สำนักพิมพ์บทจร อาสาพาวรรณกรรมข้ามพรมแดน

-

สำนักพิมพ์ที่จะแนะนำในฉบับนี้ เป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแต่ความตั้งใจไม่เล็ก หนังสือทุกเล่มของที่นี่คัดสรรแล้วว่ามีคุณค่า เป็นผลงานของนักเขียนชื่อดังมากฝีมือจากต่างประเทศ ทั้งได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยได้รู้จักนักดังนั้นของสำนักพิมพ์แห่งนี้จึงปรารถนาจะทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง นำตัวบทข้ามพรมแดนภาษามาหานักอ่าน ดังชื่อสำนักพิมพ์ ‘บทจร’ ซึ่งในที่นี้มีความหมายว่า การเดินทางของตัวบท

ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช และ วรงค์ หลูไพบูลย์

บทจร ก่อตั้งโดย วรงค์ หลูไพบูลย์ ต่อมาได้ ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช มาเสริมทัพเป็นบรรณาธิการช่วยดูแลต้นฉบับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเดิมทีวรงค์ไม่ได้คลุกคลีในแวดวงวรรณกรรมเลย เขาทำงานด้านคอมพิวเตอร์ไอที แต่มีความสนใจอ่านวรรณกรรมจึงมีความฝันอยากทำสำนักพิมพ์ ตอบแทนศาสตร์แห่งศิลปะที่ได้ให้คุณประโยชน์มากมายแก่เขา วรงค์เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ประเทศไทยพูดถึงนักเขียนละตินอเมริกา ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ กันหนาหู แต่กลับมีแค่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว และงานชิ้นเล็ก ๆ อีกสองสามเรื่อง เหตุใดผลงานสำคัญเรื่องอื่น ๆ ของเขาจึงไม่มีปรากฏให้เห็นบนชั้นหนังสือเลย ด้วยเหตุนี้จึงจุดประกายให้เกิดการแปลงานของมาร์เกซ เรื่อง ความรักและและปีศาจตัวอื่นๆ (Of Love and Other Demons) เป็นเล่มปฐมของสำนักพิมพ์บทจร โดยใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

“การที่เลือกเล่มนี้มาจากคำถามที่ว่ามาร์เกซมีแค่งานสัจนิยมมหัศจรรย์รึเปล่า ผมค้นคว้าจนเจอเล่มนี้ซึ่งเป็นเล่มที่มีเสน่ห์จับใจผู้คนได้ง่าย แน่นอนว่าหนังสือของนักเขียนระดับนี้มีมิติลึกซึ้งเกินกว่าจะอธิบายด้วยคำโปรยบนปกเพียงไม่กี่ประโยค แต่ในแง่ของฉากหน้า เล่มนี้พูดถึงผู้ชายคนหนึ่งที่รอคอยความรักมาครึ่งศตวรรษ เป็นความรักของคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งต้องซ่อนเร้นนานถึงห้าสิบปี น่าสนใจ และไม่ใช่สัจนิยมมหัศจรรย์ ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นเรื่องความรัก ผมมองว่าคนไทยผูกโยงมาร์เกซไว้กับรูปแบบใดแบบหนึ่ง จึงอยากหยิบยกงานรูปแบบอื่นขึ้นมา นักเขียนระดับโลกขนาดนี้ งานของเขาน่าสนใจทุกเล่ม เพราะหนึ่ง เขามีวินัย สอง เขามีจุดมุ่งหมายที่จะไม่ซ้ำรอยทางเก่า โดยมุ่งค้นหาแง่มุมใหม่เสมอ”

หนังสือเล่มต่อ ๆ มาของบทจรมักเป็นวรรณกรรมเชิงสังคมและการเมือง เช่น ยัญพิธีเชือดแพะ ของ ‘มาริโอ บาร์กัส โยซา’ หิมะ ของ ‘ออร์ฮาน ปามุก’ สุดชีวิต ของ ‘แอลิซ มันโร’ มาร์โควัลโด ของ ‘อิตาโล คัลวีโน’ คนที่อ่านจึงอาจเข้าใจไปว่านี้คือแนวทางของสำนักพิมพ์ วรงค์ปฏิเสธพร้อมกล่าวว่า ที่จริงสำนักพิมพ์ไม่ได้เน้นนักเขียนรางวัลโนเบล แต่ต้องการยกย่องผลงานของนักเขียนที่น่าสนใจ และโด่งดังในต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย

อย่างไรก็ดี หนังสือของบทจรจัดว่าเป็นเรื่องที่อ่านยาก ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขาย วรงค์อธิบายโดยอ้างคำพูดของภชกรที่ว่า “เราไม่กลัวต้นฉบับ” จึงกล้าเสนอเนื้อหาจริงจังอย่างที่เห็น ทั้งเป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักเขียนกับนักอ่านให้ได้พบกัน ส่วนเนื้อหาอ่านยากหรือไม่นั้น คนไทยไม่คุ้นกับเนื้อหาและวิธีการเล่าของวรรณกรรมประเภทนี้ หากวันหนึ่งคนไทยรับแนวทางการเขียนรูปแบบนี้ด้วยความเข้าใจ บ่มเพาะด้วยปัญญา งานเขียนเช่นนี้อาจไม่ยากอีกต่อไป

“ผมอยากให้คนไทยได้เสพงานที่น่าสนใจแต่รสชาติอาจไม่คุ้นเคย จึงนำงานเขียนเหล่านี้เข้ามา”

ในเมื่อหนังสือของบทจรคือวรรณกรรมจากภาษาต่างประเทศ ดังนั้นการแปลจึงมีความสำคัญ ทั้งสองคนกล่าวว่าบทจรให้ความสำคัญแก่การแปลโดยเคารพต้นฉบับ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนเข้าใจภาษาต่างประเทศกันมากขึ้น และนักอ่านสามารถตรวจสอบความถูกต้องโดยเทียบกับภาษาต้นทาง สำนักพิมพ์จึงเน้นการบรรณาธิการอย่างละเอียด มีการนำต้นฉบับไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจทาน ส่วนนักแปลของสำนักพิมพ์นั้น โดยมากคือผู้ถือต้นฉบับมาเสนอสำนักพิมพ์ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่มีความรู้และสนใจในหนังสือเล่มนั้นเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง

ปัญหาที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กประสบเหมือน ๆ กัน คือเรื่องเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่ทำงานแปลต้องมีภาระในเรื่องค่าลิขสิทธิ์ การวางแผนทางการเงินจึงแตกต่างกับสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ต้นฉบับของนักเขียนในประเทศ ส่วนข้อได้เปรียบทั้งสองมองว่า คือความอิสระในการทำงานที่มีมากกว่า ทั้งการเลือกนักแปลและการเลือกต้นฉบับ หากเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่คงยากจะตีพิมพ์งานเขียนประเภทนี้ เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน

ช่องทางการโปรโมทที่สำคัญสำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก คือการใช้โซเชียลมีเดียในการเข้าถึงนักอ่าน พร้อมสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก บทจรเองเลือกใช้เครื่องมือนี้ในการสื่อสารกับนักอ่าน ร่วมกับการจัดอีเวนต์ พวกเขาเรียกวิธีการประชาสัมพันธ์ที่ใช้ว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ ค่อย ๆ เพิ่มฐานการรับรู้จนพบกับกลุ่มนักอ่านที่สนใจในแนวทางของสำนักพิมพ์ในที่สุด

ปัจจุบันหลายสำนักพิมพ์ต่างคิดหากลยุทธ์เพื่ออยู่รอดในยุคที่กังขากันว่าคนไทยยังอ่านหนังสือกันอยู่หรือไม่ บทจรในฐานะสำนักพิมพ์น้องใหม่ เชื่อมั่นว่าไม่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป เพราะหนังสือของตนเป็นแนวแปลกไม่ซ้ำกับใครในตลาด ดังนั้นนักอ่านที่ชื่นชอบหนังสือแนวนี้จึงยังติดตามผลงานเล่มของบทจรอยู่ วรงค์เสริมต่ออีกว่า สมัยก่อนประเทศเยอรมันนีไม่ใช่ชาติที่รักการอ่านเช่นปัจจุบัน แต่มีการสร้างและบ่มเพาะจนเป็นวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งขึ้น

บทจรจึงขออาสาพาวรรณกรรมข้ามพรมแดนภาษา สู่มือนักอ่านด้วยหัวใจที่เชื่อมั่น


เรื่อง : สวรรญา

ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!