ฉบับที่แล้วได้เขียนถึงสำนวนเปรียบผู้สูงวัยไปแล้วสองสำนวน ฉบับนี้ขอนำเสนออีกสองสำนวนคือแก่เกินแกงและเสือเฒ่าจำศีล
แก่เกินแกง
คำ “เกิน” ในที่นี้หมายถึงมากไปหรือไม่กำลังดี แก่เกินแกงจึงมีความหมายตามตัวอักษรว่าแก่มากไปจนไม่ควรนำมาทำอาหารโดยมุ่งไปที่สัตว์หรือพืชผัก เช่น ไก่ ฝักมะรุม ฯลฯ มะรุมเป็นผลของไม้ยืนต้น มีลักษณะเป็นฝักยาวประมาณ 40–50 เซนติเมตร ถ้าเป็นฝักอ่อนมีผิวเปลือกสีเขียวสด เนื้อและเมล็ดมีสีขาวอ่อนนุ่ม แต่ถ้าเป็นฝักแก่มากมีผิวเปลือกสีเขียวคล้ำอมน้ำตาล เนื้อและเมล็ดมีสีน้ำตาลแข็งกระด้าง คนนิยมนำฝักมะรุมมาทำแกงส้ม แต่ต้องเลือกฝักที่แก่กำลังดีไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจึงจะมีรสชาติอร่อยหอมหวาน
“แก่เกินแกง” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบผู้สูงวัยที่ด้อยคุณภาพในด้านความประพฤติหรือพฤติกรรม เช่นชาวบ้านพากันเบื่อระอาตาเปรื่องที่ชอบทำตัวเป็นนักเลงส่งเสียงดังท้าตีท้าต่อยไปทั่วเมื่อเมาได้ที่ แม้ลูกหลานจะพยายามห้ามปรามก็ไม่สนใจ วันหนึ่งบุญเพื่อนบ้านหนุ่มบ่นกับภรรยาเมื่อได้ยินเสียงแกเอะอะโวยวายว่า “ตาเปรื่องนี่แก่เกินแกงจริงๆ แต่คงไม่มีใครเปลี่ยนแกได้แล้วหละ ก็ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรม”
สำนวน “แก่เกินแกง” อาจใช้กับผู้ใหญ่ที่แม้ยังไม่สูงวัยนัก แต่ไม่ยอมรับหรือเข้าใจหรือพัฒนาความคิดให้สอดคล้องกับความเป็นไปแห่งยุคสมัย เช่นพิสมัยเตือนนุดีเพื่อนรักที่มีลูกสาววัยรุ่นว่าไม่ควรเข้มงวดกับลูกนัก บางครั้งก็ต้องรับฟังความเห็นของเด็กบ้าง แต่นุดียังคงโต้แย้งยืนหยัดแนวคิดในการเลี้ยงลูกตามแบบที่ตนเคยถูกพ่อแม่เลี้ยงดูมา ในที่สุดพิสมัยก็สิ้นความอดทนที่จะอธิบายต่อไปจึงพูดว่า “เธอนี่มันแก่เกินแกงจริงๆ พูดยังไงก็ไม่ยอมเข้าใจว่าทุกวันนี้โลกมันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว สงสารยายหนูที่มีแม่อย่างเธอจัง”
เสือเฒ่าจำศีล
เสือเป็นสัตว์ดุร้ายที่เลี้ยงลูกด้วยนมและกินเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น กวาง เก้ง ฯลฯ เป็นอาหาร จะออกหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ “เสือเฒ่า” หมายถึงเสือแก่ ซึ่งโดยวิถีธรรมชาติย่อมต้องมีประสบการณ์และอุบายในการล่าเหยื่อมาแล้วอย่างโชกโชน ส่วน “จำศีล” ในที่นี้หมายถึงการนอนนิ่งๆ ไม่แสดงอาการหรือไม่ส่งเสียง ดังนั้นแม้จะเป็นเสือแก่ที่จำศีลก็ไม่น่าไว้วางใจ
มีการนำ “เสือเฒ่าจำศีล” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบชายสูงวัยบางคน ซึ่งแม้จะมีบุคลิกภาพภายนอกไม่ว่ารูปลักษณ์ พฤติกรรม และคำพูดที่ดูเป็นคนสงบเสงี่ยมและใจดีมีศีลธรรมก็ตาม แต่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้อยู่ใกล้ซึ่งเข้าไม่ถึงเล่ห์เหลี่ยมที่ซ่อนเร้น จึงไม่ควรไว้วางใจเช่นกัน สำนวนนี้ใช้มาแต่โบราณ ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก ตอนพรานป่าเจตบุตร ซึ่งกษัตริย์เจตราษฎร์ทรงมอบหมายให้มีหน้าที่คอยตระเวนป่าอยู่ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต อันเป็นที่ประทับบำเพ็ญพรตของพระเวสสันดร พระนางมัทรี และสองกุมาร เพื่อไม่ให้ใครล่วงล้ำเข้าไปรบกวน เมื่อเจตบุตรได้ยินเสียงพร่ำรำพันถึงพระคุณของพระเวสสันดรที่ทรงบริจาคทานโดยไม่เลือกหน้าจึงตามหาต้นเสียง เห็นพราหมณ์เฒ่าขอทานนุ่งขาวห่มขาวผมมุ่นเป็นมวยไว้ท้ายทอยดังนักพรต (คือชูชก) นั่งอยู่บนค่าคบไม้ก็ขู่ตะคอกถามด้วยความโกรธว่า “…นี่มึงจะทำอะไรหรือ มึงนี่สุดแท้แต่ว่าใครเขายิ่งให้ก็จะไปฮือแห่โหมเอาให้สิ้น อ้ายเสือเฒ่าจำศีลใครเลยจะรู้เล่ห์ ทำเสแสร้งซนซอกดั่งว่านกยางกรอกซอกซึมเซา เท้าเที่ยวแหย่ย่องสับปลา…”
วันหนึ่งมีข่าวทางสถานีโทรทัศน์ว่าเด็กหญิงวัยแปดขวบถูกชายชราข้างบ้านหลอกให้เข้าไปเอาขนมถึงในห้องแล้วข่มขืน ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงก็จับกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์ ตอนหนึ่งป้าแช่มพูดขึ้นว่า “โธ่! ใครๆ ก็รู้ว่าตาเชิงแกเป็นเสือเฒ่าจำศีล ขม้ำเหยื่อมาแล้วไม่รู้ว่าเท่าไหร่ๆ เด็กมันยังไร้เดียงสา รู้ไม่เท่าทันตาแก่หรอก”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์