ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศิลปะสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแนบแน่น เป็นเรื่องประณีต สร้างสุนทรียภาพและยกระดับจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นเราจึงเห็นการใช้ศิลปะบำบัด (art therapy) เป็นการรักษาทางเลือกช่วยเยียวยาผู้มีปัญหาทางจิตใจ แต่ยังมีศิลปะบำบัดอีกแนวทางหนึ่งที่มีแนวคิดว่าร่างกายและจิตใจเชื่อมโยงกัน “ยุทธจักร ฅ.ฅน” จึงมาพูดคุยทำความเข้าใจศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophic art therapy) กับครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี
ครูมอส จิตรกรและนักศิลปะบำบัด เป็นผู้ศึกษาศิลปะแนวมนุษยปรัชญารุ่นบุกเบิกของประเทศไทย มีประสบการณ์จากการทำเคสกับโรงพยาบาลร่วม 10 ปี ปัจจุบันครูมอสเป็นเจ้าของสตูดิโอศิลปะด้านใน (7 Arts Inner Place) ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้คนทั่วไป (ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนที่เข้ารับการบำบัด) ได้ทำกิจกรรม เรียนรู้ศิลปะจากด้านใน อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Therapeutikum สถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จุดเริ่มต้นนั้น ครูมอสเคยศึกษาที่ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาประถมศึกษา แม้ครูประถมจะสามารถสอนได้หลายวิชา แต่ด้วยความชอบ เขาจึงมุ่งมั่นอยากเป็นครูสอนศิลปะ เมื่อครูมอสฝึกสอนตามสถานที่ต่างๆ ได้เห็นความแตกต่างของเด็กหลายๆ กลุ่ม ทั้งถิ่นฐาน วัฒนธรรมการวาดรูป ครูมอสเลยเกิดคำถามขึ้นว่า “เด็กคืออะไร” ประกอบกับสมัยนั้นอยู่ในช่วงปฏิรูปการศึกษา เริ่มมีหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามา เขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ครูมอสพบว่าแนวการศึกษานี้น่าจะตรงกับสิ่งที่เขากำลังหาคำตอบ จึงเกิดความสนใจและเดินทางไปที่เมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี ศึกษาต่อด้านแนวคิดมนุษยปรัชญา (anthroposophy) ของ ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาชาวเยอรมัน
การศึกษาในแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophy) เป็นการศึกษาแนว philosophy (ปรัชญา) ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นการศึกษาที่ดีรูปแบบหนึ่ง เกิดขึ้นในเยอรมนีเมื่อประมาณ 100 ปี มาแล้ว ศิลปะแนวมนุษยปรัชญานั้นอิงฐานความรู้ด้านจิตวิญญาณ คือ กาย (body) จิต (soul) และจิตวิญญาณ (spirit) ว่าเป็นสิ่งที่อุ้มชูกัน สิ่งที่เกิดจากจิตจะปรากฏสู่กาย ดังนั้นเมื่อเราทำศิลปะจากด้านใน สมดุลจะเกิดขึ้นกับทั้งสามสิ่งที่เชื่อมโยงกันนี้
ศิลปะแนวมนุษยปรัชญาศึกษาถึงการทำอย่างไรให้มนุษย์มีพัฒนาการและเติบโตควบคู่กันไปกับศิลปะต่างๆ ได้ อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย นั่นก็คือวัยเด็ก 0-7 ปี ควร “เล่นและลงมือทำ” เป็นการทำงานกับส่วนที่เรียกว่า “เจตจำนง
(willing)” วัยประถม 7-14 ปี ทำงานกับ “ความรู้สึก (feeling)” วัยมัธยม 14-21 ปี ทำงานกับ “ความคิด (thinking)”
แต่การศึกษาในปัจจุบันกลับให้เด็กในวัย 0-7 ปี ทำงานกับ “ความคิด” ของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นผิดช่วงวัย เด็กวัยนี้มีพลังศิลปะอยู่ในตัวเอง ควรเอื้อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ (inspire) ปล่อยให้เขาทำศิลปะจากจินตนาการ (imaginary) การใช้จินตนาการเป็นการทำงานอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ (conscious) เด็กจะมีจังหวะที่ดีในการทำงานกับตัวเอง แต่ถ้าให้พวกเขาทำศิลปะแบบตั้งโจทย์ เช่น ตั้งหัวข้อวาดรูปว่าโรงเรียนของฉัน นั่นคือการทำงานกับ “ความทรงจำ (memory)” เป็นการทำงานกับอดีต หรือการทำงานแบบไม่ได้สติ (unconscious) ซึ่งส่วนนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ เด็กเติบโตขึ้นมาแตกต่างกัน ดังนั้นเด็กจึงเกิดการ “เสียสมดุล” ขึ้น การทำศิลปะบำบัดเข้ามามีบทบาทเพื่อคืนสมดุลเหล่านั้น เช่น ถ้าเด็กก้าวร้าวรุนแรง จะทำอย่างไรให้เขานุ่มนวล เด็กเก็บตัว จะทำอย่างไรให้เขาเปิดเผยมากขึ้น เป็นต้น
เราสามารถจำแนกศิลปะบำบัดได้ 7 แขนงคือ สถาปัตยกรรมบำบัด (architectural therapy) การปั้นบำบัด (clay therapy) การวาดบำบัด (painting therapy) ดนตรีบำบัด (music therapy) อรรถบำบัด (speech therapy) ละครบำบัด (drama therapy) ยูริธมีบำบัด (eurythmy therapy) แต่ศิลปะบำบัดในมนุษยปรัชญาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีการบำบัด 4 แขนงเป็นหลัก คือ การปั้นบำบัด การวาดบำบัด ดนตรีบำบัด และยูริธมีหรือจิตตลีลาบำบัด เลือกการบำบัดให้เหมาะสมตามแต่อาการของคนไข้
ครูมอสได้ลองยกตัวอย่างการรักษาให้เราได้ฟัง เช่น เด็กวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาด้านการนอนหลับ เนื่องจากสภาพแวดล้อม เราเกิดในยุคที่แสงจ้า ในเมืองมีความสว่างมากๆ ความมืดน้อยลง ถ้าพูดในแง่ร่างกาย การทำงานของระบบดูดซึมและเผาผลาญ (metabolic) และระบบประสาท (nervous system) มีความเชื่อมโยงกัน เมื่อประสาทตื่นตัวมากก็จะนอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย ลดทอนพลังร่างกายและความคิดให้ถดถอย จึงใช้การวาดบำบัด ช่วยทำศิลปะจากแท่งถ่าน (charcoal) การตื่นตัว (awake) นั้นมีขั้วตรงข้ามคือความมืดสงบ (dark) แท่งถ่านจึงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในการบำบัดเพื่อคืนความสมดุล
ท่านผู้ใดสนใจอยากสัมผัสและทำความเข้าใจกับศิลปะแนวมนุษยปรัชญาให้มากขึ้น สามารถเข้าไปรับชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ https://www.arttherapythai.com หรือเฟซบุ๊ก @7artsinnerplace