ปี 2562 เป็นปีที่ประชาชนไทยจะได้มีการเลือกตั้งที่รอคอยกันมานาน การเลือกตั้งที่เราทุกคนว่าจะพาประเทศเดินหน้า ความผิดพลาดเดิมๆ จะไม่ถูกทำซ้ำ สิ่งที่ไม่ถูกต้องจะได้รับการสะสาง และประเทศไทยจะพัฒนาไปอย่างที่เราทุกคนหมายมั่น
เลือกตั้งครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่มากความสามารถหลายคนให้ความสนใจก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนทำงานการเมือง และกลุ่มนี้เองที่จะเป็นความหวังและเป็นอนาคตของประเทศไทย คนบนปก all magazine ฉบับนี้ ต่างเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นประเทศไทยดีกว่าเดิม ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัครส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และ จุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ทั้งสองมีความตั้งใจอยากเปลี่ยนคำว่า “ประเทศไทยในฝัน” ให้เป็นประเทศไทยที่สมดั่งฝันของเราทุกคน มามองอนาคตผ่านอุดมการณ์ ความคิด ความตั้งใจของพวกเขากัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ
ความสนใจการเมืองของพริษฐ์ ชายหนุ่มวัย 26 ปี หลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นเมื่อเขาได้ทุน King’s Scholarship เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีตัน ประเทศอังกฤษ ขณะที่มีอายุแค่วัย 13 ปี เด็กหนุ่มพริษฐ์ในตอนนั้นได้เห็นความเหมือนและความต่างของทั้งสองประเทศ ได้แก่ ไทยและอังกฤษเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเหมือนกัน มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน แต่กลับมี “ความเหลื่อมล้ำ” ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “ถ้าใครจะไปได้ไกลกว่าอีกคนต้องเกิดจากปัจจัยที่เขาควบคุมได้ เช่น ความสามารถมากกว่า หรือขยันมากกว่า ไม่ใช่เพราะเด็กคนหนึ่งเกิดกรุงเทพฯ ส่วนอีกคนเกิดต่างจังหวัด คนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวร่ำรวยกว่าอีกคน ผมอยากเห็นสังคมที่มีความยุติธรรม เด็กทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม” พริษฐ์จึงตั้งปณิธานอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพื่อให้เด็กไทยสองคนที่เกิดมาพร้อมกันมีโอกาสชีวิตเท่าเทียม
บทบาทหลักของพริษฐ์ในพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่ด้วยกันสี่ด้าน ได้แก่ 1.กรรมการและคณะกรรมการนโยบายของพรรค ทำหน้าที่ศึกษานโยบายที่อยากเห็นในอนาคตของประเทศไทย โดยศึกษาทั้งเชิงทฤษฎีและนำร่องในพื้นที่จริง 2.ผู้ก่อตั้ง New Dem (New Democrat – พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่) องค์กรที่รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นและอยากให้เป็น 3.ด้านการสื่อสาร เขาได้ปรับโฉมเว็บไซต์พรรค มุ่งเน้นการสื่อสารสองทาง ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายว่าชื่นชอบหรือไม่ง่ายขึ้น และในอนาคตตั้งเป้าว่าจะสร้างวิธีการสำหรับการเสนอนโยบายโดยประชาชน เช่น หากมีคนกดไลค์มากพอ ก็สามารถเข้ามาเสนอกับคณะกรรมการบริหารของพรรคได้เลย 4.ผู้สมัครสมาชิกสภา เขตบางกะปิ-เขตวังทองหลาง (แขวงพลับพลา)
ในส่วนของ New Dem ซึ่งพริษฐ์เป็นผู้บุกเบิกนั้น เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “วัตถุประสงค์ของเรามีสามอย่าง ได้แก่ 1.เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ในพรรคกับคนรุ่นใหม่นอกพรรค รวมทั้งทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง โดยชูประเด็นที่ตอบโจทย์ชีวิตเขา 2.หาวิธีนำนโยบายที่ผู้ใหญ่ในพรรคอาจไม่ได้สนใจ แต่เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า สิทธิ LGBT การเกณฑ์ทหาร หรือการสนับสนุน E-Sport สู่นโยบายหลักของพรรค และ 3.เพิ่มการมีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนรุ่นใหม่กลุ่มอื่น คือเราได้พิสูจน์ตัวเองก่อนการเลือกตั้ง เริ่มต้นจากสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่จะบอกกับประชาชนได้ว่า หากเรามีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ เราก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
สำหรับงานที่นักการเมืองหนุ่มมุ่งหวังอยากเข้ามาทำมีอยู่ด้วยกันสามด้าน ได้แก่ “1.ด้านนโยบาย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ผมต้องผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน เพราะถ้าไม่ทำก็ถือว่าตัวเองทรยศต่อประชาชน 2.หากได้รับเลือกเป็นส.ส.ในระบบเขต ถือเป็นกระบอกเสียงของคนพื้นที่นั้น อยากพัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบ และ 3.ผมอยากปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอยู่มา 72 ปี มีข้อดีเยอะมาก แต่ผมอยากพัฒนาให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่นิดหน่อยก็อยากจะตัดออกไป”
สาเหตุที่เลือกลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ แทนการเลือกพรรคเกิดใหม่ พริษฐ์ให้เหตุผลว่า ส่วนตัวเขาเชื่อในการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มิใช่แค่มีการเลือกตั้ง แต่รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน มีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง เศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง และมีความหลากหลายในสังคม ซึ่งตรงกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนั้น พริษฐ์ยังมองว่าเป็นเรื่องง่ายที่คนรุ่นใหม่จะตั้งพรรคขึ้นมาเอง แต่ในการบริหารประเทศเราต้องทำงานร่วมกับคนรุ่นต่างๆ ในหลายหน่วยงาน ดังนั้นตัวทดสอบว่าเราในฐานะคนรุ่นใหม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกับคนรุ่นก่อนได้หรือไม่ ดูได้จากการทำงานกับคนรุ่นก่อนภายในพรรค หากผสานไอเดียสำเร็จก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่าจะทำงานได้จริง

ในความเห็นของเลือดใหม่แห่งแวดวงการเมือง การแก้ปัญหาเก่าๆ ที่หมักหมมของการเมืองไทย ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาตามวิถีประชาธิปไตยหรือรัฐประหาร ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังคงมีอยู่ และไม่ได้เกิดแค่นักการเมือง แต่กระจายอยู่ทั่วประเทศ “ข่าวดีคือประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องผลักดันคือ ‘ติดอาวุธให้ประชาชน’ ที่ตื่นตัวให้ช่วยตรวจสอบการทุจริต โดยเริ่มจากเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดและเข้าใจง่ายสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ประชาชนที่พบเห็นการทุจริตสามารถร้องเรียนได้จริง โทร.ไปแล้วติด รับเรื่องแล้วไม่ทิ้งลงตะกร้า จากนั้นติดอาวุธในการเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปนั่งตรวจสอบ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่มีการทุจริตเยอะ ก็ต้องมีภาคประชาชนเข้าไปนั่งตั้งคำถามและสังเกตการณ์ และสุดท้ายต้องมีการสร้างแรงจูงใจ หรือรางวัลสำหรับคนที่แจ้งเรื่อง”
ปัญหาที่นักการเมืองหนุ่มคนนี้มองว่าต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในระยะสั้นคือ “ปัญหาเรื่องปากท้อง” เขาจึงเห็นว่าการประกันราคาสินค้าไม่ใช่ทางออก ซ้ำยังเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดจนเกิดความปั่นป่วน สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าคือ “การประกันรายได้” เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า “สมมติคุณควรจะขายพืชผลได้ในราคา X แต่ราคาตลาด ณ วันนั้นต่ำกว่า X คุณก็ควรขายด้วยราคาตลาดในวันนั้น แล้วรัฐบาลจะช่วยสมทบส่วนต่างรายได้ให้ เพราะฉะนั้นเกษตรจะมีรายได้ X โดยไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ทางด้านรัฐบาลหากไม่อยากขาดทุนก็ต้องทำงานหนักขึ้นให้ราคาพืชผลไม่ตก” ต่อมาคือ “การประกันค่าแรง” สำหรับกลุ่มแรงงาน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไม่สะท้อนค่าครองชีพ รัฐบาลอาจต้องช่วยสมทบ เพื่อให้นายจ้างได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และสุดท้าย “ประกันรายได้ขั้นพื้นฐานโดยการโอนเข้าบัญชี” สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือกลุ่มที่ไม่มีแรงงานเลย ปัจจุบันรัฐบาลแก้ไขโดยใช้สวัสดิการบัตรคนจน ซึ่งตรงนี้ควรนำสรรพากรเข้ามาเกี่ยวข้องในการคัดกรองและอัพเดทข้อมูล ทั้งหมดที่กล่าวคือปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้น ส่วนปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในระยะยาว คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งพริษฐ์เชื่อว่าแก้ไขได้ด้วยด้วยการปฏิรูปการศึกษา
“นอกจากค่าเล่าเรียนฟรีแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือต้องฟรีค่าอาหาร หากเด็กไม่ได้โภชนาการที่ดีก็จะเติบโตไม่เต็มศักยภาพ ช่วยอายุที่สำคัญที่สุดจึงเป็นช่วงประถม ปัจจุบันมีการอุดหนุนครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่ระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือการคัดกรองผู้รับสิทธิซึ่งอาจมีการตกหล่น ดังนั้นพรรคเราจึงเสนอ ‘เบี้ยเด็กเข้มแข็ง’ สวัสดิการเบี้ยเลี้ยงสำหรับเด็กเล็กเรียกว่า ‘เกิดปุ๊บรับสิทธิได้แสน’ ได้หนึ่งพันบาทต่อเดือน ตั้งแต่ 0-8 ขวบ คนอาจจะมองว่าเป็นการเพิ่มงบประมาณ ความจริงถ้าดูการกระจายงบประมาณการศึกษา งบไปตกกับเด็กโตอยู่เยอะ มีผลวิจัยว่าหากจะลงทุน 100 บาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ควรลงทุนในเด็กหนึ่งพันวันแรกเลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังขยายการเรียนฟรีไปสู่ ปวส. พร้อมนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนพัฒนาหลักสูตรการฝึกงานของนักเรียนอาชีวะ เพื่อให้ตรงกับตลาดแรงงานที่สุด อาจจูงใจภาคเอกชนด้วยการให้สิทธิลดหย่อนภาษี”
“ผมเชื่อในเสรีนิยมประชาธิปไตย
และการแก้ปัญหาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย”
พริษฐ์ยังมีความเห็นต่อคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นจากวงจรการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ด้วยรัฐประหาร “ผมเชื่อในเสรีนิยมประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่มีการแข่งขันสูงแต่ไม่มีความขัดแย้ง เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคแข่งขันด้านนโยบาย ยิ่งแข่งกันเยอะประชาชนยิ่งได้ประโยชน์ แต่ประเทศไทยแข่งขันในเชิงตัวบุคคล คนนี้ดี คนนี้ไม่ดี พอเป็นเช่นนี้ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแข่งขัน นอกจากนั้น นักการเมืองในฐานะตัวแทนของประชาชน หากมีนโยบายแม้จะเสนอโดยฝ่ายตรงข้ามและเราเห็นด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องค้านเพียงเพราะอยู่ฝ่ายค้าน ควรร่วมมือผลักดันกัน ผมว่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งของประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์”
นักการเมืองรุ่นใหม่ควรเป็นอย่างไร ในสายตาของเขานั้นไม่ควรนำแค่อายุเป็นจุดขาย “ถ้าเราอยากเห็นการพัฒนาประเทศที่สะท้อนความเป็นจริง ผู้ที่นั่งในสภาต้องมีความหลากหลายทั้งช่วงวัย เพศ ถิ่นที่อยู่ ผมต้องถามตัวเองและเพื่อนๆ ในพรรคอยู่เสมอว่า เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้พรรคและประเทศได้บ้าง นอกจากลดอายุเฉลี่ย ถ้ายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ๆ เราไม่ต้องมาทำงานการเมืองก็ได้ ผมว่าประชาชนควรได้รับอะไรมากกว่านั้น”
เป้าหมายสูงสุดทางการเมืองของพริษฐ์ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นภาพประเทศไทยในฝันที่เด็กสองคนเกิดมาเท่าเทียมกัน “เป้าหมายที่ผมยึดมั่นคือผมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือเปล่า”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา หรือครูจุ๊ย เป็นที่รู้จักจากวงเสวนาด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก ในฐานะผู้ที่เคยไปศึกษาจริง สาเหตุที่เธอหันมาทำงานการเมืองเกิดจากความตั้งใจแน่วแน่ในการ “ปฏิรูปการศึกษา” เธอกล่าวว่า หากจุดหมายปลายทางของเราคือการศึกษาฟินแลนด์ การศึกษาที่มีคุณภาพและทุกคนเท่าเทียมกัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้เธอก้าวเข้ามาทำงานการเมือง
บทบาทของกุลธิดาในพรรคอนาคตใหม่ นอกจากเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ยังมีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ซึ่งมีด้วยกันสี่คน แต่ละคนรับผิดชอบงานที่ตนเองถนัด กุลธิดาดูแลงานต่างประเทศ และแน่นอนว่ารวมถึงงานการศึกษา “ต้องยอมรับว่าเลือกตั้งครั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนถามและสงสัยมากกว่าเราจะเอายังไงกันดี
“จุ๊ยเชื่อว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่ทำให้คนเราเท่าเทียมกันอย่างถึงที่สุดแล้ว ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำใดๆ ก็ตามของประเทศนี้ การศึกษาคือเครื่องมือที่จะทำให้เราหลุดพ้น จุ๊ยเพิ่งพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำไปและค่าสถิติน่ากลัวมาก ถ้าเด็กไทยอยากเรียนปริญญาตรี โอกาสที่เด็กกรุงเทพฯ จะเข้าไปเรียนได้คือร้อยละ 66 ในขณะที่เด็กต่างจังหวัดร้อยละ 4 นี่เรายังไม่พูดเรื่องคุณภาพนะ แค่โอกาสในการเข้าถึงยังต่างกันขนาดนี้ และตัวเลขร้อยละ 4 ก็อยู่อย่างนี้มา 10 ปีแล้ว
“ถ้าพูดถึงงานด้านการศึกษา ประกอบด้วยสองส่วน คืองานเชิงความคิด และงานเชิงปฏิบัติ แต่ปัญหาคือตอนนี้คนไทยตอบตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำว่าการศึกษามีไว้เพื่ออะไร ถ้าคำตอบแสดงวิสัยทัศน์นี้ตรงกันไม่ได้ เราก็จะไม่มีทิศทางการพัฒนาที่ตรงกัน ปัจจุบันถ้าสังเกตนโยบายของกระทรวงศึกษาเป็นแบบที่ top-down (จากบนลงล่าง) จุ๊ยยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การฝึกครูจาก 5 ปี เหลือ 4 ปี แม้จะมีประชาพิจารณ์ แต่เป็นประชาพิจารณ์ระยะสั้นมาก แล้วเรื่องสำคัญอย่างการเทรนครู ถ้าผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง เรื่องใหญ่ขนาดนี้สังคมเราแทบไม่ได้คุยกันเลย วัฒนธรรมการทำงานแบบข้างบนสั่งโดยไม่ได้คุยกับข้างล่าง กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อไม่คุยกับคนที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน ก็ย่อมไม่มีทางลงไปถึงห้องเรียนได้อย่างแท้จริงหรอก
“โจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในตอนนี้คือความเหลื่อมล้ำแบบสุดโต่งมาก เราจะแก้ไขอะไรได้บ้าง มีส่วนที่ทำได้เลยทันทีและต้องรีบทำ เช่น 1.การพัฒนาอุปการณ์การเรียน ห้องสมุด พื้นที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน สิ่งเหล่านี้อย่างน้อยควรมีความเท่าเทียมกัน งบที่จัดสรรลงมาผ่านหลายชั้นมาก ดังนั้นโครงสร้างใดที่ไม่จำเป็นจึงต้องยุบทิ้ง ข้อต่อไหนที่ไม่จำเป็นก็เอาออก โดยเฉพาะห้องเรียนขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ควรเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนด้านนี้ ให้เขาได้มีสภาพที่ดีก่อน 2.การตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเงินพัฒนาโรงเรียน คนชอบถามว่า ถ้าเงินเดินทางมาถึงโรงเรียนแล้วใครจะดูแล จุ๊ยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการโรงเรียนขึ้นมาเลย ประกอบด้วยครู ผู้ปกครอง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น พ่อค้าแม่ขาย คือทุกคนที่อยู่ใกล้โรงเรียนในชุมชนนั้น มีส่วนในการออกความเห็นว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไร หากพัฒนาให้โรงเรียนเล็กขยายใหญ่ขึ้น มีเครื่องมือเครื่องไม้พร้อม ครูก็อยากกระจายไปสอน คำถามถัดมา แล้วคณะกรรมการจะทุจริตไหม ต้องอย่าลืมว่าคนที่นั่งเป็นคณะกรรมการมีพ่อแม่ของเด็กที่เรียนอยู่ ถ้าพวกเขารู้ว่าเงินที่ควรจะเป็นค่าอาหารเที่ยงให้ลูก ไม่ได้ลงไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย เขาจะไม่โวยวายเลยเหรอ 3.อาหารกลางวัน ต้องจัดสรรให้ได้รับเท่ากัน จุ๊ยมองว่าถ้าเรื่องพื้นฐานขนาดนี้ยังทำไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงความเท่าเทียมเรื่องอื่น นอกจากนั้นต้องจัดการเรื่องคุณภาพด้วย จุ๊ยเสนอให้หนึ่งเขตพื้นที่การศึกษา จะกี่โรงเรียนก็ตาม ต้องมีนักโภชนาการอย่างน้อยหนึ่งคน เข้าไปดูแลควบคุมคุณภาพของอาหาร

“ยังมีเรื่องที่กระทรวงศึกษาฯ ต้องทำความเข้าใจว่า เราไม่สามารถจัดการให้ทุกโรงเรียนเป็นเหมือนกันหมดได้ แต่ละโรงเรียนต้องมีพื้นที่ในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง สิ่งที่เราจะทำคือ ‘ตั้งเกณฑ์คุณภาพขั้นต่ำ’ อย่างน้อยคุณต้องได้เท่านี้ เกินกว่านี้ไม่ว่า จริงๆ เรามีเกณฑ์วัดมาตรฐานหมด เช่น ห้องสมุดโรงเรียน มีเกณฑ์บอกหมดว่าต้องมีหนังสือ 15 เล่มต่อหนึ่งคน แต่ไม่ได้กำหนดว่าหนังสืออะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนังสือบริจาค หนังสืองานศพ ซึ่งไม่เหมาะกับช่วงวัย ดังนั้นเราจึงต้องปรับปรุงให้เกณฑ์คุณภาพขั้นต่ำมีประสิทธิภาพกว่านี้ ต่อมาคือเรื่อง ‘หลักสูตร’ ลดวิชาหลักให้น้อยลง แล้วเพิ่มวิชาเลือก ทำให้นักเรียนสามารถออกแบบหลักสูตรเองได้ หลักทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตก็เรียนไป ส่วนวิชาเลือกควรมีความหลากหลาย ปรับตามสภาพพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัย เด็กไม่ต้องเรียนเพื่อสอบ แต่สนับสนุนให้หลักสูตรเกิดการฝึกอาชีพ สายสามัญก็ต้องได้ฝึก ส่วนอาชีวะต้องได้ฝึกในสถานประกอบการจริงโดยมีค่าตอบแทน ตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลกลางจับคู่ระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือการ ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ เราต้องย้อนดูว่าโครงสร้างการทำงานของครูเอื้อให้เขาได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือยัง ครูไทยทำงาน 200 วัน ได้ทำงานสอนจริงๆ 100 กว่าวัน นอกนั้นคืองานอื่น เช่น ธุรการ อบรม พาเด็กไปแข่ง ยิ่งโรงเรียนที่ขาดแคลนมากๆ ครูยิ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นต้องมีวิธีลดกระบวนการประเมิน ลดงานเอกสาร จัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้ครูได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ และต้องไม่ลืมสนับสนุนให้ครูมีเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย ใครถนัดสอนก็เน้นสอน ใครถนัดวิจัยก็วิจัย และการพัฒนาครูไม่ได้มีแค่การอบรม การแลกเปลี่ยนความรู้ก็เป็นหนทางพัฒนาอย่างหนึ่ง สมมติมีครูคนหนึ่งเป็นต้นแบบได้ เขาอาจช่วยดูแลแนะนำครูในโรงเรียน ขยายสู่การสร้างเครือข่าย ครูก็มีทักษะใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
กุลธิดายังมีความเห็นต่อการแก้ปัญหาการเมืองแบบเก่าในประเทศไทยว่า ประชาชนต้องมองการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมตามความสนใจหรือความถนัด ก็จะสร้างคนที่เข้ามาในระบบที่มีแนวคิดเดียวกัน อยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน เป็นทิศทางใหม่ของการเมืองไทย ทำนองเดียวกับบทบาทของภาคประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง เธอมองว่า ประชาชนต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่าการเมืองกระทบกับชีวิตของทุกคน ฉะนั้นถ้านักการเมืองทำสิ่งใดแล้วไม่ตอบโจทย์ ไม่แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ก็ควรมีส่วนในการออกความคิดเห็น ตรวจสอบ หรือมีส่วนร่วมตามที่ถนัด ไม่มองการเมืองเป็นแค่เรื่องของนักการเมืองดังเช่นที่ผ่านมา
“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนจะเลือกยืนข้างประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ”
คุณสมบัติของนักการเมืองรุ่นใหม่ในสายตาของกุลธิดา ต้องเรียบง่าย เข้าถึงได้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมืออาชีพเทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ ในสังคม และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจชีวิตประชาชนด้วยการลงพื้นที่ “จุ๊ยมองว่าตัวเลขทางสถิติสำคัญ ‘เทียบเท่า’ กับการไปเห็นหน้างานจริงๆ การลงพื้นที่ทำให้เราเรียนรู้เยอะมาก ได้เห็นทั้งปัญหาและความหวัง” เป้าหมายสูงสุดบนเส้นทางการเมืองของนักการเมืองหญิงวัย 34 ปีคนนี้ คือการได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแปรความคิดและอุดมการณ์ของเธอให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ กุลธิดาเชื่อว่าเป็นครั้งสำคัญในการแสดงจุดยืนของประชาชน ว่าเลือกจะยืนอยู่ฝ่ายไหน “การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนจะเลือกยืนข้างประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ”