กลายเป็นกระแสฮือฮาและถูกจับตาไปทั่วโลก สำหรับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างคาดไม่ถึงในทุกวงการ จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ ในการประชุม World Economic Forum on ASEAN 2018 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ก็มีการกระตุ้นให้ทุกประเทศในอาเซียนเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 (The Fourth Industrial Revolution) อีกทั้งสภาเศรษฐกิจโลกยังเคยคาดว่าในปี 2020 ความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และนาโนเทคโนโลยี จะทำให้กว่า 5 ล้านอาชีพทั่วโลกสูญหายไป
หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) แห่งรัสเซีย ก็เคยพูดให้นักเรียนที่เมือง Yaroslavl ฟังในหัวข้อ “โลกอนาคตเป็นของ AI” พร้อมกับย้ำว่า เทคโนโลยี AI ไม่เพียงเป็นอนาคตของรัสเซีย แต่ยังเป็นอนาคตของมวลมนุษยชาติ และประเทศใดที่เป็นผู้นำในศาสตร์นี้ จะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง
เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ที่คนไทยทั่วไปอาจมองว่าไกลตัว ออล แม็กกาซีน มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านการค้นคว้า วิจัย ทดลอง และรวบรวมเป็นองค์ความรู้เผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย ถือเป็นสถาบันที่เป็นคลังสมองแห่งชาติที่สำคัญสถาบันหนึ่งของประเทศไทย เพื่อให้ได้คำตอบว่า “คน” ต้องพัฒนาความสามารถและทักษะอย่างไร จึงจะอยู่รอดได้เมื่อ AI เก่งขึ้นทุกวัน!
ดร.สมเกียรติ เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบกับโลกปัจจุบันว่า “ตอนนี้คอมพิวเตอร์เก่งขึ้นมาก จนเกิดความกังวลกันทั่วโลกว่าคอมพิวเตอร์จะเก่งกว่าคนในหลายๆ ด้าน เช่น ที่ประเทศจีน คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์สามารถสอบข้อเขียนเพื่อรับใบอนุญาตเป็นแพทย์จนชนะมนุษย์ไปแล้ว คอมพิวเตอร์สามารถวินิจฉัยโรคต่างๆ ไม่ต่างกับหมอ เช่น เป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่ เป็นปอดบวมหรือไม่ หัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ เรื่องนี้น่าตกใจมาก เพราะเราคิดเสมอว่าหมอคือคนที่เรียนเก่งที่สุด ปกติหมอใช้เวลา 15 นาทีในการอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ แต่คอมพิวเตอร์ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวินาที แถมยังบอกผลได้แม่นยำกว่าอีกด้วย เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ช็อคความรู้สึกของคนทั้งโลกมาก
“อีกเรื่องคือเรื่องหมากล้อมหรือ ‘โกะ’ ที่คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ ซีพี ออลล์ เป็นผู้บุกเบิกมาอย่างยาวนาน เมื่อไม่นานมานี้ อัลฟาโกะ (AlphaGo) คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลสามารถเอาชนะปรมาจารย์ลี เซดอล (Lee Sedol) ชาวเกาหลีใต้ได้สำเร็จ ทำให้เกาหลีใต้ต้องหันกลับไปปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น และหนึ่งปีหลังจากนั้น อัลฟาโกะซีโร่ (AlphaGo Zero) ที่ฉลาดและล้ำกว่าเดิมก็สามารถล้มอัลฟาโกะ แชมป์โกะ AI ตัวเก่าได้อีกด้วย เรื่องนี้ช็อคความรู้สึกของคนเหมือนกัน เพราะกว่าจะเป็นเซียนหมากล้อมได้ต้องเรียนและฝึกปรือมาอย่างยาวนาน แต่จู่ๆ กลับมีคอมพิวเตอร์ซึ่งเกิดมาเพียงไม่กี่ปี สามารถเอาชนะคนได้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อัลฟาโกะซีโร่ใช้เวลาฝึกหมากล้อมเพียงสามวัน แถมยังเอาชนะอัลฟ่าโกะได้ถึง 100 กระดานต่อ 0”
ประธานทีดีอาร์ไอมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของโลก เพราะความเก่งของคอมพิวเตอร์ไม่ได้กระทบแค่คนเรียนเก่งหรือคนที่มีความสามารถสูงๆ เท่านั้น แต่กระทบถึงคนทั่วไปด้วย เช่น การเกิดของแอพพลิเคชั่นอย่าง Google Map, Grab หรือ Uber ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแท็กซี่สีดำในลอนดอนซึ่งเป็นแท็กซี่แบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้คนขับรถที่ถูกฝึกฝนให้จดจำเส้นทางอย่างแม่นยำนานหลายปี ร้านแอมะซอนโก (Amazon Go) ในสหรัฐอเมริกา ใช้ระบบ Just Walk Out ที่ลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกซื้อของ หยิบสินค้า ชำระเงินผ่านแอพฯ Amazon Go และเดินออกจากร้านไปได้เลยทั้งที่ไม่มีพนักงานแม้แต่คนเดียว “ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปฏิวัติในทุกวงการอย่างก้าวกระโดดและน่าตกใจมาก ต่อให้คิดว่าไกลตัวแค่ไหน วันหนึ่งผลกระทบก็จะมาถึงพวกเราทุกคนอย่างแน่นอนครับ ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่คนที่ประกอบอาชีพเงินเดือนสูงๆ อย่างหมอ นักกฎหมาย นักบัญชี หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปจะโดนคอมพิวเตอร์เข้ามาแข่งมาทดแทน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คนไทยจึงมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมตัวรับมือให้ได้ครับ”
หลายคนอาจยังสงสัยว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คืออะไร ด็อกเตอร์หนุ่มอธิบายว่า ปัญญาประดิษฐ์คือคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดและคิดได้เก่งเท่ากับคนหรือเก่งยิ่งกว่าคน “ในประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจหลายแห่งนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศแล้วว่าจะนำ AI มาอ่านสัญญาทางกฎหมายแทนนักกฎหมาย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง คลังสินค้าบางแห่งนำคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการจัดเก็บและส่งมอบสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมของไทยจำนวนมากนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนคน และลดจำนวนพนักงานลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เราต้องยอมรับว่าในเรื่องของความแม่นยำ คอมพิวเตอร์ทำได้ดีกว่ามนุษย์ แถมยังไม่บ่น ไม่ท้อ ไม่อู้ ไม่ลา ไม่ต้องมีวันหยุด ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เพียงแต่คนไทยยังรู้สึกว่ามันไกลตัวเท่านั้นเอง”
ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่คนที่ประกอบอาชีพเงินเดือนสูงๆ อย่างหมอ นักกฎหมาย นักบัญชี หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปจะโดนคอมพิวเตอร์เข้ามาแข่งมาทดแทน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คนไทยจึงมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมตัวรับมือให้ได้ครับ
เมื่อถามถึงการรับมือและเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลไทย ดร.สมเกียรติมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยมียุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการจัดตั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อรองรับการเติบโตด้านเทคโนโลยี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยมุ่งเน้นการลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมไอทีเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์เพื่อการเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านปัญญาประดิษฐ์เท่าที่ควร จึงไม่สามารถพัฒนาและสร้างงานที่มีทักษะสูงมารองรับได้ เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ที่เน้นเรื่องการให้ทุนวิจัยร่วม พร้อมทั้งมีนโยบายหาแรงงานทักษะมาป้อนตามความต้องการ
มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า เพื่อให้มนุษย์อยู่รอด แล้วงานในลักษณะใดที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถมาทดแทนได้ ดร.สมเกียรติอธิบายว่า แม้อุตสาหกรรมต่างๆ จะถูกกระทบจากเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีทักษะงาน 3 ประเภท ที่จะไม่ถูกกระทบ นั่นก็คือ Hand-Head-Heart หรือ 3H ได้แก่
1) Hand กลุ่มงานที่ใช้ประสาทสัมผัสทางมือแบบประณีต
2) Head กลุ่มงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
3) Heart กลุ่มงานที่ต้องดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น หรือใช้ “ใจ” ในการทำ
กลุ่มงานทั้ง 3H ต้องมีการยกระดับขึ้นเป็น 3C คือ
1) Craft คือการผลิตสินค้าประณีต เช่น สินค้าเกษตรแบบญี่ปุ่น เฟอร์นิเจอร์สั่งทำ คราฟต์เบียร์ เป็นต้น
2) Creative เช่น การผลิตเกม งานบันเทิง ศิลปะ
3) Care งานบริการต่างๆ เช่น ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย มัคคุเทศก์ ดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
“งานทั้งสามชนิดนี้เป็นงานที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ เราจะต้องทำให้การศึกษาของไทยสร้างทักษะสามชนิดนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ การสร้างทักษะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมไทยต้องช่วยกัน” นักวิชาการหนุ่มเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ประธานทีดีอาร์ไอยังอธิบายถึงกลยุทธ์ที่จะนำทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ Hand-Head-Heart ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยว่า ประกอบด้วย 1. มองภาพรวม คอมพิวเตอร์เก่งในเรื่องการคิดวิเคราะห์แยกเน้นเป็นส่วนๆ ไม่สามารถมองภาพรวมเพื่อวางแผนกลยุทธ์ได้ การเชื่อมต่อภาพรวมของงานจึงเป็นทักษะที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน 2. ร่วมก่อการ เมื่อรู้ว่าคอมพิวเตอร์มาแน่ ก็หาแนวทางร่วมพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานของมนุษย์สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มนุษย์เป็นผู้วางกลยุทธ์และให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ 3. ชาญฉลาดใช้ รู้จักนำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างชาญฉลาด เช่น แพทย์ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซเรย์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ และแพทย์จะมีเวลาพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น 4. ใฝ่หาช่องว่าง แม้คอมพิวเตอร์จะเก่ง แต่ก็ยังมีบางอาชีพที่ไม่มีใครสร้างเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานมนุษย์ อาชีพเฉพาะนั้นๆ จึงยังคงเป็นอาชีพของมนุษย์อยู่ต่อไป 5. แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์ ใช้อารมณ์หรือเรื่องราวเพิ่มคุณค่าให้แก่ชิ้นงานหรือสินค้า เช่น การเสพความละเมียดละไมของกาแฟคั่วบดมือ
“ในศตวรรษที่ 21 การเรียนแบบท่องจำและการเรียนเพื่อรู้แต่เรื่องข้อมูล (information) เพียงอย่างเดียว จะมีประโยชน์น้อยลงทุกที เรียกได้ว่า ความรู้จาก 1i ไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องปรับเป็น 4i คือ (i)magination – จินตนาการ, (i)nspiration – แรงดลใจ, (i)nsight – ความเข้าใจลุ่มลึก และ (i)ntuition – ญาณทัศน์ การหยั่งรู้ เพราะเคยมีผู้เชี่ยวชาญในวงการไอทีพูดไว้ว่า ‘เราต้องเตรียมตัวสำหรับงานที่ยังไม่เกิดขึ้น เราต้องใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร’ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสิบปีก่อน ไม่มีใครรู้จักตำแหน่งงานที่ชื่อว่า ‘งานวิเคราะห์ข้อมูล’ แต่ปัจจุบันคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้กลายเป็นมนุษย์ทองคำที่เงินเดือนสูงมากในแวดวงธุรกิจ และงานวิเคราะห์ big data แบบนี้ในอนาคตก็อาจกลายเป็นงานที่ล้าสมัย อีกสิบปีข้างหน้า เราไม่มีวันรู้เลยว่าเราจะได้ทำงานอะไร ใช้เทคโนโลยีแบบไหน และมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไข ผมมองว่าปัญหานี้จะหมดไป เราต้องทำให้คนในสังคมมีทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องครับ
มีคนถามผมเสมอว่าอาชีพอะไรในอนาคตที่ไม่ถูกกระทบจากคอมพิวเตอร์ ผมมองว่ามันก็พอจะมีอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทุกอาชีพจะถูกกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงหมด เพราะฉะนั้นอย่าได้ปักใจว่าเราจะประกอบอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครู ทนายความ หรืออาชีพอะไรก็ตาม มีคนเคยบอกว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของเรา อาจต้องเปลี่ยนงานสัก 5-6 อาชีพ เพราะอาชีพบางอาชีพจะหายไป เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทน การเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือคุณสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ และปรับตัวได้มากน้อยขนาดไหน เรื่องนี้เป็นความท้าทายของมนุษยชาติ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตัวเอง การอ่านหนังสือจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างลึกซึ้ง น่าเสียดายที่คนไทยอ่านหนังสือค่อนข้างน้อยเกินไป ผมอยากให้เด็กไทยมีทักษะเรื่องภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เพราะเขาจะสามารถเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้กว้างไกลขึ้น การมีทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญจนสามารถพลิกชีวิตคนคนหนึ่งได้ทีเดียว” ด็อกเตอร์หนุ่มกล่าว
ดร.สมเกียรติยังได้เสนอแนวทางการสร้างทักษะที่จำเป็นต่อมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ไว้ด้วยว่า “การเรียนการสอนทุกวิธีต้องเน้นการลงมือปฏิบัติจริงให้มากขึ้น จนกลายเป็น ‘ปัญญาปฏิบัติ’ หมายถึงเกิดปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติ ไม่ใช่ปัญญาที่ได้จากการท่องจำ การเรียนในห้องเรียนต้องเปลี่ยนเป็นการเน้นทำโครงงาน (project base) เน้นการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลองคล้ายจริง เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ส่วนเรื่องทฤษฎีก็ยังจำเป็นต้องเรียนอยู่ แต่อาจลดลงไปเหลือแค่ 1 ใน 3 การทดลองอีก 1 ใน 3 และปฏิบัติจริงอีก 1 ใน 3 สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกระแสหลักของการเรียนรู้ในอนาคต เด็กสมัยใหม่ต้องรู้เรื่องทฤษฎี แล้วนำมาทดลองใช้ จากนั้นก็เป็นการปฏิบัติ พอปฏิบัติได้ ต้องมาเรียนทฤษฎีเพิ่มขึ้นอีก เรียนเสร็จก็ไปทดลอง ทดลองแล้วไปปฏิบัติ ฝึกฝนให้เป็นเกลียวต่อยอดสูงขึ้นไป เรียกว่าต้องช่วยกันทั้งสามตัวจึงจะบรรลุผลสำเร็จ”
มีคนถามผมเสมอว่าอาชีพอะไรในอนาคตที่ไม่ถูกกระทบจากคอมพิวเตอร์ ผมมองว่ามันก็พอจะมีอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทุกอาชีพจะถูกกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงหมด เพราะฉะนั้นอย่าได้ปักใจว่าเราจะประกอบอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต
ทั้งนี้ เด็กไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับปัญญาประดิษฐ์ที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ และมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ A-S-K ได้แก่
Attitude หรือทัศนคติและอุปนิสัยที่เหมาะสม
Skill หรือทักษะในการทำงานต่างๆ
Knowledge หรือความรู้
“เด็กไทยในปัจจุบันมีตัว K มากไป ส่วนตัว A และตัว S ก็มีน้อยเกินไป การสอนเด็กในอนาคตจึงต้องสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ด้วยตัวเอง สื่อสารเก่ง มีความอดทน เกิดความคิดเชิงวิพากษ์ และสามารถเรียนรู้จากหลายแหล่งได้ เด็กไทยในอนาคตจึงจะเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรับมือกับการเติบโตของเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที เราต้องตระหนักว่าโลกใบใหม่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว เด็กยุคต่อไปจึงต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง และการจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องฝึกทักษะจากการทำ จนกลายเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องสมาร์ทขึ้น ฉลาดขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดในโลกอนาคตว่าประเทศไทยจะอยู่รอดหรือไม่ การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง”
เราถามต่อไปว่าแล้วเด็กไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ดร.สมเกียรติตอบชัดเจนตามสไตล์ “ในชีวิตเด็กคนหนึ่ง นั้นมีแหล่งเรียนรู้ทั้งหมดสามแห่ง หนึ่งคือตัวเองกับครอบครัว ต้องสร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นั่นคืออุปนิสัยรักอ่านหนังสือ เมื่อเด็กมีพื้นฐานด้านการอ่าน เขาจะมีความมั่นใจในการหาข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น สองคือโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สามคือชุมชนกับสังคม ผมให้น้ำหนักทั้งสามส่วนเท่ากัน ถ้าเราทำให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านรักการเรียนรู้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน เขาก็อ่านได้ ศึกษาได้ เรียนรู้ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เด็กไทยจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่ต้องรีบทำโดยเร็วนะครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก เร็วไม่ต่างจากสึนามิ เร็วอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ตอนยังไม่มา คุณจะเห็นว่าทะเลสงบ แต่พอมันมา คุณจะไม่มีเวลาเตรียมตัวแล้ว มันจะมาเร็วแบบนั้นเลยครับ”
ทั้งหมดนี้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งในการเตรียมรับมือเพื่อความอยู่รอดในอนาคตของคนไทยไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม