สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากการชุมนุมประท้วงการทำงานของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และในหลายจังหวัดจนเรียกได้ว่าเกือบจะทั้งประเทศ และหลายครั้งก็มีการปะทะ กระทบกระทั่งกัน ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในมุมมองของวิทยาศาสตร์ คือ วิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อรับมือการชุมนุมประท้วง พวกเขาไม่ได้ใช้แค่จิตวิทยาการเจรจา หรือใช้แรงกายผลักดันผู้ชุมนุม แต่ยังได้นำเอาเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา มาใช้ประโยชน์ในการสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชน
ในอดีตนั้น การควบคุมฝูงชนที่ออกมาประท้วง เจ้าหน้าที่มักเริ่มจากการพยายามประกาศแจ้งเตือนหรือส่งสัญญาณเสียงดังๆ เพื่อให้ประชาชนหยุดชะงักและฉุกคิดเสียก่อน จากนั้น ถ้าไม่ได้ผลก็ค่อยส่งกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเข้าไป พร้อมกับอาวุธที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต เช่น กระบอง ไม้เรียว แส้ ฯลฯ เพื่อขับไล่ผู้ชุมนุมทั่วไปและจับกุมตัวคนที่ก่อความรุนแรงขึ้น

ทว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลเริ่มใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย กระสุนยาง ปืนช็อตไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องมือขนาดใหญ่ อย่างรถหุ้มเกราะติดเครื่องฉีดน้ำ หรือติดตั้งเครื่องยิงคลื่นเสียงระยะไกล (long range acoustic device หรือ LRAD) มีการใช้สุนัขตำรวจ ม้าตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในชุดเครื่องแบบป้องกันตัวพร้อม และที่น่าเศร้าคือ เคยมีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ร่วมชุมนุม จนถึงแก่ชีวิตมาแล้วด้วย
เริ่มจากอุปกรณ์พื้นฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เพื่อป้องกันตนเอง อันได้แก่ หมวกกันน็อค ชุดสนับแขนสนับเข่า และโล่ปราบจลาจล ซึ่งใช้ป้องกันการขว้างปาด้วยของแข็ง อย่างขวดหรือก้อนอิฐ สังเกตว่าหมวกกันน็อคของเจ้าหน้าที่มักเสริมเกราะยาวทางด้านหลังเพื่อป้องกันการถูกตีที่ลำคอ และถ้าใช้แก๊สหน้าตา ก็จะมีหน้ากากเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาโดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลมักติดอาวุธเบา เช่น กระบองที่ทำจากไม้หรือยางแข็ง ในบางประเทศมีการใช้แส้หนังหรือพลาสติก หรือแม้แต่ไม้เรียว ที่ยาวเป็นเมตรๆ แบบของประเทศอินเดีย
รถหุ้มเกราะเป็นอุปกรณ์อีกประเภทที่นิยมนำมาใช้ควบคุมฝูงชน เนื่องจากสามารถวิ่งฝ่าเข้าไปในแนวหน้าที่มีการต่อต้านปะทะกัน และป้องกันอันตรายให้แก่เจ้าหน้าที่ภายในได้ ส่วนการติดตั้งปืนใหญ่น้ำไว้ฉีดน้ำแรงดันสูงก็เพื่อเตือนและขับไล่ผู้ร่วมชุมนุม บางครั้งน้ำที่ฉีดออกไปนั้นผสมสีย้อม เช่น สีม่วงจากสารเมธิลไวโอเลต เพื่อใช้ระบุและติดตามจับกุมตัวผู้ที่ก่อการจลาจล รวมถึงการผสมสารพวกแก๊สน้ำตาลงไปในน้ำที่ใช้ฉีด เพื่อสลายการชุมนุมด้วย

สเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตาเป็นสารเคมีที่นิยมนำมาใช้กันมาก เพราะสามารถทำให้เกิดความระคายเคืองสูงได้นานนับสิบนาทีหรือเป็นชั่วโมง สเปรย์พริกไทยมีสารแคปไซซิน (capsaicin) เป็นสารออกฤทธิ์ ซึ่งก็คือสารที่อยู่ในพริกและทำให้เรารู้สึกเผ็ดเมื่อกินเข้าไปและแสบร้อนเมื่อสัมผัส นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นสารเคมีตัวอื่นที่สังเคราะห์ขึ้นและมีคุณสมบัติคล้ายแคปไซซิน สเปรย์พริกไทยมักบรรจุในกระป๋องสเปรย์ขนาดเล็กที่พกพาหรือซ่อนในกระเป๋าได้ จึงเป็นที่นิยมใช้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเข้าขัดขวางการปะทะกัน หรือสลายการชุมนุม ที่ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากนัก
ส่วนแก๊สน้ำตานั้น เป็นคำกว้างๆ ซึ่งหมายรวมถึงสารเคมีหลายชนิด ที่สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและทางเดินหายใจได้ เช่น ซีเอสแก๊ส (CS gas หรือ ortho-chlorobenzylidene-malononitrile) ซีเอ็นแก๊ส (CN gas หรือ chloroacetophenone) และ ซีอาร์แก๊ส (CR gas หรือ dibenz (b,f)-1,4-oxazepine) ฯลฯ ซีเอสแก๊สเป็นชนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก เพราะมีประสิทธิภาพสูงและมีความเสี่ยงต่ำหรือเป็นอันตรายแก่สุขภาพน้อย มีทั้งแบบสเปรย์กระป๋องและแบบที่ใช้ขว้างด้วยมือ หรือยิงออกมาจากปืน แล้วเกิดความร้อนขึ้น จนฟุ้งกระจายเหมือนเป็นม่านหมอกควัน

แก๊สน้ำตาชนิดซีเอสแก๊สนั้น ละลายน้ำจนเสียสภาพได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 15 นาทีที่อุณหภูมิห้อง และถ้าละลายด้วยน้ำด่าง (pH 9) จะเหลือค่าครึ่งชีวิตเพียง 1 นาทีเท่านั้น ดังนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกซีเอสแก๊ส จึงควรล้างตาด้วยน้ำเปล่า และล้างผิวหนังที่สัมผัสสารด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ที่มีด่างอ่อนๆ
มีงานวิจัยถึงอุปกรณ์ใหม่ๆ อีกหลายชนิดที่ใช้ควบคุมความสงบ เช่น ปืนตาข่าย ที่ยิงแหออกมาจับผู้ชุมนุมได้โดยไม่เป็นอันตรายร้ายแรง, ปืนเพนต์บอล ยิงลูกกระสุนสเปรย์พริกไทย ที่จะแตกใส่เมื่อกระทบตัว, ระเบิดเหม็น ที่จะสร้างกลิ่นเหม็นในบริเวณที่ชุมนุม โดยมีอันตรายน้อยกว่าสารเคมีอื่นๆ, ปืนยิงโฟมเหนียวเหมือนกาว ไปคลุมตัวผู้ชุมนุมไม่ให้สามารถขยับเขยื้อนได้, ปืนใหญ่เสียงความถี่ต่ำ ที่สามารถโฟกัสจนเป็นลำคลื่นเสียง ไปทำอันตรายต่อประสาทหูของผู้ชุมนุมได้, ระบบเอดีเอส (ADS หรือ active denial systems) ที่สามารถยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในรูปของรังสีไมโครเวฟความถี่สูงระดับ 95 กิ๊กกะเฮิร์ต เหนี่ยวนำให้น้ำซึ่งอยู่ในผิวหนังชั้นบนของผู้ชุมนุมเกิดความร้อนสูงขึ้น จนรู้สึกเจ็บปวดเหมือนผิวกำลังไหม้ หรือแม้แต่ลำแสงเลเซอร์ ที่ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดอาการตาบอดชั่วคราว หรือหลงทิศหลงทางได้
ก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยเราจะไม่บานปลายไปสู่ระดับที่รุนแรงถึงกับเลือดตกยางออก มีผู้เสียชีวิตอย่างในอดีตที่ผ่านมา ความวุ่นวายนั้นแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หากการเมืองในประเทศยังมีปัญหา และสิ่งที่ควรทำ คือการหันหน้ามาเจรจา หาทางแก้ปัญหาร่วมกันของสังคม
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์