โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล อนาคตกำหนดเอง

-

คำว่าบูลลี่ (bully) ถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมายถึงการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการทำร้ายจิตใจ เป็นการสร้างความเจ็บช้ำที่ง่ายดายที่สุด เพียงแค่คำพูดล้อเลียน เหยียดหยาม ดูหมิ่น โดยตั้งใจมากบ้างน้อยบ้างก็ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำจนอาจกลายเป็นปมทางจิตใจ นำไปสู่ความคิดลบต่อตัวเอง ฉบับนี้เราได้ โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล ดารา พิธีกร ที่เคยผ่านเหตุการณ์ถูกล้อ ถูกวิจารณ์ เรื่องรูปลักษณ์ ผิวพรรณ ความงาม ตั้งแต่ยังเด็ก มาถ่ายทอดมุมมองที่เชื่อว่าจะช่วยดึงสติและปรับใจให้แข็งแกร่งขึ้นสำหรับคนที่อาจเผชิญสถานการณ์คล้ายกันนี้ รวมถึงบทบาทคุณแม่ลูกสองนั้น จะปลูกฝังและสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกอย่างไร ในยุคที่การกลั่นแกล้งไม่ใช่แค่กระทำกันซึ่งๆ หน้า แต่ระบาดในโลกออนไลน์ด้วย

โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล

อย่าให้ค่าแก่การถูกบูลลี่เพราะโลกนี้ยังมีอะไรอีกเยอะ

“ปอล์ว่า คำว่า ‘บูลลี่’ เพิ่งนำมาใช้กันแพร่หลายไม่นานนี้ แต่จริงๆ แล้วคำที่ใช้กันตั้งแต่เด็กคือ ‘การล้อเลียน’ ล้อปมด้อยใดๆ ของใคร ปอล์เจอมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อ 30 ปีที่แล้วโหดกว่านะ เพราะสมัยนี้พอมีการล้อก็มีการตักเตือนกันว่า ‘อย่า’ แต่สมัยก่อนไม่มีใครห้ามกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าสมัยไหนการล้อเลียนปมด้อยกัน การกดคนอื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบันเราอาจรู้สึกว่ารุนแรงกว่าเดิม เพราะสมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย ล้อกันแค่ภายในโรงเรียน แต่ทุกวันนี้เราพร้อมเข้าไปคอมเมนต์ด่าใครก็ตามที่รู้จักหรือไม่รู้จักบนโลกโซเชียล ในแง่เครื่องมือที่ใช้ ปัจจุบันนี้โหดร้ายกว่า แต่ในแง่เมสเสจที่ล้อเลียน ปอล์ว่ามันเหมือนเดิม ไม่แตกต่าง

“ประเด็นที่ปอล์อยากสื่อสารวันนี้คือ อย่าไปให้ค่าแก่การถูกบูลลี่หรือการล้อเลียนใดๆ เลย ช่วยมองไปในทิศทางอื่น โลกนี้มีอะไรรออยู่มากมายเหลือเกิน ถ้าเรารู้สึกแคร์การบูลลี่มาก แปลว่าคำพูดคนอื่นมีความหมายกับเราขนาดนั้นเลย อาจเพราะปอล์โตมาในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวยแต่อบอุ่น เวลาใครล้อเรา เรากลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ขำ เราหัวเราะแล้วผ่านมันมาด้วยกัน ไม่มีใครบนโลกนี้ที่ไม่ถูกนินทา ถูกด่า ต่อให้สวยแค่ไหน ดีแค่ไหน ถ้าเอาแต่แบกรับคำพูดทุกคนแล้วมีผลกับตัวเอง ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้า หดหู่ หรือเอามาไดร์ฟ (drive) ให้ได้ดีเพื่อแก้แค้น คุณน่ะต้องพักนะ เป้าหมายของพี่ตั้งแต่เด็กคือชีวิตนี้ต้องได้ดี เพราะบ้านเราไม่ได้ร่ำรวย พ่อแม่จะคุยกันตลอดว่าเดือนนี้ได้เงินมาเท่านี้ มันไม่พอตรงไหน จะไปต่อยังไง ค่าน้ำค่าไฟเอาที่ไหนจ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กังวลไม่ใช่คำล้อเลียนจากใคร แต่คือเรื่องปากท้อง เป็นสิ่งผลักดันชีวิตเรา และไม่เกี่ยวข้องกับคำของใครเลย”

โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล

ชาวเน็ตชื่ออะไร รู้จักไหม แล้วต้องสนใจด้วยเหรอ?

อย่างไรก็ดี เมื่อหนีไม่พ้น เกิดคำล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น และดังจนเข้าหูเราแล้ว โอปอล์เลือกจะจัดการกับคำวิจารณ์นั้นอย่างไร

“ปอล์แยกเป็นแบบนี้นะ สมมติใครพูดถึงหรือใช้คำบูลลี่เรา สิ่งนั้นจริงไหม หรือเราแก้ไขได้ไหม เช่น ถ้าพูดไม่เพราะ ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูก ผิดกาลเทศะ ปอล์รีบแก้เลยนะ แต่ถ้าตำหนิรูปลักษณ์หน้าตาภายนอก ซึ่งเรารู้สึกว่าเราทำได้ดีที่สุดในช่วงวัยนั้นแล้ว ในความพยายามของเราแล้ว ปอล์ไม่เอามาแบกไว้หรอก ตรรกะแบบเดียวกับที่ปอล์ใช้ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราขยันฉิบหาย ตั้งใจมากๆ แต่เมื่อเข้าห้องสอบแล้ว ติดไม่ติดไม่ใช่ประเด็น ในส่วนของเรา เราทำดีที่สุดแล้ว นอกนั้นอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นหากใครด่าอะไรที่มีประโยชน์ก็ฟัง แต่ถ้าด่าด้วยอคติ เชื่อเถอะว่า เขาด่าแล้วเขาลืมด้วยซ้ำ ปอล์มักสอนน้องๆ ที่โดนกระแส โดนคอมเมนต์ต่างๆ ว่า ชาวเน็ตที่ว่าเราเหล่านั้นชื่ออะไร เรารู้จักเขาไหม? เขารู้จักเราไหม? คำตอบคือไม่ แล้วเราต้องแคร์ด้วยเหรอ”

ไม่เพียงแค่ความเห็นที่เป็นลบ คำพูดดีๆ ก็ต้องรับอย่างมีสติด้วย

“บางคนไม่ได้เจอคำว่าร้าย แต่กลับลุ่มหลงกับคำดีๆ สวยจังเลย หรูจังเลย น่ารักจังเลย วันๆ เลยไม่ทำอะไร เซ็ตแสงถ่ายรูปไม่ยั้งเลยจ้า แล้วเลือกแต่มุมที่คนชม นั่นก็หลุดไปอีกโลกหนึ่ง”

โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล

สร้างจิตสำนึก ทางออกสำคัญ

แน่นอนว่าคำว่า “ไม่แคร์” พูดง่ายแต่ทำไม่ง่ายเลย ใจคนเร็วเกินกว่าจะจับไว้ทัน รู้สึกตัวอีกทีก็เผลออารมณ์เสีย หงุดหงิดโดยไม่ตั้งใจแล้ว

“อย่างปอล์ผ่านการใช้เวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความเป็นความตาย ถึงรู้ว่าเราควรแคร์อะไร ไม่แคร์อะไร แน่นอนว่าถ้าเป็นเด็กวัยรุ่น แค่สิวขึ้นก็ร้องไห้แล้ว มันคือวัยที่อ่อนไหว อีกทั้งปอล์ยังเกิดในยุคที่โทรศัพท์มือถือไม่เป็นสมาร์ทโฟน ไม่มีสื่ออะไรให้เราต้องเสพมากเท่าตอนนี้ แต่เด็กสมัยนี้เขาโตมากับการอ่านคอมเมนต์ จึงโทษเขาไม่ได้หรอกถ้าเขาจะแคร์คอมเมนต์ในไอจี หรือคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้บางคนรู้สึกเสียใจ นึกย้อนสมัยปอล์ แค่เพื่อนล้อในโรงเรียนเรายังเสียใจแล้ว แต่อันนี้คือใครก็ไม่รู้มาด่าเราทำไม เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องช่วยดูแล ช่วยให้เด็กตั้งหลักให้ได้

“สิ่งหนึ่งที่ปอล์รู้สึกเมื่อทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม มาใหม่ๆ กฎหมายควบคุมยังไม่มี คนด่ากันแรงกว่านี้ มาช่วงหลังมีพรบ.ควบคุม เราฟ้องร้องกันได้ คอมเมนต์เหล่านี้ถึงเริ่มเบา ปอล์เชื่อว่าวันหนึ่งจะมีกฎหมายรองรับเทคโนโลยีที่พัฒนาไป แต่กว่าจะถึงวันนั้นสิ่งที่ต้องมีก่อนคือ ‘จิตสำนึกในการใช้’ แต่กว่าจิตสำนึกจะมา รอไปเถอะ รุ่นลูกของปอล์โน่นคนถึงจะเข้าใจว่าอะไรคือมารยาทการใช้ ปอล์ไม่โทษอะไรเลยนะ เพราะสื่อพวกนี้ใหม่มาก สิ่งที่เราพอทำได้คือปลูกฝัง สร้างภูมิต้านทาน แม้ว่าจะเป็นแอคเคาท์ (account) ของตัวเอง แต่ไม่ใช่สื่อส่วนตัว มันคือช่องทางสาธารณะ มันไม่ใช่ไดอารี่ ซึ่งสมัยเด็กเราเขียนแล้วล็อคไว้ในลิ้นชัก แต่วันนี้เราแชร์ทุกอย่างบนเฟซบุ๊ก แล้วโกรธที่เพื่อนแคป อ้าว! ก็แชร์ในเฟซบุ๊กเอง อีกทั้งการไปด่าคนอื่นในสื่อโซเชียลคือเรื่องหยาบคาย ไม่ต่างจากเดินไปด่าเขาต่อหน้า ซึ่งทำไม่ได้ สังคมไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องช่วยดู ให้ลูกรู้ว่าโลกนี้ยังมีอะไรอีกเยอะ บางทีการหมกมุ่นอยู่กับสื่อก็เหมือนหมุนรอบตัวเอง

“และถ้าเราสร้างจิตสำนึกและมารยาทการใช้สื่อได้เมื่อไหร่ ต่อให้แต่ละคนมีแอคหลุม (account ในโซเชียลมีเดียที่ไม่เปิดเผยตัวตน) กี่ล้านอัน ก็ไม่เกิดการนำมาใช้ด่าทอ โจมตี ใช้ในทางที่ผิดได้”

โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล

ถ้ามั่นใจว่าใช่ ก็อย่าไปแคร์

“สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างที่อยากพูดคือ ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นใคร เรามีความสุขกับตัวเอง เติมเต็มชีวิตตัวเองได้ ใครด่ายังไง ใครบูลลี่เราแทบตายก็ทำอะไรไม่ได้จริงๆ อย่างทุกวันนี้ใครมาด่าปอล์ว่าอ้วนหรือดำ ปอล์จะตอบว่า ใช่ค่ะ แล้ว? เถียงสิคะว่าปอล์ไม่เก่ง เถียงสิว่าชีวิตไม่ดี คือถ้าเราแน่จริงในส่วนของเราก็ใช้ชีวิตไปเลย ปอล์เป็นคนที่มีเป้าหมายชีวิตตั้งแต่เด็ก ระหว่างทางเราตั้งใจมากๆ แม่ไม่มีเงินส่งเรียนมหา’ลัยเอกชนนะ ดังนั้นต้องสอบให้ติด พอติดปุ๊บก็รีบค้นหาตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อที่เรียนจบจะได้ทำงานหาเงินให้พ่อแม่ทันที พอชีวิตเราโฟกัสกับเป้าหมายจะไม่สนเลยว่าใครเลิกกับใคร ใครคือมือที่สาม ไม่มีเวลายุ่งเรื่องชาวบ้าน และถ้าใครมาว่าเราระหว่างทางนั้น เราแค่ยิ้มแล้วคิดในใจว่า เดี๋ยวรอดูแล้วกัน แต่อย่าเข้าใจผิดนะ คำบูลลี่ไม่ได้ผลักให้เราไปไกล เหมือนในละคร ความแค้นไม่ได้ทำให้ชีวิตดี ปอล์ไม่สนับสนุนให้ใครผลักดันตัวเองด้วยพลังลบ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ เราจะแตกสลาย ชีวิตต้องไม่ขึ้นอยู่กับคำใคร

“วันนี้สมมติมีคนมาบอกปอล์ว่าอ้วน ปอล์อาจจะฉุกคิดว่าเดี๋ยวลด แต่ก็กินต่ออยู่ดี เพราะไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของเรา แต่สมมติปอล์นั่งยองๆ เล่นกับลูกแล้วรู้สึกนั่งไม่ไหวแล้ว ถึงจะรู้สึกอยากลดความอ้วนจริงๆ เห็นภาพไหมคะ”

ในบทบาทของแม่ หากวันหนึ่งลูกๆ ถูกล้อเลียน วิพากษ์วิจารณ์บ้าง เธอจะบอกกับลูกว่าอย่างไร

“อย่างที่บอก ถ้าสิ่งที่เขาพูดเกิดประโยชน์ ก็นำมาพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าจงใจพูดให้เจ็บปวดเสียใจ ความรักพ่อแม่สำคัญกว่าคำพูดของเขารึเปล่า เราคงไม่เอามือไปกอดลูกแล้วบอกว่าอย่ามาด่าลูกฉันนะ ไม่ ไปเผชิญเลยลูก แล้วแม่จะรออยู่ตรงนี้
“ปอล์ว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่น แต่ไม่แคร์ ฉะนั้นต้องช่วยกัน ถ้าเราเห็นใครคอมเมนต์ด่าดาราคนหนึ่งด้วยคำหยาบคาย เราต้องบอกนะว่าอารยชนเขาไม่ทำกัน จิตสำนึกสร้างได้ เริ่มจากตัวเรา ให้เป็นจารีตสังคม เหมือนที่คุณรู้ว่าไปร่วมงานแต่งงานต้องไม่ใส่ชุดขาว คนในสังคมต้องช่วยกัน”

 


คอลัมน์: เรื่องจากปก
เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine พฤศจิกายน 2562

ขอขอบคุณสถานที่
Chic Republic สาขาประดิษฐ์มนูธรรม (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา)
ที่อยู่ : 90 ซอยโยธินพัฒนา ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
โทรศัพท์ : 0 2514 7123
เว็บไซต์: www.chicrepublicthai.com

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!