ผ่านไปไม่นานกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่ที่จัดงานประจำปีก่อนจะย้ายสถานที่กันในปีหน้า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งถัดไปที่จะมีในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2562 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จัดที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์นี้ก่อนปิดปรับปรุงยาว และเปลี่ยนไปจัดยังอิมแพ็ค เมืองทองธานีแทน สำหรับงานหนังสือที่ผ่านมานั้นเรามีโอกาสได้ไปเดินชมงาน พบว่ามีบูธของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหลายแห่งมาเปิดเป็นครั้งแรก บางสำนักพิมพ์ก็เคยนัดพบสนทนากันใน ออล แมกกาซีน มาแล้ว จึงอดยินดีไม่ได้ที่เห็นแวดวงหนังสือยังเติบโตเคลื่อนไหวไม่หยุด Illuminations Editions เป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กรายใหม่ทีมุ่งหวังทำหนังสือวิชาการให้น่าจับต้อง และมีผลงานน่าสนใจจนเราต้องไปเยี่ยมเยียนถึงบูธเพื่อชวนมาพูดคุยในคอลัมน์ถนนวรรณกรรม

พิพัฒน์ พสุธารชาติ

“พิพัฒน์ พสุธารชาติ” นักเขียนผู้มีผลงานวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเชิงสังคมศาสตร์ และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ รับหน้าที่แนะนำIlluminations Editions ให้เราได้รู้จัก

ทำไมวิศวกรถึงเบนเข็มมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เต็มตัวได้
ถ้าจะเล่าความเป็นมาของสำนักพิมพ์ก็คงต้องเท้าความหน่อยว่า เดิมทีผมเป็นวิศวกรปิโตรเลียม ทำงานที่แท่นเจาะน้ำมันในหลายๆ ประเทศ ทำงานแท่นเจาะสี่อาทิตย์ แล้วพักกลับมาบ้านสี่อาทิตย์ ทำอย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่โดยส่วนตัวผมสนใจงานวิชาการ ชอบเขียนหนังสือ ตอนทำงานแท่นเจาะนั้น พอกลับมาพักที่บ้านว่างๆ ก็อ่านหนังสือแนวปรัชญา สังคมศาสตร์ วรรณคดี อยู่คนเดียวก็เขียนหนังสือ พอดีได้อ่าน โลกของโซฟี แล้วชอบ จึงอยากลองเขียนทำนองเดียวกับหนังสือเล่มนั้นบ้าง ตอนนั้นสนใจปรัชญาคณิตศาสตร์ด้วย เลยนำมาเป็นธีมเล่ม แล้วเขียนบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ และกับอาจารย์แผนกอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ จนแล้วเสร็จเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ปลายทางที่∞ ส่งไปที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พอดีฟลุคได้ตีพิมพ์ เลยเขียนหนังสือต่อ คราวนี้เปลี่ยนมาสนใจประเด็นปรัชญาการเมืองกับศาสนา กลายเป็นหนังสือเรื่อง รัฐกับศาสนา ตามมาด้วยงานเขียนอีกจำนวนหนึ่ง และได้เขียนบทความประจำลงนิตยสาร วิภาษา ก็ทำงานเขียนควบคู่กับงานประจำมาเรื่อยๆ

จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อสี่ห้าปีก่อน เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ คนทำงานแท่นขุดเจาะน้ำมันถูกเลิกจ้าง ผมก็หนีไม่พ้น เป็นหนึ่งในนั้น ประจวบกับได้เห็นเพื่อนที่ทำงานแท่นเจาะด้วยกันซึ่งรวยมากแต่กลับเสียชีวิตกะทันหัน เงินที่หาได้จากการทำงานหนักยังไม่ทันใช้เสพสุขให้คุ้มเหนื่อย ผมเลยได้ฉุกคิด ชีวิตเราจะหาเงินเยอะแยะไปทำไมวะ จึงตัดสินใจว่าทำสิ่งที่ตัวเองชอบดีกว่า พอดีเราก็มีเงินเก็บอยู่บ้าง เลยไปปรึกษาคุณโย-กิตติพล สรัคคานนท์ เจ้าของสำนักพิมพ์ 1001 Nights Editions ว่าอยากทำหนังสือ ให้ช่วยหน่อย

ต้นฉบับที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแรกของ Illuminations Editions ได้มาอย่างไร
ตอนนั้นฟลุค ผมรู้จักอ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แกเป็นนักวิชาการสายมาร์กซิสต์ แกมีงานเขียนชิ้นหนึ่งจะตีพิมพ์ แต่เกิดปัญหาเลยยังไม่ได้ตีพิมพ์ คุณโย-กิตติพล มาถามผมว่าสนใจพิมพ์งานของอาจารย์ไหม กระบวนการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วแหละ หน้าปกมีแล้วเหลือแค่คนออกสตางค์ ผมก็ตกลง ตอนพิมพ์ยังไม่ได้อ่านเลยนะ แต่เชื่อฝีมืออาจารย์ เลยประเดิมด้วย Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ ปรากฏว่าขายได้ขายดี ก็ชักสนุกละ พอดีผมมีงานเขียนชิ้นหนึ่งเขียนวิจารณ์ผลงานอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปากไก่และใบเรือ ยังไม่ได้พิมพ์ที่ไหน เลยพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ คราสและควินิน เล่มต่อๆ มาของสำนักพิมพ์ก็เป็นผลงานวิชาการของอาจารย์และนักวิชาการหลายท่านที่ผมชื่นชอบและพอรู้จัก ได้แก่ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา อ.ทวีศักดิ์ เผือกสม อ.วิศรุต พึ่งสุนทร ฯลฯ

ชื่อสำนักพิมพ์มีที่มาจากอะไร
ประมาณ 5-6 ปีก่อน ผมแปลงานของวอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักเขียน นักวิจารณ์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว หนังสือที่ทำให้เบนจามินไปโด่งดังในอเมริกาชื่อ Illuminations: Essays and Reflections ผมก็นำชื่อหนังสือเล่มนี้มาเป็นชื่อสำนักพิมพ์ แล้วคุณโย-กิตติพล เสนอให้เติม Editions เข้าไป กลายเป็น Illuminations Editions ครับ

แนวหนังสือของสำนักพิมพ์ต้องเป็นงานเขียนแบบไหน
งานวิชาการ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา ตอนนี้ผมซื้อลิขสิทธิ์งานต่างประเทศไว้ กำลังรอแปลเป็นภาษาไทยอยู่ ส่วนงานของคนไทย เราเปิดรับพิจารณาต้นฉบับโดยมีกรรมการหรืออาจารย์ที่ผมสนิทๆ ช่วยกลั่นกรอง ต้นฉบับที่เรามองหาคงต้องเป็นงานที่กระตุ้นความคิด วิพากษ์วิจารณ์หน่อย ถ้าโลกสวยก็อาจต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นงานซ้ายจัดเท่านั้น อนุรักษ์นิยมก็ได้ ขวาได้ ขอให้งานคุณดี เราพร้อมตีพิมพ์ให้
สิ่งที่คุณอยากให้ Illuminations Editions เป็น คือทำหน้าที่กระบอกเสียงสะกิดความคิดผู้คนในสังคมรึเปล่า
ไม่ใช่ในทางตรง คือผมไม่ได้เป็นนักกิจกรรม และไม่ถนัดการเขียนคอลัมน์ลงในหนังสือพิมพ์หรือวารสารรายสัปดาห์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้อ่านในเวลารวดเร็ว แต่เราอยากผลิตงานวิชาการที่ให้ความรู้ในเชิงลึก ให้คนอ่านค่อยๆ เกิดการคิด เกิดการซึมซับ เกิดมุมมองใหม่ๆ จนอาจเริ่มต้นตั้งคำถามกับความเป็นปกติต่างๆ ในบ้านเรา แล้วสักวันหนึ่ง ผมหวังว่าเมื่อผู้อ่านจำนวนหนึ่งมีวิจารณญาณ มีความคิดที่เปิดกว้าง กล้าคิดกล้าวิจารณ์ กล้าถกเถียงกันมากขึ้นอันเกิดจากสิ่งที่ตัวเองได้อ่าน ได้เรียนรู้มา อะไรต่างๆในบ้านเรา มันน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผมพูดแค่แนวโน้มนะ เพราะการเปลี่ยนวิธีคิดหรือความเคยชินของคนเป็นสิ่งที่ยากมาก โดยที่คนอ่านไม่ต้องเชื่อทุกอย่างที่หนังสือบอกก็ได้ เพียงแค่อ่านแล้วตั้งคำถาม มองสังคมรอบข้างแล้วลองถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าไม่อยากคิด อยากอยู่ไปเรื่อยๆแบบนี้ ก็แล้วแต่

เอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ที่แตกต่างจากรายอื่นคืออะไร
เราอยากทำหนังสือที่อาจจะอ่านไม่ง่าย ต้องอาศัยความคิดมากหน่อย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินเข้าใจ ถ้าอดทนหน่อยจะพบว่ามันสนุก มีลูกค้าเด็กม.4-5 พยายามอ่าน เขาก็อ่านได้นะ เพียงแต่คุณพยายามอ่านรึเปล่า เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างไม่เป็นไร ค่อยๆ ศึกษาเพิ่มเติมไป และเราพยายามทำรูปเล่มให้สวยงาม ใช้กระดาษเนื้อดี อย่างเล่มประวัติศาสตร์ความลับฯ คนออกแบบเก่งมากหน้าปกไม่มีชื่อประวัติศาสตร์ความลับเลย แต่ชื่อเรื่องปั๊มจมอยู่ที่ปกด้านใน เล่นกับคำว่า ‘ความลับ’ เราพยายามทำหนังสือให้สวยงาม ไม่ใช่หนังสือวิชาการที่คนเห็นแล้วอยากวิ่งหนีหรือไม่อยากเปิดอ่าน แล้วหนังสือวิชาการที่มีราคาแพงเขาก็ไม่ซื้อ ปกไม่สวยก็ไม่อยากอ่าน แต่ถ้าทำปกสวยก็แพงอีก เราต้องหาจุดสมดุล กำลังทำอยู่ ตอนนี้ก็พอขายได้

การจัดจำหน่าย รวมถึงการนำเสนอสำนักพิมพ์ให้เป็นที่รู้จักมีวิธีการอย่างไรบ้าง
เราวางขายตามร้านหนังสืออิสระ และใช้สายส่งเคล็ดไทย มีจำหน่ายร้าน Kinokuniya ร้านหนังสือออนไลน์ Readery รวมทั้งจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ เฟซบุ๊กมีส่วนสำคัญทีเดียว เราจ้างคนทำกราฟิกสวยๆ ๆลงโปรโมทหนังสือ คนเห็นก็สนใจสั่งซื้อเข้ามา วิธีที่ช่วยให้สำนักพิมพ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นคือการเปิดไลฟ์ (live) หรือถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก เวลามีการจัดเสวนา หรือแม้แต่ออกงานหนังสือที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เราก็ไลฟ์สด นำนักเขียนมาพูดคุยเรื่องหนังสือ ช่วยให้คนรู้จักสำนักพิมพ์เรามากขึ้น

ในฐานะสำนักพิมพ์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นแค่หนึ่งปี คุณมองว่าสิ่งที่จะทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กอยู่รอดได้คืออะไร
ผมมองว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนักแต่เขาต้องการอ่านหนังสือแบบที่เราทำ เช่น อาจารย์ หรือนักศึกษาที่เรียน ผมพิมพ์หนังสือเรื่อง ผู้ไร้เสียง ของนักคิดชาวอินเดียชื่อ คายตรี จักรวรตี สปีวาก คนที่เรียนเขารู้จักก็มาหาซื้อ ยิ่งเป็นภาษาไทยยิ่งอ่านง่าย เพื่อนๆ ของผมบอกว่าห้ามเจ๊งนะ เพราะถ้าผมอยู่ได้ นักวิชาการก็มีสำนักพิมพ์ที่จะพิมพ์งานให้เขา ปัจจุบันใช่ว่าจะหาที่พิมพ์งานวิชาการได้ง่ายๆ นะ อาจารย์บางท่านให้ผมพิมพ์ฟรีเลย เขาอยากได้หนังสือสวยๆ ผมไม่ได้หวังจะขายทีเป็นหมื่นเล่ม ค่อยๆ ขายทีละพันสองพันเล่มไป บางทีพิมพ์ 2,000 เล่ม ต้องขายให้ถึง 1,500 เล่มจึงจะคุ้มทุน กำไรเพิ่งมาได้ตอนพิมพ์ครั้งที่สอง เอาเป็นว่าผมพยายามอยู่ให้ได้ อยากทำต่อไป

สุดท้ายแล้วมีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านบ้าง
โลกมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ มีการแปลงานวิชาการของต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยน้อยมาก วงการสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ แปล text จากอังกฤษเป็นไทยน้อย สำนักพิมพ์เราสนับสนุนการแปล text ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงเพราะคนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือแนวนี้ แต่เราก็อยากสนับสนุนการผลิตงานวิชาการที่ดี ทำรูปเล่มออกมาสวยงาม ราคาไม่สูงมากเพราะกลัวคนไม่ซื้อ อยากผลิตหนังสือให้คนไทยได้อ่าน ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ อยากให้ลองมาอ่านหนังสือของเราดู ท่านอาจจะชอบก็ได้


3 เล่มที่ Illuminations Editions อยากแนะนำ
• ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน การปกครอง และรัฐ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา และเพื่อน
โครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในครอบครัวได้เปิดโอกาสให้รัฐใช้เด็กเป็นตัวประกัน เพื่อจัดการกับพ่อแม่การควบคุมซับเจ็กต์ (subject) ของรัฐด้วยการทำให้ครอบครัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง เป็นวิถีปฏิบัติของรัฐสมัยใหม่มาหลายศตวรรษ สิ่งนี้เป็นบทความหลักของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา คือ การสอดส่องดูแลเด็กกับครอบครัวจินตกรรมในประเทศไทย: จากนามสกุลสู่รักทางอารมณ์ ภายในเล่มยังมีบทวิจารณ์โต้กลับแนวคิดของอาจารย์ธเนศด้วย

• Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
พาไปรู้จักกับ Autonomia ขบวนการความคิดทฤษฎี ที่เปิดทางไปสู่การศึกษาระบบทุนนิยมในแง่มุมใหม่และการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของสังคมคอมมิวนิสต์อีกครั้ง โดยทั่วไปมาร์กซิสต์ไม่สนใจเรื่องการเงินหรือไฟแนนซ์ มาร์กซิสต์สนใจการผลิตสินค้าเป็นหลัก แต่เล่มนี้พูดถึงระบบการเงินพร้อมกับวิจารณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น และฟรีแลนซ์ที่ไม่มีนายจ้างทำไมยังถูกระบบทุนนิยมเอาเปรียบได้ เป็นหนังสือที่ให้ไอเดียใหม่ๆ และสร้างแรงบันดาลใจที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

• หยดเลือดจารึก และแท่นพิมพ์ ว่าด้วยความรู้/ความจริงของชนชั้นนำสยาม พ.ศ.2323-2411 โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม ทวีศักดิ์ เผือกสม เป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ชาวไทยคนแรกๆ ที่จัดการกับ ‘อัศดงคตศึกษา (Occidentalism)’ ในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์เชิง ‘อำนาจ/ความรู้’ ที่ซับซ้อน ระหว่างชนชั้นปกครองชาวสยามกับชาติพันธุ์วัฒนธรรมอื่นๆของพวกเขา (รวมทั้งพวกฝรั่ง) ผ่านการวิเคราะห์แบบชาติพรรณวรรณาต่อความรู้ต่างๆที่อยู่ในจารึก หรือที่เรียกว่า ‘University in Stone’ ที่วัดพระเชตุพนฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่