เดือนกุมภาพันธ์ที่มีเทศกาลวาเลนไทน์นี้ ใครต่อใครมักพูดถึงเรื่องของความรักกัน แต่ความรักไม่ได้จำกัดเฉพาะรักของคู่รักเท่านั้น ยังกว้างไกลไปถึงความรักครอบครัว ความรักเพื่อน รวมถึงความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นสิ่งไม่มีชีวิตก็ได้ เช่น รักการถ่ายรูป รักการร้องเพลง หรือรักในความรู้ ‘เรื่องเด่นประจำเดือน’ ฉบับเดือนแห่งความรัก อยากแนะนำบุคคลสองคนที่มี ‘ความรักในศิลปินเกาหลี’ และ ‘ความรักในอาหาร’ ความโดดเด่นของทั้งคู่คือการนำความรักความหลงใหลเป็นพลังในเชิงสร้างสรรค์ต่อยอดกลายเป็นวิถีชีวิต เป็นอาชีพ นำพาสู่ความสำเร็จ
‘บูม แคสสิโอเปีย’
แฟนบอยผู้หลงใหลใน K-Pop
อนนต์ เดชะปัญญา คือชื่อจริงของ ‘บูม แคสสิโอเปีย’ แฟนบอยผู้โด่งดังในแวดวงแฟนคลับนักร้องเกาหลี หรือแวดวง K-Pop ‘บูม แคสสิโอเปีย’ มาจากชื่อที่เขาใช้ในโซเชียลมีเดีย โดย ‘บูม’ คือชื่อเล่นของเขา ส่วน ‘แคสสิโอเปีย’ คือชื่อแฟนคลับของวงดงบังชินกิ บอยแบนด์จากประเทศเกาหลีที่ดึงดูดให้บูมสนใจและก้าวสู่เส้นทางแฟนคลับ ความรักที่มีต่อนักร้องเกาหลี และความรักที่มีต่อการวาดรูป คือสองสิ่งซึ่งบูมนำมารวมเข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์จนก่อให้เกิด ‘สอนศิลป์โอปป้า’ สถาบันสอนวาดรูปศิลปินเกาหลีที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ไม่เพียงแค่นั้น ความสำเร็จของบูมยังรวมถึงการเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ เป็นตัวอย่างของผู้ที่นำความหลงใหลมาต่อยอดจนประสบความสำเร็จ เป็นพิธีกรในงานอีเว้นต์ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงเกาหลี และเป็นบุคคลซึ่งสื่อมักจะนึกถึงเมื่อต้องการความเห็นที่เกี่ยวกับบันเทิงเกาหลี
บูมเล่าว่าชื่นชอบแวดวงบันเทิงเกาหลีมานานถึง 15 ปีได้ แต่เริ่มจริงจังคือ ค.ศ. 2003 เมื่อวงดงบังชินกิเปิดตัว ด้วยคุณภาพการร้องเพลงที่นำหน้าบอยแบนด์วงอื่น เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้แก่เขา จนเริ่มติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่า “หายใจเข้าและหายใจออกเป็นดงบังชินกิก็ว่าได้ครับ” ต่อมาบูมได้ขยายสู่ความชื่นชอบศิลปินนักร้องวงอื่น ๆ จนเกือบจะค่อนวงการบันเทิงเกาหลี จุดเปลี่ยนจากการเป็นแฟนบอยธรรมดาสู่การเป็นแฟนบอยที่แฟนคลับในไทยต้องรู้จัก เริ่มต้นเมื่อบูมหันมาเล่นทวิตเตอร์ (Twitter) เพราะเป็นโซเชียลมีเดียที่แฟนคลับเกาหลีนิยมเล่นกัน รวมถึงนักร้องเกาหลีหลายคนก็เล่น แต่ในตอนนั้นบูมมีคนติดตามจำนวนพันกว่าคนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ จนค.ศ. 2012 บูมไปดูคอนเสิร์ตที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ระหว่างที่วง ‘บีสท์’ กำลังแสดงบนเวที บูมก็ส่งเสียงเชียร์อย่างบ้าคลั่ง จังหวะนั้นกล้องจับภาพเขาและเผยแพร่ออกอากาศไปทั่วเอเชีย แฟนคลับชาวไทยและชาวต่างประเทศจึงได้รู้จักบูมและแซวว่า ‘เป็นแฟนบอยชาวไทยผู้มีความรักที่ดุเดือด’ หลังจากเหตุการณ์นั้นยอดผู้ติดตามก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักหมื่นในเวลาอันสั้น ชื่อเสียงของบูมเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวง
สิ่งที่ทำให้บูมโดดเด่นนั้น เจ้าตัวมองว่านอกจากความบ้าคลั่งศิลปินนักร้องอย่างดุเดือด คงเป็นความตลก จริงใจไม่เสแสร้ง คนที่มาอ่านทวิตเตอร์จึงรู้สึกเป็นกันเอง บูมให้ความสำคัญแก่การใช้ภาษาที่สุภาพ ถ้อยคำไม่หยาบคาย เพราะถือว่าเป็นการให้เกียรติคนอ่าน ให้เกียรติตนเอง รวมทั้งให้เกียรติภาพลักษณ์แฟนคลับเกาหลี อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนเห็นตรงกันคือบูมรู้จักแบ่งเวลา ไม่คลั่งไคล้จนกระทบต่อชีวิต ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำตอบว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเป็นที่รักและมีชื่อเสียงโด่งดัง
วิถีแฟนบอย
ทัศนคติของคนนอกที่มองแฟนคลับเกาหลีมีทั้งบวกและลบ ส่วนหนึ่งชื่นชมในความทุ่มเทและจริงจังจนหลายคนประสบความสำเร็จจากการนำสิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจ แต่บางส่วนยังคงมองในแง่ลบ เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สิ้นเปลืองเงินทองโดยเฉพาะในวัยเรียน สำหรับแฟนคลับรุ่นเก๋าอย่างบูมมีมุมมองและคำแนะนำว่า ติ่งอย่างไรให้มีคุณภาพ “บูมจะประเมินตัวเองก่อนเสมอ ไม่สักแต่จ่าย สักแต่เปย์จนตัวเองหรือครอบครัวเกิดความลำบาก อย่างสมัยที่ยังแบมือขอเงินทางบ้าน บูมเลือกไปคอนเสิร์ตเกาหลีเฉพาะวงที่รักที่สุด และพยายามประหยัดเงินด้านอื่น ไม่ซื้อของเล่นสุดหรู เสื้อผ้าสุดไฮโซ บวกกับพยายามตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ทำให้ผู้ปกครองที่เราแบมือเงินขอต้องเป็นห่วง พอเริ่มโต เริ่มเป็นครูสอนวาดรูป เป็นพิธีกรงานอีเว้นต์ ทำให้มีรายได้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องเห็นคุณค่าของเงิน จัดสรรการใช้จ่ายให้ดี เปย์เป็น ออมเป็น
“บูมอยากให้มองว่าวงการใด ๆ ในโลกนี้ล้วนมีคุณและโทษทั้งนั้น หากไม่รู้จักควบคุม หลงใหลอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนไม่เป็นอันกินอันนอน แน่นอนว่ามันคือ ‘โทษ’ ในทางกลับกันหากรู้จักแบ่งเวลาโดยใช้สิ่งที่ชอบเป็นตัวสนับสนุนสร้างแรงใจ ย่อมเกิด ‘คุณ’ แน่นอน และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำให้ผู้ปกครองเห็น เพราะที่พวกท่านไม่สนับสนุน ตำหนิ หรือต่อต้าน มาจากความเป็นห่วงล้วน ๆ ไม่ใช่ความเกลียดชัง ดังนั้นแทนที่จะมานั่งเถียงหรืออธิบายในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ สู้กระทำหรือแสดงให้ท่านเห็นจะดีกว่าครับ” บูมยังแนะนำเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยตัวเองให้ถูกทำลายโดยสิ่งที่ตนรัก เพียงเพราะความหลงใหลคลั่งไคล้จนขาดสติ จงทำหน้าที่ในแต่ละช่วงชีวิตของตนให้ดีที่สุด หากวันหนึ่งเราประสบความสำเร็จโดยมีสิ่งที่รักเป็นแรงใจ เราจะรู้ว่าความภาคภูมิใจที่ได้มันต่างกันเยอะ
สถาบันสอนศิลป์โอปป้าคือตัวอย่างผลิตผลของการติ่งอย่างสร้างสรรค์และมีสติ จนสามารถต่อยอดกลายเป็นอาชีพ สร้างรายได้ และพึ่งพาตัวเองได้ บูมเปิดเผยถึงที่มาว่า เกิดจากความรักการวาดรูปและศิลปินเกาหลีมาก ดังนั้นเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วคงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการเปิดคอร์สสอนวาดรูปศิลปินเกาหลี ซึ่งเขาสามารถนำสิ่งที่ถนัดมาประกอบเป็นวิชาชีพได้อย่างมีความสุข จุดมุ่งหมายการเรียนคือการพัฒนาทักษะวาดรูปเพื่อความสุขล้วน ๆ ให้ผู้เรียนภูมิใจว่าสามารถวาดคนที่รักได้ดีอย่างไม่อายใคร คนที่มาเรียนไม่จำเป็นต้องมีทักษะ แต่รับประกันว่าจบคอร์สทุกคนต้องเก่ง วาดแล้วดูออกว่าเป็นรูปใคร แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ตามมาเสมอคือ เด็กบางคนเรียน ๆ ไป เกิดความหลงรักในศิลปะขึ้นอย่างจริงจัง จนตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาศิลปะ เป็นผลพวงอันยิ่งใหญ่ซึ่ง ‘สอนศิลป์โอปป้า’ มีส่วนช่วยเบิกทางสู่อนาคตที่สวยงามให้เยาวชนต่อไป
โอปป้าที่รัก
“แน่นอนว่า K-Pop กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของบูม เราอยู่กับสิ่งนี้มาเกินครึ่งชีวิตแล้ว บูมมั่นใจว่ากระแส K-Pop ไม่มีวันจบไป อาจจะแผ่วลงตามช่วงเวลาของมัน แต่ถึงอย่างไรบูมก็ยังคงอยู่ตรงนี้ เป็นแฟนคลับตลอดไป เพราะความรักและความชื่นชอบของบูมไม่ได้ยึดอยู่กับกระแสชั่ววูบ แต่เป็นความรักและความศรัทธาในคุณภาพของผลงาน และศักยภาพที่มีอยู่ในตัวศิลปิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืน
สำหรับบูม การได้มาเป็นแฟนบอยคือพรจากพระเจ้าที่ช่วยทำให้เรามีความสุข คอยชาร์จพลังในเวลาที่อ่อนล้า และเป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ นับไม่ถ้วน สะท้อนให้เห็นว่า บางสิ่งที่ดูเหมือนไร้สาระ บางทีเป็นเพราะเราเลือกมองมันแค่มุมเดียว แต่หากเลือกมองจากมุมต่าง ๆ อย่างยุติธรรมและชาญฉลาด ทุกสิ่งในโลกนี้สามารถเป็นครู และนำประโยชน์มาให้เราได้เสมอ”
หนึ่งคำถามที่เราถามแฟนบอยคุณภาพคนนี้ หากไม่ได้เป็นแฟนบอยคิดว่าตัวเองจะเป็นอะไร บูมยืนยันว่าไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน เพราะถ้าย้อนเวลาได้ เขาจะไม่ใช่แค่แฟนคลับนักร้องเกาหลีอย่างที่เป็น แต่จะเป็นแฟนคลับที่บินไปเฝ้ามองวงดงบังชินกิ EXO BTS ตั้งแต่ยังไม่เป็นศิลปินด้วยซ้ำ
เชื่อแล้วว่าเขามีความรักแท้ในศิลปินเกาหลีจริง ๆ
‘ว่านน้ำ พันทิป’
สาวผู้หลงใหลในอาหาร
‘ว่านน้ำ พันทิป’ เราคุ้นหน้าคุ้นตาเธอจากบทบาทกรรมการตัดสินในรายการ ‘เชฟกระทะเหล็ก’ ในฐานะนักวิจารณ์อาหาร (food critic) แต่ก่อนหน้านั้นเธอเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์จากการเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดยอดนิยมของประเทศไทย pantip.com กระทู้ของเธอโด่งดังและมีแฟนติดตามไม่น้อย ความหลงใหลและความจริงจังในอาหารทำให้เธอก้าวสู่การเป็นบล็อกเกอร์ (blogger) ทำหน้าที่ชิมและรีวิวอาหารด้วยข้อมูลที่มีสาระอย่างตรงไปตรงมา ได้รับความเชื่อถือและความไว้ใจจนก้าวสู่การเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันทำอาหารในรายการดังกล่าว
ว่านน้ำรู้ตัวว่าโปรดปรานอาหารมาตั้งแต่เด็ก โดยได้รับอิทธิพลจากครอบครัวที่ชอบเรื่องอาหารการกิน ประกอบกับเมื่อวัยเยาว์มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ทำให้เธอเปิดหูเปิดตาค้นพบความแตกต่างที่น่าสนใจของรสชาติอาหารในแต่ละท้องถิ่น ว่านน้ำเริ่มต้นเข้าสู่สังคมเว็บบอร์ดพันทิปตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย จากความสนใจเรื่องอาหารการกินทำให้เธอปักหลักพูดคุยกับคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กันรวมกลุ่มชวนกันไปกิน จนกลายเป็นสมาชิกขาประจำของโต๊ะ ‘จตุจักร’ ชื่อกลุ่มย่อมในเว็บไซต์พันทิปที่พูดคุยเรื่องอาหารการกิน ก่อนจะแยกตัวแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ‘ก้นครัว’
ว่านน้ำเป็นที่รู้จัก เนื่องจากความโดดเด่นในเรื่องข้อมูลที่แน่น แม่นยำ และเชื่อถือได้ ภาษาที่ใช้ไม่สวิงสวาย เธออธิบายว่าจะใช้คำว่า ‘อร่อย’ ให้น้อยที่สุดหรือเท่าที่จำเป็น เพราะอร่อยเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน แต่เน้นให้ข้อมูลความรู้ในอาหารชนิดนั้น ๆ มากกว่า เช่น สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าต้นตำรับของอิตาลีไม่ใส่นม เส้นมีความกรุบตรงกลาง เพื่อให้คนอ่านทราบว่ามาตรฐานตามตำรับเป็นเช่นนี้ ส่วนอาหารจานที่ชิมและรีวิวนั้นเหมือนหรือพลิกแพลงจากต้นตำรับอย่างไร แล้วรสชาติเปลี่ยนไปอย่างไร คนอ่านจะได้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเอง
เมื่อคลุกคลีในเว็บบอร์ดพันทิปมาได้สักพัก กระทู้ที่เธอถามและตอบเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงยากต่อการค้นหา เธอจึงคิดว่าควรรวบรวมเนื้อหาที่เคยโพสต์ เรื่องราวที่เคยเขียนไว้ที่นั่นที่นี่ เกิดเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอก้าวเข้าสู่การทำบล็อก และกลายมาเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดังที่รีวิวอาหารด้วยข้อมูลอันน่าเชื่อถือ
วิถีนักชิม
ว่านน้ำเล่าถึงการชิมและรีวิวอาหารในยุคแรกตั้งแต่สมัยหมกมุ่นอยู่กับเว็บไซต์พันทิปอย่างจริงจังว่า ก่อนถ่ายรูป จะแต่งรูปให้อาหารดูน่ากิน ใช้วิธีบรรยายด้วยตัวหนังสือล้วน ๆ เพราะกล้องถ่ายรูปสมัยนั้นราคาสูง โทรศัพท์มือถือก็ยังถ่ายรูปไม่ได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก การชิมและรีวิวอาหารจึงง่ายขึ้น เกิดบล็อกเกอร์หน้าใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ทำให้ว่านน้ำแตกต่างและไม่เหมือนใครนอกจากเรื่องข้อมูลที่แน่นแล้ว ยังรวมถึงความพิถีพิถันในการแนะนำร้านอาหารด้วย
“โดยหลักว่านจะดูว่าร้านนี้น่าสนใจไหม มีอาหารที่น่ากินบ้างรึเปล่า บางครั้งเราดูจากผลตอบรับของคนที่ไปกินมา ว่านมีเครือข่ายเพื่อนฝูงนักชิมซึ่งเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเลย ถ้าเขาบอกว่าไม่โอเค ว่านจะตัดสินใจไม่ไปดีกว่า ว่านเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เราอยากเลือกเฉพาะร้านที่น่าสนใจจริง ๆ ส่วนเรื่องดีหรือไม่ดีค่อยมาว่ากัน เวลาที่ว่านไปชิม ถ้าเป็นร้านที่เขาเชิญ แน่นอนว่าเขาต้องรู้จักว่านอยู่แล้ว แต่ถ้าร้านไหนว่านไปกินเองก็ทำเหมือนลูกค้าทั่วไป ทางร้านเขาจะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ทั้งนี้แม้ว่าเป็นร้านที่เขาเชิญ ว่านจะแจ้งเลยว่าขอให้เสิร์ฟอาหารเหมือนเวลาที่ขายปกติ จัดให้เหมือนลูกค้าทั่วไป ถ้าดูแล้วไม่ใช่ว่านทักเลยว่านี่ใช่แบบขายปกติจริงรึเปล่า หรือถ้าเป็นอาหารที่จัดพิเศษ ว่านจะเขียนบอกเลยว่าพิเศษ และถ้าไปกินในฐานะที่ได้รับเชิญว่านก็บอกตรง ๆ ว่านยึดความจริงใจต่อคนอ่านเป็นสำคัญ
“ถ้าร้านไหนเรากินแล้วรสชาติไม่โอเค ว่านจะขอคุยกับทางร้าน ชี้แจงเลยว่ามันไม่อร่อยยังไง ทุกคนไม่มีใครอยากเปิดร้านมาเพื่อเจ๊งหรอก ถ้าเราเขียนไปตามตรงทางร้านจะเสีย หรือถ้าเขียนไม่ตรงกับความจริง ตัวว่านเองก็จะเสียชื่อด้วย ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า อาหารเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ มันมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิบัติเยอะมาก เช่น พ่อครัวหลักไม่อยู่ เปลี่ยนพ่อครัว วัตถุดิบมีปัญหา ไปครั้งแรกแล้วดี แต่ไปอีกครั้งไม่เหมือนเดิม” นี่คือความยากของการรีวิวอาหาร ว่านจะเลี่ยงการใช้คำว่า ‘อร่อย’ เพราะเป็นเรื่องของรสนิยมซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ว่านจึงเน้นให้ข้อมูลความรู้แทน ปัจจุบันมีคนใฝ่ฝันอยากเป็นบล็อกเกอร์จำนวนไม่น้อย ว่านน้ำในฐานะมืออาชีพในแวดวงนี้แสดงความเห็นว่า นอกจากความรักความชอบเป็นพื้นฐานแล้ว ควรพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และมีความจริงใจต่อผู้อ่านด้วย “ว่านมองว่าถ้าใครอยากเข้ามาในเส้นทางนี้อย่างยั่งยืน เข้ามาเพราะรักไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง คุณต้องมีความใส่ใจและใฝ่รู้ ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้ทุกอย่าง ว่านเองก็ไม่ได้ชำนาญเรื่องอาหารตั้งแต่เกิด แต่ว่านศึกษาเพิ่มเติม บล็อกเกอร์หลายคนมักบอกว่าตัวเขาไม่มีความรู้เรื่องอาหาร แค่ชอบกินจึงเข้ามาสู่เส้นทางนี้ ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่ถ้าเรามีโอกาสพัฒนาตัวเอง ทำไมถึงไม่ทำล่ะ เราอยู่ในฐานะสื่อ การเขียนรีวิวมั่ว ๆ มันชุ่ยเกินไป ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่คนอ่านด้วย”
อาหารที่รัก
ใครบางคนเคยว่า อย่าเอาสิ่งที่รักที่สุดมาเป็นอาชีพ เพราะจะทำให้เราเกลียดสิ่งนั้นไปเลย แต่ว่านน้ำกลับคิดต่าง เธอบอกว่าถ้าเธอไม่ได้ทำอาชีพเกี่ยวกับอาหาร เธอก็นึกไม่ออกแล้วว่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพราะมีความชอบเป็นทุนเดิม เธอจึงทำสิ่งนี้ได้ดีเยี่ยม “เคยมีคนมาขอบคุณว่าน บอกว่ากระทู้ที่ว่านเขียนสามารถช่วยให้เขานำไปต่อยอดประกอบวิชาชีพได้ เราดีใจที่ข้อมูลของเรามีประโยชน์ต่อคนอื่น แม้อนาคตข้างหน้าอาจจะไปทำอย่างอื่น แต่ก็คงอยู่ในแนวทางประมาณนี้ต่อไป”
อาหารในความรู้สึกของ ‘ว่านน้ำ พันทิป’ ไม่ใช่แค่สิ่งที่กินเข้าไปให้หายหิว แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณและวัฒนธรรมอันแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น ทำไมอาหารใต้ถึงต้องมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ เพราะขมิ้นช่วยขับลมและทำให้ร่างกายอบอุ่นจากลมทะเล เมนูลาบในแต่ละภูมิภาคก็รสชาติต่างกัน สิ่งเหล่านี้มีที่มา มีประวัติศาสตร์แฝงอยู่ให้สืบค้นและถ่ายทอดต่อไป