ตัวตนหลังบทกวี-อังคาร จันทาทิพย์

0
4869
อังคาร จันทาทิพย์

“นัดพบนักเขียน” ขอแนะนำคุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับ “อังคาร จันทาทิพย์” กวีผู้คว้ารางวัลมามากมายหลายเวที ซึ่งรวมไปถึงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2556 ด้วยผลงานรวมบทกวี “หัวใจห้องที่ห้า” และรางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ จากเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด ประจำปี 2560 จากผลงาน “ระหว่างทางกลับบ้าน”

ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้างคะ ได้คลุกคลีกับบรรยากาศการอ่านบ้างไหม
พื้นเพเป็นคนอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ครอบครัวเป็นชาวนา พ่อกับแม่อาจจะคิดและรู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรลำบากเลยพยายามส่งลูกเข้าเรียนในเมือง รุ่นพี่สาว พี่ชายเข้ามาเรียนในเมืองก่อน เขาจะยืมหนังสือจากห้องสมุดกลับบ้านเสาร์อาทิตย์เริ่มต้นอ่านหนังสือที่พี่ๆ เขายืมมางานเขียนของนิมิตร ภูมิถาวร คำพูน บุญทวี บางทีพี่ชายก็ซื้อหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ซึ่งจะมีคอลัมน์บทกวี เรื่องสั้น บทวิจารณ์วรรณกรรม แต่เราก็งงๆ ว่าพี่ชายเรารู้จักได้ยังไง พอถึงรุ่นตัวเองได้เข้าไปเรียนในเมืองบ้าง มีโอกาสได้อ่านงานของวิมล ไทรนิ่มนวล วัฒน์ วรรยางกูร จำลอง ฝั่งชลจิตร สุรชัย จันทิมาธร อ่านบทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น จากห้องสมุด เราก็ซึมซับจากตรงนั้น และโลกการอ่านก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ

แล้วจุดที่ตัดสินใจจับปากกาเขียนงานเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร
สมัยเรียนมัธยมต้นเลือกเข้าชมรมวรรณศิลป์ มีคุณครูชื่อ “ประยูร ลาแสง” นามปากกา “พระไม้” เป็นครูประจำชมรม ครูประยูรจะมีวิธีสอนที่ต่างจากครูทั่วไปเพราะครูเป็นนักเขียน นอกจากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เล่มนั้น แล้วจะยกตัวอย่างบทกวีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานชั้นดี พร้อมอธิบายว่างานเหล่านี้ดีอย่างไรถึงอยู่ข้ามกาลเวลามาได้ใช้คำยังไงในการนำเสนอภาพ สื่อเรื่องราว ทำให้เกิดความสะเทือนใจ เริ่มซึมซับเรียนรู้จากตรงนั้น จากนั้นครูให้แต่งกลอนส่ง เราก็งงตัวเองเหมือนกันนะ เพราะสำนวนแรกที่ส่งไปครูอ่านแล้วงงว่าไม่น่าใช่เด็กเขียน ไปลอกใครมา เราก็บอกเขียนไปตามรู้สึกครับ ครูบอกมีแวว จากนั้นได้รับการสนุนสนุนจากครู มีการจัดแข่งขันร้อยกรองตามสถานศึกษาต่างๆ ครูจะไปพาแข่ง ซึ่งถือเป็นการฝึกทักษะการเขียนฉันทลักษณ์ชนิดต่างๆ ฝึกคิด ฝึกเลือกมุมมอง ให้ต่างจากคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ จากนั้นก็ส่งงานมาให้บรรณาธิการบทกวีตามนิตยสารพิจารณา และเริ่มมีผลงานตีพิมพ์เรื่อยมาตั้งแต่ ม.4-5

การร่วมกลุ่มศิลปะวรรณกรรมและกลุ่มหน้าราม คือก้าวถัดมาบนถนนสายกวี
พอเรียนจบชั้นมัธยมก็ได้เข้ามาเรียนเอกภาษาไทย วิชาโทสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเข้าร่วมกลุ่มศิลปะวรรณกรรมและกลุ่มหน้าราม ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเขียนการอ่านจริงจังพอสมควร ช่วงปี 2536-2540 ถือเป็นช่วงเวลาที่นิตยสารยังมีพื้นที่ให้เผยแพร่ผลงานเยอะและเปิดกว้าง บรรยากาศโดยรวมของแวดวงกวีช่วงนั้นถือว่าค่อนข้างคึกคัก นี่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โลกการอ่านการเขียนเปิดกว้างและเข้มข้นยิ่งขึ้น

ผลงานรวมเล่มในยุคแรกๆ พูดถึงเรื่องความรักเป็นหลัก
ไล่เรียงจากรวมบทกวีเล่มแรก “คนรักของความเศร้า” “วิมานลงแดง” “ที่ที่เรายืนอยู่” บทกวีแต่ละเล่มเหมือนวัยที่เติบโตขึ้นและวุฒิภาวะอาจจะมากขึ้นเป้าหมายที่เราแสวงหาความเข้าใจแต่ละช่วงวัยเปลี่ยนตามไปด้วยแต่ถึงอย่างไรโลกก็ขับเคลื่อนด้วยความรัก ความสุขและความทุกข์เรามีเครื่องมือในการบอกเล่าความรู้สึกเหล่านี้ไปถึงคนอ่าน ขณะเดียวกัน ชีวิตที่มันกลางๆ เฉยๆ มันไม่ค่อยสร้างแรงบันดาลใจอะไร

แต่พอวุฒิภาวะมากพอ แนวทางการเขียนก็เข้มข้นขึ้นและเริ่มพูดถึงเรื่องบ้านเมือง สังคม รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานด้วย
มีคำพูดประมาณว่า คนเขียนหนังสือไม่ควรย่ำอยู่กับที่ ซึ่งเราค่อนข้างเห็นด้วยนะ จะมากจะน้อยต้องหาให้เจอจุดที่สมควรเปลี่ยน เราว่าบทกวีแต่ละสำนวนเป็นเหมือนหลักกิโลเมตรในแต่ละช่วงวัย ซึ่งเป็นเครื่องบอกว่าเราสนใจเรื่องราวใดเป็นพิเศษ และในเรื่องราวนั้นบอกอะไรกับเราบ้าง

วิธีการทำงานก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้าง ช่วงแรกๆ เขียนตามภาวะอารมณ์ที่ถูกกระทบแบบต่างกรรมต่างวาระแล้วนำมาคัดเลือกรวมเป็นเล่ม เราอยากลองเขียนโดยเซ็ตโครงสร้างขึ้นเป็นเล่มก่อนแล้วค่อยๆ เขียนแบบไล่เรียงไปทีละเรื่องๆ จนจบเล่ม เหมือนการต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นจนครบภาพรวมใหญ่ที่สมบูรณ์เราใช้วิธีการนี้ตอนเขียนเล่ม “หนทางและที่พักพิง” โดยเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประมาณเกือบ 40 เล่ม แล้วเลือกหยิบเหตุการณ์สำคัญๆ จากพุทธประวัติมาแต่งเป็นบทกวี ผลงานเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือกวีนิพนธ์เล่มเดียวมั้งที่มีบรรณานุกรมท้ายเล่ม คือพอเป็นเรื่องความเชื่อซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว ข้อมูลจะพลาดไม่ได้ ทำให้ต้องหาข้อมูลที่รอบด้านเพื่อใช้ประกอบการเขียนทั้งใช้วิธีถามจากผู้รู้และวิธีอ่านค้นคว้า
วิธีการเซ็ตโครงสร้างนี้นำมาใช้ตอนเขียน “หัวใจห้องที่ห้า” และ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ส่วนตัวเราเชื่อว่าบทกวีไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลักอย่างเดียว เพราะในบางประเด็นอาจต้องใช้ศาสตร์แขนงอื่นๆ อย่างมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือ เพียงแต่จะกำหนดสัดส่วนของส่วนผสมอย่างไร

พูดได้ว่าวิธีการเขียนของคุณอังคาร คือกวีแต่ละบทที่เขียนจะถูกวางโครงร่างไว้ก่อน แล้วทำการศึกษาค้นคว้าก่อนจะเขียน ไม่ใช่เขียนจากความรู้สึกขณะนั้นพาไป
วันก่อนเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊กประมาณว่า “หาก ‘พระเจ้าไม่ได้เล่นโยนลูกเต๋ากับจักรวาล’ อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ว่า กวีก็ไม่ได้เล่นโยนถ้อยคำกับบทกวี” คือทุกอย่างผ่านกระบวนการคิด “เป็นระบบ” และ “มีจุดมุ่งหมาย” เกิดจากความตั้งใจ ไม่มีไม่ผ่านกระบวนการคิด

แต่ละบทกวีมีวิธีเลือกฉันทลักษณ์ที่จะใช้อย่างไร
ประเด็น เรื่องราว เรื่องเล่า หรือเนื้อหาจะเลือกฉันทลักษณ์ของมันเอง พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือฉันทลักษณ์ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์เหมือนภาชนะประเภทต่างๆ บางอย่างเหมาะจะใส่ข้าว บางอย่างเหมาะจะใส่แกง หน้าที่ของเราคือการเตรียมภาชนะแต่ละอย่างไว้ให้ดี และขยันหมั่นเพียรแสวงหาวัตถุดิบ เครื่องปรุงที่ดีมาประกอบอาหารให้รสชาติกลมกล่อม เพื่อจะใส่ในภาชนะเหล่านั้นเสิร์ฟให้ผู้อ่าน

ภาพจำที่ว่าบทกวีต้องขึ้นหิ้งปีนบันไดอ่าน
บางทีก็ชวนสงสัยว่า มีใครอ่านกันจริงจังก่อนสรุปหรือไม่
ทั้งที่กวีจำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงการนำเสนอไปเยอะทีเดียว”

กว่าจะผลิตงานออกมาแต่ละเล่ม ใช้เวลาค่อนข้างนาน กังวลใจไหมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่แสดงผลงานบนนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ลดน้อยลง แต่พื้นที่สำหรับกวีนิพนธ์ออนไลน์ดูจะยังไม่ชัดเจน อีกทั้งความนิยมในบทกวีดูจะเป็นเพียงเรื่องเฉพาะกลุ่ม
ภาพรวมในปัจจุบันที่ว่าไม่ค่อยมีคนสนใจอ่านบทกวีนั้น มองว่าคงไม่ใช่เฉพาะยุคปัจจุบันนี้ เข้าใจว่าเป็นสิบหรือยี่สิบปีแล้ว ซึ่งจะว่ากันจริงๆ บทกวีก็ไม่น่าจะถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมแขนงที่ได้รับความนิยมเท่าแขนงอื่น ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางอื่นๆ ในการสื่อสาร โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งในโลกโซเชียลมีเดียมีสิ่งที่ดึงดูดมากกว่าวรรณกรรมและบทกวีตั้งมากมาย ฉะนั้นไม่แปลกหรอกที่ผู้คนยุคปัจจุบันจะอ่านวรรณกรรมหรืออ่านบทกวีน้อยลง เป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเราเท่านั้น พื้นที่บทกวีตามสื่อสิ่งพิมพ์ในที่อื่นๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน

หลายคนอาจจะเคยให้ข้อสังเกตว่า เป็นเพราะบทกวีและวรรณกรรมอื่นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ความสนใจของผู้คนในยุคปัจจุบันหรือเปล่า ถึงทำให้บรรยากาศการอ่านมันซบเซา และหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะบทกวี มันยากต่อการทำความเข้าใจหรือเปล่า ต้องขึ้นหิ้งเขียนปีนบันไดอ่าน ส่วนตัวคิดและเชื่อว่าหมดยุคสมัยไปแล้ว เป็นภาพจำ บางทีก็ชวนสงสัยว่า มีใครอ่านกันอย่างจริงจังก่อนสรุปแบบนั้นหรือไม่ ทั้งที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมีกวีอยู่จำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการนำเสนอบทกวีไปเยอะทีเดียว เช่น มีการนำรูปแบบของพล็อตเรื่องเล่าเข้ามารองรับประเด็น ซึ่งเรื่องเล่าก็เป็นภาพและเรื่องราวของผู้คนธรรมดาสามัญที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคม ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงตัวของชีวิต เรื่องปากท้อง ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากในการทำความเข้าใจ ออกจะง่ายในการสื่อสารกับผู้อ่านด้วยซ้ำ ผลงาน “หัวใจห้องที่ห้า” และ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของเราถูกคิดขึ้นมาจากพื้นฐานนี้นะ

ส่วนตัวเคยให้ข้อสังเกตเป็นเชิงคำถามว่า งานศิลปะทุกชนิดเรียกร้องวุฒิภาวะ เรียกร้องความใส่ใจจากคนเสพทั้งนั้น คำถามก็คือว่า ผู้คนในปัจจุบันแสวงหาความหมาย แสวงหาสุนทรียะให้แก่ชีวิตจากอะไร จากศิลปะ จากบทกวี วรรณกรรมไหม หรือโลกปัจจุบันผู้คนเขาสนใจเรื่องอะไรเป็นหลัก คำถามพวกนี้ไม่ควรถูกทิ้งไว้ที่กวี นักเขียนเพียงฝ่ายเดียว มีเหตุผลมากน้อยขนาดไหนที่นักเขียนหรือกวีจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนวิธีการที่ตัวเองไม่ได้ชอบเพื่อตอบโจทย์และเงื่อนไขทางการตลาด เราไม่ค่อยเชื่อนะ ก็แล้วแต่คน เราเขียนด้วยความรู้สึกอยากเขียน และเชื่อว่ากวี นักเขียนส่วนใหญ่เขียนงานของตัวเองขึ้นมาจากความเชื่อ ความชอบของตัวเองเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ต้องขึ้นหิ้งเขียนปีนบันไดอ่าน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเขียนจะปล่อยปละละเลยได้นะครับ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการนำเสนอยังไงให้ลงตัว น่าสนใจให้ได้มากที่สุด

อังคาร จันทาทิพย์

กวีนิพนธ์ไม่ตายง่ายๆ ใช่ไหม
ทำให้มีชีวิต มันจะตายได้ยังไง พยายามทำงานให้ดี เรายืนยันคำเดิมนะ บทกวียังมีคนอ่านอยู่

สุดท้ายนี้ บทกวีมีความหมายต่ออังคาร จันทาทิพย์อย่างไร
สำหรับเราการเขียนบทกวีคือการงานของความรัก หน้าที่ของเราคือรับผิดชอบต่อความรักของตนเองให้ดีที่สุด

“ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างดีที่สุด”

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่