ปี 2543 เรื่องราวของเพื่อนสนิทต่างเพศ ไข่ย้อย และ ดากานดา ปรากฏสู่สายตาของนักอ่านเป็นครั้งแรกในรูปหนังสือนวนิยายขนาดสั้นที่ใช้ชื่อกล่องไปรษณีย์สีแดง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี ต่อมา พ.ศ.2548 ได้ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเพื่อนสนิท และทำรายได้ถล่มทลายพร้อมแจ้งเกิดให้ผู้รับบทบาทจนขึ้นเป็นนักแสดงแถวหน้าในปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่เรื่องราวความรักระหว่างเพื่อนยังคงตรึงใจนักอ่านและแฟนภาพยนตร์ พร้อมความสงสัยที่ไม่เคยเลือนหายไปว่า ไข่ย้อย ดากานดา หรือแม้แต่นุ้ย ชีวิตเขาเหล่านั้นล้วนเป็นเช่นไรในเวลาต่อมา “อภิชาติ เพชรลีลา” นามปากกาของ “สุรฉัตร เพชรลีลา” ผู้ให้กำเนิดเรื่องราวทั้งหมดได้กลับมาจรดปากกาคลายความสงสัย พร้อมนำเรื่องราวที่หลายคนคิดถึงหวนกลับมาอีกครั้งกับหนังสือภาคต่อที่มีชื่อเดียวกันกับตัวเอกว่า ‘ไข่ย้อย ดากานกา’ เส้นทางชีวิตของเพื่อนสนิทที่เดินมาบรรจบกันอีกคราในวัย 31 ปี
คำถามแรกกับการชวนให้หวนนึกถึงเรื่องราววัยเด็ก เริ่มต้นสนใจการอ่านหนังสือได้อย่างไรคะ
ผมเกิดที่กรุงเทพฯครับ มีน้องสาวหนึ่งคนที่รักการอ่านเหมือนกันจำได้ว่าหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ตัดสินใจซื้อเองคือเรื่องศรีธนญชัย พ่อให้เลือกซื้ออะไรก็ได้ ผมเลือกเอาหนังสือ ตอนประถมส่วนใหญ่จะอ่านการ์ตูนโดราเอมอนเล่มละสิบบาท การ์ตูนพื้นบ้านเล่มละบาท เดินกลับมาจากโรงเรียนกับน้องก็จะแวะซื้อหนังสือการ์ตูน เริ่มอ่านหนังสือวรรณกรรมแปลช่วงอยู่ ม.1 ตอนนั้นรู้แต่ว่าได้สัมผัสความรู้สึกซึ่งจินตนาการพาไปไกลสุดขอบฟ้า ในสมุดพกคุณครูประจำชั้นจะเขียนไว้ว่า “เป็นคนค่อนข้างเฉย ชอบอ่านหนังสือ ใช้เวลาในห้องสมุด ตั้งใจเรียนพอสมควร ไม่ใคร่ชอบเข้าหาผู้ใหญ่ มักอยู่คนเดียวกับหนังสือ รักหนังสือ ถ้ารู้จักเลือกหนังสือที่มีประโยชน์อ่านแล้วจะดีมาก”จริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะผมย้ายมาอยู่บ้านย่าเพื่อให้ใกล้โรงเรียน ก็เลยเหงา ยืมหนังสือห้องสมุดมาอ่านเพื่อสร้างโลกส่วนตัว ความจริงแล้วน้องสาวอ่านงานวรรณกรรมไปก่อนผมเสียอีก ทำให้ผมได้รู้จักกับ “อุษณา เพลิงธรรม” “‘รงค์ วงษ์สวรรค์” และ “ลาวคำหอม” จากหนังสือของน้องสาว ตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือจริงจังมากขึ้น เพราะรูมเมทอยากเป็นนักเขียน พยายามเขียนเรื่องสั้นส่งไปนิตยสารต่างๆ ทำให้ได้พูดคุยกันเรื่องนี้บ่อยๆ ส่วนตัวผมตอนนั้นสนใจงานเขียนสารคดี ได้มีโอกาสเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเชียงใหม่ด้วยครับ
มีหนังสือที่เรียกว่า ‘เปลี่ยนชีวิต’ บ้างรึเปล่า
หนังสือที่สั่นสะเทือนผมถึงหัวใจเป็นหนังสือที่ได้อ่านถูกที่ถูกเวลา คือเรื่องชูมาน ของ “พิบูลศักดิ์” ละครพลฉากแรกชูมานขี่จักรยานสั่นกระดิ่งกริ๊งๆ มาบนเนินสันอ่างแก้วในวันท้องฟ้าสดใสและเมฆสีขาว เป็นรักแรกพบและเกิดเรื่องราวความรักในเวลาต่อมา หากใครอายุพอกับผมตอนนั้น เรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โอบล้อมด้วยดอยสุเทพป่าสัก สายน้ำนั้นไหลลงสู่อ่างแก้ว ได้อ่านเรื่องชูมาน ก็จะสั่นสะเทือนหัวใจไม่ต่างกัน และหนังสืออีกเรื่องซึ่งสั่นสะเทือนผมด้านการเขียนหนังสือคือ ฉากและชีวิต ของวัฒน์ วรรลยางกูร ตัวละครตาพร น้าน้อย ชีวิตและฉากของหนังสือเล่มนี้ยังติดตามผมไปในหนังสือทุกเรื่องที่ผมเขียนขึ้น ส่วนงานแปลต่างประเทศ แผ่นดินของเรา และ เจ้าชายน้อย แต่ละเรื่องของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ทำให้สั่นสะเทือนลึกซึ้งกับความงามของโลกและความรักเป็นอย่างยิ่ง
แล้วมาเริ่มต้นเขียนหนังสือจริงจังได้อย่างไร
การเขียนหนังสือของผมมาจาก มีเรื่องที่อยากเก็บเอาไว้ในขวดแก้ว อยากย้อนไปยังวันวานซึ่งมีความสุขที่สุดในชีวิต กระบวนการย้อนรำลึกด้วยตัวหนังสือมันบำบัดอาการอ้างว้างข้างในตัวผมเองขณะนั้น นิยายเรื่องแรกที่เขียนคือเรื่องอยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง เป็นไทม์แมชชีนนำผมย้อนสู่ห้วงแห่งความสุขสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเพื่อนๆ ขณะความจริง ผมต้องต่อสู้กับความรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวเอง เมื่อต้องทำงานประจำในออฟฟิศใจกลางกรุงเทพฯ ประการที่สอง การที่ผมอ่านงานวรรณกรรมที่ดีจำนวนมาก ทำให้อยากเขียนเรื่องของผมเองขึ้นมาให้ได้อย่างนั้นบ้าง และสาม มีบ่อยครั้งที่ผมได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกกับตัวเองว่า ผมเล่าเรื่องได้ดีกว่านี้เสียอีก ทั้งหมดนี้ประกอบกันจนเป็นเหตุให้ลงมือเขียน
โดยปกติแล้วถ้าหนังสือมีกระแส มักจะมีภาคต่อออกมาในเวลาไม่นานนัก แต่ทำไมคุณถึงทิ้งช่วงจนนิยายกล่องไปรษณีย์สีแดง เกือบ 20 ปี กว่ากลับมาเขียนเรื่องราวภาคต่อของไข่ย้อยและดากานดาอีกครั้ง
ตอนหนังสือกล่องไปรษณีย์สีแดงขายดีมากหลังจากถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังเรื่องเพื่อนสนิท พี่เสี้ยวจันทร์ แรมไพรแนะนำให้ผมเขียนภาคสองออกมา ผมตอบเพียงว่า เรื่องนี้จบอย่างสมบูรณ์และงดงามแล้ว มาถึงวันนี้ ผมขอตอบอย่างเพื่อนซึ่งสนิทสนมจริงใจกัน เหตุส่วนหนึ่งที่ผมกลับมาเขียนภาคต่อก็ด้วยเหตุทางเศรษฐกิจธรรมดาๆ จึงกลับมาทบทวนแล้วเขียน แต่แน่นอนว่า ผมต้องเขียนให้ไข่ย้อย ดากานดากลับมาอย่างเหมาะสมเพื่อนักอ่าน ตามมาตรฐานงานก่อนๆ ของตัวเอง
ที่ผ่านมาคุณมักยืนยันว่าไม่รู้เรื่องราวต่อจากนั้นของตัวละคร ดังเช่นที่เขียนในคำนำของหนังสือกล่องไปรษณีย์สีแดงว่า ‘อย่าพยายามนึกว่า ไข่ย้อย ดากานดา นุ้ย ตัวละครเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น เพราะผมเองก็ไม่รู้’ การกลับมาเขียนต่อในครั้งนี้แสดงว่าคุณ ‘รู้’ เรื่องราวของพวกเขาแล้ว
หากตอบว่าผมรู้แล้วคงไม่ถูกต้อง เมื่อกลับมาเขียนผมยังไม่รู้อะไรเลย ตอนเริ่มต้นผมแค่วางชีวิตพวกเขาไว้บนอายุ 31 ปี ทั้งไข่ย้อย ดากานดา นุ้ยเปี่ยมด้วยรอยแผลเป็นจากอดีตซึ่งผมรับรู้เป็นอย่างดี ชะตาชีวิตค่อยๆ ผลักทั้งสามคนไปข้างหน้า ให้ไข่ย้อยกลับมาพบดากานดาอีกครั้ง ให้นุ้ยก้าวข้ามฝันร้าย ให้ทั้งหมดชำระหัวใจตนเอง การเขียนคือการที่ผมทั้งผลักทั้งดัน โดยไม่ไปกำหนดชีวิตให้พวกเขาพอเขียนไปถึงจุดหนึ่งๆ ผมก็หยุดรอฟังว่าไข่ย้อย ดากานดา นุ้ยเลือกเดินทางใดผมเพียงแต่พูดกับพวกเขา “ไข่ย้อย มึงนี่มันไข่ย้อยจริงๆ ต้องอย่างงั้นสิวะไข่ย้อย ไม่ต้องเกร็ง มึงยังเป็นไข่ย้อยคนเดิม นุ้ย ไม่ต้องหวาดกลัว ปลดปล่อยความเศร้าเสียใจออกมาให้หมด แล้วอย่างที่เธอเคยพูดเสมอๆ ให้โอกาสชายทุกคนที่รักเธอ ต้องมีใครสักคนรักเธอจริง รอยยิ้มของเธอยังไง นอกจากเศร้าสวย ยังเฉลียวฉลาดอีกด้วย ดากานดา สลัดความคิดกังวลเรื่องของวันข้างหน้าไปเสียเถิด คิดมากกังวลมากทำให้ความเป็นศิลปินและงานศิลปะไปไม่สุด ความรักก็ด้วย”
จะเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบได้รึเปล่า ความรับผิดชอบที่มีต่อตัวละครของคุณซึ่งไม่สามารถทิ้งให้พวกเขาค้างคาได้
ไม่ใช่ความรับผิดชอบหรอก ผมทำโดยพลการด้วยซ้ำ ในการเขียนหรือสร้างเรื่องราวภาคต่อ มีสิ่งกระทบแน่ๆ สองทางคือ ขอบใจที่เล่าเรื่องราวต่อมาได้อย่างหมดจดน่าประทับใจ หรือไม่ก็… โปรดทิ้งเรื่องราวแสนงดงามไว้ตรงที่เดิมเถิด ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง ผมจะเอ่ยปากขอโทษตัวละครของผมด้วยตัวเอง
ในการทำงานภาคต่อเป็นอย่างไรบ้าง ยากไหมกับการต้องมารื้อฟื้นเรื่องราวที่เขียนไว้สิบปีกว่าแล้ว
ผมเริ่มเขียนบทแรก “ดากานดา” ในเดือนสิงหาคม ปี 2558 เขียนแล้วก็ทิ้งไปเป็นปี ถึงกลับมาเขียนต่ออย่างจริงจังรวดเดียวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2559 จนมาเขียนจบในเดือนมีนาคม ปี 2560 การกลับมาเขียนถึงเรื่องราวที่ผ่านไปนานขนาดนี้ สิ่งต้องระมัดระวังคือ ต้องเขียนให้ตัวเองกับคนอ่านเชื่อและรู้สึกสนิทใจจริงๆ ว่าไข่ย้อย ดากานดา นุ้ย ยังคงเป็นเพื่อนคนเดิมที่รู้จัก แม้ว่าทั้งสามคนจะเติบโตไปพานพบเหตุการณ์ใดๆ ได้เจอใครบางคนซึ่งเข้ามาในชีวิต นำพาโชคชะตาเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ตาม
แล้วกดดันบ้างไหม เพราะบทประพันธ์กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง ทำให้หลายคนรู้จักตัวละครของเรามากขึ้น
ขณะเขียนไม่กดดันอะไรนะ ที่รู้สึกลำบากเล็กน้อยคือ ตอนเขียนถึงไข่ย้อย แต่พอผมเขียนไข่ย้อยเป็นไข่ย้อยคนเดิมได้ ก็รู้สึกเป็นครั้งแรกว่าจะเขียนเรื่องนี้ให้จบลงอย่างดีแน่ๆ แต่หลังจากหนังสือเผยแพร่ออกไปแล้ว นักอ่านบางท่านสะท้อนออกมาว่า ไม่ชอบตอนจบแบบนี้ อยากหยุดอยู่ในความรักแบบไข่ย้อย ดากานดาของภาคกล่องไปรษณีย์สีแดงดีกว่า ซึ่งผมเข้าใจได้นะ ความรักไม่สมหวังดั่งรักแรกนั้นติดเป็นภาพประทับใจ ซาบซึ้งตราตรึงยากจะลืมกว่าความรักซึ่งสุขสมหวัง
ดูเหมือนภาคต่อไข่ย้อย ดากานดา จะเขียนอิงกับภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิทด้วย
ครับ ความตั้งใจของผมนั้น ผมคิดว่า งานเขียนเรื่องกล่องไปรษณีย์สีแดงเมื่อถูกนำไปเขียนบทเพิ่มเติมจนกลายเป็นหนังเรื่องเพื่อนสนิทแล้วก็มิอาจแยกขาดกันได้ เมื่อผมเขียนภาคต่อมาของเรื่องราวในเวลาเก้าปีที่ผ่านไป ผมจึงพยายามเชื่อมเรื่องราวของหนังสือกับเรื่องราวของภาพยนตร์เข้าด้วยกัน ทั้งด้วยตัวละครทั้งด้วยเหตุการณ์ เพื่อให้คนอ่านหนังสือและคนดูหนังไม่ตกหล่นไป และสิ่งที่ผมยืนยันได้ก็คือ โชคชะตาของไข่ย้อย ดากานดานั้น ถูกผลักดันโดยวันและวัยอันเติบโตขึ้น ด้วยเหตุการณ์และชะตากรรม ด้วยความรักความผูกพันใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป เป็นไข่ย้อย ดากานดาวันที่เปี่ยมล้นความเข้าใจความเป็นผู้ใหญ่ในวัย 31 ปี
เราจะมีโอกาสได้เจอไข่ย้อยและดากานดา ในอีก 10 ปีข้างหน้าอีกไหม
ไม่น่านะ แต่ผมไม่ปฏิเสธแล้วกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการตอบคำถามสัมภาษณ์ สิ่งที่ผมเคยปฏิเสธหรือพูดไป ไม่อาจเป็นจริงอย่างนั้นได้ทุกเรื่อง แม้จะจริงใจอย่างที่สุดต่อการตอบคำถามแล้วก็ตาม
ผลงานเขียนของ ‘อภิชาติ เพชรลีลา’ สังเกตว่าแต่ละเรื่องที่ออกมาค่อนข้างทิ้งระยะห่างกันพอสมควร เป็นเพราะเราต้องต้องผลึกอย่างที่สุดก่อนจึงลงมือเขียนหรือเพราะปัจจัยอื่น
คำว่าตกผลึกหรูหราเกินไป ผมจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งก็ต่อเมื่อมีเรื่องอยากเล่าอยากเขียน คล้ายๆ กับไร่นาสวนที่ผมปล่อยให้เจริญงอกงามเป็นอิสระ เวลาผลิดอกออกผล ถ้าผลผลิตไม่สมบูรณ์ผมก็จะไม่เก็บเกี่ยว ทิ้งให้ตายไป ต่อเมื่อมันบริบูรณ์งามพร้อม มีรสเลิศ ผมจึงเก็บเกี่ยวจึงลงมือเขียน แต่สำหรับเรื่องล่าสุด ไข่ย้อย ดากานดาอย่างที่บอกไป แทนที่จะรออยู่เฉยๆ เหมือนทุกครั้ง มันถูกเร่งเร้าให้เขียนจนจบด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย ช่วยคั้นมันออกมา
สังเกตงานเขียนของคุณจะมีธรรมชาติ การเดินทาง การเขียนจดหมาย ประกอบอยู่ในเรื่องราว ถือเป็นลายเซ็นหรือแนวทางของคุณได้รึเปล่า
ผมไม่อาจอธิบายสิ่งที่ตัวเองเขียนได้ดีเท่าคนอ่าน ผมแค่คอยสดับฟังจากนักอ่านทั้งหลาย อย่างสร้อยแก้ว คำมาลา เพื่อนนักเขียนบอกผมว่า งานของผมมีอารมณ์เฉพาะซึ่งเธอรู้สึก เป็นความรู้สึกของผู้ที่ได้อ่าน ผมบอกได้แค่เรื่องการเขียนผมจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองต่อเรื่องเล่าต่อตัวละคร ต่อประสบการณ์บางอย่างข้างใน เวลาเขียนทุกๆ เรื่อง
สำหรับนักเขียนนาม ‘อภิชาติ เพชรลีลา’ การเขียนหนังสือสำคัญอย่างไรคะ
การเขียนหนังสือให้ความภาคภูมิใจ การมีตัวตนบนโลก ไม่ต้องตอบคำถามแล้วว่าชีวิตคืออะไร อยู่เพื่ออะไร ทุกวันนี้ผมไม่ต้องประดิดประดอยตัวเองงานเขียนหนังสือนั้นมอบทุกสิ่งที่การงานอันเป็นที่รักพึงจะมอบให้ผมได้ทั้งหมด
สุดท้ายนี้ ฝากคำแนะนำถึงคนที่อยากจะเป็นนักเขียนหน่อยค่ะ
เราทุกคนมีเรื่องเล่าเป็นนิยายของตัวเองทั้งนั้น มันคือความรักความชังความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไปนั่นเอง แต่การจริงใจต่อความรู้สึกตัวเอง ต่อเรื่องเล่า ต่อตัวละคร ต่อประสบการณ์บางอย่างข้างในจะทำให้เราเป็นนักเขียน เป็นนักประพันธ์ ทำให้เรื่องราวธรรมดาๆ ของนิยายที่เขียนเป็นความตรึงตราในใจผู้อ่าน
จริงใจและซื่อตรงต่อทุกสิ่งที่ทำ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล
คอลัมน์:นัดพบนักเขียน
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: อภิชาติ เพชรลีลา