คอลัมน์ถนนวรรณกรรมได้นำเสนอสำนักพิมพ์ใหญ่น้อยต่างๆ ผู้ผลิตหนังสือหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิคหาอ่านยาก หนังสือวิพากษ์สังคมชวนฉุกคิด นิยายรักแสนแสบทรวง ปรัชญา จิตวิทยา หรือแม้แต่นิยายภาพ แต่เรายังไม่เคยพูดถึงหนังสืออีกประเภทหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมาก และในประเทศไทยก็มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น นั่นคือนิยายไซไฟ (sci-fi) สำนักพิมพ์ที่จะพูดถึงครั้งนี้ชื่อว่า Solis (โซลิส) ก่อตั้งโดยนักอ่านผู้หลงใหลนิยายไซไฟ และอยากเห็นหนังสือที่เขาชื่นชอบได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

เรานัดเจอกับ แอม-น้ำพราว สุวรรณมงคล ผู้บริหารและก่อตั้งสำนักพิมพ์ พร้อมด้วย นัน-สวิณี แสงสิทธิชัย บรรณาธิการ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ทำคอลัมน์นี้มาต้องขอจดบันทึกเลยว่านี่คือครั้งที่เราสัมภาษณ์ยาวนานกว่าครั้งใด ไม่เพียงสองสาวแห่งสำนักพิมพ์ Solis จะมีอัธยาศัยดี คุยเก่ง แต่ทั้งคู่ยังนิยมชมชอบนิยาย sci-fi อย่างคลั่งไคล้ ทั้งประกายตาและสีหน้าตอนเล่าเต็มไปด้วยความสนุกและความชอบจากใจจริง จนเราถูกดูดเข้าสู่โลกนิยาย sci-fi ของพวกเธออย่างไม่รู้ตัว

แอม-น้ำพราว สุวรรณมงคล นัน-สวิณี แสงสิทธิชัย

มาเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ Solis กันได้ยังไง

แอม: เราเป็นนักอ่านธรรมดาคนหนึ่ง ถึงจะจบอักษรศาสตร์มา แต่ทำธุรกิจส่วนตัว ทว่าก็ยังมีเพื่อนๆ พี่ๆ ทำงานเป็นนักแปลในวงการหนังสือ จนอยู่มาวันหนึ่งไม่รู้อะไรเข้าสิง เราอยากทำสำนักพิมพ์บ้าง อยากมีธุรกิจของตัวเองด้วย ตั้งใจทำสำนักพิมพ์ของตัวเองทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรเลย โชคดีมีเพื่อนในแวดวงหนังสือช่วยแนะนำ Solis เกิดขึ้นได้ด้วยแรงสนับสนุนของเพื่อนๆ ประกอบกับเราเป็นนักอ่านตัวยงย่อมมีหนังสือที่ชอบ ซึ่งอยากให้เป็นภาษาไทย ในเมื่อยังไม่มีใครทำ ฉันทำเองก็ได้ เหตุผลข้อหลังนี้น่าจะมาก่อนความคิดอยากทำสำนักพิมพ์อีก คืออยากเห็นซีรีส์ที่เรารักถูกแปล และเราจะได้เม้ามอยกับนักอ่านคนอื่นเพิ่มจากสิบเป็นพันคน

เลือกทิ้งงานประจำมาทำสำนักพิมพ์ ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนไม่สูง

นัน: ถึงธุรกิจนี้อาจทำเงินได้ไม่สูง แต่ถ้าเราจับตลาดนีช (niche) เวลาเราเจ็บก็เจ็บไม่หนัก ล้มไม่แรง ถึงดูเหมือนผลิตไม่มาก แต่นั่นก็เต็มศักยภาพเราแล้ว รู้สึกว่าทำแล้วคุ้มอยู่นะ

แอม: เราวางแผนกันไว้ในระดับหนึ่ง อย่างที่บอกว่าเราจับตลาดนีช ยอดพิมพ์ประมาณพันเล่ม จำนวนนี้ก็พอไปได้ในหมู่คนที่ชอบนิยายไซไฟ ซึ่งมีอยู่พอสมควรเหมือนกัน และถึงเราจะเป็นสำนักพิมพ์เล็ก แต่เราก็รักหนังสือนะคะ ปกติไปซื้อหนังสือเราก็ดูปก ดูสัน เลือกแล้วเลือกอีก พอมาทำเองนี่กล้าบอกได้ว่าเป็นสำนักพิมพ์เล็กที่เล่นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักแปลหรือโปรดักชั่นก็พยายามให้ได้คุณภาพที่สุด เพราะเราเป็นนักอ่านมาก่อน เรารู้ว่านักอ่านต้องการอะไร

หนังสือของสำนักพิมพ์ Solis เป็นแบบไหน

แอม: นิยายไซไฟ จริงๆ แล้วก็มีคนห้ามเหมือนกันนะว่าในทางการตลาดอย่าใช้คำว่าไซไฟ เพราะที่ผ่านมาคนใช้คำนี้แล้วเจ๊ง ขายไม่ได้ เพราะฟังดูเนิร์ด แต่เราก็เนิร์ดจริงๆ เนิร์ดอย่างภูมิใจ หนังสือของSolis เลือกจากความชอบ อย่างที่เล่าว่าตัวเราอยากทำสำนักพิมพ์ แล้วทำอะไรดีล่ะ ก็ต้องเอาเรื่องที่รักที่สุดมาทำก่อนเลย โอลด์แมนส์วอร์ ปฐมบทสงครามข้ามเอกภพ คือเรื่องที่ชอบมาก อ่านซ้ำไปซ้ำมา เรื่องนี้แหละที่ฉันจะทำก่อน นอกจากตัวเองชอบก็ต้องได้เงินด้วย วางแผนว่าจะทำสลับกันระหว่างแนวฮอลลีวูดไซไฟ หรือแอ๊คชั่นไซไฟ กับแนววรรณกรรม เช่น เมล็ดฝันวันสิ้นโลก เหมาะกับคนที่ชอบอ่านวรรณกรรมภาษาสวยๆ ในนิยายไซไฟก็มีนะ อีกอย่างหนึ่งคือแม้บางเรื่องจะดังมาก เช่น ฮังเกอร์เกม (Hunger Game) แต่พอเป็นวรรณกรรมเยาวชน (young-adult) Solisก็ไม่ทำนะ เราทำแต่หนังสือผู้ใหญ่ เหตุผลหลักคือตัวเราไม่ค่อยอ่าน จึงไม่ถนัดหนังสือประเภทนั้น

แอม-น้ำพราว สุวรรณมงคล

ไซไฟแตกต่างจากแฟนตาซี (fantasy) อย่างไร

แอม: ต้องออกตัวก่อนว่าคำอธิบายนี้มาจากความเข้าใจของตัวเองนะคะ พอมีคนถามจะบอกว่า ไซไฟคืออะไรก็ตามที่เกิดจากมนุษย์สร้าง อย่าง ลอร์ดออฟเดอะริง (Lord of the Ring) หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) เวทมนตร์มีคนสร้างขึ้นรึเปล่า ไม่มี มันเกิดขึ้นมาเอง แต่ไลท์เซเบอร์ในสตาร์วอส์ มีคนสร้าง เราไม่พูดว่าไซไฟคือวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ต้องเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ แต่ไทม์แมชชีนยังไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ นอกจากคำว่าไซไฟ ยังมีคำเรียกนิยายประเภทนี้ว่า Speculative fiction คือเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้นได้ ขอยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง เมล็ดฝันวันสิ้นโลก ไม่มียานอวกาศ แต่เขาจินตนาการถึงอนาคตซึ่งน้ำกลายเป็นสิ่งหายากและราคาแพง การวางเพลิงจึงถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงมาก เพราะถ้าไม่มีเงินก็ไม่สามารถจ้างคนมาดับเพลิงได้ เรื่องราวนี้อาจเป็นไปได้ เช่น ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนำไปสู่เหตุการณ์ลักษณะนี้

แล้วตลาดนิยายไซไฟในประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง

แอม: มีหลายคนบอกว่าประเทศเราไม่มีไซไฟ ไซไฟหายไปแล้ว ไม่จริงนะ ไซไฟอยู่มาตลอด เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าไซไฟเท่านั้น ยกตัวอย่าง ฮังเกอร์เกม ก็เป็นไซไฟนะ เพราะพูดถึงโลกอนาคตซึ่งเด็กถูกจับมาสู้กันเอง คนอาจไม่คิดว่าเป็นนิยายไซไฟ เพราะหลายเล่มจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน แต่จริงๆ สามารถจัดในหมวดไซไฟได้ด้วย คนที่เป็นแฟนคลับไซไฟก็มีอยู่เสมอมา ไม่ได้หายเช่นกัน เขาแค่รวมกลุ่มกันในที่ทางของเขา

นัน: และคนกลุ่มนี้ไม่เคยเปลี่ยนใจ เพียงแต่เขาอยู่เงียบๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดมีอะไรกระตุ้นขึ้นมา เราจะเห็นคนกลุ่มนี้ชัดขึ้นและรู้ว่าเขาอยู่มาตลอดนะ

แอม: ดูอย่างเราสองคน แอมอายุจะ 40 แล้ว ส่วนนันแค่ 20 ปี ยังคุยกันรู้เรื่องเพราะไซไฟ พอเวลาคนไซไฟได้คุยกันจะเห็นประกายตาวิ้งๆ

นัน-สวิณี แสงสิทธิชัย

Solis มีวิธีทำการตลาดอย่างไรให้โดนใจแฟนไซไฟ

แอม: ใช้โซเชียลมีเดียนี่แหละค่ะ และเครื่องมือนี้ก็ทำให้เกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึง คือการแนะนำแบบปากต่อปากของคนในแวดวงไซไฟ พอเรามีหนังสือออกใหม่ เหล่าแฟนไซไฟก็ช่วยกระจายข่าวในเพจอื่น เช่น เพจคนรักไซไฟไทยแลนด์ เพจนิยายวิทยาศาสตร์ไทย เพจวิทยาศาสตร์ไทย เพจคนรักหนังสือ คนที่ช่วยกระจายข่าวไม่ได้รู้จักพวกเรา แต่เขาช่วยโปรโมตให้ แล้วตอนหลังก็ได้มารู้จักกัน ถึงเราเป็นสำนักพิมพ์เล็ก แต่รู้สึกอบอุ่นมากๆ แม้จะมีข้อด้อยเพราะความเล็ก แต่ข้อดีนั้นมีมากเหมือนกัน

ข้อดีกับข้อด้อยของการเป็นสำนักพิมพ์เล็กมีอะไรบ้าง

แอม: ข้อด้อยคงเป็นการเข้าถึงคนอ่านได้ไม่ทั่ว เราพยายามฝากคนนั้นคนนี้ไปวางขายตามงานหนังสือต่างๆ ฝากขายออนไลน์บ้าง เพื่อให้คนเข้าถึงหนังสือได้มากที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ดีนั่นแหละ เราไม่สามารถไปได้ทุกร้านหนังสือ คนต่างจังหวัดอาจหาซื้อยากหน่อย มักส่งข้อความมาบอกว่าหาซื้อไม่ได้เลย เราแก้ไขด้วยการส่งลิงค์ตอบไปว่าหาซื้อได้จากที่นี่ๆ นะคะ ช่องทางออนไลน์ช่วยได้เยอะ

นัน: ข้อดีคือ ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่เขาต้องทำกำไร บรรลุเป้าที่ตั้งไว้ เขาต้องคาดการณ์ว่าเล่มไหนจะขายดี สมมติเดือนหนึ่งออก 40 ปก ก็ต้องเดาทุกปกว่าเล่มไหนจะมีกระแส ส่วนพวกเรามาจากการเป็นติ่งไซไฟ มีคอมมูนิตี้ที่แนะนำแลกเปลี่ยนกันว่าเรื่องไหนดีบ้าง ดังนั้นหนังสือที่เราทำไม่ใช่การเดา แต่เรารู้ว่าเรื่องไหนที่ทำแล้วปัง มีคนอ่านชัวร์ และสำนักพิมพ์เล็กจะใกล้ชิดคนอ่าน บางครั้งคนอ่านส่งข้อความมาแนะนำหนังสือให้เราเลยค่ะ

เป้าหมายต่อไปของ Solis เป็นอย่างไร

แอม: นอกจากจะมีผลงานออกทุกรอบงานหนังสือ ถามว่าเราหวังอะไรจากธุรกิจนี้ เราอยากสร้างคอมมูนิตี้ เราทำหนังสือก็จริง แต่เป้าหมายที่วางไว้คือสร้างคอมมูนิตี้ไซไฟ วันหนึ่งเราอยู่ที่บูธขายหนังสือ มีคนกำลังเลือกซื้อหนังสืออยู่แล้ว เขาหยิบเล่มหนึ่งขึ้นมา อีกคนที่อยู่ข้างๆ เห็นก็หันไปถาม อ่านไซไฟรึเปล่า เล่มนี้อ่านรึยัง สนุกนะ เขาแนะนำหนังสือกันเอง จากนั้นมีอีกคนหนึ่งเดินมาคุยด้วย เล่มนี้เกี่ยวกับสงครามอวกาศรึเปล่าครับ ผมเคยเล่นเกมนี้ สนุกมาก เกี่ยวกับหุ่นยนต์ในอนาคตที่มาสู้กับคน แล้วสามสี่คนก็ยืนคุยกันหน้าบูธ เป็นภาพที่เห็นแล้วน้ำตาจะไหล นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ไม่ต้องคุยกันแค่เรื่องหนังสือก็ได้ เรื่องเกม เรื่องหนัง ซีรีส์ อะไรก็ได้ให้เป็นคอมมูนิตี้ เหตุการณ์นั้นความรู้สึกเราเหมือนประสบความสำเร็จแล้วเลย

แอม-น้ำพราว สุวรรณมงคล นัน-สวิณี แสงสิทธิชัย

ผู้อ่านที่สนใจหนังสือของ Solis สามารถหาซื้อได้ที่ไหน

แอม: เราใช้สายส่งของอมรินทร์ สามารถหาซื้อได้ตามร้านนายอินทร์ ซีเอ็ดบุ๊คส์ หรือเว็บไซต์ Readery ความฝันของเราอีกอย่างนะคะ คืออยากให้เมืองไทยมีชั้นวางหนังสือหมวดไซไฟโดยเฉพาะ ตอนนี้เขาเอาหนังสือเราไปวางไว้รวมกับหนังสือแฟนตาซี ที่เมืองนอกเขามีชั้นวางโดยเฉพาะ อยากให้ช่วยทำชั้นวางให้เราหน่อย ตอนนี้หนังสือไซไฟก็ทำกันหลายสำนักพิมพ์แล้ว ทั้ง Solis Salt บทจรก็มี

คำถามสุดท้าย เสน่ห์ของนิยายไซไฟที่ทำให้คุณตกหลุมรักคืออะไร

นัน: แม้เราจะจบบัญชี แต่ตอนม.ปลายก็เรียนสายวิทย์ สิ่งที่ทำให้เราชอบนิยายไซไฟคือนำเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร มาทำให้สนุกแล้วเข้าใจได้ เราไปเจอนิยายเรื่องหนึ่ง เขาพัฒนาเซลล์ขึ้นมาให้เป็นต้นไม้ชนิดพิเศษที่สื่อสารกับคนได้ คนเขียนอธิบายวิธีพัฒนาโดยอ้างอิงความรู้เรื่องเซลล์พืช มันเก๋มาก เราไม่เคยรักไมโทรคอนเดรียขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต จนได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ ไซไฟทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์สนุกมากขึ้น

แอม: ส่วนตัวเราเรียนสายศิลป์ จริงๆ อ่านทั้งไซไฟและแฟนตาซี แต่สิ่งที่ทำให้ชอบไซไฟมากกว่าเพราะทำให้รู้สึกว่ามนุษย์เท่มาก แม้จะเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ขนาดเท่าฝุ่นธุลีในอวกาศ แต่สามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่ เช่น มองดวงดาวแล้วคิดว่าสักวันหนึ่งฉันจะไปอยู่บนนั้น แล้วพยายามทำให้ได้ มีคลื่นยักษ์โถมเข้ามาแล้วมนุษย์พยายามหาวิธีหยุด ถ้าดาวหางจะมาชน ไม่ต้องยกมือไหว้หรอก ขับเครื่องบินไปสู้มันเลย เรารู้สึกอย่างหนึ่งว่า ไซไฟคือการไม่ยอมแพ้ของคน บางคนอาจมองว่าเป็นแค่จินตนาการเพ้อฝัน แต่ลองนึกดูว่าหลายสิ่งหลายอย่างในนิยายไซไฟก็กลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ตอนนี้อาจยังไม่เกิด แต่สักวันก็ไม่แน่



3 เล่ม ที่สำนักพิมพ์
Solis อยากแนะนำ

  • โอลด์แมนส์วอร์ ปฐมบทสงครามข้ามเอกภพ โดย John Scalzi

พูดถึงโลกอนาคตซึ่งคนต้องหาดาวดวงใหม่อาศัย และต้องต่อสู้กับมนุษย์ต่างดาวเพื่อแย่งชิงพื้นที่ การหาทหารเข้าร่วมสงครามคือรับสมัครคนแก่อายุ 75 ปี ที่ไม่อยากแก่ตาย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้สามารถรบได้ ผู้เขียนเสียดสีการเมืองเรื่องการจูงใจให้เด็กหนุ่มไปเป็นทหารสมัยสงครามอ่าว ในเรื่องมีมุกที่พูดถึงข้อดีของทหารคนแก่ให้ขำขัน แต่สอดแทรกบริบทสังคม จิกกัดการเมือง

  • โกสต์บริเกดส์ หน่วยพิเศษกองพลผี โดย John Scalzi

เล่มนี้พระเอกอายุ 7 ขวบ เป็นร่างโคลนที่ถูกสร้างขึ้นเพราะร่างต้นแบบแปรพักตร์เข้าร่วมกับมนุษย์ต่างดาว จึงสร้างร่างโคลนที่ถอดแบบแม้แต่เซลล์สมอง แล้วคอยจับตาดู เพื่อรอว่าวันหนึ่งถ้าร่างโคลนทรยศเช่นเดียวกับร่างต้นแบบ เขาจะใช้วิธีการอย่างไร และนำข้อมูลอะไรไปบอกมนุษย์ต่างดาวบ้าง เรื่องนี้ตั้งคำถามว่า ร่างโคลนที่เหมือนต้นแบบทุกอย่างโดยไม่มีอะไรผิดเพี้ยน เขาจะใช่คนคนเดียวกันไหม

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อรูหนอนที่เชื่อมดวงดาวของตัวเอกปิดลง และตัดขาดจากดาวดวงอื่น พวกเขาจึงไม่เคยรู้ว่าระบบการปกครองแบบศักดินาที่ใช้ในดาวของตนนั้นล้าหลังกว่าดาวดวงอื่น แต่เมื่อรูหนอนเปิดอีกครั้ง จึงได้รับรู้สภาพของดาวดวงอื่นๆ ตัวเอกจะเดินทางท่องจักรวาล และเจอดาวดวงต่างๆ ที่มีสภาพสังคมอันหลากหลาย ผู้อ่านจะได้ตั้งคำถามและฉุกคิดไปกับความแตกต่างเหล่านี้

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่