อย่า ‘แกว่งเท้าหาเสี้ยน’ ให้เจ็บตัวดีกว่า

-

ก่อนหน้านี้ไม่นานนักมีสำนวนไทยที่มีผู้นำมาใช้อย่างตั้งใจผ่านสื่อมวลชนสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่นสำนวน “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” “น้ำตาจระเข้” ฯลฯ

 

แกว่งเท้าหาเสี้ยน

เป็นสำนวนโบราณสมัยที่ผู้คนยังเดินเท้าเปล่าเปลือยไม่ได้สวมรองเท้า ถ้าเดินไปตามทางที่รกเรื้อโดยไม่ระมัดระวัง คือแทนที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าตามปกติ กลับแกว่งเท้าไปมาซ้ายขวาก็อาจถูกเสี้ยนหนามทิ่มแทงให้เจ็บปวดได้

มีผู้นำสำนวน “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” มาใช้เปรียบให้หมายถึงคนที่อยู่ดีไม่ว่าดี ชอบหาเรื่องใส่ตัวโดยไม่สมควร ทำให้ต้องเดือดร้อน เช่นสมพูดกับเจิมเมื่อเห็นหน้าตาที่บวมปูดของเพื่อนที่ถูกเพื่อนบ้านชกเพราะเที่ยวโพนทะนาไปทั่วเรื่องเพื่อนบ้านถูกเมียสวมเขาว่า “เอ็งมันปากเสีย รู้อะไรก็เฉยๆ บ้าง อย่าได้ปากโป้ง อย่างนี้เขาเรียกว่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เข็ดไหมวะ”

ไม่นานมานี้เกิดเหตุการณ์ที่นักการเมืองหนุ่มคนหนึ่งต้องไปกราบเท้าขออภัยนักการเมืองผู้ใหญ่ที่ตนกล่าวหาใส่ร้าย ทำให้สื่อมีอารมณ์ขันนำมาเสนอข่าวโดยแปลงสำนวน “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” เป็น “แกว่งปากหาเท้า” ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าวมีความหมายตรงตามตัวอักษรว่าอยู่ดีไม่ว่าดีต้องก้มหน้ากราบจนปากชิดเท้าของคู่กรณี

 

น้ำตาจระเข้

ครั้งหนึ่งเคยเขียนถึงสำนวน “น้ำตาเผาเต่า” เพราะมีบางคนเข้าใจว่าเต่าร้องไห้น้ำตาไหลพรากขณะถูกเผาซึ่งความจริงไม่ใช่ ฉบับนี้จึงจะเขียนถึงน้ำตาของจระเข้ซึ่งเป็นที่มาของสำนวน “น้ำตาจระเข้”

จระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่และเป็นสัตว์เลือดเย็น อาศัยอยู่แถบป่าริมน้ำ เช่น ป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อย และลุ่มน้ำลำคลอง มีทั้งจระเข้ชนิดน้ำจืดและชนิดน้ำเค็ม เวลาอยู่บนบกจะไม่คล่องตัวเท่ากับอยู่ในน้ำ จระเข้เป็นสัตว์อันตรายที่มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวและดุร้าย ล่ากินเนื้อขนาดใหญ่เป็นอาหารจนได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตโหดใต้น้ำ เมื่อได้เหยื่อแล้วก็จะใช้กรามและฟันที่แหลมคมฉีกเหยื่อเป็นชิ้นแล้วกลืนกิน จระเข้มีกระดูกขากรรไกรอยู่ใกล้กับต่อมน้ำตาที่ทำหน้าที่สร้างน้ำตาออกมาหล่อลื่นดวงตา เวลากินเหยื่อขากรรไกรจะกระตุ้นต่อมน้ำตาให้น้ำตาไหลออกมาตามธรรมชาติ

ได้มีการนำ “น้ำตาจระเข้” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงผู้ที่มีจิตใจโหดร้ายที่น้ำตาไหลโดยมิได้ตั้งใจหรือแกล้งบีบน้ำตาเพื่อให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่าตนรู้สึกสำนึกผิด และรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์หรือความทุกข์ยากที่ผู้อื่นกำลังประสบอยู่ แต่จริงๆ แล้วการหลั่งน้ำตาเป็นการเสแสร้งแกล้งทำเพื่อกลบเกลื่อนปัญหา เช่น พาทีพูดกับชินวรเพื่อนสนิทขณะนั่งกินอาหารกลางวันด้วยกันด้วยน้ำเสียงขุ่นมัวตอนหนึ่งว่า “ลื้อเชื่อเหรอว่านายของเราที่น้ำตาไหลตอนแถลงข่าวเรื่องต้องหยุดกิจการอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งๆ ที่รู้สึกเสียใจอย่างที่สุดเพราะลูกน้องต้องได้รับความเดือดร้อนน่ะ นายรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ อั๊วว่ามันเป็นน้ำตาจระเข้มากกว่า ดราม่าชัดๆ”

มีสำนวนที่เกี่ยวกับจระเข้ที่น่าสนใจอีกสำนวนหนึ่งซึ่งมีผู้ใช้ให้ได้ยินบ่อยๆ ในปัจจุบันคือ “ลิ้นจระเข้”

 

ลิ้นจระเข้

บางคนเข้าใจว่าจระเข้ไม่มีลิ้น เพราะไม่เคยเห็นลิ้นแม้เวลามันอ้าปากกว้าง จริงๆ แล้วจระเข้มีลิ้นขนาดใหญ่และหนามาก แต่ลิ้นของมันติดแน่นอยู่บนพื้นล่างของช่องปาก จระเข้จึงแลบลิ้นและกระดกลิ้นไม่ได้เหมือนสัตว์เลื้อยคลานทั่วๆ ไป แม้ลิ้นจระเข้ไม่มีต่อมรับรสอาหารแต่ก็มีคุณสมบัติเด่นคือมีระบบประสาทสัมผัสที่ไวต่อการสั่นสะเทือนความเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี

สำนวน “ลิ้นจระเข้” ถูกนำมาใช้เปรียบกับคนที่มีระบบรับรสอาหารไม่ดี แยกแยะความแตกต่างของรสอาหารไม่ค่อยได้ เช่น ขณะสามแม่ลูกช่วยกันทำอาหารอยู่ในครัว เมื่อแม่บอกโอบลูกชายให้ลองชิมแกงเลียงว่ารสดีแล้วหรือยัง อ้อมก็พูดขึ้นว่า “อย่าให้พี่โอบเขาชิมเลยแม่ พวกลิ้นจระเข้ ยังไงๆ ก็อร่อยหมดน่ะแหละ มาหนูชิมเอง”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!