ครั้งนี้ ผู้เขียนและทีมงานมีนัดกันที่ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 4 อันเป็นสถานที่พำนักของ “นักเขียนสารคดี” ชั้นครูนามอุโฆษที่สละเวลานั่งพูดคุยกับเรา “ส.พลายน้อย” นามปากกาของ “สมบัติ พลายน้อย” นักเขียนผู้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2553 รวมถึงได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2539 รางวัล “นักเขียนอมตะ” คนที่ 4 ประจำ พ.ศ.2551 และได้รับประกาศยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พ.ศ.2552 ระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษ “ส.พลายน้อย” รังสรรค์ผลงานกว่า 100 เรื่อง อันเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเพชรแท้มืออาชีพแห่งวงการสารคดีไทย แม้ปัจจุบันตัวเลขแห่งวัยจะเดินทางมาเกือบถึงหลัก 100 นักเขียนชั้นครูผู้นี้ก็ยังไม่หยุดที่จะจับปากกาจรดน้ำหมึก เล่าเรื่องเกร็ดความรู้ต่างๆ ทั่วโลก
นอกเหนือจากภาพชีวิตการเป็นเด็ก “เกิดในเรือ” แล้ว ภาพชีวิตการเป็น “หนอนหนังสือ” ของอาจารย์สมบัติเริ่มต้นได้อย่างไร
สมัยเด็ก มีลูกคนจีนคนหนึ่งอยู่เรือเหมือนกัน ชื่ออะไรไม่รู้แต่เราเรียกว่าเฮียตี๋ เพราะเตี่ยเขาเรียกลูกว่าตี๋ เราเห็นเขาแก่หน่อยเลยเรียกเฮียตี๋ๆ คนนี้เป็นคนชอบอ่านหนังสือ พวกหนังสือนิยายต่อย ตี ฟัน กันในร้านเหล้าร้านอาหารอะไรพวกนี้ เนื้อหาจะเกี่ยวกับชีวิตคนยากคนจน ผมก็อ่านหนังสือพวกนี้ชอบหาเรื่องบู๊ๆ หน่อย หรือไม่ก็อ่านหนังสือชุดขุนศึกของ “ไม้ เมืองเดิม” เลยอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นมาจากตรงนี้เพราะตามปกติแล้วสมัยก่อนบ้านเรือนต่างๆ ไม่มีหนังสือหรอก มากที่สุดคงจะเป็นพ่อที่ชอบอ่าน แต่ส่วนมากหนังสือที่พ่ออ่านจะเป็นหนังสือการเมือง หรือไม่จะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน มาจากว่าสมัยก่อนร้านขายมีน้อยด้วย มีอยู่ที่สถานีรถไฟ ถ้าไม่อย่างนั้นต้องไปซื้อที่ตลาด ทีนี้ตอนนั้นมันไม่รู้จะทำอะไร มันก็อ่านหนังสือแก้เพลินๆ ไป จุดเริ่มต้นอาจจะเป็นตอนนั้นก็ได้
แม้จะหาหนังสือมาหัดอ่านหัดเขียนได้ยาก แต่อาจารย์สมบัติก็สามารถฉายแววทักษะการเขียนตั้งแต่เรียนมัธยม
ตอนโน้นมันมีวิชาเรียงความหรือแต่งความ คือครูจะอ่านเรื่องให้ฟังสองรอบแล้วให้เราเขียนจากความจำส่งครู พอเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีครูท่านหนึ่งให้ไปค้นคว้าเรื่องดอกบัว ไอ้เราก็งงเขียนยังไง นึกไม่ออกดอกบัวมันจะมีเรื่องราวอะไรได้บ้าง บังเอิญว่าเดิมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ คือมีเงินหน่อยจะขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ มาซื้อหนังสือ ทีนี้อ่านแบบไม่เลือกหนังสือ วันหนึ่งอ่านเล่มนั้นบ้างเล่มนี้บ้างเลยจับจุดได้ว่า ในหนังสือมีพรรณนาถึงธรรมชาติ อย่างเวลาอาบน้ำต้องอาบในสระที่มีบัว เลยเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเขียน เราเห็นอะไรบ้าง เห็นคนเก็บดอกบัวไปไหว้พระ เอาไปตกแต่งภายในวัด ก็จะต่อเนื่องเป็นลายกลีบบัวต่างๆ จึงคิดว่าเอาเรื่องเหล่านี้มาผสมกัน แต่ทั้งนี้มันยังไม่พออยากจะลงลึกไปอีก เช่น เราเรียกบัวแล้วคนภาคอื่นเขาเรียกว่าอะไร โชคดีที่บ้านผมอยู่ติดแม่น้ำมีพวกมอญบรรทุกถ่านมาจอด เรานึกยังไงไม่รู้ลองถามดู อยากรู้ภาษาเขมร บังเอิญข้างๆ บ้านมีพระเขมรอยู่ เราก็ไปถาม เป็นต้น ส่วนเพื่อนๆ ในชั้นเขาไม่เขียนแบบที่เราเขียนกันคุณครูก็ประหลาดใจที่เราเขียนแบบนี้ได้
พอค้นพบว่าตัวเองมีแววในด้านการเขียนแล้ว อาจารย์ต่อยอดอย่างไรบ้างคะ
ผมได้เรียนวิชาการประพันธ์และการพิมพ์ทางไปรษณีย์กับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะหลังจากนั้นเมื่ออาจารย์เปลื้องไปเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มใดที่เราพอจะมีความรู้บ้าง ก็จะเขียนไปให้ท่านเลือกลง มีทำหนังสือพิมพ์โรงเรียนด้วย ซื้อกระดาษมาโหลหนึ่ง มาเย็บเล่มเขียน มีสารคดี นิทาน กลอน ทำไปทำมาเหลือแต่เราที่ยังเขียนอยู่จึงต้องแยกย้ายเลิกทำไป ภายหลังผมเริ่มมาเขียนจริงๆ จังๆ ส่งหนังสือพิมพ์ พอส่งไป อ้าว! ได้ลงด้วย เลยเชื่อว่างานเราสามารถเอาลงได้
หลังจากนั้น ผมเขียนเสนอไปเรื่อยๆ ทำให้หลายท่านรู้จักเราบ้าง พ.ศ.2496 กระทรวงศึกษาธิการตั้งสถานีวิทยุศึกษา อ.เปลื้องได้รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการวารสารวิทยุศึกษา ท่านทำคนเดียวไม่ไหว ท่านก็นึกถึงผม ตอนนั้นผมเป็นครูอยู่ ขอโอนย้ายผมมา ตั้งแต่นั้นไม่ได้กลับเป็นครูอีกเลย งานที่สถานีวิทยุศึกษามีทำวารสารซึ่งการทำวารสารทำให้เราต้องมีความรู้ คนส่งอะไรมาให้อ่าน บกพร่องตรงไหนต้องแก้ไขได้ เขียนมาถูกหรือผิดต้องรู้ ดังนั้นจึงต้องแสวงหาความรู้ ทั้งประวัติศาสตร์ ภาษาไทย ฯลฯ ซึ่งการที่เราเป็นนักอ่านเป็นเรื่องที่ดีมาก มันคือคุณประโยชน์อย่างยิ่งทำให้เราพอจะมีความรู้บ้าง
ปัจจุบันนี้ถ้าพูดถึงการหาข้อมูลเรื่องใด วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเสิร์ชในเว็บ google แต่ในยุคของอาจารย์ที่ยังไม่มี อาจารย์สมบัติทำอย่างไรบ้างคะในการค้นคว้าเพื่อเขียนบทความสารคดี
อันนี้ถือเป็นกุศลของเราที่อ่านหนังสือเยอะทุกประเภท เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาให้เขียนเรื่องอะไรนี่มันไม่กังวล เพราะจำได้เป็นส่วนมาก แต่แก่ๆ แล้วจำไม่ค่อยได้ มีไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติ พอไปอ่านแล้วเจอที่มันแปลก ผมจะจดเอาไว้ แต่ส่วนใหญ่จะจำได้ถ้าเป็นหนังสือของผม
แสดงว่าอาจารย์สมบัติต้องมีหนังสือเยอะมาก ซื้อมาตลอดไม่เคยหยุดเลยใช่ไหมคะ
ก็เรียกว่าซื้อจนกระเป๋าบาง บางวันนี่ซื้อหมดกระเป๋า ไม่มีสตางค์พอจะขึ้นรถรางเลย สมัยก่อนโน้นจะไปหิ้วจากสนามหลวงขึ้นรถกลับบ้านที่ประชานิเวศน์ พอไปถึงบ้านนี่มือสั่นเลย
แล้วอ่านหมดทุกเล่มเลยรึเปล่าคะ
ถึงจะอ่านไม่จบก็ต้องพลิกดูว่าเล่มนี้ว่าด้วยอะไรบ้าง ทุกเล่มจะต้องผ่านตา บางเล่มซื้อหลายเวอร์ชั่น เพราะคำนำเปลี่ยน ตรงนี้ถ้าคนมีความรู้ดีเขาจะเขียนมีสาระมาก เราอ่านเพื่อเปิดโลก เพื่อรู้ในสิ่งที่แปลกไปจากเดิม บางเล่มซื้อเพราะคาดว่าอาจจะมีประโยชน์ในวันข้างหน้า ซึ่งมันก็มีเหตุที่ทำให้ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ หรืออย่างบางเรื่องที่น่ารู้น่าตื่นตา เช่น ประวัติศาสตร์กรีก โรมัน จีน และอินเดีย โดยเฉพาะจีนกับอินเดียนี่ไม่รู้จบ แม้แต่เรื่องเดียวกันเขียนคนละเล่มก็มีอะไรที่ไม่เหมือนกัน
เมื่อมีข้อมูลมากมาย อาจารย์สมบัติมีวิธีอย่างไรในการคัดเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อนำมาใช้อ้างอิง
เกณฑ์ในการเลือกหนังสือที่นำมาใช้อ้างอิง เลือกจากประสบการณ์คนเขียน คนเขียนเป็นผู้ศึกษาในประเทศนั้นๆ หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น แล้วเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันท่านรู้มากน้อยแค่ไหน เช่น ท่านอาจจะมีประสบการณ์ตรงในยุคของท่าน เป็นต้น ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นมันคือการวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นการเลือกหนังสือตั้งต้นเราก็ต้องวิเคราะห์ด้วย เขาใช้การเขียนที่มีดุลยพินิจหรือไม่ หรือเขียนเอาตามจินตนาการ
ส่วนประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร มันเป็นเรื่องที่อาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ เพราะมันเขียนหลังเหตุการณ์นั้นๆ ดังนั้นบางครั้งก็ต้องยอมรับทั้งที่รู้ว่าบางอย่างมันไม่น่าเป็นไปได้ อันนี้เรารู้ไม่ได้หรอกว่าเขาเขียนคาดการณ์ไปหรือไม่ บางอย่างมันก็ไม่ได้ผิดพลาดอะไรมากมาย จะเชื่อถือได้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องลองศึกษาดู
วิธีการเขียนคือเน้นการสืบค้นจากหนังสือเป็นหลัก แล้วมีใช้วิธีลงพื้นที่สัมภาษณ์บ้างรึเปล่าคะ
ไม่ ถ้าเกิดเจอคนที่ไม่รู้จริงๆ พอเจอคำถามปุ๊บ เขาตอบโต้งๆ ทันทีโดยที่เขาอาจจะไม่เคยนึกแต่ต้องตอบเดี๋ยวนั้น อาจจะทำให้เขาพลาดได้ เพราะฉะนั้นจะไม่ค่อยสัมภาษณ์ การเขียนของผมจะใช้อยู่สองอย่าง 1.อยากเขียนก็ต้องอ่านหนังสือ 2.เอาความรู้จากประสบการณ์ตนเอง ที่ทั้งเห็น ทั้งรู้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านศึกษา บางทีท่านเจอเหตุการณ์มากมายเราฟังมันก็เป็นประโยชน์
มีงานชิ้นไหนไหมคะที่อาจารย์รู้สึกว่าเขียนยากเป็นพิเศษ
หลังๆ ที่เขียนไม่ได้คือ “ตามรอยพระพุทธประวัติ” อันนี้เขียนยากเพราะเป็นหลักฐานที่ต้องค้นมาก พอเขียนๆ สักพักก็ไม่ค่อยจะสบายนึกว่าจะเขียนไม่จบ แต่ด้วยอะไรไม่รู้เลยเขียนจบ แล้วมีคนโทรมาหลายคนว่าอ่านได้ราบรื่นดีมาก สรุปแล้วเรื่องที่ต้องค้นมากๆ คือพุทธประวัติ ซึ่งการที่เราอ่านได้เยอะ มีส่วนช่วยให้คิดจะทำอะไรได้อย่างคล่อง
ทุกวันนี้ต้นฉบับทั้งหมดอาจารย์สมบัติยังคงเขียนด้วยลายมือตัวเองอยู่ใช่ไหมคะแล้วตลอดระยะเวลาที่เขียนหนังสือมา
อาจารย์มีหลักในการทำงานอย่างไรบ้าง
ใช่ ผมยังเขียนด้วยตัวเอง เขียนผิดบ้างบางที ลายมือก็ไม่ค่อยดีเพราะกำลังมือมันไม่เท่าเก่า ก็ให้เขาไปพิมพ์ เมื่อก่อนจะตรวจดูคำถูกผิดด้วยตัวเองด้วย แต่เดี๋ยวนี้สายตาไม่ค่อยจะดีนะ ตาของผมมองเห็นแค่ข้างเดียว คือข้างซ้าย ทุกวันนี้ทำงานด้วยตาข้างเดียว จับปากกาก็ไม่ค่อยไหวอยากจะหยุดเหมือนกัน แต่คนที่เขามาหา เขาหวังว่าจะได้ ไอ้เราเห็นเขาตั้งใจมาถ้าพอจะทำได้ก็ทำ ผมจะเขียนวันละนิดวันละหน่อย เรื่องหนึ่งจึงต้องใช้เวลา บางเรื่องต้องใช้เวลาถึงอาทิตย์หนึ่ง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขียนวันนี้ได้งานเลยพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นไปตามวัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดคือ หลายสิบปีที่ทำงานเขียนมา ผมไม่เคยส่งงานล่าช้า ยึดหลักการตรงต่อเวลา ถ้าเขาโทรมาขอให้เราเขียน เราต้องประมาณว่าสามารถทำได้แค่ไหน แม้ไม่ค่อยสบายก็ต้องทำตามที่รับปากไว้ เรื่องเวลานี่ถือว่าสำคัญมาก
หลายครั้งที่อาจารย์ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบาก เช่นเมื่อครั้งไม่สบาย อาจารย์มีวิธีในการผ่านพ้นความทุกข์ยากที่เข้ามาอย่างไรบ้าง แล้วเคยมีสักครั้งบ้างไหมที่คิดจะเลิกเขียน
อดทนอดกลั้นคือสิ่งสำคัญ อันที่จริงผมก็ผ่านมาเยอะนะ เวลาที่คนเขาเรียกร้องอะไรแล้วไม่ได้ตามที่ต้องการเขาก็พาลโกรธผม เรารู้อยู่ว่าตัวเองมีหน้าที่ทำอะไร หลักนี้คือสิ่งสำคัญที่แม้แต่เดี๋ยวนี้ผมยังถืออยู่ เรามีหน้าที่ต้องหาเงินเลี้ยงลูกหลาน ถึงแม้จะไม่สบายก็ต้องหาเงินเลี้ยงเพราะมันคือหน้าที่ ตัวเองลำบากไม่เป็นไร หน้าที่นี่คือสำคัญ ผมต่อสู้กับอุปสรรคเฉียดตายมาหลายหน ตอนเป็นมะเร็งนึกว่าจะไม่รอด หมอบอก 50% ตอนนั้นผมพยายามไม่นึกถึง ทำใจสงบ มีอะไรทำก็ทำเรื่อยๆ ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามพยายามทำให้ใจสงบเข้าไว้ เรื่องของเรื่องคือเราพยายามไม่ยุ่งไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดี ตั้งแต่ผมเขียน ตามรอยพุทธประวัติ ก็ได้เข้าใจชีวิตเยอะขึ้น ทำใจได้
ถามว่าเคยอยากหยุดเขียนหนังสือไหม มันก็อยากหยุดมานานแล้ว ยิ่งเพราะไม่สบายด้วยมันก็อยากหยุด แต่พอคนเขามาขอให้เขียนให้หน่อย เราก็มีความเกรงใจเขา พอมาคิดเราก็พอจะทำได้ เขาก็หวังดีก็ทำให้ยังเขียนงานอยู่จนทุกวันนี้
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อาจารย์สมบัติได้รับจากการเขียนหนังสือในฐานะ ส.พลายน้อย มาโดยตลอดคืออะไรคะ
ทำให้รู้ ทำให้เป็นคนมีความรู้มากขึ้น เพราะเราเรียนน้อยไม่ได้เรียนอะไรมากมาย แต่ทำให้มีความรู้และให้คนมากมายที่เรียนสูงเขายอมรับ อันนี้คือสิ่งที่ดีมากเลยนะกับการเขียนหนังสือ ถ้าเรายังไม่เขียนคงนึกว่าตัวเองรู้พอแล้ว แต่เมื่อลงมือเขียนเลยรู้ว่า เราไม่รู้หลายสิ่ง ต้องค้นต้องหาซึ่งอันนี้สำคัญ เราไม่ได้เขียนให้มันผ่านๆ ไป เราอยากให้คนอ่านได้ใช้ประโยชน์ดังนั้นต้องพยายามหาสิ่งดีๆ นี่คือหลักสำคัญ
อาจารย์สมบัติเน้นย้ำถึงคุณูปการของ “การอ่าน” ตลอดการพูดคุย เพราะ “การอ่าน” คือรากฐานสำคัญที่ก่อร่างสร้างให้ “ส.พลายน้อย” ก้าวขึ้นเป็นนักเขียนเสาหลักของวงการสารคดีไทย