Highlight • เยาวชนไทยโตมาอย่างแห้งแล้งคำชม เขาไม่เคยได้รับการสะท้อนด้านบวกเลยว่า เขาทำอะไรแล้วดี ทำให้เด็กเติบโตมาอย่างไม่แน่ใจในคุณค่าของตัวเอง เมื่อไม่มีคุณค่าก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ • เด็กที่มีประสบการณ์เรียนได้บ้างไม่ได้บ้าง กลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี ในขณะที่เด็กเรียนดีเรียนได้มาตลอด เมื่อเจอความผิดหวังก็เสี่ยงต่อการปรับตัว หรือแม้แต่เด็กที่เรียนไม่ได้อยู่เสมอ ก็เสี่ยงต่อการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง • งานวิจัยพบว่าการถามเรื่องฆ่าตัวตาย ไม่ได้เพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย กลับกันเป็นการป้องกันเสียด้วยซ้ำ |
ไม่นานมานี้ เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลด และตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพจิตของเยาวชนในสังคมไทย เมื่อนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายรายตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งสาเหตุมาจากการเป็นโรคซึมเศร้า เหตุใดนักศึกษาที่กำลังอยู่ในวัยเบ่งบาน ศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม และกำลังมีอนาคตที่สดใสรออยู่ กลับตัดสินใจจบชีวิตตัวเองก่อนวัยอันควร
เนื่องจากเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจ และควรอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ เข้าใจปัญหาเยาวชนกับ ‘ภาวะซึมเศร้า’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ดังนี้ ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ, ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และดร.ลูซี่ ตันอติชาติ ผู้แทนสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มาพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของเยาวชน และวิธีช่วยเหลือผู้ที่อาจเผชิญโรคนี้อยู่
วิทยากรท่านแรกคือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ให้ความรู้ถึงคอนเซ็ปต์ของคำว่า ‘เศร้า’ คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และมีวิธีใดที่จะช่วยคลายความเศร้าได้บ้าง
“มีคำ 3 คำที่คงเคยได้ยินคือ เศร้า ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า ถ้าอกหักแล้วเศร้าถือว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เราต้องแยกความหมายของ 3 คำดังกล่าวนี้ออกจากกันนะคะ โดยทั่วไปแล้วคนทุกคนสามารถ’ ‘เศร้าได้เป็นปกติ เมื่อเศร้าแล้วเราจะมีช่วงบรรเทาจนสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่หากอารมณ์เศร้านั้นคงอยู่เป็นเวลานาน แล้วส่งผลเสีย เราจะเรียกว่าเป็น ‘ภาวะซึมเศร้า’ เมื่อภาวะซึมเศร้าดำเนินต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ต่อการทำงาน และต่ออารมณ์ในระยะยาว ตรงนี้จะเข้าสู่ขั้น ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งต้องส่งต่อไปที่คุณหมอณัทธร ให้จิตแพทย์เป็นผู้ดูแล”
“อารมณ์ซึมเศร้าเกิดจากอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราอกหัก เกิดการสูญเสีย เกิดความรู้สึกผิดหวังเสียใจขึ้น ทีนี้แต่ละคนมีระดับความเสียใจไม่เท่ากัน บางคนพร้อมจากกันสามวันมีใหม่ บางคนสามปียังวงเวียนกับความเศร้าเดิม ดังนั้นการมาคุยกันในวันนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากทำความเข้าใจให้ตรงกันก็คือว่า
“ความเศร้าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุแตกต่างกัน และแต่ละคนก็รับมือได้ต่างกัน เพราะฉะนั้นเหตุแห่งความเศร้าจะพัฒนาสู่ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ แต่ละคนแตกต่างกัน”
“ผู้ที่ได้ฟังอภิปรายในวันนี้ อยากให้ระลึกว่าคนแต่ละคนมีความเฉพาะตัว คนที่เราจะไปช่วยก็มีความเฉพาะตัวเช่นกัน กลับมาที่ภาวะซึมเศร้านั้นเกิดจากความรู้สึกทางอารมณ์ เช่น กลุ้มใจ หดหู่ วิตกกังวล ผิดหวัง ไร้ค่า มีกระทู้ในเว็บไซต์pantip ให้ภาพได้ชัดเจนว่า
“ความรู้สึกที่อยากจมอยู่บนเตียง ไม่อยากลุกขึ้นมา นี่คือภาวะซึมเศร้า ซึ่งมากกว่าอารมณ์เศร้าปกติที่ออกไปหาเพื่อนได้ บ่นให้เพื่อนฟังได้ เส้นแบ่งอยู่ตรงนี้”
อาจารย์ณัฐสุดา อธิบายเนื้อหาในสไลด์ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาของเด็กวัยรุ่น นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ตกอยู่ในภาวะเสียศูนย์ (ไม่เป็นตัวเองแบบที่เคยเป็น ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองดังที่เคยทำ) ภาวะเสียศูนย์ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนได้เกรด 3.5 เสียศูนย์แล้วเพราะหวังไว้ที่ 3.75 ในขณะที่บางคนเกรด 1.5 ยังสมดุล โดยที่คนรอบข้างไม่สมดุลแล้วก็มี
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เด็กวัยรุ่นเกิดการเสียศูนย์ จากการศึกษาพบว่าเด็กวัยรุ่นทั้งไทยและต่างประเทศมีตัวแปรไม่ต่างกัน ดังนี้
- การถูกประเมิน เช่น การถูกประเมินผลสอบ เมื่อผิดไปจากความคาดหวังก็มีโอกาสเสียศูนย์ได้สูง
- ปัญหาสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึงว่าเด็กวัยรุ่นมีความจำเป็นเรื่องเงินทอง แต่จริงๆ แล้วมีเด็กบางคนต้องหาค่าเทอมส่งเสียตัวเองในการเรียนหนังสือ ทำให้เขารู้สึกบีบคั้นและเสียศูนย์ได้
- 3. ปัญหาความรัก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ความรักในที่นี้ไม่จำเพาะแค่ความรักฉันหนุ่มสาว แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนได้หรือไม่นั้นสำคัญมาก
ถัดมาเป็นตัวกระตุ้นในแง่อารมณ์ความรู้สึก มีด้วยกัน 2 แบบ
1.ความรู้สึกผิด (guilt) ความรู้สึกผิดนี้จะเกิดกับบุคคลผู้เป็นคนสำคัญของเรา หากคนสำคัญของเรามีท่าทีผิดหวัง บางครั้งความรู้สึกผิดจะติดอยู่ในใจไปอีกนาน เกี่ยวพันกับตัวกระตุ้นจากการถูกประเมินที่กล่าวไว้ตอนต้น หากฉันไม่ใช่เด็กที่เรียนได้เกรดเอ ฉันจะผิดต่อพ่อแม่ ผิดต่ออาจารย์ไหม
2.ความรู้สึกสูญเสีย (loss) ความสูญเสียที่เกิดขึ้นฉับพลันอย่างไม่ทันตั้งตัว ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียศูนย์ได้มาก
คราวนี้เรามามองลึกเข้าไปข้างในอีกชั้นหนึ่งว่า เมื่อสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นกระทบชีวิตเราแล้ว อะไรที่เป็นตัวกำหนดว่าเราเสียใจกับเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด ทำไมบางคนได้เกรด 1.50 ยังชิลๆ บางคนเลิกกับแฟนคนที่ 5 ที่ 6 ก็ยังไม่เป็นไร แต่บางคนถึงหนักหน่วง ‘ตัวที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น’ คือ
1.การตีความสถานการณ์ ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เนื่องจากจุดรับรู้ของแต่ละคนแตกต่างกัน ฉะนั้นเราไม่สามารถนำประสบการณ์เดิมของเราตัดสินได้ว่า นี่คือสถานการณ์ที่เขาจะรับได้ รับไหว สิ่งที่ควรทำคือพยายามเข้าใจการตีความของเขา ซึ่งแต่ละคนตีความตามประสบการณ์ของตัวเอง
2.รูปแบบการคิด บางครั้งนอกจากประสบการณ์ในอดีต เขาอาจมีรูปแบบการคิดที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดผลเสียตามมา มีการศึกษารูปแบบการคิดของวัยรุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยเสียศูนย์ เขาจะประเมินเสมอว่า 1) สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ฉันไม่สามารถจัดการได้ ฉันควบคุมไม่ไหว ในความเป็นจริงมนุษย์มีความสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้เสมอ หากเมื่อไหร่เกิดความคิดว่าจัดการไม่ได้ ปัญหานั้นจะใหญ่กว่าที่เป็นมากขึ้น เช่น รถติด เราจัดการรถติดไม่ได้ แต่จริงๆ เราจัดการได้ด้วยการออกเดินทางเร็วขึ้น 2)การโทษคนอื่น โทษสิ่งอื่น เช่น เกรดไม่ดีก็โทษอาจารย์ออกข้อสอบไม่ดี อาจารย์ไม่ยุติธรรม ซึ่งไม่ได้ทำให้สถานการณ์ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น 3) มองโลกแง่ร้าย ทุกเหตุการณ์คิดว่าจะต้องเกิดผลลบตลอด เช่น เรื่องนี้ต้องทำฉันเจ็บปวดแน่ๆ
การตีความสถานการณ์และรูปแบบการคิดเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน การจะเห็นถึงทัศนคติที่อยู่ข้างในใจของแต่ละคนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อที่ 3. การแสดงออกภายนอก ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เป็นจุดที่ทำให้คนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นได้ โดยพฤติกรรมที่แสดงออกมาในช่วงเสียศูนย์ ได้แก่ แยกตัวออกจากสังคมอย่างเห็นได้ชัด อยู่ลำพัง ไม่อยากพบใคร ถ้าเป็นวัยเรียนก็หมดความสนใจในการเรียน และสุดท้ายมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ถ้ามีพฤติกรรมตามนี้แสดงว่าคนๆ นี้เริ่มเสียศูนย์แล้ว
นอกจากความเข้าใจถึงสภาวะซึมเศร้า ‘เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญความเศร้าได้บ้าง’ การซัพพอร์ตที่เขาต้องการมีด้วยกัน 2 ด้าน คือ Cognitive support ต้องการคนมาช่วยคิด สิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวนั้นต้องการคนที่มาแชร์มาคิดร่วมกัน และ Emotional support ต้องการการค้ำจุนทางจิตใจ ผู้ที่อยู่ในสภาวะซึมเศร้าต้องการการซัพพอร์ตทั้งสองด้านรวมกัน บางครั้งการช่วยเหลือของคนใกล้ชิดเป็นการพุ่งเป้าเกินไป เช่น ถ้าสอบตกเพราะไม่เข้าเรียน ฉะนั้นเข้าเรียนเดี๋ยวนี้ นั่นไม่ได้ซัพพอร์ตเขา แต่เป็นการซัพพอร์ตตัวเราเองว่าได้ช่วยเขาแก้ปัญหาแล้ว
ถัดมาคือปัจจัยที่อาจารย์ณัฐสุดาอยากเน้นที่สุด เพราะเหล่านี้คือปัจจัยที่อยู่รอบๆ และส่งอิทธิพลเป็นอย่างมาก หากเป็นไปในทิศทางที่ดีก็จะเกิดผลดีอย่างสุดๆ ถ้าไปในทางเลวร้ายก็เกิดผลร้ายแบบลงเหวเลย ปัจจัยรอบตัวนี้เรียกว่า Environmental factor สำหรับวัยรุ่นมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ ครอบครัว เพื่อน และอาจารย์ คนสามกลุ่มนี้คือคนสำคัญ และเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกผิด (guilt) และความรู้สึกสูญเสีย (loss) ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ งานวิจัยกล่าวว่า หากกลุ่มนี้คือคนที่เขาสามารถสื่อสารได้ เขาได้รับการยอมรับ จะทำให้เขาพร้อมเข้าหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ในทางกลับกัน หากเขาได้รับท่าทีที่เป็นลบจากคนกลุ่มนี้ ยิ่งกระตุ้นให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น
ในส่วนสุดท้าย เมื่อรับรู้ เข้าใจ ช่วยแบ่งเบาแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนที่เศร้าได้หลุดพ้น ออกจากความทุกข์นั้นได้ ‘วิธีการช่วยให้คนออกจากความทุกข์’ 1.มีวิธีจัดการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ทว่า ‘เหมาะสม’ สามารถตีความได้หลากหลายเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น เชื่อว่าหากทำสิ่งนี้ต่อไปอย่างไม่หยุด วันหนึ่งมันจะดีขึ้น ปรากฏว่ายิ่งเพิ่มความเครียดจนปัญหาเรื้อรังใหญ่โต เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีคือ ฝึกให้มีการจัดการแก้ปัญหาที่หลากหลาย เช่น รู้จักพึ่งพิง รู้จักจัดการอารมณ์ รู้จักหยุดเพื่อวางแผนใหม่ ส่งผลให้มีทางออกเพิ่มขึ้น 2.เรียนรู้จากความบอบช้ำ คนทุกคนเคยเศร้า คนทุกคนมีควาทุกข์ แต่เมื่อเรากัดฟันผ่านพ้นมันไป แล้วมองย้อนกลับมา เราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเหตุการณ์นั้น ฉะนั้นเมื่อเราอยู่ในภาวะที่อาจรู้สึกเศร้า อยากให้เราตีความเหตุการณ์ใหม่แล้วมองว่า สิ่งที่กำลังเจอสุดท้ายมันจะผ่านพ้นไป หากผ่านไปได้ฉันจะเข้มแข็งขึ้น เป็นคนใหม่ เมื่อเราเห็นโอกาสการพัฒนาตนจากปัญหา เราจะมีแรงสู้เพื่อก้าวข้ามมันไป
วิทยากรท่านที่สอง ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาการศึกษา พูดถึงสถานการณ์และปัญหาของวัยเรียน พร้อมบทบาทของครูอาจารย์จะช่วยป้องกันอย่างไรได้บ้าง
อาจารย์ปิยวรรณเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสภาวะการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสรุปจากงานวิจัยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
- ยิ่งชั้นปีสูง ยิ่งมีความเสี่ยงซึมเศร้ามาก
- จากการสำรวจในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพบว่า มีนักศึกษาร้อยละ 4 ที่พยายามจะฆ่าตัวตาย
- เมื่อนักศึกษามีปัญหา ‘เพื่อน’ คือบุคคลแรกที่เข้าไปขอความช่วยเหลือ
- สถานที่ที่เกิดเหตุฆ่าตัวตายมักเป็นสถานที่ที่นักศึกษาคุ้นเคย เช่น บ้าน หอพัก
- สาเหตุของการฆ่าตัวตาย อันดับ1 ทะเลาะกับคนใกล้ชิด อันดับ2 เรื่องการเรียน อันดับ3 เรื่องความรัก
ปัจจัยบวก หรือปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้า ยิ่งมีมากก็มีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าได้สูง 1.ปัญหาสุขภาพการมีโรคประจำตัว 2.ความวิตกกังวล ความเครียด 3.ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น ไม่ว่าจะพ่อแม่ เพื่อน หรือแม้แต่การขาดเพื่อนที่สามารถพูดคุยเรื่องต่างๆ ได้ 4.การคิดลบต่อตนเอง หมกมุ่น หรือประสบเหตุการณ์เชิงลบ และ 5.บุคลิกภาพของพ่อแม่
ปัจจัยลบ ยิ่งมีมาก โอกาสเกิดภาวะซึมเศร้ายิ่งน้อย ได้แก่ 1.มีรายได้ที่เพียงพอ 2.มีความสามารถในการฟื้นพลัง เมื่อประสบเหตุสะเทือนใจ สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เร็ว 3.อยู่ในบรรยากาศครอบครัวที่อบอุ่น 4.เห็นคุณค่าของตัวเอง
กิจของนักเรียนนักศึกษา มากกว่าร้อยละ 50 คือการเรียน การใช้ชีวิตในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ดังนั้น ครู อาจารย์ จึงเป็นอีกกลุ่มบุคคลที่สัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อนักศึกษา ในบทบาทของอาจารย์ผู้สอนจะช่วยเหลือนักศึกษาที่มีสภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร
ในห้องเรียนหนึ่ง ก่อนจะเริ่มเข้าเรียนนักศึกษาแต่ละคนต่างมาด้วยอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางคนเข้ามาด้วยอารมณ์สดชื่นแจ่มใส บางคนเฉยๆ แต่บางคนแบกอารมณ์เครียด เศร้าหมองเข้ามาด้วย ชั้นเรียนหนึ่งย่อมเต็มไปด้วยความหลากหลายของอารมณ์ รวมไปถึง ‘รูปแบบการคิด’ เช่น สอบตก บางคนอาจคิดว่าสอบตกเพราะเราเอง บางคนสอบตกเพราะดวงตก บางคนสอบตกเพราะอาจารย์ นานาเหตุผล รูปแบบการคิดที่แตกต่างก็มาจากทัศนคติ ทุนชีวิต ภูมิต้านทานในชีวิต หรือแม้แต่บุคลิกภาพ ทำให้นักศึกษาแต่ละคนก็มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าต่างกันไป
บรรยากาศในห้องเรียนเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘เพื่อน-เพื่อน’ และ ‘อาจารย์-นักศึกษา’ ถ้าชั้นเรียนนั้นเพื่อนทะเลาะกัน หรือวิธีสอนของอาจารย์สร้างความอึดอัด ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในชั้นเรียน และส่งผลต่ออารมณ์ในขณะที่เรียน เรียกว่า Academic emotion เด็กบางคนอาจเกิดอารมณ์บวก ทำให้อยากเรียนรู้ อยากเข้าเรียน เด็กบางคนเกิดอารมณ์ลบ นำไปสู่พฤติกรรมที่แตกต่าง ไม่อยากเข้าเรียน หนีเรียน เมื่อเกิดอารมณ์ลบแล้ว ก็มีการจัดการปัญหาสองแบบ ‘กลุ่มแรกพยายามยิ่งขึ้นเพื่อเอาชนะ’ เขาก็อาจแก้ไขปัญหาที่เกิดด้วยตัวเอง ‘อีกกลุ่มไม่สามารถจัดการอารมณ์แง่ลบ’ เมื่อทิ้งไว้ให้เรื้อรังสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ปิยวรรณอยากชวนให้คิด แต่ละคน ‘มีระดับการรับความสูญเสียได้แตกต่างกัน’ เด็กบางคนสอบตกบ่อยๆ ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กบางคนแม้ไม่ตกแต่คะแนนน้อยลง ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา
“ฉะนั้น สิ่งที่เสี่ยงสำหรับเด็กที่เรียนเก่งแล้วและทำได้ดีมาตลอดคือ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่เป็นตามที่เขาคาดคิด เช่น หวังไว้ที่ 30 เต็ม 30 แล้วไม่ได้ ได้ 29 หรือ 28 ถ้าเทียบกับเด็กทั่วไปคือคะแนนที่เยอะมาก แต่สำหรับเขาคือคะแนนที่น้อย ประสบการณ์ที่ได้ในชั้นเรียนเหล่านี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่เขาเมื่อออกไปโลกภายนอกแล้วต้องเผชิญกับปัญหา
“เด็กที่มีประสบการณ์เรียนได้บ้างไม่ได้บ้าง กลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี ในขณะที่เด็กเรียนดีเรียนได้มาตลอด เมื่อเจอความผิดหวังก็เสี่ยงต่อการปรับตัว หรือแม้แต่เด็กที่เรียนไม่ได้อยู่เสมอ ก็เสี่ยงต่อการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
“อยากจะฝากถึงครูผู้สอนว่า เด็กที่เรียนเก่งๆ ต้องให้เขาได้ลองประสบการณ์ล้มเหลวหรือทำไม่ได้บ้าง กลับกัน เด็กที่เรียนไม่เก่งก็ต้องให้เขาประสบความสำเร็จบ้าง การสอนก็เหมือนการรักษา ผู้ป่วยเข้ามาด้วยอาการต่างๆ กัน คุณหมอย่อมรักษาไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน ตรงนี้ไม่ได้หมายความแค่การเรียนรู้ แต่รวมถึงภูมิต้านทางของจิตใจ คำบางคำอาจสร้างความเจ็บปวดมากให้แก่คนบางคน ฉะนั้นจำเป็นต้องหาวิธี ทำอย่างไรให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้บนความแตกต่างหลากหลาย”
วิทยากรท่านที่สาม จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น คุณหมอณัทธรมาอธิบายให้เห็นภาพถึงการรักษา หากพบว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างไร
คุณหมอณัทธรเริ่มต้นอภิปรายว่า ในมุมมองของแพทย์มองภาวะซึมเศร้าอย่างไร ตามที่อาจารย์ณัฐสุดากล่าวไว้ว่าความเศร้ามีหลายระดับ เรามองความเศร้าเป็น ‘สเปกตรัม’ มีตั้งแต่เศร้าน้อย ตามธรรมดาของชีวิตมนุษย์ ไม่ต้องรักษา จนเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จุดที่กำหนดว่าความเศร้าระดับใดเป็นปัญหา ในทางจิตเวชศาสตร์ใช้คำว่า Functional impairment ภาวะที่สูญเสียความสามารถในการทำงาน การใช้ชีวิตเริ่มแปรปรวน เช่น รู้สึกไม่สนุกกับอะไรเลย ความเศร้าปกติจะมีช่วงที่สนุกขึ้นมาได้เมื่อพบเจอเรื่องดีๆ แต่เมื่อเป็นโรคซึมเศร้า เราจะเรียนว่า ‘ภาวะสิ้นยินดี’ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ไม่สามารถรู้สึกสนุกขึ้นมาได้ พร้อมกับมีอาการอื่นๆ ด้วย เช่น กินไม่ได้ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ บางคนก็ตรงข้ามคือนอนเยอะเกินไป กินเยอะเกินไป ไม่มีแรงจะทำอะไรทั้งนั้น
เส้นแบ่งแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ เส้นแบ่งคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงเบลอๆ ไม่ได้ชัดเป๊ะ และบางครั้งจุดตัดก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เกณฑ์การวินิจฉัยของแพทย์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกได้ชัดตายตัว
ขั้นตอนการรักษา ในกลุ่มของเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า ถึงจะมีอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้าบ้างแต่ไม่รุนแรง ส่วนมากจะให้เฝ้าสังเกตอาการไปก่อนอย่างใจเย็น ไม่จำเป็นต้องถามอาการทุกวัน แค่เป็นกำลังใจให้เขา ชวนเขาออกไปทำกิจกรรม ก็ช่วยได้มากในส่วนหนึ่ง เพราะมนุษย์มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
ถ้าหากมีอาการเยอะพอสมควร และ ‘เป็นต่อเนื่อง’ ตรงนี้ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว หมอจะให้การรักษาเริ่มจากเบาไปหนัก มีตั้งแต่การพูดคุย คล้ายๆ จิตบำบัด มีทั้งคุยสั้นๆ หรือต่อเนื่อง สิ่งที่จิตแพทย์คุยกับวัยรุ่นที่มาเข้ารับการรักษานั้น
1.สร้างความเข้าใจต่อสิ่งที่เขาเป็น คุยถึงทัศนคติที่เขามีต่อโรคซึมเศร้า อธิบายว่ามันคือปัญหาสุขภาพจิต เหมือนเรามีร่างกายก็มีปัญหาสุขภาพกาย ทำนองเดียวกันจิตใจเราก็ไม่สบายได้เช่นกัน ทัศนคติอีกเรื่องซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ก่อนเริ่มการรักษาเขาต้องยอมรับก่อนว่ามันคือโรค อาจจะโชคไม่ดีที่เป็น แต่ก็โชคดีเพราะมีวิธีรักษา เมื่อไหร่ก็ตามที่มองว่าซึมเศร้าคือความอ่อนแอ ยิ่งเป็นการตำหนิตัวเองแล้วทำให้ทรุดลงไปใหญ่ ไม่สบายไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้ามีวิธีรักษาหลากหลาย และรักษาหายเป็นส่วนใหญ่ ในหมู่จิตแพทย์มีคำพูดกันเล่นๆ ว่า ซึมเศร้าก็เหมือนหวัด คนเราจำนวน 1 ใน 5 ต้องซึมเศร้าสักครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต เช่นเดียวกับการเป็นหวัด
2.ทำความรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ชวนให้เขาติดตามอารมณ์ ซึ่งมีภาวะขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวแย่ แต่แล้วก็มีช่วงดี สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เมื่อผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหายจากโรคแล้ว ต่อจากนั้นใช่ว่าชีวิตจะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์อีกเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นความคาดหวังต่อการรักษาคือ นำไปจัดการอารมณ์ตัวเองได้ ตอนนี้อาจจะรู้สึกแย่ แต่เดี๋ยวก็ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าหมดไป แต่เราจะรับมือกับมันได้
3.จัดการชีวิตประจำวัน ในรายที่มีอาการมากพอสมควรก็มีให้ยารักษาด้วย นอกจากยาคือการทำให้น้องนักเรียนนักศึกษากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมให้ได้เร็วที่สุด แน่นอนว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะไม่อยากทำอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆ เพราะว่าหมดพลัง และเขาคิดว่าต้องหายเศร้าก่อนถึงจะกลับไปใช้ชีวิตได้ ทว่าหากรอให้หายก็รังแต่จะจมดิ่งลงไปอีก สิ่งที่หมอจะทำคือให้เขาคิดใหม่ ลุกขึ้นสู้แล้วออกไป ถ้ากลับไปเรียนไหว กลับไปเรียน กลับไปทำงาน หรือถ้ายังออกไปข้างนอกไม่ได้ก็ทำงานในบ้านก่อน รื้อข้าวของออกมาจัด เดินรอบบ้าน ออกกำลังกาย พยายามทำให้สม่ำเสมอ เป็นวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ แล้วลองคิดดูว่ามีใครที่ช่วยซัพพอร์ตได้บ้าง มีใครที่เป็นผู้รับฟังปัญหาให้ได้ไหม
4.ปรับวิธีคิด ในจิตบำบัดจะมีเรื่องปรับวิธีคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหมอณัทธรทำเป็นประจำ คุณหมอพบว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีวิธีมองโลกในแง่ลบ เมื่ออยู่ในช่วงเศร้าเขาจะมองว่าตัวเองไม่ดีด้วยนานาเหตุผล โลกนี้ย่ำแย่ โลกนี้เลวร้าย แต่ถ้าเขาอยู่ในภาวะปกติก็จะไม่เป็น เทคนิคที่ใช้ปรับความคิดคือการตั้งคำถาม เช่น โลกนี้มันแย่จริงไหม เราไม่มีคุณค่าขนาดนั้นไหม หรือจริงๆ เรามีอะไรดีกว่าที่เราคิดและมองตัวเอง พอปรับวิธีการมองโลกแล้วก็ทำให้อารมณ์ความรู้สึกดีขึ้นได้
5.เตรียม safety plan เมื่อมีภาวะซึมเศร้าก็จะเกิดความคิดอยากทำร้ายตัวเอง เราช่วยเขาได้ด้วยการเตรียมแผนป้องกัน หมอจะช่วยคิดว่ามีอะไรบ้างที่ควรทำ และอะไรไม่ควรทำ เช่น ถ้าไปอยู่สถานที่นี้ หรือเปิดเฟซบุ๊กกลุ่มนี้จะเสี่ยงให้อยากทำร้ายตัวเอง ถ้าดูหนังแนวนี้จะทำให้อารมณ์ดิ่งลง ก็ไม่ควรทำ ส่วนสิ่งที่ควรทำ ถ้าเกิดความรู้สึกแย่ให้ทำสิ่งนี้ๆ หรือถ้านึกไม่ออกจริงๆ ให้มาที่ห้องฉุกเฉินเลย ที่นั่นจะมีคนช่วยเขาได้แน่นอน การเตรียม safety plan ควรทำก่อนแสดงอาการ เพราะถ้าไปคิดตอนมีอาการแล้วมันจะสายเกินไป ตอนนั้นอารมณ์จะดิ่งจนคิดอะไรไม่ออก คนใกล้ชิดหรือครอบครัวคนไข้ก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยจะยิ่งดี
6.ค้นหาเหตุผลของการมีชีวิต ขั้นตอนนี้สำหรับผู้ที่มีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายคือคนที่หมดหวังในชีวิต รู้สึกทนไม่ได้ ชีวิตนั้นเจ็บปวดเกิดรับไหว มองไม่เห็นอนาคตอีกต่อไป ทว่าชีวิตไม่ได้มีแต่ด้านร้ายเท่านั้น ย่อมมีสิ่งที่ดีเพียงแต่ตอนที่เศร้าเขามักคิดไม่ออก แต่ถ้าคิดออกจะช่วยดึงเขาไว้ได้ทัน ผู้ที่รอดจากความตายมักบอกว่าเหตุผลที่เปลี่ยนใจไม่อยากทำร้ายตัวเองแล้ว เพราะนึกถึงพ่อแม่ นึกถึงดารา หรือคนที่เป็นกำลังใจให้ คุณหมอณัทธรเล่าถึงเคสที่รักษาว่า ผู้ป่วยนึกถึงเฌอปราง นักร้องวง BNK48 หลังจากที่ได้จับมือก็ไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะเจอสิ่งที่เป็นความหวังของชีวิตแล้ว ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นความหมายของชีวิต ต้องพยายามคิดให้ออก
“สิ่งที่ผมหนักใจและเป็นห่วงเด็กยุคนี้อยู่เหมือนกัน บางครั้งผมถามว่าอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตคุณ มีอะไรที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่บ้าง คำตอบที่ได้คือ ไม่รู้เหมือนกัน เพราะชีวิตไม่มีอะไรเลย นอกจากเรียนหนังสือ สอบให้ได้คะแนนดีๆ ก็นึกไม่ออกว่ามีอะไรอย่างอื่นที่ทำให้มีความสุข กลายเป็นว่าชีวิตว่างเปล่า ถือเป็นประเด็นสังคมเลยนะ จะทำยังไงให้เด็กยุคใหม่มีสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิตมากกว่านี้ ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ”
หกข้อที่กล่าวข้างต้นสำหรับกลุ่มที่พูดคุยให้คำแนะนำต่างๆ ได้ ถ้ารุนแรงกว่านี้ก็จะมีการให้ยา นอนรักษาที่โรงพยาบาล ปัจจุบันมีการรักษาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือใช้วิธีช็อตไฟฟ้า สำหรับกรณีที่เป็นหนัก ล่าสุดเพิ่งรับรองที่อเมริกาคือการใช้ยาเคตามีนพ่นใส่จมูก อีกไม่นานคงนำมาใช้ในประเทศไทย ในอนาคตย่อมมีหนทางรักษาเพิ่มมากขึ้น เป็นความหวังของคนที่มีภาวะซึมเศร้า
“ปัญหาชีวิตของคุณ หมออยากช่วย แต่หมอก็ไม่รู้จะช่วยยังไงได้หมด เพราะหมอไม่ได้รู้เรื่องของคุณทั้งหมด ดังนั้นเรามาช่วยกันดีไหม ทำงานเป็นทีมร่วมกัน นี่คือสิ่งที่ผมทำแล้วอยากมาแชร์”
วิทยากรท่านที่สี่ คุณหมอดุษฎี จิตแพทย์หญิงจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พูดถึงบริการของหน่วยงานต่างๆ ในการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า รวมถึงการป้องกันที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้
วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าอาจจะแสดงอาการต่างจากผู้ใหญ่ แทนที่จะเป็นอารมณ์เศร้าแต่เป็นอารมณ์ ‘หงุดหงิด’ บางครั้งเศร้า บางครั้งโกรธ และแสดงออกมาเป็น ‘ปัญหาพฤติกรรม’ เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสรุปถึงปัญหาเยาวชนในปัจจุบัน แบ่งเป็นหัวข้อคือ ‘เสพ เซ็กซ์ ซ่า’ เสพ คือปัญหายาเสพติด เซ็กซ์ คือปัญหาทางเพศหรือท้องในวัยรุ่น และซ่า คือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง การก่ออาชญากรรมของเยาวชน
โดยปัญหาพฤติกรรม ‘เสพ เซ็กซ์ ซ่า’ เกิดมาจาก ‘เครียด เศร้า สั้น’ เครียด คือความวิตกกังวล เครียดกับซึมเศร้าเป็นความสัมพันธ์ที่มักพบด้วยกัน อาการที่แสดงออกอาจจะแยกกันยากหน่อย หลักๆ เครียดคือความกลัว ส่วนเศร้าคืออารมณ์เศร้า สั้น คือสมาธิสั้น คุณหมอดุษฎียังเพิ่มเติมว่าควรรวมสปอยล์ คือการเลี้ยงดูอย่างตามใจและไร้ระเบียบวินัยเข้าไปด้วย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครคือคนที่ประสบปัญหาและต้องได้รับความช่วยเหลือ ประเทศไทยมีเครื่องมือคัดกรอง 2Q กับ 9Q 2Qคือเครื่องมือแรก มีสองคำถามคือ ช่วงนี้ดูเศร้าๆ ไม่มีความสุขหรือไม่ และรู้สึกไม่อยากทำสิ่งที่เคยทำหรือไม่ ถ้าในสองข้อตอบว่า ใช่ ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ต้องไปประเมินต่อด้วยคำถาม 9Q ถ้ามีอาการ 5 ใน 9 ก็ต้องเข้ารับการรักษา
ทำไมประเทศไทยต้องทำระบบคัดกรองขึ้นมา เพราะ ‘ซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีภาระสูงสุด’ ระบบสุขภาพวัดว่าโรคใดมีปัญหามากน้อยกว่ากันวัดจาก ‘ภาระโรค’ ซึ่งภาระโรคคือจำนวนปีที่ตายก่อนวัยอันควร บวกจำนวนปีที่อยู่โดยสูญเสียสุขภาวะ เราคาดว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยควรอยู่ถึง 80 ปี ถ้าตายหลังจาก 80 ปี แสดงว่าระบบดูแลสุขภาพยอดเยี่ยม แต่ถ้าตายก่อน 80 ปี คือการตายก่อนวัยอันควร ในกลุ่มโรคจิตเวช ซึมเศร้าคือโรคที่ทำให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรมากเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับต้นๆ มาโดยตลอด
ในระบบโรงเรียนมัธยมศึกษา มีเครื่องมือในการประเมินเด็กและเยาวชน (SDQ) ชื่อเต็มคือแบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน แบบประเมินนี้จะสะท้อนภาวะอารมณ์ออกมาด้วย ถ้าพบว่ามีปัญหาก็จะต้องส่งมารับการดูแล ตามที่กล่าวไว้ ปัญหาทางอารมณ์ของวัยรุ่นบางครั้งไม่ได้แสดงออกที่อารมณ์เศร้า แต่ออกมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวเกเร ที่เรียกว่า เสพ เซ็กซ์ ซ่า ครูหรือผู้ปกครองมักคิดว่าเด็กเกเร หรือเด็กที่พ่อแม่ตามใจจนเสียคน คือเด็กนิสัยไม่ดี หรือบางครั้งโทษถึงปัจจัยอื่น เช่น คบเพื่อนไม่ดี ครอบครัวสอนไม่ดี ทั้งนี้กลับไม่ได้มองลึกลงไปว่า ที่เขาสร้างความทุกข์ให้คนอื่น เพราะข้างในเขาไม่มีความสุขอยู่รึเปล่า
“คนที่มีความสุข จะไม่สร้างความทุกข์ให้คนอื่น ถ้าเมื่อไหร่เด็กเริ่มสร้างความทุกข์ให้ตัวเองหรือคนอื่น แปลว่าข้างในเขาไม่มีความสุข ถ้าผู้ใหญ่อย่างเรามองไม่ออก แล้วไม่นำเด็กเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ เด็กจะลอยละล่องเข้าสู่ระบบ เสพ เซ็กซ์ ซ่า”
แต่ในระบบมหาวิทยาลัย ยังไม่มีหน่วยงานส่วนกลางของภาครัฐเข้าไปทำระบบทดสอบ ประเมินอารมณ์ มีก็เพียงแต่ละมหาวิทยาลัยพัฒนาระบบของตัวเอง แต่เชื่อว่าจากเหตุการณ์การสูญเสียที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง
จากข่าวการฆ่าตัวตายของนักศึกษา ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการ copycat (ลอกเลียนแบบ) ข่าวการฆ่าตัวตายยิ่งอธิบายรายละเอียดมากเท่าไหร่ เราจะพบปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมคือ อัตราฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น ถ้าการนำเสนอข่าว ‘เน้น’ เสนอวิธีแก้ปัญหาหรือดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เราพบว่า ‘อัตราการฆ่าตัวตายลดลงด้วย’ นี่คือความสำคัญมากของสื่อมวลชน
การป้องกันการฆ่าตัวตาย คุณหมอดุษฎีให้ไว้ 4 หลักการ
1.สร้างทักษะชีวิต มองเหตุการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง จัดการอารมณ์บวกและลบได้อย่างเหมาะสม เช่น สอบตก เด็กก็สามารถเข้าใจว่าสอบได้เป็นเรื่องตลกสอบตกเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้ชอบ แต่ปรับตัวยอมรับได้
2.ไม่ผลิตข่าวซ้ำ
3.จำกัดวิธี บางประเทศจัดคนเฝ้าสะพานที่มีคนโดดบ่อยๆ หรือยกเลิกการเข้าถึงสารบางอย่าง
4.สร้างระบบเฝ้าระวัง กรมสุขภาพจิตแนะนำให้ใช้หลัก 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง สอดส่องมองหาคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ใส่ใจรับฟังเวลาเขาปรับทุกข์ การปฐมพยาบาลทางจิตเบื้องต้นคือการรับฟังอย่างเข้าใจก็พอ บางครั้งเขาอาจพูดวนเวียนเรื่องเดิม ไม่อาจเอาออกจากความคิด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แนะนำให้ส่งต่อเชื่อมโยงให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อ
วิทยากรท่านสุดท้าย คุณลูซี่จากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เป็นอีกช่องทางที่ช่วยเหลือผู้มีความเครียด ความเศร้า ความทุกข์ใจได้
สมาคมสะมาริตันส์ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ 66 ปีที่แล้ว วัตถุประสงค์คือช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ใจ โดยใช้วิธีรับฟังทางโทรศัพท์ (Listening therapy) เป็นเพื่อนแก้เหงาให้ผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวังได้ระบายความทุกข์ออกมาโดยไม่ด่วนตัดสิน ผู้ที่ให้บริการคืออาสาสมัครจากทุกวิชาชีพซึ่งผ่านการอบรมแล้ว ปัจจุบันเพิ่มช่องทางการติดต่อคือเฟซบุ๊ก
ขั้นตอนการให้บริการ 1.ผู้โทรจะได้พูดถึงความไม่สบายใจต่างๆ โดยไม่เร่งเร้า 2.สะท้อนสถานการณ์ที่ผู้โทรกำลังเผชิญ 3.ถามถึงทางออกที่ผู้โทรคิดว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หากเขาคิดไม่ออก เราจะช่วยกันคิด แต่ไม่ให้คำแนะนำ เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถหาทางออกของตัวเองได้ เพียงแต่บางครั้งอาจคิดไม่ถึงต้องให้บุคคลที่สามช่วย 4.ถามถึงความคิดที่จะจบชีวิต วิธีการและช่วงเวลา 5.ให้กำลังใจ 6.ถามผู้โทรว่าจะทำอย่างไรหลังจบการสนทนานี้ หลังจากนั้นก็ชวนให้เขาโทรกลับมาใหม่เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจอีก
ในกรณีที่ผู้โทรเข้ามามีความเสี่ยงสูงที่จะจบชีวิต อาสาสมัครจะขออนุญาตไปพบผู้โทร โดยผ่านการอนุมัติของผู้อำนวยการ แต่ถ้าผู้โทรไม่ต้องการให้พบ ก็จะเคารพสิทธิ์ของเขา แล้วพยายามชวนคุยต่อไปเพื่อให้เขาผ่านพ้นวิกฤติช่วงนั้น
ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่าน ได้สร้างความเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าคืออะไร แล้วในเยาวชนภาวะซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด รวมทั้งวิธีการรักษา และหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือเราได้ ลำดับถัดมาผู้เชี่ยวชาญทุกท่านกล่าวสรุปในประเด็นสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำอีกครั้ง และเสริมข้อสงสัยที่ว่า คนรอบข้างจะปฏิบัติตัวอย่างไรโดยไม่ไปกระตุ้นให้อาการผู้ป่วยทรุด อีกทั้งมีสัญญาณเตือนอะไรให้คนรอบข้างสังเกตได้บ้าง
อาจารย์ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต:
“อาจารย์ณัทธรกล่าวว่าภาวะซึมเศร้าเสมือนเป็น common cold เรารู้ว่าเป็นไข้เมื่ออุณหภูมิสูงตั้งแต่ 37.8 องศาขึ้นไป ส่วนความเศร้าเราก็อยากรู้ว่าเมื่อไหร่จะข้ามเส้นสู่ภาวะซึมเศร้า ทีนี้สำคัญกว่าการรู้เส้นแบ่ง คือรู้ว่าทำอะไรแล้วจะเป็นไข้ เราควรรู้ว่าอะไรที่เป็นอารมณ์ต้นเหตุ ต้นธารมันอยู่ตรงไหน คำอธิบายทางจิตวิทยามีมากมาย ทั้งสาเหตุจากพฤติกรรมและทางสมอง แต่ส่วนตัวอาจารย์เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญคือ การจัดการอารมณ์ บางครั้งเรามีปัญหา เราชินกับการเก็บมันไว้กดมันไว้ ไม่ยอมรับและจัดการปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ลักษณะเดียวกับการใส่เสื้อยืดสายเดี่ยวนอนเปิดแอร์ 20 องศาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นขั้นแรกของการจัดการอารมณ์ คือเรียนรู้ว่าถ้ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นที่สร้างความไม่สบายใจ เราควรรับมืออย่างเหมาะสม มากกว่าเก็บหรือกดไว้ จนท้ายสุดไข้ขึ้นแล้วต้องหามืออาชีพมาช่วยรักษา
ไม่ว่าอารมณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา เราคือเจ้าของอารมณ์นั้น แต่คนเราคุ้นชินกับการโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น อันดับแรกเมื่อเราเป็นเจ้าของอารมณ์ เราก็ต้องจัดการกับอารมณ์ของเราเอง ยอมรับมันก่อน ไม่ว่าจะอารมณ์บวกหรือลบมันไม่จางหายไปถ้าเราไม่ยอมรับ ทว่าความยากคือแม้ฉันจะไม่ชอบคนนี้ แต่ก็พูดออกมาไม่ได้ ฉันเสียใจแต่ก็บอกออกมาไม่ได้ ตรงนี้เกิดจากอะไร จริงๆ การอบรมณ์เลี้ยงดูก็สำคัญนะ ลูกจะผิด จะไม่ดี พ่อแม่ยังรักไหมคะ ดิฉันเป็นแม่ ดิฉันตอบได้ว่ารัก แต่การอบรมเลี้ยงดูบางครั้งเราวางเงื่อนไขให้ลูกรู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้พ่อแม่รับไม่ได้นะ ยังจำคำว่า ‘ความรู้สึกผิด (guilt)’ ได้ไหมคะ เด็กจะยอมรับอารมณ์ตัวเองได้อย่างไร ถ้าสิ่งนี้พ่อแม่ยังไม่ยอมรับอยู่เสมอ ดังนั้นก็ไข้ขึ้นตลอดเวลาแน่นอนค่ะ
“เมื่อภายในเริ่มจัดการและยอมรับอารมณ์ตัวเองได้แล้ว สิ่งสำคัญตามที่เราคุยกันคือ เพื่อน ครอบครัว ครูอาจารย์ การรับฟังเป็นตัวเริ่มต้นที่ดี แยกนะคะคำว่า ‘กำลังใจ’ ‘ความเข้าใจ’ ‘การยอมรับ’ ไม่ใช่ “เข้าไปพยายามแก้ไข” เมื่อไหร่ที่คนรอบข้างพยายามแก้ไขก็คือการพยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่นโดยไม่เข้าใจเขา ลองนึกดูว่า มีคนมาคอยบอกให้ดีขึ้น ลุกขึ้น เชียร์อัพ คนที่เศร้าเขาพร้อมลุกขึ้นทันทีไหมคะ อาจจะลุกมาต่อยทันที ถอยกลับมาค่ะ สิ่งที่คนรอบข้างต้องคิดคือ เมื่อไหร่ที่ควรแค่รับฟัง เมื่อไหร่ควรแนะนำให้ไปรับความช่วยเหลือจากมืออาชีพ เส้นแบ่งที่ง่ายที่สุดคือ ‘สิ้นยินดี’ แต่ก่อนชอบข้าวมันไก่มาก แต่ตอนนี้ข้าวมันไก่ประตูน้ำก็สิ้นยินดี หรือจากที่เคยทำงานได้ ก็ทำไม่ได้แล้ว เมื่อมีอาการขั้นนี้ก็ควรจะหาแหล่งความช่วยเหลือแล้วค่ะ”
อาจารย์ปิยวรรณ เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต:
“ในมุมของผู้เรียนก่อนนะคะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจทำให้ผิดหวังในการเรียน สิ่งสำคัญคือ ‘การรับรู้ที่ถูกต้อง’ มองสาเหตุตามความเป็นจริง มองในสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา สมมติเราสอบตกเพราะไม่ได้พยายามมากพอ แล้วจะทำยังไงให้คะแนนดีขึ้น แม้จะมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ก็ตาม แต่ต้องมองในสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อน ทำสิ่งที่ทำได้ก่อน
“ต่อมาคือ พยายามหาวิธีการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ละคนแตกต่างและถนัดไม่เหมือนกัน ก็ต้องหาวิธีของเราเอง นอกจากนั้น ‘มองโลกแง่บวก’ อยากให้มองว่าเมื่อไหร่เกิดความล้มเหลว แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน จริงๆ ความล้มเหลวให้อะไรกับเราหลายอย่าง มองว่าอะไรที่เกิดกับเราล้วนดีเสมอ ประเด็นถัดไป ถ้าไม่ไหวจริงๆ ต้องหาตัวช่วย ใครก็ได้ที่เรารู้สึกว่าสบายใจ ระบายออกมา
“ในมุมของอาจารย์ผู้สอน เมื่อใดที่นักศึกษาที่เคยตั้งใจเรียนมาตลอด แล้วเขาไม่ตั้งใจแล้ว หายไป เงียบไป ไม่ส่งงาน อย่าเพิ่งตีตราว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ ทุกพฤติกรรมมีสาเหตุ ฉะนั้นหาสาเหตุก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น”
นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น:
“ผมขอตอบในประเด็น ถามได้ไหม? ถ้าถามแล้วพร้อมจะฟังเขารึเปล่า ถ้าเราอยากรับฟังเขาจริงๆ เราถามอีกให้แน่ใจว่าสบายดีรึเปล่า การถามอีกครั้งอาจได้คำตอบจริงๆ ว่าเขาไม่สบายก็ได้ งานของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาแท้จริงคือการ ‘ฟัง’ ฟังแล้ววิเคราะห์ความทุกข์ของเขา ปัญหาคือเวลาเราถาม เราฟัง เราอึดอัด ความทุกข์ ความไม่สบายใจ ฟังแล้วรู้สึกแย่ไปด้วย ทำให้บางทีเรา ‘รีบให้กำลังใจ’ อย่าเพิ่งรีบพูด ‘สู้ๆ’ เพราะให้กำลังใจเร็วเกินไปก็รู้สึกกลวงๆ การฟังไม่ได้หมายความว่าต้องให้คำแนะนำเขาได้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำไง ผมเป็นจิตแพทย์บางครั้งก็ไม่รู้ แต่ฟังไปก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไร สรุปว่าถามได้ไหม ถามแล้วต้องพร้อมฟังด้วย และอย่าเพิ่งรีบแนะนำ ฟังไปก่อนแล้วค่อยช่วยกันคิด
“คำถามที่ซีเรียสกว่าคือ ‘ถามเขาว่าอยากฆ่าตัวตายได้ไหม?’ หลายคนกังวลว่ายิ่งถามยิ่งไปกระตุ้นรึเปล่า มีงานวิจัยพบว่าการถามเรื่องฆ่าตัวตายไม่ได้เพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย กลับกันเป็นการป้องกันเสียด้วยซ้ำ เพราะนี่คือเรื่องที่เขาพูดไม่ได้ แล้วถ้าเขาได้พูดออกมา เขาจะมีทางออก มันก็ช่วยเขาได้ ยิ่งถ้าเราสนิทกับผู้ป่วยมากพอ ถามว่ารู้สึกเป็นยังไงบ้าง ไม่มีความสุขในชีวิตรึเปล่า แย่ขนาดไม่อยากมีชีวิตอยู่รึเปล่า คำถามนี้ถามได้เพราะนำไปสู่ความช่วยเหลือ
“สุดท้าย ในกรณีที่รักษาแล้วอาการดีขึ้น กลับมามีความสุขเป็นส่วนใหญ่แต่ก็อาจมีทุกข์อยู่บ้าง อารมณ์ยังขึ้นๆ ลงๆ ผมใช้คอนเซ็ปต์การโต้คลื่น เหมือนเล่นเซิร์ฟบอร์ด บางทีอารมณ์ขึ้นแรงลงแรง ถ้าเราเรียนรู้ว่ามันเป็นวัฏจักร ถ้าแย่เดี๋ยวก็ดีขึ้น ก็โต้คลื่นกันไป เข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ถ้าชีวิตไม่สามารถทำให้มีความสุขได้ตลอด บางทีการอยู่กับความทุกข์ได้ระดับหนึ่งก็เป็นสัจธรรมของชีวิตได้เหมือนกัน”
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์:
“หมอคิดว่าคงเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะเกิดมาแล้วไม่เจอความทุกข์ แต่อยากจะชวนว่า เมื่อเจอความทุกข์แล้วอยากให้ทำความเข้าใจและปรับตัวกับมัน ยอมรับให้ได้ว่าความเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่งของเราแม้จะไม่ชอบมันก็ตาม หมอคุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์จิตแพทย์ว่า ทุกอย่างในโลกเกิดมาล้วนมีเหตุผล เช่น อารมณ์กลัว ถ้าเราไม่กลัวเราจะตายได้ ส่วนอารมณ์เศร้า เป็นตัวที่บอกว่าอะไรมีความสำคัญกับเรา อะไรที่สำคัญจนเราสูญเสียไปแล้วรู้สึกเศร้า เพราะฉะนั้นอารมณ์หรือความรู้สึกลบก็เป็นส่วนหนึ่งของฉัน ปรับตัวเรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์บวกหรือลบของตัวเอง
“สำหรับคนรอบข้าง หมอพูดไปแล้วว่าสิ่งที่เราช่วยกันทำได้คือ ‘สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อช่วยเหลือ’ วินาทีสำคัญคือช่วงที่ลังเลว่าจะอยู่หรือไป ดังนั้นถ้าคนใกล้ตัวมองหาเขาได้ทัน แล้วเพียงรับฟัง จากนั้นส่งต่อ สามารถเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งได้เลย
“สำหรับสังคม หมออยากชวนให้มาสร้างสังคมแห่งการชื่นชม เห็นคุณค่า และให้โอกาสกัน
“หมอทำเวิร์กช็อป กับครูทั่วประเทศประมาณหมื่นคน สิ่งที่สะท้อนคือ ครูไม่รู้ว่าชมเด็กแล้วดี เรื่องน่าตกใจต่อมาคือ กลุ่มพ่อแม่ของเด็กวัยประถม ก็เพิ่งรู้ว่าการชมลูกแล้วลูกจะดี เด็กและเยาวชนไทยโตมาอย่างแห้งแล้งคำชม เขาไม่เคยได้รับการสะท้อนด้านบวกเลยว่า เขาทำอะไรแล้วดี ทำให้เด็กเติบโตมาอย่างไม่แน่ใจในคุณค่าของตัวเอง เมื่อไม่มีคุณค่าก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่”
เพราะฉะนั้นหมออยากชวนให้พวกเรามาทำสังคมที่เต็มไปด้วยการชื่นชม เห็นคุณค่า และให้โอกาสคนทำผิด ไม่เหยียบซ้ำ ให้โอกาสเขาได้ลุกขึ้น”
ดร.ลูซี่ ตันอติชาติ ผู้แทนสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย:
“คนที่ติดต่อเข้ามาที่สมาคม เขาเป็นคนมีความทุกข์ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่อยากตาย ไม่เช่นนั้นเขาไม่โทรเข้ามา ร้องขอความช่วยเหลือ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับทุกปลายสายที่ต่อเข้ามา สุดท้ายนี้ เยาวชนเป็นทรัพยากรอันมีค่าของชาติ สมาคมสะมาริตันส์ขอมีส่วนในการช่วยเหลือเขา ทว่าลำพังเราอาจทำได้ไม่เต็มที่ก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายค่ะ”
ภาพ: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ, สุกัญญา วังคีรี