การเป็นนักเขียนได้นั้นต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? ชอบอ่านหนังสือ ชอบจินตนาการ ชอบเล่าเรื่อง หรือมีพรสวรรค์ติดตัวแต่เกิด แล้วถ้าเรามีคุณสมบัติครบทุกข้อ ทว่าร่างกายกลับไม่มีเรี่ยวแรงแม้แต่จะขยับนิ้วเพื่อกดคีย์บอร์ดหรือแผงแป้นพิมพ์ เราจะยังเป็นนักเขียนได้อีกหรือไม่ หรือควรถอดใจกับอาชีพนี้ เชื่อว่าแต่ละคนคงมีคำตอบในใจที่ต่างกันไป สำหรับ แพรว-เพทาย จิรคงพิพัฒน์ เจ้าของนามปากกา “โกลาบ จัน” ฯลฯ นักเขียนสาวผู้มีรถเข็นเป็นพาหนะคู่ใจ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นเพื่อนสนิท ความมานะบากบั่นในการเป็นนักเขียนแม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์ ได้ให้คำตอบที่ประจักษ์แจ้งแก่เราว่า “ทุกสิ่งเป็นไปได้หากไม่ละความพยายาม”

แพรว-เพทาย จิรคงพิพัฒน์ ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่จำความได้ และใช้ชีวิตบนรถเข็นขณะอายุแค่ 10 ขวบ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเซนต์จอห์น ก่อนจะหยุดเรียนและไม่ได้ศึกษาต่อเพราะความขัดข้องทางร่างกาย แพรวสนใจงานเขียนตั้งแต่ปี 2551 และใช้เวลาว่างเพื่อเขียนนิยาย กระทั่งมีผลงานตีพิมพ์เรื่องแรกเมื่อปี 2555 ในนามปากกา “ภาพิมล” และ “พิมลภา” ในปี 2560 เรื่อง ใต้ฝุ่น งานเขียนที่ฉีกแนวจากเดิม โดยใช้นามปากกา “โกลาบ จัน” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวด ARC Award ปัจจุบันแพรวใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเตียงและรถเข็น ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังคงพยายามเขียนนิยายที่เธอรักต่อไป

เล่าถึงเส้นทางการเป็นนักอ่านจนมาถึงความฝันที่อยากเป็นนักเขียนหน่อยค่ะ

ตอนเรียนไม่ได้อ่านอะไรเลยนอกจากหนังสือเรียน ไม่ได้รักการอ่าน อยากแต่จะเล่น เวลาไปโรงเรียนมีพ่อคอยอุ้ม พ่อชอบอ่านหนังสือปริศนาอักษรไขว้ เขียนคำในตาราง นิตยสารสารคดี แพรวมักอ่านกับพ่อมากกว่า มาเริ่มสนใจอ่านเองหลังจากไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เริ่มต้นที่แฮรี่ พอตเตอร์ แล้วก็พวกนิยายรัก นิยายเกาหลีที่มีตามร้านเช่า แพรวอ่านจนหมดร้านจนไม่เหลืออะไรให้อ่าน คุณป้าของแพรวทำงานในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขายืมหนังสือจากห้องสมุดโรงเรียนมาให้ เป็นนิยายชั้นครูคนละแนวกับที่เคยอ่าน เช่นงานของ “ชูวงศ์ ฉายะจินดา” “ทมยันตี” “กฤษณา อโศกสิน” หลังจากนั้นก็ติดอ่านนิยายรุ่นเก๋าเลยค่ะ

ตอนนั้นแพรวไม่ได้อยากเป็นนักเขียน เราแค่อยากแบ่งเบาภาระครอบครัว อะไรที่ทำแล้วได้เงินก็อยากทำ แต่ความสามารถของแพรวด้านอื่นๆ ไม่มีเลย แพรวไม่สามารถไปรับจ้างทำงานฝีมือได้ การเขียนจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราพอมีศักยภาพ ก่อนมาเขียนนิยาย เราเป็นคนเก็บตัวมาก อยู่แค่ในสังคมแคบๆ การออกไปข้างนอกไม่ว่าจะเป็นเดินห้างหรือไปต่างจังหวัดเป็นอะไรที่ฝืนใจมาก ไม่ชอบเจอผู้คน พอเราลองเขียนงานเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตแล้วได้คอมเมนต์จากคนอ่าน ทำให้เราเปิดใจมากขึ้น ที่ผ่านมาแพรวค่อนข้างสงวนความคิดเห็นตัวเอง การต้องใส่ตัวตนลงไปในงานก็ทำให้กังวลเหมือนกันว่าจะมีคนไม่พอใจไหม แล้วเราจะรับมือกับกระแสตอบรับได้หรือไม่ โชคดีมากที่เมื่อเริ่มเขียน กระแสตอบรับเป็นไปในทางที่ดี ให้กำลังใจกัน ถึงจะมีแค่คนสองคนก็ทำให้ความมั่นใจของเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผลงานเรื่องแรกไม่ได้ใช้นามปากกาว่า “โกลาบ จัน” ใช่ไหม

ค่ะ ใช้นามปากกาว่า “ภาพิมล” กับ “พิมลภา” เป็นชื่อของคุณป้าสองคนรวมกัน เรื่องแรกชื่อ ซ่อนไว้ในเกลียวคลื่น เป็นนิยายรัก ใช้เวลาเขียนเป็นปีเลย เพราะแพรวมีเวลาพิมพ์คอมฯที่บ้านช่วงเย็น และเขียนได้แค่วันละครึ่งหน้า (‘ฉันพิมพ์คอมพิวเตอร์ค่อนข้างช้าด้วยการใช้สันนิ้วก้อยมือซ้ายพิมพ์ ส่วนมือขวาก็คลิกเมาส์แป้นพิมพ์ที่เรียกขึ้นมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (on screen keyboard) ช่วยกัน’ – อ้างจากหนังสือ SMA ไม่มีคำว่าเสียใจ แม้ในหยดน้ำตา)

แพรว-เพทาย จิรคงพิพัฒน์

ปัจจุบันแพรวไม่ได้พิมพ์งานผ่านคอมพิวเตอร์เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมือก็ขยับลำบากขึ้น แล้ววิธีการเขียนนิยายของแพรวทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

แพรวพิมพ์ในโทรศัพท์มือถือค่ะ นอนพิมพ์ ตุนๆ ไว้สักบทหรือสองบท จากนั้นจึงส่งอีเมลเพื่อมาเปิดที่คอมพิวเตอร์สำหรับตรวจคำผิดหรือแก้ไข ตรงนี้ต้องมีคนช่วยคลิกคือป้าหรือแม่ สำหรับแพรวไม่เรียกว่าความไม่สะดวก มันสะดวกกว่าเมื่อก่อนที่เรานั่งพิมพ์กับคอมพิวเตอร์มาก เพราะแพรวค่อนข้างเหนื่อย ทุกวันนี้ขณะที่ใช้เครื่องช่วยหายใจแพรวก็นอนพิมพ์งานไปด้วย มันไม่เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ความไม่สะดวกเพียงอย่างเดียวคือปวดคอ นอกนั้นก็เพลินๆ แพรวไม่รู้หรอกว่าตัวเองใช้เวลาเขียนมากหรือน้อยกว่าคนอื่น แต่แพรวไม่ได้มีงานอื่นต้องทำ ดังนั้นจึงมีเวลาเต็มที่ในการเขียน

ใต้ฝุ่น พูดถึงประเทศอัฟกานิสถาน ความรัก และสงคราม เราได้แรงบันดาลใจอะไรถึงสนใจเรื่องราวเหล่านี้

เพราะเรื่องเหล่านี้คนไทยไม่ค่อยคุ้นจึงน่าสนใจ แพรวโตมาโดยใกล้ชิดกับคุณพ่อเลยได้รับอิทธิพล ทำให้ชอบดูหนังผู้ชายๆ เช่นหนังสงครามความขัดแย้ง และไพรัชนิยายก็เป็นแนวที่แพรวชอบอ่านมาก พอดีแพรวได้เจอรูปประเทศอัฟกานิสถานในอดีต ซึ่งตึกรามบ้านช่องไม่ต่างจากประเทศไทยในอดีต ผู้คนไม่ต้องสวมชุดปิดบังร่างกาย ไม่ต้องถือปืนตลอดเวลา ประเทศมีความเจริญในระดับหนึ่งเลย แพรวเกิดคำถามว่าอะไรที่ทำให้ประเทศนี้เปลี่ยนไปถึงขนาดนี้ เลยเริ่มค้นคว้าทีละนิด ตอนแรกไม่ได้คิดส่งประกวดหรือเสนอสำนักพิมพ์ใดๆ กะเขียนเก็บไว้เฉยๆ เพราะเรามีสิ่งที่อัดแน่นในตัวและถ้าไม่ได้ถ่ายทอดออกมาก็จะอึดอัดมาก บอกแม่ว่าเขียนเก็บไว้ให้ลูกหลานอ่านเฉยๆ แม่ก็เตือนตลอดว่าจะเขียนทำไม เขากลัวเราโดนว่า เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เวลาที่แพรวได้คุยกับคนอัฟกัน เขาเป็นมิตรและยินดีให้ความช่วยเหลือ เราจึงคิดว่ามันไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้นหรอก

ใช้เวลานานแค่ไหนในการรวบรวมข้อมูลและถ่ายทอดออกมาจนเสร็จเป็นนิยายที่สมบูรณ์

สองปีในการรวบรวมข้อมูล และหกเดือนในการเขียนค่ะ

แพรวมีวิธีค้นคว้าข้อมูลอย่างไรบ้าง

แพรวอ่านในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีส่วนช่วยในการเข้าถึงข้อมูลมากๆ ในยุคนี้ พอเราเริ่มจากจุดที่หนึ่งมันจะเชื่อมไปสู่จุดที่สอง สาม สี่ เรื่อย ๆ แล้วก็ได้อ่านสารคดีที่เป็น e-book เห็นเขาบรรยายสถานที่ วัฒนธรรม การกินอยู่ และแพรวยังพยายามติดต่อนักข่าวที่เขียนสารคดีด้วย เสียดายที่ติดต่อไม่ได้ นอกจากนั้นยังตามโซเชียลมีเดียของคนอัฟกัน เราทักไปพูดคุยกับเขา สอบถามเรื่องที่สงสัย ทุกคนเต็มใจช่วยและยังอวยพรให้เราโชคดี เปลี่ยนภาพที่มีต่อคนอัฟกันไปเลยค่ะ

พูดถึงที่มาของชื่อเรื่อง ใต้ฝุ่น และนามปากกาใหม่ “โกลาบ จัน” หน่อยค่ะ

“ใต้” หมายถึงข้างใต้ฝุ่นควันของสงคราม ตอนแรกใช้ชื่อเรื่องว่า “ฝุ่น” คำเดียว แต่ฟังดูห้วนไปนิด “ใต้ฝุ่น” ที่สะกดอย่างนี้ก็เป็นการเล่นคำนิดหนึ่งให้คนตั้งคำถาม คนอ่านอาจจะหยิบขึ้นมาเพราะสงสัยทำไมใช้ไม้ม้วนแทนไม้มลายอย่างนี้ ส่วนนามปากกา “โกลาบ” แปลว่ากุหลาบ เป็นภาษาดารีที่ใช้กันในอัฟกานิสถาน “จัน” เป็นคำเรียกคนรักหรือของรักเหมือนคำว่า dear ในภาษาอังกฤษ แพรวตั้งใจใช้นามปากกาให้สัมพันธ์กับนิยาย

ทำไมนางเอกต้องย้อนเวลา

การเขียนให้ย้อนเวลาเราอินกว่า เสมือนตัวเราและคนอ่านได้ย้อนไปกับนางเอก การใส่ความคิดสมัยใหม่ของนางเอกขัดกับความคิดสมัยก่อนของพระเอกก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันและน่าสนใจดี

แพรว-เพทาย จิรคงพิพัฒน์

การที่แพรวพูดถึงสงครามและความขัดแย้ง เพราะมีสิ่งที่อยากสะท้อนหรือสื่อสารถึงรึเปล่า

สิ่งที่แพรวคิดตลอดระหว่างเขียนหรืออ่านประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานคือ สงครามไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน มันกินระยะเวลายาวนาน ไม่ใช่แรมเดือนแต่เป็นแรมปี บางทีมันคือตลอดช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เด็กที่เกิดขึ้นมาก็ต้องใช้ชีวิตในวังวนของสงคราม แพรวรู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะเกลียดกันแค่ไหนก็อย่าฆ่ากันเลย เพราะคนที่เราฆ่าเขาก็มีครอบครัวที่รักเขา มันเจ็บปวดเกินไป

ความรู้สึกหลังได้รับรางวัลชนะเลิศ ARC Award รางวัลด้านวรรณกรรมแรกในชีวิต

แพรวส่งเข้าประกวดเพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง มีบางคนที่พอรู้ว่า “ภาพิมล” แต่ง เขาก็ไม่อ่าน อาจเคยอ่านแล้วไม่โดนใจ หรืออ่านงานเก่าๆ ของแพรวแล้วไม่ชอบ แพรวเลยอยากใช้นามปากกาใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก เราจะได้รู้เสียงตอบรับจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร และเราอยากลองเขียนงานที่เนื้อหาหนักขึ้นกว่าเดิม อยากให้อ่านได้ทั้งชายและหญิง จึงอยากลองเป็นคนอื่นเข้าประกวดดู พอได้รางวัลก็ดีใจ แต่ลึกๆ ยังกลัว เพราะเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเป็นคนอื่นจะเหมาะสมกว่าไหม แล้วพอต้องไปพูดตามที่ต่างๆ ก็กังวลไปหมด แต่พยายามจะทำให้ดี

การเข้าสู่โลกหนังสือนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของแพรวอย่างไร

หนังสือคือโลกของแพรว แพรวได้ไปในที่ต่างๆ ได้ลืมปัญหารอบตัวชั่วคราว เรื่องราวของตัวละครและพล็อตเรื่องต่างๆ ทำให้แพรวได้ขบคิด ยิ่งแพรวเรียนน้อย หนังสือจึงเปรียบเสมือนครูของแพรว บางครั้งรู้สึกว่าเรามีพัฒนาการทางอารมณ์จากการได้อ่านหนังสือ แพรวไม่ได้มีสังคมเพื่อนฝูง แต่ได้เรียนรู้นิสัยใจคอด้านดีและไม่ดีของคนผ่านตัวละครที่อ่าน

แพรวมักพูดเสมอว่า “การเขียนคือความกล้าหาญที่สุดในชีวิตของแพรว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เขียน ใต้ฝุ่น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้แพรวกล้าคุยกับคนอื่นมากขึ้น เพราะเราจำเป็นต้องสอบถามข้อมูล และเมื่อได้รับการตอบกลับอย่างเป็นมิตร แพรวจึงมั่นใจในการคุยกับคนอื่นมากขึ้น ทุกวันนี้แพรวชอบคุยกับคนแปลกหน้า คุยกับคนใหม่ๆ ลองผิดลองถูก แต่ยังถนัดการคุยผ่านแชทมากที่สุด

นอกจากนิยายรักและนิยายอิงประวัติศาสตร์ แพรวมีแนวไหนที่อยากจะเขียนในอนาคตอีก

แพรวอยากเขียนสารคดีชีวิตตัวเอง อันนี้คือความตั้งใจสูงสุด ถ้าเคยอ่านหนังสือเรื่อง Me Before You เขาจะมีสถานพยาบาลที่ไปเพื่อจบชีวิตตัวเอง แพรวอยากไปแล้วเขียนบันทึก เป็นบันทึกสุดท้าย แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นเราอยากเขียนงานที่เรามีความสุขด้วย ตั้งแต่แรกแพรวเขียนในสิ่งที่เราสนุก แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งเราคำนึงถึงทิศทางการตลาด เขียนโดยรู้ว่าผู้อ่านคาดหวังอะไร ทำให้ไฟในการทำงานมอดลง แพรวอยากจะกลับมาเขียนด้วยความรู้สึกเหมือนตอนเริ่มต้นอีกครั้ง

………………………………………………………………..

สามเล่มในดวงใจ “โกลาบ จัน”
•แฮรี่ พอตเตอร์ โดย “J. K. Rowling”
เป็นหนังสือเรื่องแรกที่ทำให้แพรวชอบอ่านหนังสือ หลังจากนั้นก็ไม่สามารถหยุดอ่านได้อีกเลย
•The Godfather โดย Mario Puzo
แพรวชอบนิยายแนวนี้ เป็นความใฝ่ฝันอยากเขียนนิยายโหดๆ แนว gangster สักครั้ง
•เจ้าชาย โดย “โสภาค สุวรรณ”
เรื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นให้แพรวสนใจประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ และกลายเป็นคนชอบไพรัชนิยาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่