“หนูชอบภาษาของเขา มันมีความชัดเจน ตรงไปตรงมาดีค่ะ”
“แต่บางคนก็บอกว่าอ่านยากนะ”
“สำหรับหนูไม่ยากนะคะ มีความลึกซึ้งแต่ไม่ยาก หนูอ่านหมดทุกเล่มที่มีในร้านนี้เลยค่ะ”
บทสนทนานี้เกิดขึ้นในร้านหนังสืออิสระแห่งหนึ่ง สองสาวนักอ่านมักจะมีนัดหมายมาคุยกันเรื่องหนังสืออยู่เป็นประจำ ครั้งนี้เป็นคิวของนักเขียนมากฝีมือผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาพอสมควร มีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่น ทั้งยังมีนิตยสารให้สมญานามที่กลายเป็นชื่อติดตัวต่อมาว่า “มูราคามิเมืองไทย” ผลงานของเขามีออกมาให้เห็นเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบงานแปล เรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี โดยรวมเรื่องสั้นของเขาผ่านเข้ารอบแรกและรอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ผลงาน เคหวัตถุ นิมิตต์วิกาล และล่าสุดกับอาคเนย์คะนึง ปัจจุบันผลงานเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องวายัง อมฤต ได้เข้ารอบหนึ่งในเจ็ดผลงาน SHORT LIST เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 16 “อนุสรณ์ ติปยานนท์”
ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่า ได้อิทธิพลการอ่านจากไหนบ้างคะ
ในวัยเด็ก ผมเป็นลูกชายคนเดียวที่อยู่กับคุณปู่และคุณย่าในตอนนั้น จำได้ว่าคุณปู่ชอบอ่านหนังสือมาก คุณปู่จะซื้อหนังสือทุกเดือนและมีห้องสมุดส่วนตัว คุณปู่ของผมเป็นข้าราชการธรรมดา แต่ว่าชอบอ่านชอบเขียน ถ้ากระทรวงมีงานแสดงละคร แกจะเป็นคนเขียนบทละครร้องให้ แต่เรื่องที่จำได้ดีที่สุดคือห้องสมุดของคุณปู่ บ้านในตอนนั้นมีด้วยกัน 2–3 หลัง ชั้นใต้ถุนด้านล่างจะเป็นห้องสมุดซึ่งเก็บหนังสือเยอะมาก และยังมีห้องสมุดแยกย่อยบนตัวบ้านอีก ผมอ่านแทบจะไม่หมด หนังสือที่อ่านหลักๆ ตอนนั้น เช่น เทพนิยายกริมม์ งานแปลของพระยาอนุมานราชธน หรือแม้แต่นวนิยายของ “ศรีบูพา” ก็มีครบ ยังไม่รวมพวกนิตยสารซึ่งแกจะซื้อเยอะมากทุกเดือน หนังสือของคุณปู่ส่วนมากเป็นหนังสือภาษาไทย ส่วนทางคุณพ่อชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ผมอยู่ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยหนังสือจึงทำให้ผมไม่สามารถไปร่วมวงเล่นกับน้องสาวและคนอื่นๆ แต่หันมาสนใจการอ่านหนังสือและอ่านอย่างหนักเรื่อยมาแทน
คลุกคลีอยู่กับหนังสือและการอ่านมาตลอด แต่ก็ยังไม่สนใจที่จะลองเขียน?
มันก็สนใจ คือพอเราอ่านพวกนิทานที่แปลเป็นภาษาไทยจนหมด ทีนี้ถ้าอยากอ่านต่อก็ต้องอ่านที่เป็นภาษาอังกฤษ พอศัพท์มันยากก็จำเป็นต้องเปิดดิกชันนารี ทำไปสักพักเริ่มรู้สึกว่าเราพอแปลได้บ้าง ตอนนั้นมีวิชาเรียนที่ผมต้องเขียนเรียงความและไปยืนอ่านหน้าชั้น ผมก็ไปเล่านิทานที่แปล เพื่อนๆ พากันชอบใจ แต่พอมันหมดเรื่องให้อ่านก็กลายเป็นต้องแต่งขึ้นมาเองสลับกับการแปล สนุกดี แต่ที่แปลเป็นเรื่องเป็นราวน่าจะช่วงเรียนอยู่ชั้นประถม 4 ผมได้แปลนิทานลงหนังสือของโรงเรียน ส่วนมากเป็นพวกนิทานอีสปสั้นๆ หน้าสองหน้า
จากจุดนั้นต่อยอดสู่การแปลงานอย่างเป็นจริงเป็นจังในเวลาต่อมา
สาเหตุที่ผมเริ่มแปลหนังสือมาจากการที่ผมสนใจบทกวีทั้งจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย อันมีอิทธิพลมาจากงานของอาจารย์ระวี ภาวิไล และพี่พจนา จันทรสันติ การได้อ่านงานของทั้งสองท่านนี้ทำให้ผมสนใจเสาะหาบทกวีจากวัฒนธรรมเหล่านั้นมาอ่านเพิ่มเติม พออ่านมากเข้าก็เกิดความหาญกล้าอยากแปล และลงมือแปลงานของ รพินทรนาถ ฐากุร ชื่อผู้สัญจรแห่งชีวิต ตอนแปลนั้นมีอายุเพียงสิบเก้าปีและเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถามว่าผมคิดจะยึดเป็นอาชีพไหม ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นการทำงานเสียทีเดียว เป็นเหมือนกิจกรรมของนักศึกษาทั่วไปที่บางคนอาจจะเลือกเตะบอล ออกค่ายอาสา แต่ของผมเลือกจะแปลบทกวี ซึ่งเราไม่คิดว่าจะทำเป็นอาชีพต่อไปได้
แต่ก็ได้ประสบเข้ากับ “อุบัติเหตุของการเขียนหนังสือ” ที่ทำให้จากความสนใจในกวีเป็นหลักมาสู่การเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ผมแทบจะอ่านวรรณกรรมไม่จบสักเรื่อง อ่านแต่กวีเป็นหลัก ตัวผมเป็นอุบัติเหตุของการเขียนหนังสือเริ่มต้นจากผมเขียนคอลัมน์เล็กๆ ในนิตยสาร Lips เป็นเรื่องทำนองไว้อาลัยแล้วขยายต่อมา ตอนแรกวางไว้ว่าจะเป็นเรื่องสั้น แต่เขียนจนจบกลายเป็นนวนิยาย ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ ทั้งเรื่องคือความรู้สึกไว้อาลัยต่อการจากไปของเพื่อนในเหตุการณ์ 9–11 ผมค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะทำสำเร็จด้วยนะ ทำไปด้วยความหวาดๆ กลัวๆ เพราะเราไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน แต่พอเขียนจนจบได้ เริ่มคิดต่อว่าน่าเขียนรวมเรื่องสั้นสักเล่ม จึงตามมาด้วยเรื่อง H2O ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ และ 8 ½ ริกเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ นวนิยายที่เป็นเรื่องแต่งไม่เกี่ยวกับตนเองซึ่งเขียนเป็นครั้งแรก
วายัง อมฤต คือนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คุณเขียนนิยายส่งเป็นตอนๆ ลงเว็บไซต์สัปดาห์เว้นสัปดาห์ บนสื่อออนไลน์ เป็นอย่างไรบ้างคะการทำงานในรูปแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
พอดีผมสนใจประเด็นนี้อยู่ หลังจากนิตยสารปิดตัวทั้งสกุลไทย ขวัญเรือน ทำให้นวนิยายที่ลงเป็นตอนๆ หายไป ทำยังไงถึงจะหา platform ใหม่ๆ เข้ามารองรับสิ่งเหล่านี้ พอดีทาง บก.ของ The Standard เขามีความสนใจเหมือนกันเลยลงตัว การทำงานก็ยาก แป๊บๆ ต้องส่งงานอีกแล้ว เว็บมาสเตอร์นี่ไฟลุกเลย ต้องลงแล้วนะครับ (หัวเราะ) ผมก็ ครับๆ เดี๋ยวส่งให้ครับ
การลงนิยายออนไลน์แตกต่างจากการลงในนิตยสาร คือ การเก็บข้อมูลที่ทำให้นักอ่านสามารถอ่านย้อนหลังได้สะดวก สมมติคุณอ่านสกุลไทยแล้วคุณชอบนิยายเรื่องนี้มาก แล้วถ้าคุณพลาดไปสักตอนคุณจะไปตามหาเล่มก่อนหน้าจากที่ไหน จะตระเวนไปตามร้านทำผมเหรอ มันยาก แต่พอเป็น digital content มันเก็บไว้ได้ สมมติคุณเข้าอ่านตอนที่ 10 แล้วชอบ มันก็จะมีลิงค์ไปตอนที่ 1 ซึ่งจะเป็นตอนที่คนอ่านเยอะที่สุด เหมือนกับการดูละครย้อนหลังในเว็บไซต์ YouTube สมัยก่อนอยากดูย้อนหลังต้องไปร้านเช่า ถ้ามีคนยืมตัดหน้าไปนี่อดเลย แต่สมัยนี้คุณสามารถเข้าไปไล่ดูได้ตั้งแต่ตอน 1 เลย ซึ่งมันเป็นข้อดีของ digital content บนช่องทางใหม่นี้
นอกจากเรื่องเวลาแล้ว ยังมีอุปสรรคอะไรอีกไหมคะ
มันก็มีนะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ทีนี้อาจมีปัญหาเรื่องการพาดพิงถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ เราก็ต้องทำให้ทุกอย่างให้เป็นเชิงนวนิยาย อย่างเหตุการณ์ พ.ศ.2475 เป็นเรื่องจริง บุคคลหลายๆ คนก็มีตัวตนจริง จึงต้องจัดสมดุลในเรื่องของการสื่อคำให้มันกลมกลืน ยังไม่นับว่าต้องมีความแม่นยำในข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ด้วย
ในมุมมองของนักเขียนที่มีการปรับตัวก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลแล้ว มองการเปลี่ยนแปลงของสิ่งพิมพ์อย่างไรบ้าง และนักเขียนจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างไร
นวนิยายเล่มคงมีอายุต่อไป แต่นิตยสารที่เกี่ยวเนื่องกับความทันสมัยคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทยอยปิดตัวลง หรือเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบออนไลน์ อย่างที่สหรัฐอเมริกาเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสาระดีๆ ก็โตมาจากหนังสือพิมพ์อย่าง New York Time ด้วยซ้ำ เขาก็หันมาสู่ platform ใหม่ ส่วนในแง่นักเขียน นักเขียนต้องยอมรับความจริงว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ระบบที่จะส่งเรื่องสั้นไปลงในสื่อที่มีพื้นที่นำเสนองานเหล่านี้ ต่างประเทศแทบไม่มีแล้ว จริงๆ โครงสร้างการเขียนของต่างประเทศเป็นคนละแบบกับของไทย นักเขียนส่วนใหญ่เขามักเขียนนวนิยายก่อนเป็นพื้นฐานหลัก ส่วนช่วงพักสั้นๆ ถึงจะมาเขียนเรื่องสั้น แต่บ้านเรานักเขียนส่วนใหญ่เริ่มต้นจากเรื่องสั้น มันเลยต้องมีพื้นที่สำหรับเรื่องสั้น เพราะฉะนั้นผมมองว่าต้องปรับตัว นักเขียนอาจจะต้องหันมาเขียนนวนิยายกันมากขึ้น ซึ่งพื้นที่สำหรับนิยายยังมีอยู่ ส่วนการปรับตัวต้องใช้เวลา ค่อยๆ ปรับไป
การจะเป็นนักเขียนที่ดี ที่ยืนบนถนนแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืนควรมีคุณสมบัติอย่างไร
การเป็นนักเขียนที่ดีคือการอยู่กับผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง ผลิตงานออกมาให้ผู้อ่านจับต้องได้อย่างมีระยะเวลายาวนาน สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน ก่อให้เกิดมิตรภาพอันยาวนาน
หากอยากรู้จักตัวตนของนักเขียนคนนี้ให้มากขึ้น คงต้องไปตามอ่านงานของเขากันที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
5 เล่มโปรดของ อนุสรณ์ ติปยานนท์
ผมก็มีเล่มโปรดเยอะนะ แต่เหล่านี้คือเล่มที่สร้างผลกระทบบางอย่างกับผม
• ปราสาท ของ ฟรานซ์ คาฟก้า เป็นนวนิยายที่ให้ความงุนงงเสมอแม้จะหยิบอ่านในวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าคาฟก้าต้องการสื่ออะไร และทุกครั้งที่หยิบมาอ่านผมจะมีคำถามอยู่เสมอ อ่านกี่ครั้งผมก็งงตลอด แต่หลังจากความงงนั้น ผมก็จะขบคิดถึงการสร้างตัวละครของคาฟก้า แล้วก็วิธีเล่าเรื่อง
• สิทธารถะ ของ แฮร์มาน เฮสเส เป็นนวนิยายที่ทำให้ผมรู้สึกว่าโลกของวรรณกรรมไม่มีพรมแดน ชาวตะวันตกสามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณตะวันออกได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง
• นอร์วีเจี้ยนวูด ของ ฮารุกิ มูรากามิ ความสามารถในการทำให้เรื่องราวที่คล้ายดังบันทึกของนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งกลายเป็นดังคำอธิบายต่อความหมายของการมีชีวิตอยู่ และความตายนั้นน่าทึ่งมาก เป็นงานที่อ่านทีไรรู้สึกราบรื่น อ่านจบภายในสองวันหรือสามวันทุกครั้ง คำว่า “อ่านแล้ววางไม่ลง” มันไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อย
• The Flanders Panel ของ Arturo Pérez-Reverte การผนวกรวมระหว่างการละเล่นหมากรุก งานจิตรกรรมที่เป็นปริศนา และการฆาตกรรม Pérez Reverte ทำได้ไม่มีที่ติในนวนิยายเรื่องนี้
• Kiss of a Spider Woman ของ Manuel Puig การสร้างบทสนทนาที่หยิบยืมมาจากภาพยนตร์ผนวกเข้ากับสัญญะทางเพศและการกดขี่ทางการเมือง ตัวบทนวนิยายแทบไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นสารนัก แต่บทสนทนาทำหน้าที่แทนโครงสร้างทั้งหมดได้อย่างอัศจรรย์