ประสบการณ์คนจีนแต่โบราณจวบจนปัจจุบันบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีอาหารทะเลชนิดใดอร่อยสู้เป๋าฮื้อได้ เป๋าฮื้อเปรียบเสมือนทองคำบนโต๊ะอาหาร จึงมีแต่จักรพรรดิและไฮโซในอดีตที่ได้กินอาหารสุดยอดชนิดนี้ สมัยราชวงศ์ชิงเมนูบนโต๊ะเสวยของจักรพรรดิ อาหารทุกจานต้องมีเป๋าฮื้อเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ บรรดาประเทศราชและหัวเมืองชายฝั่งทะเลต้องถวายหอยเป๋าฮื้อเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ นอกจากประเทศไทยแล้ว ความนิยมบริโภคหอยเป๋าฮื้อยังแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียทั้งหลาย อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ รวมถึงประเทศในแถบยุโรป อเมริกาและอเมริกาใต้อีกด้วย
หอยเป๋าฮื้อ หรือหอยโข่งทะเล มีชื่อภาษาอังกฤษว่า อะบาโลน (Abalone) เป็นหอยโข่งทะเลฝาเดียว อาศัยตามก้อนหินแถบชายฝั่งทะเล จัดเป็นอาหารอันมีเนื้อนุ่มละเอียดหวาน กลิ่นหอมอร่อย ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการกว่า 20 ชนิด มีโปรตีนสูงสามารถเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย ช่วยหยุดยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลข้างเคียงไปทำลายเซลล์อื่นๆ และยังมีสรรพคุณช่วยลดความดัน เบาหวาน ต่อมลูกหมาก แพทย์แผนจีนบอกว่าช่วยบำรุงอิน (หยิน) โดยไม่ทำให้ร้อนใน เปลือกหอยชั้นนอกใช้เป็นส่วนประกอบของสมุนไพรรักษาตาและโรคกระเพาะ สถาบันวิจัยของฝรั่งเศสกับออสเตรเลียพบว่า หอยเป๋าฮื้อมีสารที่ช่วยลดการสึกหรอของข้อและกระดูกอ่อนได้เป็นอย่างดี แต่ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง หวัดลงคอ และโรคเก๊าท์ห้ามบริโภคเพราะมีกรดยูริคสูง
มีการพบหอยเป๋าฮื้อกว่า 100 สายพันธุ์ในท้องทะเลทั่วโลก พบพันธุ์ตัวใหญ่เนื้อดีแถบทะเลตอนเหนือที่เมืองชานตุง ริมอ่าวป๋อไห่ และที่ต้าเหลียน บางทีคนจีนเรียกหอยนี้ว่า หอย 9 รู ตามลักษณะของขอบเปลือกหอยซึ่งมี 9 รู วงจรชีวิตของมันขึ้นอยู่กับรูเหล่านี้ ตั้งแต่การสูบผ่านน้ำเพื่อหายใจ การสืบพันธุ์ บางรูก็ใช้ขับถ่าย
นอกจากฮ่องกงและไต้หวันแล้ว ญี่ปุ่นก็เป็นตลาดที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง ไม่เพียงบริโภคกันมากเท่านั้น ญี่ปุ่นยังนำเข้าและส่งออกหอยเป๋าฮื้อในระดับอุตสาหกรรมโดยนำเข้าในรูปเนื้อสดแช่แข็ง หอยกระป๋อง หอยแปรรูป รวมทั้งส่งออกหอยเป๋าฮื้อตากแห้งไปที่ไต้หวันและฮ่องกงอีกด้วย หอยเป๋าฮื้อของญี่ปุ่นเรียก “Kippin Pao-Yoshihama” เป็นหอยที่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุดในโลก เพราะมีกลิ่นหอม เนื้อเนียนนุ่ม รสชาติดี มีราคาต่อตัวจึงสูงถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 90,000 กว่าบาท
หอยเป๋าฮื้อขนาดใหญ่อื่นๆ ที่พบได้ในเขตอบอุ่น มักบริโภคในลักษณะสเต๊กชิ้นบางๆ หรือตัดเป็นชิ้นเล็กๆ บางทีบริโภคสดแบบเดียวกับปลาดิบ ส่วนหอยเป๋าฮื้อขนาดเล็ก สายพันธุ์ที่อาศัยในเขตร้อนสามารถนำมาบริโภคในลักษณะค็อกเทล ประเทศที่นิยมบริโภคหอยขนาดเล็กคือไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี ราคาถูก และขนาดเหมาะสมสำหรับการปรุงอาหารในงานเลี้ยงต่างๆ
ผลผลิตส่วนใหญ่ของหอยเป๋าฮื้อนั้น ประมาณร้อยละ 90 ได้จากการงมจากธรรมชาติโดยใช้นักประดาน้ำ ในบางประเทศอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดโควต้าสำหรับนักดำน้ำแต่ละคนว่าให้เก็บได้ในปริมาณเท่าใด เป็นการบริหารจัดการผลผลิตทางการประมงรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากผลผลิตตามธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลง ในขณะที่ความต้องการยังมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513-2522) มีความพยายามพัฒนาการทำฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อเชิงพาณิชย์ในประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เม็กซิโก รวมถึงประเทศต่างๆ ในทวีปออสเตรเลียและอเมริกาใต้
สำหรับประเทศไทยมีหอยเป๋าฮื้ออยู่ 3 ชนิด ซึ่งพบตามกองหินและแนวปะการังใต้น้ำ หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีจำหน่ายทั่วโลก เมื่อ พ.ศ. 2532 ศูนย์พัฒนาประมงทะเลชายฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ประสบความสำเร็จในการผลิตหอยเป๋าฮื้อเป็นครั้งแรก หอยเป๋าฮื้อพันธุ์นี้มีความเป็นไปได้อย่างมากในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ เพราะว่ามีขนาดใหญ่ มีสัดส่วนของเนื้อที่ใช้เป็นอาหารมากกว่าอีก 2 ชนิด ในระยะเวลา 1 ปี จะมีขนาดถึง 4 เซนติเมตร พบแพร่หลายทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ต่อมามีการวิจัยที่ศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ พบว่าปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับการผลิตลูกหอยให้ได้จำนวนมากพอ ปัจจุบันสามารถผลิตลูกหอยได้ผลระดับหนึ่ง คือในหนึ่งเดือน หอยเพศเมีย 50 ตัว จะให้ไข่ 12-14 ล้านฟอง ฟักเป็นตัวสำเร็จประมาณร้อยละ 60-70 และมีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่จะรอดมาเป็นลูกหอยขนาดเท่าเมล็ดงา หรือ 1-2 มิลลิเมตร สรุปคือจากไข่ 12-14 ล้านฟอง จะได้ลูกหอยขนาดเมล็ดงาเท่ากับ 50,000 ตัว
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2539 มีเอกชนใจถึงลงทุนกว่า 60 ล้านบาท เปิดฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อเชิงพาณิชย์ที่ภูเก็ต ปัจจุบันประสบความสำเร็จมีผลิตภัณฑ์ทั้งสดและสำเร็จรูปส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเปิดภัตตาคารในฟาร์มเพื่อผู้มีรสนิยมชมชอบหอยเป๋าฮื้อ (Phuketabalone Farm http://www.phuketabalone.com)
รายการอาหารที่ใช้เป๋าฮื้อเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เป๋าฮื้อเจี๋ยนน้ำแดง ขาห่านอบเป๋าฮื้อ บางทีก็นำไปปรุงแบบสเต๊ก ยำแบบไทยๆ ใส่โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทำข้าวต้ม พระกระโดดกำแพง ฯลฯ ณ ที่นี้ คงไม่จำเป็นต้องบอกวิธีทำ แค่เปิดกระป๋องแล้วปิดตาข้างหนึ่ง ใช้มือข้างเดียวทำ ขี้คร้านจะอร่อยโดยตัวของมันเอง หยิบกินเปล่าๆ ยังได้เลย
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี ภาพ: มีรัติ รัตติสุวรรณ
All Magazine ธันวาคม 2562