ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกๆ ท่าน ได้เวลาเปิดใจให้ธรรมะกันอีกแล้ว อาตมาพูดเสมอว่าถ้าใจเปิดหูก็เปิด ถ้าใจปิดหูก็ปิด เพราะว่าใจเรานั้นสำคัญที่สุด ถ้าใจเราไม่พร้อม ถึงมีกำลังมากขนาดไหน ผลงานที่ออกมามันจะไร้คุณภาพทันที ใจเราจึงสำคัญมาก
ดังนั้นอันดับแรกเราต้องบริหารจิตของเราให้ดี ให้รู้จักมองโลกในแง่บวกไว้ การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การหลอกตัวเองนะโยม แต่มันจะไม่บั่นทอนสภาพจิตใจของเรา พูดง่าย ๆ ถ้ามีคนมาด่าเราไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้สารพัด กับมีคนมาชมว่าเราเก่งจังเลย สภาพจิตใจของเราแบบไหนดีกว่ากัน การมองโลกในแง่ดีก็เหมือนกัน มันทำให้จิตใจของเรามีกำลังและมีพลังในการทำหน้าที่ของตน
เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นอาตมาขอเล่าเรื่องนี้ให้โยมฟังเพิ่มแล้วกัน คนเรานะโยม มีตาเหมือนกันคือสองข้าง อาจจะต่างกันบางคนตาสองชั้น อีกคนตาชั้นเดียว คงไม่มีใครตาสิบชั้นนะโยม ถ้ามีมันเป็นการข่มคนอื่นมากเกินไป
คนเรามีตาสองข้างเหมือนกัน แต่เวลามองสิ่งต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน ที่เป็นแบบนั้นเพราะคนเรามีมุมมองที่ต่างกัน บางคนมองผู้หญิงคนเดียวกัน หลายคนบอกว่าเธอสวย บางคนบอกว่าไม่เห็นสวยเลยผู้หญิงคนนี้ ดำก็ดำ อย่างว่านะโยม สเป๊คคนเรามันต่างกัน อย่าเอาความชอบของตนเองไปตัดสินความชอบของคนอื่น
เอาละมาเข้าเรื่องเล่าแล้วกัน เรื่องมีอยู่ว่า มีบริษัทผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งได้ส่งพนักงานขายไปที่เกาะแห่งหนึ่งเพื่อหาตลาดใหม่ ทั้งสองคนเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี แต่เมื่อไปถึง สิ่งที่ทั้งสองเห็นคือคนทั้งเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย
คนแรกถึงกับทรุดลงกับพื้นทราย แล้วโทร.กลับมาที่บริษัท พูดว่าผู้จัดการครับ เราคงขายรองเท้าไม่ได้สักคู่หรอก เพราะว่าในเกาะนี้ไม่มีใครใส่รองเท้าเลยสักคน
คนที่สองเมื่อเห็นก็ตะลึงเหมือนกัน กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ แล้วรีบโทร.ไปที่บริษัท พูดอย่างตื่นเต้นว่า ผู้จัดการครับ เป็นโอกาสทองของบริษัทเราแล้วครับ เราจะได้ลูกค้าจำนวนมหาศาล เพราะว่าบนเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลยสักคน โยมคิดดูสิว่าสองคนนี้ใครจะประสบความสำเร็จในการขายรองเท้า
“อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
อย่าบั่นทอนชีวิตด้วยความคิดที่ติดลบ”
การมองโลกในแง่บวกทำให้เรามีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ลบ ทุกอย่างจะลบไปหมด เรื่องที่เราเคยทำได้ พอสภาพจิตใจไม่ดี สิ่งที่เราทำนั้นก็ออกมาไม่ดีด้วย
และสิ่งที่ทำให้มีความสุขมากขึ้น คือเราต้องมองผ่านความเห็นแก่ตัว มองผ่านความเห็นแก่ตัวคืออย่าเอาความโลภเป็นที่ตั้ง เพราะความโลภเป็นต้นเหตุของความอยาก อยากได้เกินตัว ถ้าเราไม่มีธรรมะ ความอยากนั้นทำให้เราทำความชั่ว
อย่าเอาความโกรธเป็นที่ตั้ง เพราะคนเจ้าอารมณ์ย่อมทำลายสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เพราะว่าความโกรธไม่เคยทำให้เป็นสุข มีแต่ทำให้เป็นทุกข์ ยิ่งโกรธง่ายยิ่งทุกข์ง่าย ยิ่งโกรธบ่อยยิ่งทุกข์บ่อย ถ้าเรารู้จักปล่อยเราจะไม่ทุกข์
โยมคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “จิตที่คิดให้จะเบา จิตที่คิดเอาจะหนัก” ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าคนที่คิดช่วยเหลือคนอื่น ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ทำด้วยความเต็มใจ ปรารถนาดีที่ได้ช่วยคนอื่นทุกเวลาที่มีโอกาส ทำให้ใจมีสุข
ส่วนคนคิดเอาจะหนัก เพราะว่าคิดแต่จะเอาจากคนนั้น ได้อะไรจากคนนี้ ทำสิ่งนี้แล้วได้อะไร ทำให้มีความทุกข์ มีความกังวล เมื่อไม่ได้ดั่งใจที่ต้องการยิ่งทุกข์ทรมานอีกหลายเท่า
อย่าเอา “โมหะ” หรือความหลงเป็นที่ตั้ง “โมหะ” แปลว่าความหลง ความโง่เขลา
ถ้าเรียกด้วยศัพท์ชั้นสูงอีกอย่างว่า “อวิชชา” ซึ่งหมายถึงความไม่รู้ตามที่เป็นจริง เป็นภาวะที่ขาด “ปัญญา” หมายถึง ในขณะที่หลงผิดหรือถูกอวิชชาครอบงำ ไม่มีปัญญาเข้ามาช่วยเลย คิดไปเองตามอำนาจของกิเลส คือโมหะ
โมหะหรือความหลงนี้เกิดจากความคิดเห็นที่ผิดหรือความคิดเห็นที่ไม่ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นคนมีความคิดที่มืดมน คิดอย่างแยบคายไม่ออกก็ทำไปตามความคิดชั่วแล่น จนเกิดการกระทำที่ผิด เสียหายและเสียคนไปเลยก็มี เช่น ข่าวที่ว่ามีชายคนหนึ่งทะเลาะกับเมีย จึงออกมากินเหล้า แล้วเห็นสาวคนหนึ่งขับรถมา ก็เลยเข้าไปจี้พาไปข่มขืน นี่เป็นความหลงผิดขั้นรุนแรง
พุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า “มูฬฺโหอตฺถํ น ชานาติ มูฬฺโหธมฺมํ น ปสฺสติ อนฺธตมํตทาโหติ ยํโมโห สหเต นรํ แปลว่า ผู้หลงย่อมไม่รู้อรรถ ผู้หลงย่อมไม่เห็นธรรม ความหลงครอบงำคนใด เมื่อใด ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น”
โมหะหรือความหลงผิดมีลักษณะหลายอย่าง เช่น
1. หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ศรัทธาจริต) จึงยึดเป็นที่พึ่งและเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย ให้ทำอะไรก็ทำ
2. หลงเชื่อคนง่าย (หูเบา) ใครหว่านคารมอะไรมาก็เชื่อไปหมด จนตกเป็นทาสหรือเป็นเหยื่อไปเลย
3. หลงติดอบายมุขต่างๆ เช่น ยาเสพติด การพนัน
4. หลงทำผิดต่างๆ ไปตามอารมณ์และสถานการณ์ จนเกิดความเสียหาย
5. หลงเชื่อตนเอง คิดว่าตัวเองดีและเก่งแต่เพียงผู้เดียวจนไม่ยอมฟังใคร เมื่อใครดีกว่าก็เกิดอาการริษยา
ฯลฯ
ดังนั้นโมหะจึงเป็นกิเลสที่อันตรายต่อความคิดและการตัดสินใจมาก ท่านจึงให้แก้ด้วยสติ (รู้ตัว) สมาธิ (ตั้งใจจริง) และปัญญา (รอบรู้ตามเหตุตามผล)
โยมทุกท่าน ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เราก็จะไร้ปัญหาในการทำความดี เพราะความดีอันคนดีทำง่าย
เจริญพร
เรื่อง : พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
ภาพ : ขวัญญาณีศิรธนอนันต์