บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด”ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 โดยผู้ชนะเลิศได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้คัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, การ์ตูน, รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อยกย่องเชิดชูนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่านการเขียนให้มากยิ่งขึ้น
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นประธานมอบรางวัลและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการอ่านว่า
“ในช่วงหลังตลาดหนังสือหดตัวลง การประกวดรางวัลที่เกี่ยวข้องกับหนังสือจึงไม่ค่อยมีมากเหมือนแต่ก่อน แต่เซเว่นบุ๊คอวอร์ดปีนี้ค่อนข้างคึกคัก โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่โดยเฉพาะคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ยังคงกล่าวว่า ตราบใดมีลมหายใจก็จะทำต่อไป เพราะเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเกิดจากเจตนารมณ์ที่อยากส่งเสริมให้คนไทยมีหนังสือดีๆ อ่าน
“อย่างไรก็ดี ในยุคดิจิตอลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน ประโยชน์ที่ได้คือความง่าย ความกว้าง และความเร็ว ในการรับข้อมูลข่าวสาร ทว่าในยุคของกการเปลี่ยนผ่านสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ หนังสือเล่มยังมีเสน่ห์พอรึเปล่าที่จะอยู่เคียงคู่ไปกับสื่อโซเซียลมีเดีย คนทำหนังสือจึงต้องปรับตัวเอง บรรณาธิการและนักเขียนต้องจับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน โดยสิ่งที่เป็นจุดแข็งของหนังสือคือ มีกองบรรณาธิการคอยคัดกรองก่อนว่า สิ่งที่นำเสนอออกมามีสาระและคุ้มค่าหรือไม่ ในขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียมีความรวดเร็ว แต่จุดอ่อนคือไม่มีคนคอยคัดกรองข้อมูล เพราะทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ลูกหลานรับรู้ถึงจุดแข็งนั้น หนังสือมีคุณประโยชน์ โซเซียลมีเดียก็มีด้านดี ทำยังไงให้เรารับด้านดีของทั้งสองสื่อ”
สำหรับผลการประกวด ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทคือ “อรสม สุทธิสาคร” จากผลงาน ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง (สารคดี), “มุนินฺ” จากผลงาน ประโยคสัญลักษณ์ (การ์ตูน), “โกลาบ จัน” จากผลงาน ใต้ฝุ่น (นวนิยาย), “รินศรัทธา กาญจนวตี” จากผลงาน ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ (กวีนิพนธ์), “ตินกานต์” จากผลงาน ดอก รัก (รวมเรื่องสั้น) และ “โชติ ศรีสุวรรณ” จากผลงาน พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง (วรรณกรรมสำหรับเยาวชน)
อรสม สุทธิสาคร เจ้าของผลงาน ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ชนะเลิศประเภทสารคดี กล่าวว่า “ดิฉันเขียนหนังสือมา 32 ปีแล้ว สิ่งที่อยากบอกคือขอบคุณคณะกรรมการที่เห็นความหมายของงานสารคดีที่บอกถึงความทุกข์ยากของผู้หญิง ซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำความรุนแรง
“ผลงานชิ้นนี้สะท้อนความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้เขียนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ใช้กลุ่มตัวอย่างเยอะมาก ทั้งผู้หญิงซึ่งถูกผู้ชายกระทำ และลูกซึ่งเป็นผู้รับผลพวงตรงนี้ ความรุนแรงไม่ได้หมายถึงแค่การฆ่ากันอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการทิ่มแทงกันด้วยวาจา พูดให้เจ็บช้ำน้ำใจ ดูหมิ่นเหยียดหยาม การนอกใจก็ถือเป็นความรุนแรง ความไม่รับผิดชอบก็ถือเป็นความรุนแรง รวมถึงการทำร้ายกันทางเพศ การบังคับให้ภรรยาขายบริการให้ผู้ชายอื่น เรียกว่ารูปแบบของความรุนแรงเปลี่ยนไป ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่มีสถิติความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และ ณ ตอนนี้ความรุนแรงไม่ใช่แค่เกิดตัวต่อตัวภายในครอบครัว แต่ส่งผลกระทบถึงสังคมด้วย
“ดิฉันเขียนขึ้นเพราะอยากให้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคมไทย เราไม่ควรหลับหูหลับตาแล้วคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าในความเป็นจริงนั้นความรุนแรงอาจสะท้อนอยู่ในตัวเราเอง หรืออยู่ในคนใกล้ตัว”
ส่วน “มุนินฺ” เจ้าของผลงาน ประโยคสัญลักษณ์ ชนะเลิศประเภทการ์ตูน เปิดเผยความรู้สึกว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ลองส่งผลงานเข้ามาในเวทีประกวดเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และก็ได้รับเลือกเลย ดีใจจริงๆ คณะกรรมการอธิบายถึงเหตุผลที่ผลงานเล่มนี้ได้รับรางวัลอย่างละเอียด แสดงถึงความใส่ใจในการคัดเลือกอย่างยิ่ง เห็นมิติที่เราไม่เคยจำกัดความมาก่อน เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติมากๆ ค่ะ”
“โกลาบ จัน” เจ้าของผลงาน ใต้ฝุ่น ชนะเลิศประเภทนวนิยาย ที่ผลงานเรื่องใต้ฝุ่นคว้ารางวัลในเวทีประกวดมาได้เป็นครั้งที่สามแล้ว กล่าวว่ายังรู้สึกดีใจและตกใจเสมอ สำหรับเซเว่นบุ๊คอวอร์ดนับเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมการอ่าน และสร้างคุณค่าให้แก่วงการหนังสือได้อย่างยิ่ง
“รินศรัทธา กาญจนวตี” เจ้าของผลงาน ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันเป็นคนตาบอด เป็นผู้พิการทางสายตา การที่ดิฉันได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดนี้ ทำให้รู้สึกว่าสังคมมีพื้นที่ให้เรายืน สิ่งที่คนพิการทำได้เป็นที่ยอมรับในสังคม และทำให้เรามั่นใจว่าตัวเองก็เป็นคนปกติคนหนึ่ง แม้มองไม่เห็นแต่ไม่ได้แตกต่าง รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจึงเป็นสัญลักษณ์ของคำขอบคุณอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ผู้ที่ร่วมสร้างหนังสือเล่มนี้จนสำเร็จ”
ทางด้าน โชติ ศรีสุวรรณ เจ้าของผลงาน พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง ชนะเลิศประเภทวรรณกรรมเยาวชน พูดถึงผลงาน “หนังสือเล่มนี้เล่าถึงวิถีชีวิตคนชนบท ทุกวันนี้คนฐานะยากจนก็พยายามอยากจะเป็นคนรวย แข่งขันด้วยวัตถุ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ต้องมีเหมือนกัน ถึงไม่มีก็พยายามดิ้นรนหามาให้ได้ ขอแค่มีเงินดาวน์ แต่พอดาวน์แล้วเดือนต่อๆ ไปก็เดือดร้อน ตกเป็นทาสของเงิน ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข หนังสือเรื่องนี้จึงอยากให้ข้อคิดการดำเนินชีวิต อย่างไรถึงจะมีความสุขตามอัตภาพของตัวเอง”
“ตินกานต์” เจ้าของผลงาน ดอก รัก ชนะเลิศประเภทรวมเรื่องสั้น หนังสือเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอ จึงรู้สึกดีใจระคนตื่นเต้น และรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดถือเป็นกำลังใจอย่างยิ่งในการเขียนหนังสือต่อไป “การยึดอาชีพเขียนหนังสือเพื่อเลี้ยงตัวเป็นเรื่องยากมากในประเทศนี้ โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ การประกวดจึงเปรียบเหมือนไฟสปอตไลท์ ที่ฉายส่องลงมายังหนังสือที่ได้รางวัล ทำให้หนังสือได้รับการมองเห็นจากผู้คนมากขึ้น อาจจำหน่ายได้มากขึ้น นั่นหมายถึงการอยู่รอดของนักเขียนด้วย รางวัลจึงเป็นสิ่งสนับสนุนอาชีพนักเขียนทางหนึ่งค่ะ”