ประเทศไทยและประเทศอินเดียมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาช้านาน โดยไทยรับอิทธิพลจากอินเดียมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษา ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างๆ ปัจจุบันอินเดียอาจไม่ใช่แหล่งความรู้กระแสหลัก คนไทยจึงอาจมีความรู้เกี่ยวกับอินเดียน้อยไม่มากนัก ไม่ว่าจะภาษาบาลีสันสกฤตที่มีผู้รู้จำนวนจำกัด รวมทั้งด้านปรัชญาและวรรณกรรมที่อาจไม่ได้แพร่หลายเป็นวงกว้าง สาขาวิชาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานเสวนาในหัวข้อ หนังสือภารตะ ภายใต้โครงการเสวนาภารตวิทยา ซึ่งจัดมาแล้วกว่าห้าปี เพื่อเผยแพร่ความรู้จากดินแดนภารตะหรือประเทศอินเดีย วิทยากรคือ ธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ มาพูดคุยถึงประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากอินเดีย รวมทั้งการทำหนังสือของสำนักพิมพ์
ไม่เพียงแค่นั้น การเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับภารตวิทยา นักศึกษาที่กำลังศึกษาวิชาภาษาบาลีสันสกฤต หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และยังมีข้อสงสัยว่าเรียนจบแล้วจะประกอบวิชาชีพอะไรต่อไป ก็สามารถเห็นภาพชัดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง ภายในงานมีอาจารย์และผู้รู้ให้ความสนใจมาร่วมฟังการเสวนาหลายท่าน ได้แก่ อ.มกุฏ อรฤดี อ.ปณิธิ หุ่นแสวง โดยมี อ.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ชานป์วิชช์ เปิดการเสวนาด้วยการให้ธนิษฐา วิทยากรของงานเล่าเรื่องความสนใจที่มีต่ออินเดีย ชีวิตการเรียนที่นั่น รวมทั้งที่มาของการทำสำนักพิมพ์ภารตะ ธนิษฐาเริ่มต้นเล่าว่าเหตุจูงใจที่ทำให้สนใจประเทศอินเดียมาจาก “หนังสือ” ไล่เรียงตั้งแด่หนุ่มสาว ของ “กฤษณมูรติ” งานแปลของอ.กรุณา กุศลาสัย เช่น พบถิ่นอินเดีย คีตาญชลี ฯลฯ การได้อ่านหนังสือเหล่านั้นทำให้เธออยากเดินทางไปประเทศอินเดีย แม้ว่าจะเรียนจบทางนิเทศศาสตร์ แต่ก็สนใจแนวคิดและปรัชญาอินเดีย เธออยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้อินเดียสร้างนักคิดที่น่าทึ่งได้เช่นนี้ ธนิษฐาเดินทางอย่างแบ็คแพ็คเกอร์ไปอินเดียตามที่ตั้งใจ และได้ไปพบว่าประเทศแห่งนี้คือคลังความรู้ขนาดมโหฬาร ที่เธอกล่าวว่าเกิดอีกสิบชาติก็เรียนไม่หมด “ถ้าคุณไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แค่ไปนั่งฟัง ไปคุย ไปเข้าคอร์ส ก็ได้ความรู้ของอินเดียมาไม่มากก็น้อย” ต่อมาธนิษฐาได้ศึกษาต่อที่ University of Pune เมืองปูเน ประเทศอินเดีย และตัดสินใจทำสำนักพิมพ์เพื่อแปลงานจากอินเดียเผยแพร่สู่คนไทย
ภารตวิทยาในประเทศไทย
ธนิษฐากล่าวถึงการเข้ามาของภารตวิทยาในประเทศไทย “ตอนนั้นพระวรวงศ์เธอ พระเองค์เจ้าธานีนิวัต รับตำแหน่งดูแลการศึกษาของชาติ ที่กระทรวงธรรมการแทนครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์มีความสนใจในอินเดียมาก ท่านรพินทรนาถ ฐากุรเคยเดินทางมาเจอพระองค์เจ้าธานีนิวัต มีการแลกเปลี่ยนความรู้ของอินเดียกัน ท่านรพินทรนาถส่งสวามีสัตยานันทบุรี อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาปรัชญาและสันสกฤต มาพำนักไทยในฐานะทูตวัฒนธรรม สวามีสัตยานันทบุรีก็มาเรียนภาษาไทยกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านศึกษาจนแตกฉานอย่างรวดเร็ว เพราะภาษาไทยก็ใช้คำจากบาลีสันสกฤตเยอะ ทว่าโดยทั่วไปคนอินเดียมักเรียนรู้ภาษาง่ายและเร็ว เหมือนเขามีพรสวรรค์ทางด้านภาษากัน ท่านสวามีสัตยานันทบุรีได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เช่น ปรัชญาฝ่ายโยคะ ปรัชญาการโต้วาที อันเป็นประโยชน์ต่อคนไทยต่อมา
การเข้ามาของภารตวิทยานั้นสมัยนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการผลักดันของรัฐ ถ้าไม่ได้การสนับสนุนของพระองค์เจ้าธานีนิวัต ความร่วมมือของหม่อมหลวงปิ่น รวมถึงพระยาอนุมานราชธน ผู้แปลหนังสือหลายเล่มของอินเดีย ภารตวิทยาคงไม่ได้แพร่หลายในไทยได้ถึงขนาดนี้ ช่วงเวลานั้นมีการแปลหนังสือ มีการเสวนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างสวามีสัตยานันทบุรีกับผู้รู้และนักวิชาการต่างๆ กันอย่างคึกคัก ความรู้พื้นฐานของอินเดีย เช่น ปรัชญาหรือการโต้วาที ถ้าเราไม่รู้มาก่อน การจะไปอ่านหนังสืออื่นๆ เช่น มหาภารตะ หรือแม้แต่หนังสือสมัยใหม่ เราอาจไม่เข้าใจแนวคิดได้อย่างลึกซึ้งเลยว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
อินเดีย คลังความรู้ และการร่วมมือจากรัฐบาล
“ความรู้ของอินเดียนั้นมีมากมายเหลือคณานับ ทำให้ดิฉันอยากทำสำนักพิมพ์ เราอยากให้คนไทยเข้าใจอินเดีย มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ถ้าได้รู้จักงานเขียนของเขา ตัวตนความเป็นเขา ความไม่เข้าใจต่อกันคงน้อยลง และยังได้เรียนรู้ นำสิ่งดีๆ ของเขามาพัฒนาต่อได้ พอตัดสินใจว่าจะทำสำนักพิมพ์ ดิฉันจึงมาเรียนบรรณาธิการกับอ.มกุฏ เพราะการเขียนอินเดียมีความเซนซิทีฟ ถ้าจังหวะประโยคไม่ดี เหมือนเราไปดูแคลนเขาได้
“หนังสือของอินเดียนั้นไม่ค่อยถูกนำมาแปลเป็นไทย ส่วนหนึ่งคือเรามีคนที่รู้ภาษาบาลีสันสกฤตไม่มาก แม้จะแปลจากภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องอินเดีย เพราะต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมเขาถึงจะแปลออกมาได้ถูกต้อง ตรงนี้อยากเล่าถึงการแปลหนังสือของประเทศอินเดีย ที่นั่นเขามีหน่วยงานด้านหนังสือโดยตรง หนังสือเล่มไหนดีเขามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รีบแปลเป็นภาษาต่างๆ ให้คนอินเดียได้อ่าน หรือต่อให้ไม่ได้แปลออกมาเป็นภาษาท้องถิ่น คนอินเดียก็สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องแปลเขาก็แปลได้อย่างรวดเร็วเพราะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วย คนอินเดียจึงได้อ่านหนังสือออกใหม่แทบจะทันที”
นอกจากการแปลหนังสือ แม้อินเดียเป็นที่รู้จักในเรื่องการแบ่งคนด้วยระบบวรรณะ ซึ่งน่าจะมีผลต่อความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความรู้ ทว่าธนิษฐาเล่าถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ และการยอมรับผู้มีความรู้แม้มาจากวรรณะต่ำกว่าว่า “อธิการบดีของมหาวิทยาลัยของดิฉันเป็นวรรณะจัณฑาล แต่ก็อยู่ในรัฐนี้ได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี อินเดียต่อให้เขาแบ่งวรรณะ ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ คุณก็สามารถเจริญก้าวหน้าไปจนสุดทางได้ ตรงนี้เห็นเลยว่าเพียงคุณได้รับความรู้อย่างเท่าเทียม คุณก็สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ยากและประสบความสำเร็จได้
“กลับมาที่งานเขียน เขามีงานเขียนที่มาจากคนวรรณะจัณฑาลหรือดาลิตเยอะมาก งานเขียนของเขาเปิดกว้าง สามารถเขียนเป็นภาษาท้องถิ่น แล้วก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยรัฐบาลอินเดียเป็นผู้จัดทำ ประเทศไทยไม่มีใครทำ สำนักพิมพ์อย่างเราทำเองได้ไหม เราทำไม่ไหวนะคะ ประเทศอินเดียเขามีการจัดการที่เอื้ออำนวย ต่อให้รัฐไม่ทำ สำนักพิมพ์ทำ แต่รัฐเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ดีก็ให้งบประมาณสนับสนุน โดยหนังสือดีไม่ได้แปลว่าต้องขายได้ หมายถึงหนังสือที่ประชาชนควรได้อ่าน เพราะฉะนั้นจึงมีกลไกของรัฐมาช่วยสนับสนุน
“ตัวอย่างเช่น รัฐสนับสนุนเงินให้เรา เราก็พิมพ์หนังสือขายในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐก็นำหนังสือส่วนหนึ่งที่สั่งจากเราไปให้ยังห้องสมุดต่างๆ คนอินเดียไม่เคยต้องซื้อตำราแพทย์ราคาสี่ห้าพันเลย วันก่อนคุยกับอ.ประภัสสร ที่ทำเรื่องผ้าในอินเดีย แกเล่าว่ามีเด็กอินเดียมาเห็นห้องทำงานแกมีหนังสือเยอะมาก เด็กบอกฉันไม่เห็นต้องซื้อหนังสือเหมือนคุณเลย ฉันอ่านที่ไหนก็ได้ อ่านห้องสมุดก็ได้ ที่อินเดียถ้าคุณอยากซื้อหนังสือเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าคุณไม่ซื้อก็มีห้องสมุดที่สามารถยืมอ่านได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินมีฐานะถึงจะได้ความรู้ อินเดียสามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ แม้ห้องสมุดมีสภาพโกโรโกโส แต่มีความรู้อยู่ในนั้น”
ธนิษฐานำสือสำหรับเด็กที่พิมพ์โดย National Book Trust India มาให้ผู้เข้าฟังเสวนาดูเป็นตัวอย่าง พร้อมเล่าถึงความสนับสนุนของรัฐต่อการสร้างความรู้ให้ประชาชนต่อว่า “นี่คือความฉาญฉลาดของรัฐ รัฐมีรายชื่อนักวิชาการที่เก่งด้านต่างๆ สมมติคุณเก่งดาราศาสตร์ รัฐจ้างคุณทำหนังสือดาราศาสตร์สำหรับเด็ก เป็นการนำความรู้มาย่อยให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีหลอดทดลองแพงๆ ก็สามารถเรียนรู้เคมีหรือฟิสิกส์ อีกทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ก็มีงานรอบรับอยู่เสมอ เพราะรัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำงานวิจัยออกมาเสร็จแล้วคนก็หลงลืมกันไป”
ผู้เข้าร่วมฟังเสวนายังได้แชร์ประสบการณ์ เมื่อเขาได้เดินทางไปศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษที่ประเทศอินเดียว่า มีการทำหนังสือวรรณกรรมคลาสสิคของอังกฤษ “ฉบับง่าย” ที่อธิบายเรื่องราวด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษที่ไม่ยาก คนที่เข้าใจภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานก็สามารถอ่านรู้เรื่องได้
ถัดจากนั้น ธนิษฐายังพูดถึงเรื่องการแปลหนังสืออีกว่า การเลือกใช้คำที่ต้องคงตามเจตนาของผู้เขียน บางครั้งต้องทับศัพท์ภาษอินเดีย แล้วใส่เชิงอรรถแทน เพื่อไม่ให้บรรยากาศของเรื่องเพี้ยนไป บางครั้งเป็นคำบ้านๆ บางครั้งใช้ภาษาท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ต้องระวังในการแปลงานเขียนของอินเดีย ทำให้แต่ละเล่มกว่าจะพิมพ์สำเร็จต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจนแน่ใจ หนังสือของสำนักพิมพ์ภารตะจึงใช้เวลานานพอสมควรในการออกแต่ละเล่ม ทั้งนี้ยังมีงานเขียนของอินเดียอีกมากมายที่สำนักพิมพ์อยากทำออกมา ธนิษฐาจึงฝากถึงนักศึกษาที่เข้าร่วมฟังเสวนาครั้งนี้ว่า สำนักพิมพ์ต้องการนักแปลที่เข้าใจต้นฉบับจริงๆ น้องๆ ที่จบสาขาวิชาบาลีสันสกฤตแล้วกลัวจะตกงานนั้น ไม่ต้องกลัว สามารถมาทำงานกับสำนักพิมพ์ภารตะได้ สร้างรอยยิ้มให้แก่นักศึกษาที่นั่งฟังกันอย่างชื่นมื่น
ภิญญ์สินี
มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับภารตะอย่างยิ่ง