ปัจจุบัน ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งผู้คนในสังคมสนใจและพูดถึงกันมากขึ้น ‘เรื่องเด่นประจำเดือน’ จึงขอหยิบยกหัวข้อปัญหาสุขภาพจิตมารายงาน โดยนำเสนอหนทางและมุมมองใหม่ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้อ่าน ออล แม็กกาซีน ที่รักทุกท่าน ฉบับนี้รู้จักกับแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ที่ให้บริการเป็นสื่อกลางระหว่างคนไข้กับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ได้มาพบกันเพื่อรับคำปรึกษาผ่านทางวิดีโอคอลล์ (video call)  หนทางใหม่ในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้สะดวกสบายขึ้น และคุยกับอาจารย์ภาควิชาปรัชญา เพื่อเปิดโลกทัศน์ในหัวข้อ ‘ความหมายของชีวิตในทัศนะปรัชญา’

แม้อยู่บ้านก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ทุกเมื่อ

Ooca (อูก้า) คือชื่อของแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการด้านสุขภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ผ่านช่องทางออนไลน์หรือวีดิโอคอลล์ ไม่ว่าคนไข้จะอยู่ที่ไหนก็สามารถรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สตาร์ทอัพแห่งนี้ก่อตั้งโดย ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้เล็งเห็นปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนคนไทย ดังนั้นการเพิ่มช่องทางเข้าถึงแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรให้ความสำคัญ รวมทั้งการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตซึ่งใกล้ตัวและไม่ควรมองข้าม

ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์

            “ดิฉันรู้สึกว่าปัญหาความเครียด ความไม่สบายใจในสังคมมีเยอะ ซึ่งเกิดได้กับทุกคน คนที่ไม่สบายใจส่วนหนึ่งไม่กล้าเปิดเผยตัว รู้สึกเขินอายที่จะเข้าพบหมอหรือนักจิตวิทยา อีกส่วนหนึ่งอาจประสบปัญหาเข้าถึงหมอลำบาก นัดคิวยาก ไม่รู้จะไปหาที่ไหนดี พอเข้าไปหาปรากฏว่ามีคนไข้จำนวนมาก กว่าจะได้คุยต้องรอเป็นอาทิตย์เป็นเดือน ยิ่งในต่างจังหวัด มีคุณหมอท่านเดียวตรวจคนไข้เป็นร้อยคน อาจไม่มีเวลาคุยกับคนไข้ได้นาน ส่วนคนไข้ในเมืองอาจประสบปัญหาการจราจรติดขัด ไม่สามารถลางานไปหาหมอได้ ดิฉันเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้จึงอยากช่วยแก้ไข และกลายเป็นแอพพลิเคชั่น Ooca ที่เปิดให้บริการมา 10 เดือนแล้วค่ะ มีผู้เข้ารับคำปรึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงคนไทยในต่างประเทศด้วย”

ขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาที่ Ooca เริ่มต้นจากผู้ประสงค์เข้ารับคำปรึกษาต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในโทรศัทพ์มือถือ ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ android หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.ooca.co จากนั้นลงทะเบียนสมัครสมาชิก กรอกวันเดือนปีเกิด เพศ และชื่อ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อจริงก็ได้เพราะมีไว้สำหรับให้คุณหมอเรียกเท่านั้น เมื่อเข้าระบบเรียบร้อยแล้ว ก็เลือกคุณหมอหรือนักจิตวิทยาที่ต้องการรับคำปรึกษา โดยพิจารณาจากชื่อนามสกุล ประวัติการศึกษา เลขที่ใบประกอบวิชาเวชกรรม (สำหรับจิตแพทย์) หากไม่มีความประสงค์เจาะจงท่านใด ระบบจะช่วยจับคู่ให้โดยอัตโนมัติ คนไข้สามารถเลือกได้ว่าจะปรึกษาเลยหรือเปลี่ยนเป็นคุณหมอท่านอื่น เมื่อเลือกคุณหมอแล้ว จากนั้นจึงนัดหมาย คนไข้นัดล่วงหน้าได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง บางครั้งถ้ามีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาในระบบขณะนั้น คนไข้สามารถรับคำปรึกษาทันทีโดยไม่ต้องนัดหมาย หลังจากนัดหมายสำเร็จ คนไข้เลือกหัวข้อเรื่องที่ต้องการปรึกษา เช่น ปัญหาความเครียด ความรัก ครอบครัว ชีวิตคู่ การทำงาน ยาเสพติด ฯลฯ ทุกปัญหาที่เกี่ยวจิตใจ ไม่ว่าเพิ่งเริ่มต้นหรือสั่งสมมาสักพักสามารถปรึกษาได้ทั้งสิ้น จิตแพทย์และนักจิตวิทยาพร้อมให้คำปรึกษาอย่างมีหลักการและเป็นวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้น ในแอพพลิเคชั่นยังมีแบบทดสอบความเครียดเพื่อตรวจสอบระดับความเครียดของตัวเราในเบื้องต้นด้วย ทั้งนี้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมว่าจำเป็นต้องรับยาหรือไม่ หากจำเป็นจะแนะนำคนไข้ให้ไปพบหมอที่โรงพยาบาล ในหลายรายที่เข้ารับคำปรึกษาเป็นคนไข้ที่พบหมอที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากพูดคุยปรึกษาเพิ่มเติม สามารถใช้ช่องทาง Ooca ได้

 

แอพพลิเคชั่น Ooca

ทพญ.กัญจน์ภัสสรกล่าวถึงข้อดีของการปรึกษาปัญหาออนไลน์ผ่านระบบ Ooca ว่า คนไข้หลายคนมีข้อจำกัด เขาไม่กล้าเปิดเผยตัวตน และไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล การมีระบบเช่นนี้ทำให้เขาสามารถเข้ารับการปรึกษาได้อย่างสบายใจขึ้น เข้าถึงแพทย์ได้มากขึ้น และมีโอกาสได้รับคำปรึกษาอย่างทันท่วงที คุณหมอมองแนวโน้มในอนาคตว่า แอพพลิเคชั่นนี้จะได้รับความนิยม พร้อม ๆ กับการให้ความสำคัญแก่ปัญหาสุขภาพจิตที่มีมากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันผู้หญิงวัยทำงานทั้งช่วงเริ่มต้นไปจนถึงวัยใกล้เกษียณ คือกลุ่มคนที่เข้ามาปรึกษามากที่สุด Ooca จึงได้ขยายสู่การให้บริการไปยังกลุ่มองค์กรทั้งระดับ SMEs (ธุรกิจขนาดเล็ก) และองค์กรมหาชน เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หากพนักงานมีเรื่องไม่สบายใจสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ทันที ทางองค์กรเก็บข้อมูลเชิงสถิติไว้ว่าพนักงานแผนกใด หน่วยงานใด มีระดับความเครียดมากน้อยเท่าไหร่  เป็นการดูแลสุขภาพจิตให้สมบูรณ์ไปด้วยกัน

ระยะเวลาการเข้ารับคำปรึกษานั้น กำหนดให้วิดีโอคอลล์ได้รอบละ 30 นาที แต่ถ้าผู้เข้ารับคำปรึกษาประสงค์จะคุยต่อ สามารถเลือกคุยต่อได้อีก 30 นาที หากคุยเกินหนึ่งชั่วโมง นาทีที่เกินไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายในการคุยนั้น ถ้าเป็นจิตแพทย์ครั้งละ 1,500 บาท (ต่อ 30 นาที) และนักจิตวิทยาครั้งละ 1,000 บาท (ต่อ 30 นาที) ค่าใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง ใครที่กังวลว่าจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอต่อการให้คำปรึกษาหรือไม่ ปัจจุบันมีจำนวนจิตแพทย์ 10 ท่าน นักจิตวิทยาอีก 10 ท่าน เรายังเปิดรับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพิ่มเรื่อย ๆ

Ooca นับเป็นหนทางใหม่ที่เข้ามาช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

 


 

ทำความรู้จักกับความเศร้ากันสักนิด 

 

            พญ.ชนกานต์ ชัชวาลา จิตแพทย์ และผู้ร่วมก่อตั้ง Ooca ให้ความรู้ในหัวข้อ ‘ภาวะซึมเศร้าคืออะไร’

“ภาวะ โรคซึมเศร้าถ้าให้อธิบายละเอียดจะยาวมาก แต่แนวคิดปัจจุบันจากการศึกษาวิจัยทั้งทางชีววิทยา และจิตสังคม (psychosocial) พบว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน มีผู้ทำหน้าที่หลักคือสมองของเรา ซึ่งหลั่งสารสื่อประสาทออกมาผิดปกติ เนื่องจากการกระทบหรือกระตุ้นของพันธุกรรม หรือปัจจัยอื่น ทำให้สารสื่อประสาทบางตัวออกมามากเกินไปหรือน้อยเกินไป ความไม่สมดุลดังกล่าวทำให้อารมณ์ดิ่งลง ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร แน่นอนว่าความคิดย่อมเป็นไปตามอารมณ์ เมื่ออารมณ์ลบ ความคิดบวกจึงเกิดได้ยาก ความคิดลบอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนได้

“อาการหลักคืออารมณ์เศร้า คนไทยมักใช้คำว่า ‘เบื่อหน่าย’ ไม่อยากทำอะไร หรืออ่อนไหว เพราะคำว่าเศร้าอาจไม่คุ้นหูในชีวิตประจำวัน อารมณ์ดังกล่าวจะกระทบกับการใช้ชีวิต การงาน ความสัมพันธ์ นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป กินข้าวไม่ได้หรือกินมากเกินไป ‘ถ้าเกิดสองอาทิตย์ถือว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติที่สมควรได้รับการรักษา’ ตามหลักการของสมาคมแพทย์อเมริกัน ภาวะซึมเศร้าไม่มีการแบ่งระยะชัดเจนดังเช่นโรคมะเร็ง

พญ.ชนกานต์ ชัชวาลา

“ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ปัจจุบันแบ่งเป็น ‘ทางชีววิทยา’ เช่น โรคทางกาย พันธุกรรม ยาที่ใช้ประจำ ประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาเสพติด ‘ทางจิตใจ’ เช่นการเลี้ยงดู ความเครียดที่เข้ามากระทบในอดีตและปัจจุบัน ความหมายของความเครียด และสิ่งที่หมอมักให้ความสำคัญคือ ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ เพราะเชื่อมโยงสู่การเยียวยารักษา สภาพแวดล้อม สังคม การให้ความสนับสนุนจากครอบครัว ความเข้าใจและการปฏิบัติตนจากสังคมรอบตัว

“คำถามที่ว่า อะไรเกิดขึ้นก่อนระหว่างความผิดปกติของสารเคมีในสมองทำให้เกิดอาการเศร้า กับความเศร้า เป็นเหตุให้สารเคมีในสมองผิดปกติ หมอขอตอบว่า ถูกต้องทั้งคู่ เหมือนวงจรอุบาทว์คือ เมื่อใดก็ตามที่สารสื่อประสาทผิดปกติ อารมณ์เศร้าย่อมเกิด และเมื่ออารมณ์เศร้าเกิด สารเคมีในสมอง รวมทั้งฮอร์โมนความเครียดจะหลั่งผิดปกติ เมื่ออยู่ในวังวนนี้เรื่อยไปเราค้นพบว่า สมองบางส่วนมีการทำงานน้อยลงหรือถึงขั้นเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้ เช่น ส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีผลต่อความทรงจำและการทำงานด้านอื่น ดังนั้นจึงต้องยับยั้งวงจรนี้ให้เร็วที่สุด

“คนที่ตัดสินใจจบชีวิตลงนั้น ก่อนอื่นว่ามนุษย์ทุกคนย่อมกลัวตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อใดก็ตามที่ถึงจุดซึ่งคิดว่าความตายคือคำตอบมากกว่าการมีชีวิตอยู่ นั่นคือบาดแผลและความเจ็บปวดเกินยอมรับ ไม่อาจดำรงชีวิตต่อไปได้ ความรู้สึกดังกล่าวสมควรได้รับความเห็นใจ พร้อมรับการเยียวยา ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะแยกแยะว่าคนนี้เป็นจริง คนนั้นไม่ใช่ ถ้าเรามีความรักความห่วงใยเป็นพื้นฐาน เมื่อเห็นคนที่เรารักมีท่าทีเปลี่ยนไป เก็บตัว เศร้าซึม เบื่อหน่าย ไม่สดใส เคร่งเครียด ควรแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยได้ถูกต้องและรักษาทันท่วงที

“สำหรับคนที่คิดว่าตนมีอาการ มีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะซึมเศร้านี้ ควรพบแพทย์ รับประทานยา ทำจิตบำบัด รับคำปรึกษา เพราะเมื่อจิตใจเราป่วย ฮอร์โมนในร่างกายตัวอื่นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นนอกจากดูแลจิตใจแล้วควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน พักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ออกกำลังกายห้าวันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 50 นาที มากหรือน้อยกว่าวิธีดังกล่าวไม่ช่วยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า แต่ทำให้ร่างกายทนทานหรือช่วยลดน้ำหนักได้

“หากใครพบเห็นคนใกล้ชิดต้องสงสัยว่ามีภาวะซึมเศร้า สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ‘ไม่ตัดสิน’ ไม่ต้องช่วยแยกแยะผู้อื่นว่าป่วยจริง หรือป่วยไม่จริง บางครั้งคุณไม่ต้องเข้าใจโรคซึมเศร้าก็ได้ค่ะ เพียงแค่มีความเมตตา ไม่เพิ่มทุกข์ให้แก่ผู้ที่มีความทุกข์อยู่แล้ว น่าจะเป็นผลดีแก่ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าและทุก ๆ โรค

 


 

อีกแง่มุมที่น่าขบคิดกับ ‘ความหมายของชีวิตในทัศนะปรัชญา’

            เราอาจได้อ่านได้ฟังเรื่อง ‘ความเศร้า’ ‘ความสุข’ ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ ในแง่มุมเชิงวิทยาศาสตร์มาเยอะแล้ว ‘เรื่องเด่นประจำเดือน’ ขอเปิดพื้นที่ให้มุมมองใหม่ ๆ ในเชิงปรัชญา เพื่อผู้อ่านได้นำไปขบคิดต่อยอดความรู้กัน โดยผ่านทัศนะของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย

 

ในมุมมองของวิชาปรัชญา มองความรู้สึกเวิ้งว่างว่างเปล่า และชีวิตไร้ความหมายอย่างไร

เกี่ยวกับมุมมองของนักปรัชญา ดิฉันขอยึดความหมายของปรัชญาในทางตะวันตก ซึ่งมีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนมาตอบค่ะ ในเรื่องความรู้สึกเวิ้งว้างว่างเปล่า เหมือนชีวิตไร้ความหมาย นักปรัชญาสายปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) บางคนมองว่า เนื่องจากเบื้องลึกในจิตใจของมนุษย์มีความหวาดหวั่นในสิ่งที่ไม่รู้ อึดอัดใจในบางสิ่งอยู่เสมอ แต่กลับระบุไม่ได้ว่ามันคืออะไร เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับทุกสิ่งในโลกที่เราอยู่ ทำให้เรากำหนดอะไรให้ตัวเองไม่ได้เลย แม้แต่จะบอกว่าพรุ่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหมก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ ทำให้จิตใจมนุษย์แปรปรวนเปราะบาง รู้สึกหดหู่อ้างว้าง และสิ้นหวังในบางสิ่งที่อธิบายไม่ได้ ในด้านหนึ่งเราไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าคืออะไรนอกจากความตาย แต่เรากลับต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างตลอดเวลา ความอึดอัดนี้ทำให้คนแสวงหาทางออก เพื่อยึดเหนี่ยวบางสิ่งให้ตนลืมความหดหู่อ้างว้างแม้ชั่วคราวก็ยังดี คนในสังคมรวมทั้งนักปรัชญาจึงหันไปแสวงหาโลกหน้าในศาสนาบ้าง หมกมุ่นกับวัตถุข้าวของบ้าง หลบหนีเข้าสู่โลกอดีตหรือความทรงจำบ้าง หรือทำลายชีวิตลงอย่างตั้งใจเพราะมองไม่เห็นสาระของการเกิดมาก็มี

การตั้งคำถามหรือหาคำตอบ ‘ความหมายของชีวิต’ ในเชิงปรัชญา มีความสำคัญอย่างไร

เส้นทางของนักปรัชญาน่าจะแตกต่างกับเส้นทางของนักศาสนาที่เน้นจิตใจกับโลกหน้า หรือนักวิทยาศาสตร์กายภาพที่เน้นแต่วัตถุในโลกนี้  ปรัชญาตั้งคำถามต่อทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นจริงของโลกที่เราอยู่  เป้าหมายคือเพื่อทำความเข้าใจและสร้างความกระจ่างชัด  ถ้าทำให้กระจ่างไม่ได้  อย่างน้อยก็พยายามทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นในบางเรื่อง  เหมือนคนที่ไม่รู้ว่าภาพสมบูรณ์ของชีวิตกับโลกคืออะไร  แต่ก็พยายามติดตามเก็บชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่จะต่อเป็นภาพสมบูรณ์นั้นไว้ให้ได้มากที่สุด  เพื่อที่จะเข้าใจว่า  อย่างน้อยตัวเราและโลกที่อยู่มีความหมายอย่างไรได้บ้าง  การเข้าใจเรื่องเรื่องหนึ่งอย่างแจ่มชัดมีผลต่อการกำหนดความหมายให้แก่ชีวิตนั้นเป็นอย่างมากค่ะ

วิธีการแบบปรัชญาคือวิธีการของมนุษย์ที่มีเหตุผล มันช่วยทำให้คน ‘คิดเป็น’ ไม่ใช่เพียงแค่ ‘คิดออก’ หรือ ‘คิดเก่งแต่เชื่อมโยงไม่เป็น’  คนที่คิดเป็นมักมองเห็นตัวเองชัดขึ้นจากการเข้าใจสิ่งอื่นชัดขึ้นด้วย  ตรงนี้จึงกล่าวได้ว่า  ในแง่ที่เป็นวิธีการที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ  ปรัชญามีส่วนช่วยประคับประคองจิตใจของมนุษย์ให้มีเหตุผลและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง  นี่คงเป็นประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในการรักษาสภาพจิตใจของมนุษย์  ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของการเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลและบรรลุจุดหมายสูงสุดได้  ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของสัตว์โลกชนิดนี้เท่านั้นค่ะ”

การตั้งคำถามว่า เกิดมาทำไม ความสุขความทุกข์คืออะไร จำเป็นต่อชีวิตเรามากน้อยแค่ไหน

ถ้าถามว่าคำถามเช่นนี้จำเป็นต่อการหาเงินหรือมีอาชีพเฉพาะกิจหรือไม่  คงตอบว่าไม่จำเป็น  แต่ถ้าถามว่าสำคัญแก่การใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่  คงตอบว่าสำคัญและสำคัญมาก  ถ้าเรามองตัวเองว่าเป็นมนุษย์ที่สามารถเลือกได้  มีความสุขหรือความทุกข์กับสิ่งที่ตนเลือกได้  และชีวิตมี ‘คุณค่า’ จากการให้ความหมายแก่ชีวิตตนเองได้ คำถามเช่นนี้จะช่วยให้เรามองเห็น รู้จัก และเข้าใจตัวเองมากขึ้น  คำถามเชิงปรัชญาอาจไม่ช่วยเรื่องการประกอบอาชีพ  แต่มันทำให้การประกอบอาชีพของแต่ละคนมีความหมายและมีคุณค่าบางอย่างที่แต่ละคนนั้นกำหนดได้เอง”

คนที่ใคร่ครวญต่อคำถามเชิงปรัชญา กับคนที่ไม่เคยใคร่ครวญ มีผลแตกต่างกันหรือไม่

ในทัศนะส่วนตัวดิฉันมองว่า  คนที่ใคร่ครวญต่อคำถามเชิงปรัชญาดังกล่าว  แม้ไม่มีคำตอบให้ตัวเองชัดเจนเพราะไม่รู้  แต่การยอมรับว่าตนเองไม่รู้ นักปรัชญากรีกโบราณมองว่าคือความรู้จักตัวเอง  ซึ่งเป็นความรู้ชนิดพื้นฐานที่สุด  และความรู้พื้นฐานที่สุดนี้จะเป็นรากฐานให้เกิดความรู้อื่นตามมาได้ค่ะ

ทำอย่างไรให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตได้

“เลือกและยอมรับทุก ๆ การเลือกของตัวเอง  ลองผิดเพื่อจะได้ทำถูก  ทำถูกคือเข้าใกล้ความจริง ความดี หรือความงามในแบบที่ประสบการณ์ของตนแบ่งปันกับประสบการณ์ของมนุษยชาติโดยรวมได้  เคารพการตัดสินใจของผู้อื่น  เปิดใจกว้าง  เหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นได้ผ่านการอ่านหรือฟัง  ผ่านการคิดวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนเอง  และผ่านการเชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่ในประสบการณ์ของเราเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในประสบการณ์ของผู้อื่น”           

วิชาปรัชญาให้ประโยชน์แก่มนุษย์ โดยเฉพาะสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างไร

“เราอยู่ในยุคที่แต่ละวันต้องเผชิญหน้ากับแรงอัดจากข้อมูลมหาศาล  แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับไม่สามารถเอามาเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตได้  เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรคือของจริง อะไรคือของเทียม  เราต้องการศาสตร์ที่เป็นสายกลาง  ทำให้คนตั้งคำถามได้ คิดเป็น และสร้างระบบคุณค่าในตัวเขาที่จะต่อสู้กับแรงอัดเช่นนี้ได้  ศาสตร์นั้นจะเรียกว่าปรัชญาหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ส่วนตัวคิดว่าสังคมที่ต้องการความสมดุลและพัฒนาการในชีวิตมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าในทางสังคม คำถามเช่นนี้มีความสำคัญมากค่ะ”

ออล  หวังว่าคำถามและคำตอบจากผู้รู้ที่เราคัดสรรมานำเสนอแก่ผู้อ่าน จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่