พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ‘วิกฤตแล้ว ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ปกคลุมกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน !’ และ ‘ประกาศด่วน ! ท้องฟ้ากรุงเทพฯ มัวเป็นผลจากฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เตือนระวังกระทบสุขภาพ !?’ ทำเอาหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร ตกใจกันถ้วนหน้า เพราะสภาพอากาศที่ดูมัวซัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นเพียงแค่หมอกตามธรรมชาติ กลับถูกชี้แจงว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่มาจากฝุ่นละอองมลพิษในอากาศ จนทำให้ผู้มีปัญหาสุขภาพร่างกายและสตรีมีครรภ์ถูกเตือนให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ฝุ่นละออง PM2.5 มันน่ากลัวอย่างไรกันหรือ
ก่อนที่เจาะลึกลงไปที่ฝุ่นละออง PM2.5 ว่าคืออะไรนั้น เราต้องมาดูเรื่อง มลพิษทางอากาศ (Air pollution) กันก่อน ว่ามีอะไรบ้างและสาเหตุเกิดจากอะไร โดยทั่วไปแล้ว อากาศสะอาดที่เหมาะกับหายใจของคนเรานั้นจะประกอบไปด้วยก๊าซต่าง ๆ คือก๊าซไนโตรเจน (78%) ก๊าซออกซิเจน (21%) และไอน้ำรวมกับก๊าซอื่น ๆ เช่น ก๊าซอาร์กอน (Argon) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (รวม 1%) แต่อากาศที่มีมลพิษ จะมีการปนเปื้อนของก๊าซและอนุภาคอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการเผาไหม้วัสดุทางการเกษตร รวมไปถึงแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ เช่น เขม่าควันจากไฟป่า มลพิษทางอากาศนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาระดับโลกได้ ทั้งเรื่องของรูรั่วของก๊าซโอโซน (ozone) ในชั้นบรรยากาศ ปัญหาฝนกรด และปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect)
มีสสารหลายชนิดที่นับว่าเป็นสารมลพิษในอากาศ (Air pollutant) ตั้งแต่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และพวกอนุภาคขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สสารเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดของคุณภาพอากาศในแต่ละเมือง ว่ามีระดับของมลพิษในอากาศสูงถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของคนในชุมชนหรือไม่ นั่นก็คือ ถ้ามีสารมลพิษเข้มข้นสูงในอากาศ ก็แสดงว่าคุณภาพของอากาศในบริเวณนั้นมีค่าต่ำ และจะไปกระตุ้นคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ หรือมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจให้ไม่สบายได้ จึงจำเป็นที่จะต้องคอยตรวจสอบปริมาณอยู่ตลอดเวลา
ในบรรดาสารมลพิษในอากาศนั้น ที่เป็นประเด็นพูดถึงกันบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน คือเรื่องของมลพิษที่เป็นอนุภาคหรือฝุ่นละออง (particulate matter, PM) ฝุ่นละอองนั้นเป็นส่วนผสมระหว่างทั้งอนุภาคของแข็งและหยดของเหลวที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ โดยมักจะมีขนาดเล็กมากจนตามองไม่เห็น คือเล็กกว่าหน้าตัดของเส้นผมของคนเราเสียอีกฝุ่นละอองมลพิษจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ฝุ่นอนุภาคหยาบ (coarse dust particle) หรือฝุ่นละออง PM10 ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคระหว่าง 2.5 ถึง 10 ไมโครเมตร (หรือไมครอน) กับฝุ่นอนุภาคละเอียด (fine particle) หรือฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลงไปอีก คือ ตั้งแต่ 2.5 ไมโครเมตรลงไปและต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในการมองดูเท่านั้น
ฝุ่นละออง PM10 ที่พบในชุมชนเมือง มักจะมาจากกิจกรรมที่มีการโม่หรือบดวัสดุต่าง ๆ แล้วฝุ่นที่ลงไปอยู่ตามพื้นถนนนั้นได้ถูกยานยนต์บนท้องถนน ตีให้ฟุ้งกระจายขึ้นมา ขณะที่ฝุ่นละออง PM2.5 จะเกิดจากกระบวนการเผาไหม้สันดาปทุกชนิด ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ยานพาหนะ ไฟป่า การเผาไม้เพื่อการหุงต้มอาหารในครัวเรือนและการเผาวัสดุทางการเกษตร การที่ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กมากทำให้เกิดความกังวลว่า ถ้าสูดดมเข้าไปแล้ว จะสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ลึกมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปรกติแล้ว ฝุ่นผงทั่วไปที่ตาพอมองเห็นได้นั้นจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะถูกดักกรองไว้ด้วยขนและเมือกภายในโพรงจมูกและลำคอ แต่ละอองธุลีฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตรเหล่านี้จะสามารถเคลื่อนที่ผ่านไปตามหลอดลม เข้าไปจนถึงถุงลมในปอดได้ และถ้าเป็นพวกฝุ่นละออง PM2.5 ยิ่งทวีความอันตรายขึ้นไปอีก เพราะมีโอกาสทะลุทะลวงผ่านไปถึงบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซผ่านเส้นเลือดฝอยภายในปอดได้
มีการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก ที่รายงานถึงผลกระทบของการสูดดมฝุ่นละอองต่อสุขภาพของมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องโรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ไปจนถึงการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดที่น้อยเกินไป รวมถึงความพิการของเด็กทารก และการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อย การสูดดมฝุ่นละอองระหว่างตั้งครรภ์จะไปสร้างภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันขัดขวางการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายของแม่และยังทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับการส่งออกซิเจนผ่านรกไปยังลูก โดยพบว่าฝุ่นละออง PM2.5 นั้นส่งผลกระทบมากกว่าฝุ่นละออง PM10 อย่างชัดเจน
ฝุ่นละอองละเอียด PM2.5 นี้ยังถูกยืนยันว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากโรคมะเร็งปอดและโรคที่เกี่ยวกับปอดและหัวใจ เพราะมันสามารถทำให้เกิดแผ่นเพล้ก (plaque) สะสมที่หลอดเลือดเป็นจำนวนมาก จนเกิดการอักเสบและภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งนำไปสู่การเกิดหัวใจวายและปัญหาอื่นๆ ได้ ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้เคยประเมินเอาไว้ว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นสาเหตุของ 3% ของคนที่ตายเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับปอดและหัวใจขณะที่มันเป็นสาเหตุของ 5% ของคนที่ตายเพราะโรคมะเร็งที่หลอดลมใหญ่ หลอดลม และปอด ตลอดจนเป็นสาเหตุของ 1% ของการตายอันเนื่องจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก สำหรับประเทศไทยของเราเอง ก็มีการศึกษาพบว่าเมื่อมีปริมาณของฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้ไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ขึ้นอีก 1% และเพิ่มขึ้นถึง 1.9% ถ้าเน้นเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ
ด้วยเหตุที่ฝุ่นละอองนั้นมีอันตรายต่อผู้คนในวงกว้าง จึงทำให้หน่วยงานของประเทศต่างๆ ต้องติดตั้งเฝ้าระวัง ดังเช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งรายงานสถานการณ์และคุณภาพของอากาศในแต่ละวัน ทั้งค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 ก๊าซโอโซน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th/web/ หรือถ้าต้องการทราบค่าปริมาณฝุ่นละอองละเอียด PM2.5 โดยเฉพาะ ก็สามารถดูได้ที่เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/PCD.go.th/ ของกรมฯ
สำหรับเกณฑ์ค่าฝุ่นละอองในอากาศนั้น จะแบ่งเป็นมาตรฐานค่าเฉลี่ยระยะสั้นของปริมาณความเข้มข้นฝุ่นละอองในพื้นที่เมื่อตรวจวัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเฉียบพลัน และมาตรฐานค่าเฉลี่ยระยะยาว 1 ปีเพื่อป้องกันผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพของผู้คน โดยค่ามาตรฐานสำหรับฝุ่นละออง PM10 ของประเทศไทยนั้น กำหนดไว้ที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรในเวลา 24 ชม. และไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในเวลา 1 ปี ส่วนฝุ่นละออง PM2.5 นั้น กำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในเวลา 24 ชั่วโมงไว้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม /ลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในเวลา 1 ปี ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร (น่าสังเกตค่ามาตรฐานของไทยเรานั้น ยังไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงไว้ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยใน 1 ปีไว้ไม่เกิน 12 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร)
ดังนั้น ถ้าใครที่ต้องอาศัยอยู่หรือทำงานในพื้นที่เสี่ยง ที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ บริเวณก่อสร้าง ริมถนนใหญ่ที่มีการจราจรแออัด หรือพื้นที่ที่มีการเผาไหม้วัสดุทางการเกษตรหรือก่อไฟประกอบอาหาร ก็จำเป็นจะต้องหาวิธีการป้องกันตนเองจากอันตรายของฝุ่นละอองมลพิษเหล่านี้ เช่น พยายามอยู่แต่ในอาคารและปิดหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองเข้ามา ถ้ามีงบประมาณเพียงพอจะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคารหรือในรถยนต์ก็ต้องเลือกเครื่องที่มีแผ่นฟิลเตอร์ชนิดเฮปป้า (HEPA filter) จึงจะกรองฝุ่นละอองละเอียดได้ และถ้าจะต้องออกไปนอกอาคาร ก็ควรที่จะอยู่เพียงไม่นานและต้องหาหน้ากากชนิด N95 ที่มีความละเอียดสูง มาสวมใส่ป้องกัน
นอกจากการหลีกเลี่ยงไม่สูดดมฝุ่นละอองมลพิษแล้ว เรายังควรช่วยกันลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ก็ควรหันไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สร้างมลพิษต่ำและเพิ่มกระบวนการกำจัดสารมลพิษออกไปจากควันที่โรงงานปล่อยออกมา ถ้าเป็นเกษตรกร ก็ควรลดเลิกการเผาไหม้วัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เปิดโล่ง ส่วนผู้ใช้รถใช้ถนนนั้น ก็ควรที่จะต้องหมั่นตรวจสอบยานพาหนะของตน ให้เครื่องยนต์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หรือถ้าจะซื้อรถใหม่ ก็ควรจะเลือกซื้อรถที่มีระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง ลดการปลดปล่อยมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น
เรื่อง : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์