“ยุทธจักร ฅ.ฅน” ฉบับนี้ ขอพาผู้อ่านมาทำความรู้จักชายผู้ทุ่มเททำงานเพื่อคนพิการ นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์ ประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ ผู้นำร่องโครงการปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบปิด ด้วยแนวคิดงานเกษตรที่เหมาะสมและมีคุณค่าสำหรับคนพิการ
น.อ.ภราดรเล่าถึงที่มาของการทำงานเพื่อสังคมว่า นับตั้งแต่เขาประสบอุบัติเหตุจนพิการ เขาได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาให้กลับมาทำงานอีกครั้ง เพราะไม่อยากให้หมกมุ่นอยู่กับความโศกเศร้า จึงมอบหมายให้เขาทำหน้าที่เป็นครูสอนซิมูเลเตอร์ (F-16 Simulator เครื่องฝึกบินจำลอง) และดูแลระบบสารสนเทศ ปัจจุบันประจำการอยู่ที่กองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้เห็นข้อความทางอินเตอร์เน็ตว่าต้องการคนช่วยสอนคอมพิวเตอร์ให้แก่คนพิการ จึงรับอาสา
การทำงานร่วมกับผู้พิการคนอื่นๆ ถือเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ น.อ.ภราดรได้เห็นปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งสมัยนั้นสวัสดิการทางสังคมสำหรับดูแลคนพิการยังมีน้อยและไม่เพียงพอ สวนทางกับจำนวนคนพิการที่เพิ่มขึ้น ด้วยความตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้เขาจึงทุ่มเททำงานเพื่อสังคมควบคู่กับงานราชการ น.อ.ภราดรได้ร่วมงานกับรุ่นพี่ที่เคยรู้จักกันคือพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต ต่อมาเมื่อพันโทต่อพงษ์เสียชีวิตอย่างกะทันหัน น.อ.ภราดรและพี่น้องที่เคยทำงานร่วมกันก็เดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อช่วยเหลือ ดูแลสวัสดิการ ขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย และพิทักษ์สิทธิที่คนพิการควรได้รับร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ จนเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายเรื่องการจ้างงานคนพิการให้มีผลบังคับใช้จริง
ภายในมูลนิธิฯ แบ่งงานหลักๆ เป็นสามฝ่ายคือ 1. ฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ 2. ฝ่ายการให้ความช่วยเหลือด้านรถเข็นสำหรับผู้พิการ 3. ฝ่ายการศึกษาสำหรับผู้พิการ ใจดีฟาร์มคือส่วนหนึ่งของฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ เป็นศูนย์กลางรวบรวมคนพิการมาทำกิจกรรมร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ให้คนพิการได้เห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว
เจี๊ยบ-ขวัญฤทัย สว่างศรี หัวหน้าฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ กล่าวว่า “ความพิการมีหลากหลาย เราดูธรรมชาติความพิการของเขา มองหาความถนัดและความชอบแต่ละคน เพื่อผลักดันเขาไปให้ถูกทาง เรามีหัวหน้ากลุ่มซึ่งเป็นแกนนำของแต่ละพื้นที่ คอยรวบรวมสมาชิกเพื่อก่อตั้งใจดีฟาร์มในพื้นที่ของตัวเองขึ้น ฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน ใช้ความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดให้พวกเขา”
น.อ.ภราดรกล่าวเสริมว่า “ฟาร์มเป็นแค่อาชีพบางอย่าง แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้ผู้พิการสามารถหลุดพ้นจากบางสิ่งบางอย่างที่ประสบ เมื่อเขารู้สึกว่าความพิการไม่ใช่ปัญหา เขาสามารถมีอาชีพและทำสิ่งที่เขาสนใจได้ เมื่อนั้นเขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถ ใจดีฟาร์มแค่จุดประกายให้เขา ต่อไปเขาอาจอยากเปลี่ยนแปลงไปเพาะเห็ด เลี้ยงกุ้ง ทำโน่นทำนี่ที่นอกเหนือจากนี้”
ปัจจุบันเครือข่ายใจดีฟาร์มมีทั้งหมดสามที่ คือ อ.หันคา จ.ชัยนาท อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มุ่งหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและกระบวนการสร้างความเข้าใจอันถูกต้องที่มีต่อคนพิการ โดยมีงานด้านการเกษตรเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพราะเป็นงานซึ่งคนพิการหลากประเภทหลายระดับความรุนแรงสามารถทำงานได้ ระบบการจัดการในฟาร์มมีการปรับใช้เทคโนโลยีอันเหมาะสมและทันสมัย โรงเรือนที่ใช้ปลูกเป็นโรงเรือนระบบปิด แตกต่างจากฟาร์มอื่นตรงพื้นดินมีการเทปูนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การทำงานของคนพิการที่ใช้รถเข็น เป็นการปรับสภาพแวดล้อมให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง
ผลิตผลของใจดีฟาร์มคือเมล่อนพันธุ์ซูบาริคิง (Zubari King) สายพันธุ์แท้จากญี่ปุ่น การที่เลือกปลูกเมล่อนนั้น น.อ.ภราดรให้เหตุผลว่า “เนื่องจากการปลูกเมล่อนในฟาร์มต้องมีวินัยอย่างมาก คนที่ไม่มีความรับผิดชอบไม่มีทางทำได้ แต่ถ้ามีวินัยและมีวิธีจัดการที่ถูกต้อง นอกจากได้ประโยชน์จากการจัดระเบียบฟาร์มแล้ว เขายังสามารถนำมาประยุกต์จัดการชีวิตตัวเองและคนในกลุ่มได้ด้วย พร้อมต่อยอดสู่งานอื่นๆ ที่เขาอยากทำเองในอนาคต” เพราะความใส่ใจของผู้ปลูกนี้เอง ทำให้เมล่อนของใจดีฟาร์มจึงเป็นเมล่อนคุณภาพพรีเมี่ยมได้มาตรฐาน รสชาติหอมหวาน เนื้อสีส้มน่ารับประทาน การันตีความหวาน 15 บริกซ์ นอกจากนี้ภายในฟาร์มยังเริ่มมีการปลูกมะเขือเทศหวาน ข้าวโพดญี่ปุ่น และผักออร์แกนิค
ช่องทางการจำหน่าย นอกจากขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและไลน์ พรีออเดอร์ตามรอบการตัดแล้ว ใจดีฟาร์มยังได้รับการส่งเสริมการขายจากสำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจอุดหนุนผลิตผลคุณภาพจากใจดีฟาร์ม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมรายได้อย่างยั่งยืนแก่เกษตรผู้พิการอีกด้วย
สามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก: @JaideeFarmAccessibleFarmThailand โทรศัพท์: 09 6494 2459 หรือสั่งผ่านเว็บไซต์ 24Shopping (https://www.shopat24.com/) หรือใช้แต้มทรูพอยท์ (TruePoint) แลกรับเมล่อนได้เช่นกัน
มาวันนี้ 6 ธค. ไม่มีมาขาย
กระจายช่องทางมาแถวศิริราช จะช่วยอุดหนุนค่ะ
พืชผลทางการเกษตร มีจุดอ่อนทางการตลาดหลัก 2 จุด คือ (1) ค่าขนส่ง-กระจายสินค้าภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นจุดบอดที่ทำให้มีกำไรลดลง และ (2) เวลาที่บรโภคสินค้า ก่อนที่จะเสื่อมคุณภาพ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากครับ