120 เล่ม คือจำนวนหนังสือที่เขาแปลเป็นภาษาไทย 15 ปี คือระยะเวลาการทำงานเป็นนักแปลนิยายจีนของเขา และ 1 รางวัลอันทรงเกียรติ “รางวัลสุรินทราชา” คือรางวัลที่เขาได้รับจากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ในฐานะนักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่สังคม ทั้งหมดคือสิ่งพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ เป็นนักแปลคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงวรรณกรรมกัน อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
คุณบอกว่าตัวเองเป็นนักแปลนอกตำรา หมายความว่าอย่างไร
แบ็คกราวด์ชีวิตของผมค่อนข้างแตกต่างจากชาวบ้านนิดหน่อย ครอบครัวของผมเกี่ยวข้องกับศาสนา คล้ายๆ นิกายที่มีรากเหง้าจากทางจีน ขยับขยายสู่ไต้หวันและมาเลเซีย ทีนี้ครอบครัวก็ส่งผมไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ป.4 เทอม 2 ไปอยู่ตามสำนักเพื่อเรียนขนบธรรมเนียม พิธีการ แต่นิกายมาจากทางจีนจึงจำเป็นต้องเรียนภาษาจีนด้วย เพราะฉะนั้นเส้นทางการเรียนภาษาของผมจึงไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เรามาจากสายนอกตำรา เพราะสำนักเองก็ไม่ได้สอนภาษา แต่เขาสอนคำสอน หนังสือที่เราท่องจำตั้งแต่เด็กคือคัมภีร์ต่างๆ การเรียนภาษาของเราจึงไม่ใช่เพื่อสื่อสารอย่างเดียว ช่วงเวลาที่อยู่ในสำนักไม่ได้มีกิจกรรมบันเทิงอะไรมากนอกจากการอ่านหนังสือ แต่พื้นฐานเราเป็นคนชอบอ่านอยู่แล้ว อ่านหนังสือพิมพ์โดยไม่สนว่าจะรู้เรื่องหรือไม่ แล้วพอกลับมาเมืองไทย เรามาในฐานะสตาฟฟ์ ฐานะล่าม แปลคำสอนเป็นภาษาไทย แต่ก็เป็นการเผยแพร่ภายใน
การแปลหนังสือเล่มแรกเกิดจากเพื่อนส่งหนังสือเล่มหนึ่งมาให้จากไต้หวัน ผมไปเอาหนังสือที่ไปรษณีย์ อ่านไปก็ขำ หัวเราะบนรถเมล์ เราลองแปลเล่นๆ แล้วโพสต์ในอินเตอร์เน็ต ปรากฏคนอ่านชอบแล้วบอกทำไมไม่ลองเสนอสำนักพิมพ์ ตอนนั้นอยู่ในยุคที่ตลาดยังไม่ค่อยมีนิยายจีนแปล มีแต่แนวกำลังภายใน จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรก เกิดมาซน พิมพ์กับแพรวเยาวชน พอเล่มแรกเกิดก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ
เพราะเหตุใดคุณถึงนิยามอาชีพนักแปลว่าเหมือนเป็นร่างทรงนักเขียน
ส่วนตัวเราตีความว่า ถ้าคนเขียนเขียนข้อความหรือนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทย เขาจะเขียนแบบไหน หากเราเป็นเขา จะเขียนเป็นภาษาไทยยังไง ความหมายของการเป็นร่างทรงตามที่ผมพูดก็คือ การพยายามคิดให้เหมือนนักเขียนเพื่อถ่ายทอดงานอย่างเข้าถึง ไม่ใช่สักแต่ทำตัวเป็นดิคฯ หรือ google translate ซึ่งกดข้อความแล้วแปลออกมาโดยไม่มีอารมณ์ ไม่สนความถูกต้อง ไม่มีการเรียบเรียง แบบนั้นคือการแปลโดยไร้จิตวิญญาณ มีคำกล่าวที่มักได้ยินประจำว่า งานแปลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์คือความรู้ภาษา ส่วนศิลป์คือการถ่ายทอดสุนทรียภาพ สมมติว่ามีคำคำหนึ่งที่แปลได้สามคำ ความหมายเดียวกันหมด แต่มีความละเอียดอ่อน ความงดงามทางภาษาต่างกัน คุณจะเลือกใช้คำไหน
การจะเป็นนักแปลนอกจากความเชี่ยวชาญทางภาษาควรประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรอีกบ้าง
เราเคยได้ยินมาตลอดว่าถ้าอยากเป็นนักเขียน คุณต้องอ่านเยอะๆ ทว่ามีนักเขียนบางคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย ผมอ่านบทสัมภาษณ์นักเขียนประเภทนี้ แรกๆ ก็แอนตี้ มาคิดอีกทีก็มีความเป็นไปได้ ถ้าคุณพูดได้ก็น่าจะเขียนได้ เขียนแบบที่คุณพูด แต่การเป็นนักแปล คุณไม่อ่านหนังสือไม่ได้ เพราะตอนคุณเขียนคุณใช้ภาษาตัวเอง แต่ตอนคุณแปลคุณใช้ภาษาคนอื่น ภาษามีทั้งภาษาพูด ภาษาบันเทิง ถ้าไม่เคยอ่านงานวิชาการ คุณก็ไม่สามารถแปลงานวิชาการได้ ยกตัวอย่างผมเอง ผมไม่เคยอ่านนิยายกำลังภายในที่เป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้นเราแปลไม่ได้ เราไม่มีทักษะนี้ นอกจากนั้น ไม่ใช่ว่าคุณเรียนจีน คล่องวัฒนธรรมจีนแล้วจะทำให้แปลนิยายจีนได้โดยไม่ต้องค้นคว้า บ่อยครั้งที่นักเขียนซึมซับและแทรกวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปในผลงาน เช่น เทพนิยายกรีก หรือพระเอกเป็นนักวิชาการกำลังบรรยายให้นักศึกษาฟัง คุณก็ต้องแปลออกมาให้เหมือนคำที่อาจารย์เขาพูดกัน ไม่ใช่สักแต่ถอดความออกมา
ก่อนลงมือแปลหนังสือสักเรื่องคุณมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร
ตอนแปลเกี่ยวกับเกมออนไลน์ ผมก็หาหนังสือเกม เข้าเว็บไซต์ดูคนรีวิวเกม เพื่อซึมซับบรรยากาศทางภาษา ตอนแปลรหัสลับหลังคาโลก ซึ่งเกี่ยวกับพุทธศาสนาทางธิเบต ก็ไปฟังบรรยายที่ลามะมาพูด ตอนแปลหนังสือเกี่ยวกับระบบการศึกษา อันนี้ลงทุนไปสอนหนังสือ 3 ปีเลย สอนไปแปลไป เพราะเราออกมาจากระบบการศึกษาตั้งแต่ป.4 เราอยากรู้เด็กเขาคุยกับครูยังไง คำเรียกตำแหน่งครูแต่ละสาขาคืออะไร หรือหนังสือเกี่ยวกับหมอ ผมก็ไปนั่งในโรงพยาบาล หยิบโบรชัวร์มาอ่าน อ่านป้ายชื่อสาขาวิชา ชื่อหมอ คำประกาศเรียก
แล้วพวกมุกตลกล่ะ
มุกตลกร่วมสมัยอย่างคำฮิตในอินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แปลหนังสือก็ใส่เลย ผมเคยดูบทสัมภาษณ์ทีมพากย์พันธมิตร เขาชอบใส่มุกตลกตามยุคสมัยเวลาพากย์ ให้เป็นกึ่งจดหมายเหตุ เวลานั้นคำฮิตคืออะไร เกิดอะไรขึ้น แม้อีกสิบปีจะไม่ฮิตแล้วก็ตาม ตลาดหนังสือของผมไม่ใช่วรรณกรรมคลาสสิค เรากำลังแปลหนังสือร่วมสมัย ผมกำลังรับใช้นักอ่านในวันนี้
นักแปลแต่ละคนมีสไตล์เฉพาะตน สไตล์ของคุณเป็นแบบไหน
เน้นความสมูธเวลาอ่านในใจ ทดสอบด้วยการอ่านออกเสียง หางเสียงจบประโยคอ่านแล้วรู้สึกจบไหม หรือเหมือนจะพูดอะไรต่อ แล้วผมตัดคำฟุ่มเฟือยออกเพื่อให้หนังสือกระชับ เช่น คำว่า ‘แล้ว’ ในภาษาจีนมีประมาณ 3-4 คำที่มีความหมายเชิงไวยากรณ์แตกต่างกัน แต่แปลเป็นไทยคือ ‘แล้ว’ เหมือนกันหมด ดังนั้นต้องมาดูว่าจะตัดคำไหนออกดี นอกจากนั้น ถ้าคนจีนอ่านประโยคนี้ยาก คนไทยก็ต้องอ่านยาก สมมติตัวละครเป็นคนมีความรู้ต้องการโชว์ภูมิทฤษฎีบางอย่าง ถ้าตัวละครในเรื่องยังไม่เข้าใจ คุณก็ต้องทำให้คนอ่านไม่เข้าใจด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อารมณ์
ศึกษางานแปลของคนอื่นไหม หรือมีวิธีลับอาวุธให้ตัวเองอย่างไร
ผมเข้าคอร์สอบรม โดยเฉพาะคอร์สอบรมบรรณาธิการมีประโยชน์มาก เพราะบรรณาธิการแก้งานแปลบ่อย เขาชี้ให้เห็นว่านักแปลมักสะเพร่าตรงไหน ผมยังคงประทับใจเมื่อครั้งไปฟังบก.พรกวินทร์ แสงสินชัย ที่นานมีบุ๊คส์ พูดถึงคำแปลที่ผิดบ่อย ตัวสะกดที่ผิดบ่อย ภาษาพูดต้องเขียนให้เหมือนภาษาพูด ส่วนภาษาบรรยายก็ต้องให้เหมือนภาษาบรรยาย
หลังจากเริ่มทำงานแปลก็อ่านหนังสือน้อยลงเรื่อยๆ ผมบอกทุกครั้งเวลาไปบรรยายคือ ช่วงเวลาที่ยังไม่เป็นนักแปลเต็มตัวอ่านให้เยอะเข้าไว้ เพราะเมื่อเข้าสู่วงการแล้วคุณจะไม่ได้อ่านอีก และถ้าคลังคำไม่พอเราจะตัน เช่น ผมแปลนิยายชุด ชุดที่หนึ่ง 11 เล่ม ชุดที่สอง 10 เล่ม ชุดที่สาม 36 เล่ม ถ้าคุณทำหนังสือหนึ่งเล่มอ่านแค่นี้ไม่เป็นไร ขึ้นเล่มใหม่ก็ใช้คำศัพท์เดิม ความรู้เดิมได้ แต่ถ้าคุณต้องอยู่กับมันถึง 11 เล่ม เขียวขจีๆ เขียวชอุ่มๆ ถ้าสะสมคำศัพท์ไม่พอคุณจะอยู่กับมันไม่ได้ ทุกวันนี้ผมรับศัพท์ใหม่ผ่านการดูหนัง ฟังวิทยุ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่การอ่าน เป็นเรื่องตลกที่เราทำงานให้คนอ่านหนังสือ แต่ตัวเรากลับไม่ค่อยได้อ่าน
ความยากของอาชีพนักแปลคืออะไร
คุณทำงานเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน ดังนั้นต้องรับการโจมตีให้ได้โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย แล้วก็เรื่องนักแปลที่อินเกินไป ทำให้เกิดโรคบางอย่างได้ เช่น ตอนผมแปลรหัสลับหลังคาโลก กลายเป็นคนกลัวที่แคบเลย นักเขียนบรรยายจนเราอิน เพราะเราต้องนึกภาพตาม หลังจากนั้นผมก็กลัวลิฟต์ กลัวอุโมงค์ กลัวที่แคบ สิ่งเหล่านี้ก่อนแปลไม่เป็นเลย
ทำไมนักแปลส่วนใหญ่จึงไม่เป็นที่รู้จัก
อย่าว่าแต่ไม่ค่อยเห็นหน้า ไม่ค่อยรู้จักชื่อด้วย เท่าที่ผมสังเกตต้องมีงานออกมาเยอะ จนคนเริ่มมองว่าเล่มนี้ใครแปล ผมทำงานมาพอสมควร ถึงเริ่มมีชื่อติดหู แล้วนักแปลหลายคนชอบเก็บตัว งานแปลเหมาะกับการเก็บตัวด้วย เจอนักแปลที่เก็บตัวสำนักพิมพ์ก็ต้องทำงานหนักหน่อย ส่วนผมเงียบก็ได้ เปิดก็ได้ ส่วนตัวในฐานะคนที่สื่อสารได้อยากบอกไปถึงนักแปลทั้งหลาย ถ้าคุณเป็นคนประเภทสื่อสารได้ สื่อสารเถอะ
มองตลาดนิยายจีนในบ้านเราปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร
บูมแต่ไม่รู้จะยั่งยืนรึเปล่า ยกตัวอย่าง หนังสือเกมออนไลน์ หนังสือวาดรูประบายสี หนังสือโรงเรียนเวทมนตร์ ครั้งหนึ่งเคยบูมและหายไป นิยายจีนเรามองว่าเป็นช่วงบูม แล้วเมื่อหนังสืออยู่ช่วงบูม สำนักพิมพ์ก็แข่งขันผลิต จึงอาจบกพร่องในเรื่องควบคุมคุณภาพ คนจึงมองว่าหนังสือกลุ่มนี้ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลกระทบให้ตลาดนิยายจีนตกต่ำ อย่างไรก็ตามนิยายจีนแนวที่กำลังบูมไม่ใช่แนวที่ผมทำ จึงไม่ได้ประโยชน์จากกระแสนี้เท่าไหร่
สำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มให้ความสนใจแก่บุ๊คแฟร์ที่ไต้หวัน คุณมองว่าแวดวงหนังสือไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการนี้
ความจริงแล้วไต้หวันกับไทยเหมือนเส้นผมบังภูเขา ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีอะไร เวลาเราไปหาเขา เขามาหาเรา เกือบทั้งหมดคิดอย่างเดียวคือไปขาย เพราะเวลาซื้อเราจะซื้อจากตลาดใหญ่ เช่น แฟรงค์เฟิร์ท ญี่ปุ่น เกาหลี จริงๆ ถ้าปรับจูนว่าไปซื้อ คุณจะเห็นว่ามีตลาดที่ซื้อในราคาจับต้องได้ ผมก็บอกทางไต้หวันแบบนี้เหมือนกันว่า มาซื้อบ้านเราสิ ราคาตลาดยังกลางๆ คุณอาจเจอสิ่งที่มองหาก็ได้ แต่ก็มีทั้งข้อดีข้อด้อย คุณซื้อของแพงเพราะคิดว่าขายได้แน่ ถ้าคุณซื้อของถูกแต่ขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ อุปสรรคอีกอย่างของบ้านเราคือ เราไปซื้อหนังสือจากไต้หวันง่ายกว่าไต้หวันซื้อเรา ยิ่งตอนนี้หานักแปลจีนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม กลับกันการจะหาคนแปลไทยเนี่ยสิลำบาก นี่คืออุปสรรคที่ยังต้องหาทางแก้ แต่โอกาสทางตลาดมันมี ผมอยากผลักดันให้มีความร่วมมือไต้หวันกับไทยมากขึ้นกว่านี้
ความรู้สึกต่อรางวัลสุรินทราชา เป็นกำลังใจให้เราบ้างไหม
ในเชิงรูปธรรม รางวัลนี้คือคุณวุฒิอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสามารถใส่เข้าไปในโปรไฟล์ได้ ในเชิงนามธรรม รางวัลช่วยชดเชยปมด้อยของเรา คือเราไม่ได้เป็นนักแปลสายปริญญา รางวัลนี้เป็นสิ่งยืนยันข้อกังขาของเรา งานแปลที่ทำทั้งหมดนั้นคงพอเข้าตา เหมือนเราทำข้อสอบ และมีผู้ทรงคุณวุฒิตรวจแล้วบอกว่าผ่าน มากกว่านั้นคือโอกาส ซึ่งต้องดูกันต่อไป
3 เล่มในดวงใจของอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
- “แสบ” โดย โหวเหวินหย่ง
เป็นหนังสือที่ผมแปลเอง ชอบเพราะมันสะท้อนสภาพสังคม แง่มุมการศึกษา ความสัมพันธ์ทางครอบครัว อะไรคือการเป็นครูที่ดี อะไรคือการเป็นพ่อแม่ที่ดี
- ปรัชญาของจวงจื้อ
ชอบจวงจื้อเป็นการส่วนตัว เขาเป็นนักปราชญ์ปากจัด ขวางโลก แล้วชอบสอนในลักษณะอุปมาอุปมัย
- บทกวีชั่วชีวิต โดย “สะอาด”
การ์ตูนของสะอาดพยายามไปให้สุดในทางของตัวเอง มีทั้งชอบมาก และชอบน้อย
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ