เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว   สงครามในอัฟกานิสถานเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก  ภาพฝุ่นควันที่ฟุ้งไปทั่วเมืองเล็กเมืองใหญ่  ซากปรักหักพังจากระเบิดและกระสุนปืน พระพุทธรูปแกะสลักองค์ใหญ่บนหน้าผาแห่งบามียานและมีอายุเกือบ 2000 ปีซึ่งถูกรัฐบาลตอลิบานสั่งให้ระเบิดทำลายไม่เหลือชิ้นดี  การกดขี่ประชาชน การละเมิดสิทธิสตรี  และความอดอยากแร้นแค้นของชาวอัฟกัน  ฯลฯ  สร้างความสลดหดหู่ใจแก่ชาวโลกทั้งมวล

ภายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐอเมริกา สงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานระหว่างมูจาฮิดินกลุ่มต่างๆ หลังจากขับไล่อำนาจของโซเวียตออกไปแล้ว ยกระดับความรุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามอัฟกานิสถาน เมื่อสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และกองทัพนาโต้เข้าช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือปราบปรามทำลายล้างรัฐบาลตอลิบานจนราบคาบ  และใช้เวลาอีกเกือบ 20 ปี  ตามล่าสังหารอุซามะฮ์ บิน ลาดิน  หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะฮ์จนสำเร็จ   เมื่อพ.ศ.2557 นาโต้จึงจัดพิธีประกาศการสิ้นสุดภารกิจการสู้รบในอัฟกานิสถานและส่งมอบความรับผิดชอบให้รัฐบาลอัฟกัน  แต่จนบัดนี้สงครามในอัฟกานิสถานก็ยังไม่จบสิ้น นักรบตอลิบานและอัลกออิดะฮ์ยังคืนชีพเปิดฉากการสู้รบในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งกองโจรผู้ก่อการร้ายไปก่อวินาศกรรมในประเทศมหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์

เรื่องราวของสงครามในอัฟกานิสถานก่อนเหตุการณ์ 9/11  ใน พ.ศ.2544 ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นนวนิยายเรื่อง ใต้ฝุ่น โดย “โกลาบ จัน” นามปากกาภาษาดารีซึ่งใช้กันในอัฟกานิสถาน หมายถึงกุหลาบที่รัก ผู้เขียนใช้เทคนิคของการเดินทางข้ามเวลา (time travel) ให้เมย์  มิลเลอร์  นักข่าวสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ถูกสะเก็ดระเบิดที่มุมไบแล้วไป “ตื่น” ขึ้นในร่างของมัรยัม เด็กสาวสติไม่สมประกอบชาวอัฟกันเมื่อ 36 ปีก่อน

ในช่วงเวลานั้นอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยอารยธรรม มีการปฏิรูปวัฒนธรรมที่ผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออกอย่างกลมกลืน สันติภาพและความสงบสันติแผ่คลุมทั่วประเทศ  รวมทั้งเสียงดนตรีและบทกวีที่ขับขานอยู่ในทุกอณูบรรยากาศของเมืองและหมู่บ้าน  ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นเสียงระเบิด เสียงปืน และกลิ่นควันไฟหลังจากกองทหารโซเวียตเข้ารุกราน  กลุ่มต่อต้านโซเวียตซึ่งเรียกรวมๆ กันว่านักรบ มูจาฮิดีนขับไล่กองทัพแดงออกไปได้หลังสู้รบกันนานถึง 9 ปีกว่า  แต่สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มมูจาฮิดีนที่หันมาสู้รบกันเองเพื่อชิงอำนาจปกครองประเทศ กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ กับกลุ่มตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะฮ์ซึ่งเป็นอิสลามหัวรุนแรง  สงครามกลางเมืองครั้งนี้กินเวลายาวนาน  อัฟกานิสถานอยู่ในท่ามกลางหายนภัยอันเกิดจากไฟสงครามไม่จบไม่สิ้น

การต่อสู้ระหว่างกลุ่มมูจาฮิดีนกับกลุ่มตอลิบานที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวชีวิต ความรัก และการพลัดพรากของเมย์ในร่างมัรยัม กับราฮิม จาฮานี  นายแพทย์ผู้ต้องทำหน้าที่ช่วยชีวิตไปพร้อมกับเป็นนักรบมูจาฮิดินจับปืนสังหารศัตรู   การบรรยายฉากสถานที่  วัฒนธรรม  ศาสนา  ภูมิประเทศ  ประวัติศาสตร์  ภาษา  และวิถีชีวิตประจำวันตามที่เป็นจริง รวมทั้งการสู้รบและกล่าวถึงผู้นำกลุ่มมูจาฮิดินซึ่งมีตัวตนจริงไปพร้อมกับการดำเนินเรื่องของเรื่องแต่งที่มีองค์ประกอบของความสมจริง  ความขัดแย้งและความสะเทือนอารมณ์ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างบันเทิงคดีกับสารคดี  เพราะส่วนที่เป็นข้อมูลจริงไม่ใช่ส่วนเกินรุงรังแต่กลับช่วยเน้นความเป็นนวนิยายของใต้ฝุ่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากผู้เขียนจะใช้เหตุการณ์หลายตอนสร้างความสะเทือนใจแล้ว  ภาษาอันกินใจก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งและมีอารมณ์สั่นไหว  อย่างเช่น

“ความคิดถึงเป็นการต่อสู้เพียงอย่างเดียวที่ผู้ต่อสู้ไม่มีวันได้รับชัยชนะ  ทางออกมีเพียงทางเดียวคือการศิโรราบต่อความรู้สึกของตัวเอง เมื่อนั้นความคิดถึงจะปรานี” (หน้า 217)

“เขาพบหล่อนทุกครั้งที่หลับตา  มีหล่อนอยู่กับเขาทุกลมหายใจ หล่อนอยู่ในความคิด ความฝัน ความทรงจำ ความรักที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา  แต่คงอยู่ในใจเสมอ…” (หน้า 218)

“หล่อนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ว่าไม่มีน้ำตาใช่ว่าจะสุข  และมีน้ำตาใช่กำลังทุกข์เสมอไป” (หน้า 245)

“สมรภูมิของผู้ชายอาจเป็นการสู้รบกับผู้คนภายนอก  แต่สมรภูมิของผู้หญิง…ของคนเป็นแม่ก็คือการสู้รบปรบมือกับทุกคนในครอบครัว  เหนื่อยสายตัวแทบขาดจนอยากจะหันหลังให้โลกใบนี้  แต่จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร  เมื่อมันนำมาซึ่งความสุขมากที่สุดในชีวิตเช่นกัน” (หน้า 248)

“อย่าร้องไห้  อย่าร้องไห้เพราะฉันเป็นอันขาดยอดรัก  น้ำตาของเธอเป็นดั่งน้ำกรดรดใจฉัน  ถ้าฉันมีชีวิตก็คงจะตาย  หรือหากฉันตายก็คงแหลกสลายเป็นเถ้าธุลี” (หน้า 264)

“จิตวิญญาณของฉันเป็นของเอกองค์อัลลอฮ์  แลเลือดเนื้ออุทิศให้วาตันที่รักยิ่ง  ส่วนหัวใจของฉัน…มอบให้แด่เธอนะ มัรยัมจาน เป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว”  (หน้า 325)

ใต้ฝุ่น  ไม่เพียงนำเสนอความรักอันอ่อนหวานระหว่างหนุ่มสาว  แต่ยังทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งใจกับความรักความเสียสละของแม่ที่มีต่อลูก ความรักในครอบครัว  ความรักและมิตรภาพถาวรระหว่างเพื่อน  ความรักเทิดทูนของผู้ใต้บังคับบัญชาต่อผู้นำ  ความรักเทิดทูนมาตุภูมิบ้านเกิด  และเหนืออื่นใดคือความรักในอุดมการณ์การเมืองของตนจนยอมสังเวยแม้ชีวิตตนเอง  ในประเทศที่ชีวิตและความตายควบคู่กันไปทุกวันเช่นนี้  มีเพียงความรัก  ความหวัง และความอดทน เท่านั้นที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงใจให้แก่ประชาชนผู้ไม่มีทางเลือกเหล่านั้น

นวนิยายข้ามเวลามักให้ตัวละครย้อนอดีตไปและพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แต่แล้วก็พบว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วได้ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นอำนาจของพระเจ้า  บ้างก็ว่าเป็นการกำหนดของโชคชะตา  ถ้าคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินตามเหตุและผลที่มีเงื่อนไขมาก่อนหน้านั้นทั้งสิ้น  ดังนั้น นวนิยายย้อนอดีตที่อ่านเพลินจึงสื่อถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ว่า การเรียนรู้อดีตจะทำให้เข้าใจปัจจุบันและอาจจะวางแนวทางของอนาคตได้

นวนิยายเกี่ยวกับไฟสงครามที่ไม่เคยจบสิ้น มักทำให้เราหวาดกลัวตื่นตระหนกกับความสูญเสีย การพลัดพราก และหายนะของแผ่นดิน  ขณะเดียวกันก็ทำให้ตระหนักว่าเราไม่ควรจุดชนวนก่อไฟสงครามให้เผาผลาญแผ่นดินถิ่นเกิดและตนเองอย่างที่เกิดขึ้นในบางประเทศ  นวนิยายเรื่องใต้ฝุ่น แสดงข้อคิดไว้เช่นเดียวกันว่า

“เมย์ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ว่าการเกิดมาบนผืนแผ่นดินอันสงบสุขมีค่ามากแค่ไหนก็เมื่อได้มาสัมผัส  มาใช้ชีวิตที่นี่ในฐานะมัรยัมจาน  แต่คนจำนวนมากกลับไม่ตระหนักถึงความโชคดีของตน  ผู้คนในอีกหลายประเทศกลับแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งสีผิว  แล้วนำความแตกต่างมาห้ำหั่นกันทั้งทางตรงและทางอ้อม  ใครเลยจะล่วงรู้ว่าสักวันหนึ่งแผ่นดินอันสงบสุขที่พวกเขาเกิดและเติบโตมาก็อาจประสบปัญหาอย่างอัฟกานิสถานได้เช่นกัน” (หน้า 197)

นานๆ ครั้งกว่าจะมีนวนิยายที่อ่านแล้ววางไม่ลงอย่างนี้ แม้ว่าอาจทำให้เศร้าสะเทือนใจจนเสียน้ำตา  ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่ ใต้ฝุ่น ได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลแล้วใน พ.ศ.2562  คือ รางวัล ARC  Award  จากสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์  รางวัลนวนิยายดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ และรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รางวัลเหล่านี้คงจะบอกให้ “โกลาบ จัน” รู้ว่าเธอเดินมาถูกทางแล้วบนถนนสายวรรณกรรม  และเป็นแรงใจให้เธอสร้างสรรค์นวนิยายดีๆ เช่นนี้ต่อไป


เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่