ฉลามใช้เวลา 420 ล้านปี วิวัฒนาการจากสัตว์เทอะทะในทะเลเป็นสัตว์ปราดเปรียวที่สุด มันว่ายน้ำได้เร็วถึง 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รูปทรงเพรียวประดุจตอร์ปิโดทำให้มันเป็นเสือชีตาห์แห่งทะเล
ฉลามปรากฏตัวบนโลกนานก่อนไดโนเสาร์ตัวแรกอุบัติ นานก่อนสัตว์จำนวนมากในโลกบังเกิด นานก่อนพืชครอบครองโลก
ฉลามเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กับปลากระเบน เวลา 420 ล้านปีทำให้มันแยกทางจากญาติของมัน กลายเป็นสายพันธุ์ปราดเปรียว และวิวัฒนาการเป็นฉลามมากกว่า 500 สายพันธุ์ ตั้งแต่ตัวเล็กยาวคืบเดียวไปจนถึงตัวใหญ่ 12 เมตร
การปรับแปลงแต่งรูปจนเป็นสัตว์ทรงเปรียวเพรียวน้ำนี้ เรียกว่าการสตรีมไลน์ (streamline)
สัตว์อื่นๆ ล้วนผ่านกระบวนการสตรีมไลน์ เสือชีตาห์กว่าจะวิ่งเร็วที่สุดในบรรดาสัตว์บก ก็ต้องสตรีมไลน์ตัวเองจนมีร่างกายเพรียว กล้ามเนื้อน้อยที่สุดที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ม้ามีรูปทรงงดงาม ขาเรียวเล็กที่สุด แต่รับน้ำหนักได้ทั้งตัว และสามารถวิ่งเร็ว ไม่มีส่วนขาดส่วนเกิน
ตามปกติสตรีมไลน์หมายถึงรูปร่างที่เพรียว มีแรงต้านจากอากาศหรือน้ำน้อยที่สุด มักหมายถึงพาหนะที่ออกแบบเพรียว เคลื่อนที่ได้เร็วและคล่อง เช่น รถยนต์ รถไฟสมัยใหม่ เครื่องบินที่มีอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) ดี
รัดกุมที่สุด น้อยที่สุด ทรงประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนใช้เวลาเพียงไม่กี่ล้านปี วิวัฒนาการจากสายพันธุ์มนุษย์วานรเป็นมนุษย์สมัยใหม่ โฮโม ซาเปียนส์
จากการเดินสี่ขาเป็นสองขา นี่คือสตรีมไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ และเป็นวิวัฒนาการก้าวใหญ่ เพราะมันพัฒนาสมองด้วย แต่ในเรื่องประสิทธิภาพของสรีระ ยังห่างไกลจากฉลามหลายร้อยล้านปี
สตรีมไลน์เป็นงานที่ใช้เวลา ประดุจก้อนหินที่ถูกน้ำซัดนานแสนนานจนกลายเป็นก้อนกลมมน
สตรีมไลน์ยังหมายถึงองค์กรรัดรูป เพรียว มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำงานเร็ว ไม่รุงรัง สร้างผลผลิตได้มากด้วยโครงสร้างที่เรียบง่าย ลำดับชั้นของการปกครอง (hierarchy) น้อย เดินเครื่องราบรื่น ประหยัดเวลา
เรียกว่า streamlined organization
ก็คือหลัก Less is More นั่นเอง
แต่ในบรรดาสตรีมไลน์ทั้งหมด สตรีมไลน์ของชีวิตน่าจะสำคัญที่สุด เพราะมันกำหนดเส้นทางการใช้ชีวิตและความสุขของเราไปจนวันตาย
ชีวิตที่สตรีมไลน์ก็คือชีวิตพอเพียง เรียบง่าย น้อยที่สุด
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคงจะเป็นสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด สตรีมไลน์แห่งการใช้ชีวิตจึงเป็นภาคบังคับกลายๆ แต่เมื่อรวมกับปรัชญาเซน ก็เป็นสตรีมไลน์ที่งดงาม เรียบง่าย หน้าที่ใช้สอยเต็มร้อย
การแต่งบ้านใช้องค์ประกอบน้อยที่สุด ประหยัดพื้นที่ที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด
หลักสตรีมไลน์ยังรวมถึงวิธีคิดแบบ “ซื้อของเข้าบ้านหนึ่งชิ้น เอาออกหนึ่งชิ้น” ซึ่งสวนทางกับสัญชาตญาณมนุษย์
ตัณหาความอยากได้ไม่เคยสิ้นสุด
มนุษย์เราชอบสะสม เจออะไรก็ซื้อเก็บ ห้องรกบ้านรก เห็นใครมีอะไร ก็อยากมีบ้าง ชีวิตจึงรุงรัง
แม้กระทั่งสถาบันที่สมควรสตรีมไลน์ที่สุด คือองค์กรเกี่ยวกับศาสนา ก็หนีไม่พ้นคราบตะกรันของความรุงรัง
หลวงพ่อชา สุภทฺโท เป็นพระป่านักปฏิบัติ เป็นผู้ก่อร่างตั้งวัดหนองป่าพงในจังหวัดอุบลราชธานีมาตั้งแต่ พ.ศ.2497 เมื่อท่านมีชื่อมากขึ้น ก็มีคนมาเยือนวัดมากขึ้น ความใหญ่โตจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น และเช่นเดียวกับวัดใหญ่ไม่น้อย มีฆราวาสเสนอมอบรถยนต์ให้หลวงพ่อชา
หลวงพ่อชาจึงเรียกประชุมสงฆ์ของวัดหนองป่าพงเพื่อพิจารณาว่าสมควรรับยานพาหนะหรือไม่ ที่ประชุมสงฆ์ส่วนใหญ่เห็นว่า สมควรรับรถไว้ เพื่อความสะดวกเมื่อต้องเดินทางไปที่ใด อีกเหตุผลหนึ่งคือเมื่อพระเณรอาพาธ ก็สามารถพาส่งหมอทันท่วงที
หลวงพ่อชาถามว่า แล้วเราไม่อายชาวบ้านหรือ ชาวบ้านแถบนี้มีฐานะยากจน บ้างไม่มีแม้แต่เกวียน แต่ก็ตักบาตรเลี้ยงพระทุกวัน พระคือผู้สงบระงับ ต้องมักน้อยสันโดษ หน้าที่พระคือบำเพ็ญธรรม หลุดพ้นจากสิ่งปรุงแต่งให้มากที่สุด การมีรถยนต์เป็นเรื่องประหลาดพิกล
ที่ประชุมจึงเลิกคิดจะมีรถยนต์ประจำวัด
หลวงพ่อชาใช้ชีวิตเป็นนักธุดงค์ธรรม เดินป่าเดินเขาไปทุกที่ เดินเป็นระยะทางไกลๆ มาตลอดชีวิต รถยนต์มิเพียงเป็นส่วนเกิน ยังเป็นส่วนที่ทำให้ความเป็นพระขาดหายไป
ต่อมาโยมอีกรายหนึ่งขับรถมาทิ้งไว้ถึงที่กุฏิ เจตนาให้หลวงพ่อใช้ ท่านก็วางเฉยราวกับว่ารถยนต์คันนั้นไร้ตัวตน เพราะไม่สนใจไยดีรถยนต์คันนั้นเลย จนในที่สุดผู้ให้ก็ต้องรับรถคืนไป
หลวงพ่อชาใช้ชีวิตอย่างสันโดษโดยแท้ อาศัยอยู่ในกุฏิเก่า ไร้ข้าวของ มีแต่สิ่งของจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่รุงรัง ฉันข้าวมื้อเดียว ไม่เก็บสะสม ไม่มีเงินฝากในธนาคาร
เราไม่จำเป็นต้องครองธรรมแบบหลวงพ่อชา ก็สามารถสตรีมไลน์ชีวิตได้
นานๆ ทีควรมองตัวเองว่า เรารุงรังไปหรือไม่ ทั้งร่างกายและจิตใจ
ร่างกายรุงรังคือน้ำหนักเกิน โทรม โรคภัยกล้ำกราย
จิตใจรุงรังคือตะกรันของความโลภ ตัณหา ความอยาก เกาะหัวใจ
ขัดสนิมและตะกรันออกไปจากใจบ้าง
ใช้ชีวิตเรียบพอดี งดงาม ไม่รุงรัง
เรียกว่า streamlined life
Streamlined life
Beautiful life
คอลัมน์ ลมหายใจ / เรื่อง : วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/