ชายวัยสามสิบห้าคนหนึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไม่สนใจจะออกไปหารังใหม่ เมื่อเขาคบหากับสาวใด ถ้าอยากจะเลิก ก็แค่พาไปที่บ้านเขาเท่านั้น สาวเห็นว่าอายุขนาดนี้แล้วยังอยู่กับพ่อแม่ ก็มักหนีหายไปเอง

ไม่มีหญิงสาวใดอยากแต่งงานกับ “เด็กแหง่” ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่

ในที่สุดพ่อกับแม่ก็หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยรักษาลูก ให้ย้ายออกไปสักที ผู้เชี่ยวชาญเป็นหญิงสาวสวย เธอเชื่อว่าเขาต้องมีจุดผิดปกติ แต่ผิดคาด เขาเป็นคนปกติ มีงานดี มีความสุข รักษากันไปรักษากันมา ในที่สุดทั้งสองก็รักกัน  และลงเอยด้วยการที่เขาบินออกจากรัง

นี่คือพล็อตหนังโรแมนติคคอเมดี้เรื่อง Failure to Launch

คำว่า launch โดยทั่วไปหมายถึงการเริ่ม เช่น ปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก ปล่อยจรวดขึ้นฟ้า การเริ่มโครงการต่างๆ

แต่ launch ใน Failure to Launch หมายถึงการเปลี่ยนจากวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ หรือการบินออกจากรัง

Failure to Launch หมายถึงคนหนุ่มสาวที่ประสบความยุ่งยากในการปรับตัวแปลงเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบ เอกเทศ และยืนหยัดด้วยตัวเองได้

Failure to Launch ในโลกของความจริงอาจซับซ้อนกว่าหนังมาก

ไม่นานมานี้มีข่าวว่า พ่อแม่คู่หนึ่งที่นิวยอร์กต้องพึ่งศาลให้ขับลูกชายของตนออกจากบ้าน ลูกชายคนนี้อายุสามสิบแล้ว อยู่กับพ่อแม่ ไม่ทำมาหากิน เกาะพ่อแม่อยู่ ไม่เอาถ่าน

ศาลจึงสั่งให้ชายหนุ่มย้ายออกจากบ้านไป

ปกติเป็นธรรมเนียมฝรั่งที่พอลูกโต ก็รู้กันว่าต้องออกไปสร้างรังเอง กรณีอายุถึงสามสิบยังอยู่กับพ่อแม่ถือว่าแปลกจากค่านิยม แต่ไม่ผิดปกตินัก เพราะมีกรณีแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

โลกทางตะวันออกอาจไม่ค่อยคิดว่าเรื่องนี้ผิดปกติเท่าไร หลายครอบครัวมีคนหลายรุ่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ช่วยกันทำมาหากิน ทว่านี่เป็นคนละประเด็นกับ Failure to Launch ในบริบทนี้ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่เปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่

แต่ถ้าอยู่แล้วไม่ทำมากิน ยังให้พ่อแม่เลี้ยงนี้ ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็ถือว่าผิดปกติ

 

ฝรั่งก็คือฝรั่ง เมื่อมีปัญหาก็จัดการทำให้เป็นวิชาการทันที พวกเขานิยามอาการนี้ว่า Failure to Launch Syndrome

“โรค” Failure to Launch Syndrome เริ่มจะเป็นปัญหามากขึ้น มันสะท้อนหลายเรื่อง การเลี้ยงดู ความสามารถ ความรับผิดชอบ ปมด้อย ฯลฯ

ถ้าเราดูวิธีการ “launch” ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ จะพบว่าหนักหน่วงกว่าของมนุษย์หลายเท่า

สัตว์บางชนิดทิ้งลูกทันทีที่ลูกลืมตาดูโลก

การเอาตัวรอดในป่าต้องไว สัตว์ที่เชื่องช้ามักถูกจับกินเป็นอาหาร พ่อแม่สัตว์ไม่ดูแลลูกสัตว์นานเกินจำเป็น สัญชาตญาณจะทำให้ลูกเอาตัวรอดเอง ยิ่งเลี้ยงนาน ยิ่งไม่ดีต่อลูก ต่างจากมนุษย์ที่ใช้เวลานาน

ลูกนกทุกตัวต้องออกจากรังไปสร้างครอบครัวใหม่ พ่อแม่นกจะสอนวิธีบิน วิธีหาอาหาร แล้วก็ปล่อยให้ลูกไปตามทางของมัน

สมองมนุษย์เราซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลาหลายปีพัฒนา ธรรมชาติจึงเอื้ออำนวยให้คลอดเด็กออกมาก่อน แล้วพัฒนาต่อข้างนอก ธรรมชาติจึงสร้างยีน “บังคับ” ให้พ่อแม่ดูแลลูก

เด็กเรียนรู้การตัดสินใจ วิธีคิด ทักษะ ความรู้ เรียนรู้เรื่องเพศ การเข้ากลุ่ม การสมาคม หลังจากนั้นก็ต้องบินเอง

โลกของผู้ใหญ่ที่ซับซ้อนอาจดูน่ากลัวสำหรับเด็กบางคน จะทำงานอะไร? จะเรียนต่อไหม? ที่ไหน? เรียนอะไร? ถ้าไม่เรียนจะทำอะไร? น่าปวดหัว

บางทีโลกของเด็กสบายมากและมีความสุขจนไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่

จะว่าไปแล้ว Failure to Launch ก็คือสถานการณ์ไม่ยอมออกจาก “comfort zone” (พื้นที่ปลอดภัย) นั่นเอง

ลองถามผู้ใหญ่ในวันนี้ดูว่า ชีวิตช่วงไหนมีความสุขที่สุด ส่วนมากตอบว่าวัยเด็กเพราะไม่มีความเครียด ทุกอย่างมีผู้ใหญ่จัดการให้ มีคนปกป้องดูแล บางทีการเป็นเด็กไม่รู้จักโตก็เกี่ยวพันกับการไม่อยากออกจากพื้นที่ปลอดภัยนั่นเอง

 

บางครั้ง Failure to Launch ก็สืบเนื่องจากพ่อแม่ด้วย

โลกสมัยนี้พ่อแม่อาจกลัวว่าลูกจะลำบาก จึงเอาอกเอาใจจนลูกไม่รู้จักความลำบาก แต่นั่นกลับทำร้ายลูก ทำให้เขากลายเป็นเด็กไม่รู้จักโต เพราะไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยตัดสินใจเอง

ถ้าเลี้ยงลูกก็ต้องระวังอย่าให้เป็น “ไข่ในหิน” อย่าสร้างกรรมให้เด็กโดยประคบประหงมมากเกินไปจนเด็กต้องพึ่งพ่อแม่ไปตลอด จะเป็นกรรมของเด็ก

ปล่อยให้เขาโตเอง ตัดสินใจเองบ้าง สอนให้เด็กกล้าออกจาก comfort zone เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น จะเป็นเด็กแหง่ไปตลอดชีวิตไม่ได้

โชคดีที่การออกจาก comfort zone ไม่ใช่การส่งจรวดออกนอกโลก “launch” พลาดก็ไม่ถึงตาย

ไม่ว่าเราจะเลือกสร้างรังเองหรือเลือกอยู่กับพ่อแม่ เราควรสามารถบินเดี่ยวอย่างเสรีและอิสระ ไปได้ทุกทิศทุกที่ทุกหนทาง

นี่ก็คืออิสรภาพที่แท้จริง


winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/


เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่