง”[1] มาใช้เป็นสำนวนเปรียบว่า “นอนกินบ้านกินเมือง” ให้มีความหมายว่าเกียจคร้าน ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ทำตัวราวกับเป็นเจ้าเมือง ซึ่งไม่มีความจำเป็นหรือความเดือดร้อนที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อออกไปทำมาหากินเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพราะแม้จะนอนตื่นสายเท่าไรก็ไม่อดอยากยากแค้น เช่น สายวันหนึ่งยายเข้าไปเขย่าตัวหลานชายปลุกให้ลุกขึ้น มิฉะนั้นจะไปสอบสัมภาษณ์ไม่ทันตามเวลาที่เจ้าของโรงงานนัดไว้ตอนบ่ายโมง “ตื่นได้แล้วพ่อคุณ จะนอนกินบ้านกินเมืองไปถึงไหน เดี๋ยวก็ชวดไม่ได้งานอีกหรอก แล้วจะเอาเงินที่ไหนมากินมาใช้ ตื่นๆๆๆ”

 

 

นอนเป็นพรหมลูกฟัก

“ฟัก” เป็นไม้เถา ผลหรือลูกฟักใช้เป็นผัก มีหลายชนิดเช่นฟักเขียว ฟักทอง ฯลฯ ซึ่งเมื่อวางไว้ตรงไหนก็จะอยู่ตรงนั้น ส่วน “พรหม” คือเทพที่อยู่ในพรหมโลก ในที่นี้หมายถึง “รูปพรหม” ซึ่งอยู่ในชั้นอสัญญีภูมิอันเป็นแดนของพรหมที่มีแต่รูป ไม่มีจิตใจ ไม่ไหวติง ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นนี้ต้องเป็นผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน[2]  วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง  พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทยได้กล่าวถึงการตั้งความปรารถนาของผู้นั้นไว้ก่อนตาย และกล่าวถึงลักษณะของรูปพรหมว่า “…จงกูอย่ามีลูกอย่ามีเมียอย่ามีใจเลย เขาจิงภาวนาดั่งนี้   อสญฺญีปี เขาย่อมปรารถนาดั่งนั้นแล … หน้าตาเนื้อตนพรหมนั้นดั่งรูปปฏิมาทองอันช่างขัดใหม่แลงามนักหนานั้น  ผิผู้ใดนั่งอยู่แลตายในเมื่อคำนึงไปเป็นพรหมในชั้นนั้นนั่งอยู่ต่อสุดอายุสม์  ผู้ใดยืนอยู่จิงตายในมนุษย์โลกนี้ก็ดี แลไปเป็นพรหมยืนอยู่ในพรหมโลกนั้นมี[3] บ่มิกระเหม่นบ่มิตกบ่มิติงสักแห่ง  ทั้งตาก็บ่มิพริบดูชั่วสุดพรหมนั้นแลมิรู้สักสิ่งเลย…”

คนโบราณนำลักษณะการสถิตแน่นิ่งของรูปพรหมมาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับลักษณะการนอนของคนว่า “นอนเป็นพรหมลูกฟัก” ให้หมายถึงการนอนนิ่งอยู่ในอิริยาบถเดียวหรือท่าเดียว เช่น เมื่อเพื่อนสนิทของลูกชายมาหาที่บ้านในตอนสาย แม่บุ้ยปากไปที่ห้องลูก แล้วบอกว่า “ยังไม่ตื่นเลยจ้ะ นอนเป็นพรหมลูกฟักอยู่ในห้องแน่ะ เมื่อคืนกลับมาตอนใกล้รุ่ง ไม่รู้ไปทำอะไรมา”

 

[1]“กินบ้านกินเมือง” เป็นลักษณะหนึ่งของภาษาไทยที่นิยมพูดเป็นจังหวะซึ่งช่วยเน้นย้ำความหมาย เช่น ท้าตีท้าต่อย คิดเล็กคิดน้อย เป็นปี่เป็นขลุ่ย เปิดหูเปิดตา ฯลฯ จะสังเกตว่าคำที่ 1 และ 3 เป็นคำเดียวกัน แต่คำที่ 2 และ 4 คือ บ้านเมือง ตีต่อย เล็กน้อย ปี่ขลุ่ย หูตา ซึ่งเป็นคำซ้อนนั้นจะมีความหมายคล้ายกันหรือทำนองเดียวกัน หรือเป็นคำกลุ่มเดียวกัน

[2]ภาวะสงบจิตด้วยสมาธิภาวนา มีองค์ 2 หรือคุณสมบัติ 2 ประการ คืออุเบกขา (การวางใจเฉยอยู่) และเอกัคคตา (ความมีจิตใจแน่นอนอยู่ในอารมณ์อันเดียว)

[3]คือถ้าตายในอิริยาบถใดก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหมในอิริยาบถนั้นจนสิ้นอายุพรหม (500 กัลป์) จึงจุติไปเกิดในภพใหม่


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!