แม้ชีวิตบนเส้นทางธรรมของ “หลวงพี่ช้าง” พระครูอุภัยโกศล เจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือ และเจ้าคณะตำบลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกจะเริ่มต้นเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เพียงเพราะต้องการหลีกหนีปัญหาเนื่องจากผิดหวังกับความรัก แต่ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทุกก้าวเดินของพระนักพัฒนารูปนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้สาเหตุแห่งการบรรพชาจะเกิดจากปัญหาส่วนตัว แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจจริงในการทำหน้าที่พระสงฆ์ที่ดีของสังคมไทยได้
ในฐานะเจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือหลวงพี่ช้างมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาวัดร่วมกับคนในชุมชนรอบวัดอย่างจริงจัง จนกลายเป็นกระแสที่ใครๆ พูดถึงและได้รับสมญานามว่า “พระนักพัฒนาแห่งพรหมพิราม” หลวงพี่ช้างเล่าให้ฟังว่า “โครงการของวัดตอนนี้ก็ทำข้าวแกงขาย อุปการะเด็กด้อยโอกาสดูแลคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง หาทุนการศึกษา หาทุนสร้างโรงพยาบาล ล่าสุดอาตมากำลังหาแท็งก์น้ำ 2,500 ลิตรให้โรงพยาบาล กลัวน้ำไม่พอใช้ เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญทางการแพทย์ เวลาอาตมาไปเจอคนพิการหรือผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ก็พยายามหาอาชีพไปให้ เช่น ให้เขาสานหมวก ทำไม้กวาด อาตมาไม่อยากให้เงินอย่างเดียว เพราะต้องการให้เขาแสดงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด มีคนเคยบอกอาตมาว่าความเมตตามักมาคู่กับความอ่อนแอ เราเมตตาเขาได้ แต่ต้องไม่ไปสร้างความอ่อนแอให้แก่เขา ต่อไปถ้าไม่มีเรา เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

พอถามถึงสาเหตุที่หลวงพี่ช้างตั้งใจช่วยเหลือคนในชุมชนทั้งที่มีสมณศักดิ์เป็นพระสงฆ์ ท่านตอบว่า “เพื่อใช้หนี้ค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าความศรัทธาของญาติโยม อาตมาเป็นพระ ได้แต่อุ้มบาตรไปรับข้าวรับน้ำจากโยม ไม่เคยมีโอกาสทดแทนโยมเลย เมื่อญาติโยมมีความเชื่อว่าใส่บาตรแล้วได้บุญ ในฐานะพระ ก็มานั่งคิดว่าเราจะทดแทนโยมอย่างไรได้บ้าง ถ้าอยากให้เขาได้บุญจริงๆ เราควรทำงานใช้หนี้ค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าความศรัทธา ค่าความเชื่อที่เขาคิดว่าเราเป็นผู้สูงกว่าเขา สูงด้วยการประพฤติปฏิบัติ สูงจนญาติโยมกราบไหว้ ทั้งๆ ที่เป็นใครก็ไม่รู้ อาตมาจึงตั้งใจทำหน้าที่พระคือช่วยเหลือโยม เป็นการตอบแทนค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าแรงศรัทธาของโยมกลับไป”
เมื่อตั้งใจจะใช้หนี้ญาติโยม หลวงพี่ช้างจึงได้เข้าไปรับรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น “อาตมาชอบไปตามบ้าน ไปดูว่าโยมทำอะไร โยมก็เริ่มเล่าให้ฟังถึงปัญหาต่างๆ ตอนนั้นมีโรงงานผักของญี่ปุ่นมาตั้งที่บ้านดอนทอง ไกลจากที่นี่ราว 20 กิโลฯ เขาเอาเมล็ดพันธุ์ต่างๆ มาให้ชาวบ้านปลูก แต่ต้องซื้อปุ๋ยและยาจากเขาเท่านั้น พอได้ผลผลิตปุ๊บ เขาก็หักเงินชาวบ้านทันที ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของเขาหมด ทั้งราคาและจำนวนที่ต้องการซื้อ มีข้อกำหนดเยอะมาก ถ้าไม่ทำตามก็ไม่ได้เงิน พออาตมารู้จึงบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องไปทำให้โรงงานนี้แล้ว มันเอาเปรียบเหลือเกิน แล้วก็สอนให้พวกเขาเพาะเห็ดฟางแทน พาไปอบรมเพาะเห็ดฟางที่พิจิตร แล้วก็อยากสร้างโรงเพาะเห็ดแต่ยังไม่มีเงินทุน เลยชวนชาวบ้านตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นมา ใช้สัจจะเป็นตัวตั้ง ชวนชาวบ้านมาลงทุนหุ้นละ 10 บาท แต่ห้ามลงเกิน 10 หุ้นต่อเดือน ญาติโยมก็มาร่วมทุนกัน ช่วงแรกมีคนมาลงทุน 134 คน ได้เงินทุนครั้งแรก 12,500 บาท ก็นำเงินก้อนนี้มาปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มอาชีพ ให้เขาเอาไปสร้างโรงเพาะเห็ด พวกเพาะเห็ดได้กำไรเดือนละ 9,000 บาท เขาก็แบ่งมาคืนวัดเดือนละ 1,000 บาท แค่ 12 เดือนเขาก็หมดหนี้” หลวงพี่ช้างย้อนเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นอย่างมีความสุข
“พอทำให้กลุ่มอาชีพยืนได้ อาตมาก็หันมาขายข้าวแกงเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ อยากหาอาชีพให้คนด้อยโอกาสทำโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วใกล้ตัว อาตมาเริ่มขายขนมตาลที่ตลาดพรหมพิราม แล้วก็ทำห่อหมกเห็ดฟาง ข้าวต้มมัด และแกงต่างๆ ขาย ช่วงแรกมีแกงขี้เหล็ก แกงหยวก แกงบอน คนในชุมชนก็มีรายได้จากการปลูกผักที่อาตมาต้องการเพิ่มขึ้นด้วย เช่น บ้านนี้ปลูกดอกแค บ้านนี้ปลูกผักกระเฉด บ้านนี้ปลูกกะเพรา พอได้ผลผลิตก็เอามาขายให้อาตมา พอช่วยคนได้ ไปเห็นโรงเรียน ตรงนั้นพังตรงนี้พัง ก็เริ่มไปซ่อมโรงเรียน ให้เด็กนักเรียนมาช่วยขายของเพื่อเอาเงินไปซ่อมโรงเรียน”
กว่าจะยืนหยัดเป็น “หลวงพี่ช้าง” ที่ใครๆ รู้จักในทุกวันนี้ พระสงฆ์รูปนี้เคยผ่านอุปสรรคต่างๆ มาไม่น้อย “อาตมาเคยโดนคนส่งบัตรสนเท่ห์มา 7 ชุด เขาหาว่าสิ่งซึ่งอาตมาทำไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นเดียรถีย์ เป็นคนนอกศาสนา เป็นพระสงฆ์มาขายแกงได้ยังไง คนที่ศรัทธาก็เอาเงินมาช่วย คนที่ไม่ศรัทธาก็เอาเหรียญมาขว้าง แต่ตัวอาตมารู้ดีว่าทำเพื่อใคร เลยก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ ใครจะส่งบัตรสนเท่ห์ก็ส่งไป ไม่โต้ไม่เถียงใคร อาตมาเคยท้อนะ แต่ไม่ยอมถอย เคยร้องไห้ด้วยซ้ำ เวลาท้อก็ถามตัวเองเสมอว่าทำเพื่อใคร ถ้าทำเพื่อตัวเอง คงถอยไปแล้ว แต่ถ้าทำเพื่อคนในชุมชนมันถอยไม่ได้ ทำสู้คำครหาไปเรื่อยๆ วันเวลาจะพิสูจน์เราเอง มีคนเคยถามอาตมาว่ามีเงินเก็บบ้างไหม ตอบได้เต็มปากว่าไม่มี ถ้าเป็นฆราวาสก็อีกเรื่อง แต่อาตมาเป็นพระรับรองว่าไม่มี ฆราวาสเขาแข่งกันรวย เป็นพระต้องแข่งกันจน”
ปัจจุบันหลวงพี่ช้างได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลพรหมพิราม มีหน้าที่หารายได้ร่วมสร้างโรงพยาบาล ตอนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วสองหลัง หลังแรกมูลค่า 22 ล้านบาท หลังที่สอง 31 ล้านบาท ส่วนหลังที่สามอยู่ระหว่างการก่อสร้าง “รายได้ก็มาจากการขายแกงนี่แหละ อาตมาขายแกง 3 ถุง 50 บาท กำไรแทบไม่มี แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือกระแส ก่อนสร้างโรงพยาบาลหลังแรก อาตมาคิดไว้เลยว่าต้องสร้างกระแสตัวเองให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงดำเนินสามนโยบายคือ หนึ่ง จุดไฟ ถ้ามีไม้ขีดไฟอยู่ก้านเดียว ทำอย่างไรจึงจะจุดครั้งเดียวติด อาตมาคิดถึงการขายแกง เพราะมีความมั่นใจและทำมานาน สอง ใส่เชื้อ เป็นการเติมลมเข้าไปในไฟ อาตมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเข้ามาช่วย ใช้หอกระจายข่าวและรถโฆษณารอบหมู่บ้าน เรียกว่าทำทุกรูปแบบให้คนรู้จักแกงถุงหลวงพี่ช้าง สาม เกื้อกูล คือต้องสร้างความช่วยเหลือเกื้อกูลให้เกิดขึ้น พอคนรู้ข่าวก็มาช่วยซื้อเยอะมาก ตักแกงขายแทบไม่ทัน”
หลวงพี่ช้างยังบอกอีกว่า การสร้างโรงพยาบาลของท่านเหมือนการทำบุญสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ค่อยๆ หาเงินสร้างไป อาศัยความศรัทธาของญาติโยม ทำให้เงินหลั่งไหลมาจนสามารถสร้างโรงพยาบาลหลังแรกได้เสร็จภายใน 2 ปี ทั้งๆ ที่ตอนแรกวางแผนไว้ว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีโครงการล่าสุดซึ่งหลวงพี่ช้างดำเนินการอยู่คือการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และเน้นผู้ป่วยในจังหวัดพิษณุโลกเป็นหลักท่านมีเป้าหมายต้องการซื้อรถสแกนตรวจมะเร็งเคลื่อนที่ราคา 12 ล้านบาท เพื่อให้ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะได้รักษาผู้ป่วยให้หายได้เร็วขึ้น

ที่ผ่านมาสมณสารูปของหลวงพี่ช้างอาจแตกต่างจากพระสงฆ์โดยทั่วไป สำหรับประเด็นนี้หลวงพี่ช้างอธิบายว่า “งานของอาตมาเป็นการทำงานแบบคิดนอกกรอบแต่ไม่นอกพระธรรมวินัย งานของอาตมาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น อาตมาจะไม่ไปขายแกงในตลาด ไม่ทำให้แม่ค้าในตลาดเดือดร้อน เราจะไปขายในชุมชน ให้คนในชุมชนมาช่วยซื้อ ขอร้องเขาว่าวันนี้หลวงพี่ช้างจะมาขายแกง ขอให้พักกระทะ พักหม้อข้าวมาร่วมกินอาหารบุญกันสักวันนะโยม”
นอกจากบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาจิตใจมนุษย์แล้ว พระสงฆ์นักพัฒนาอย่างหลวงพี่ช้างยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย ท่านใช้หลักการบริหารแบบ 5M + 1M นั่นก็คือ M1 คือ Man ทรัพยากรมนุษย์ เน้นคนที่มีปัญหาเช่น เด็กจรจัด เด็กกำพร้า เด็กในสถานพินิจ คนที่มีหนี้สิน คนพิการ ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เป็นต้น M2 คือ Materialใช้วัสดุอุปกรณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น หยวกกล้วย ใบตอง ลูกตาล ข่า ตะไคร้ ตำลึง ใบมะกรูด ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนM3 คือ Manage การบริหารจัดการ นำมาผลิตให้เป็นสินค้า เป็นความเชื่อ เป็น “นวัตวิถี” ที่แปลกใหม่แต่ใช้ได้จริง M4 คือ Market การตลาด เน้นทำการตลาดแบบสร้างสรรค์ ไม่เบียดเบียน และสร้างภาคภูมิใจร่วมกัน M5 คือ Money เงินต้องมีการบริหารจัดการเงินที่ดีเมื่อมีรายได้ให้นำมาใช้ในสิ่งจำเป็นเช่น เลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่ กินอยู่ รวมถึงแบ่งปันไปสร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ และทั้ง 5M นี้ ต้องอยู่ภายใต้ M ใหญ่ ก็คือ Moralหรือศีลธรรมนั่นเอง
“สิ่งที่เราทำนั้นเหนือกว่าความต้องการ และก้าวข้ามไปถึงคำว่า ‘ศรัทธา’ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘หลวงพี่ช้าง สินค้าบุญ บุญก็ได้ ไส้ก็เต็ม ท้องก็ตึง’อาตมามีหน้าที่ช่วยให้คนในชุมชนหลุดพ้นจากหนี้สินและความทุกข์ จึงเข้าไปช่วยบริหารจัดการภายในครอบครัว คนที่เป็นภาระหรือสร้างหนี้สินก็พยายามดันให้เขาออกไปทำงาน เพื่อจะได้กลับมาเป็นพลังของครอบครัว ครอบครัวที่ไม่ยอมให้เข้าไปรื้อระบบ อาตมาจะไม่ช่วยเด็ดขาด” หลวงพี่ช้างเน้นย้ำอย่างหนักแน่น
พระนักพัฒนายังฝากถึงหลักการใช้ชีวิตซึ่งทุกคนควรปฏิบัติไว้ด้วยว่า“ถ้าอยากรวยต้องประหยัด แต่ถ้าอยากยากจนก็ใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายต่อไป เวลาทำอะไรต้องคิดให้ดี ถ้าใช้จ่ายแบบไม่คิดโยมจะไม่เหลืออะไรเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกข์เรื่องเงินเรื่องทองของฆราวาสคือ ทุกข์เพราะไม่มีทรัพย์ ทุกข์เพราะมีทรัพย์แล้วใช้ทรัพย์ไม่ได้ และทุกข์เพราะเป็นหนี้ ทั้งหมดเป็นเพราะใช้เงินไม่สมดุลกับรายได้ ทุกวันนี้เราซื้อความสะดวกสบายด้วยปัญญาของคนอื่นทั้งนั้นเราวิ่งตามเทคโนโลยีเพราะกลัวไม่ทัน ซื้อโน่นซื้อนี่ เพราะเห็นแก่หน้าตัวเอง จึงมีหนี้ไม่หยุด”
ตลอดเวลาที่สนทนากัน เราเห็นหลวงพี่ช้างสั่งงานอยู่ไม่หยุดจึงอดถามไม่ได้ว่าทำงานหนักขนาดนี้ หลวงพี่เหนื่อยบ้างไหมพระนักพัฒนาตอบตรงตามสไตล์ว่า “ถ้าไม่ทำ ฉันเหนื่อยกว่า ปัญหามันขัดตาไปหมด แต่ถ้าได้ลงมือทำและได้ช่วยคน ฉันก็สบายใจ”
