‘ไต้หวัน’ เป็นหนึ่งในเกาะเล็กๆ ของเอเชียที่เต็มไปด้วยสีสัน แม้ว่าประวัติศาสตร์ของเกาะนี้จะไม่ได้เก่าแก่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในภูมิภาคนี้ แต่ความหลากหลายของเชื้อชาติและการผสมผสานวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงชนชาติอื่นๆ ที่ทั้งอพยพลี้ภัยการเมืองหรือกระทั่งเข้ามาเป็นชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจะเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ฮอลันดา สเปน หรือญี่ปุ่น ที่ต่างวางรากฐานและสร้างรูปแบบขนบและวัฒนธรรมเฉพาะตัวอันมีเสน่ห์ของไต้หวัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การสาธารณสุข รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากร
ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและการวางรากฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทำให้ไต้หวันกลายเป็นเมืองที่ให้คุณค่ากับ ‘ประวัติศาสตร์’ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ ‘มูลค่าให้กับสิ่งใหม่’ ซึ่งเราจะเห็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ควบคู่ไปกับสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่ผ่านการคิดเพื่อให้เกิดความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ดังนั้นเกาะเล็กๆ แห่งนี้จึงเป็นเมืองในฝันของผู้ที่หลงใหลในงานศิลปะและวัฒนธรรมจากทั่วโลก ให้เดินทางมาสัมผัสสักครั้งและทางภาครัฐก็พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก ‘ไต้หวัน’ ทุกแง่มุมเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาซึมซับออกไปสู่สายตาคนทั่วโลก
เราทราบข่าวจากเพื่อนในวงการวรรณกรรมว่าปี 2019 นี้ มีนักเขียนไทยท่านหนึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ให้มาเป็น ‘ศิลปินในพำนัก’ หรือ ‘Resident Artist’ ที่ ‘Treasure Hill Artist Village’ หมู่บ้านศิลปินที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำซินเตี้ยน (Xindian) ในย่าน Zhongzheng ของเมืองไทเป เราจึงนัดหมายกับนักเขียนท่านนั้นที่ ‘หมู่บ้านศิลปิน’ เพื่อพูดคุยสอบถามถึงความเป็นมาที่ทำให้เขาตัดสินใจยื่นขอทุนและเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับศิลปินจากทั่วโลกในดินแดนที่เปิดกว้างแห่งนี้
บ่ายคล้อยของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เราเดินทางจากศูนย์กลางเมืองไทเปไปยังสถานี MRT Gongguan จากนั้นเดินขึ้นเนินเขาไปราวสิบนาทีก็ถึง ‘Treasure Hill Artist Village’ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรา ‘เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์’ คือนักเขียนที่เราเดินทางมาพบในครั้งนี้ เขายืนรอพวกเราอยู่ด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้าน เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งหยุดทำการ รวมถึงหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย จึงต้องมีคนจากภายในหมู่บ้านออกมาพาเราเข้าไปด้านใน
ชื่อ ‘เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์’ คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับนักอ่านชาวไทย เพราะนักเขียนและกวีผู้นี้มีผลงานกว่า 20 เล่ม การันตีด้วยรางวัลมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘ช่อการะเกด’ (เรื่องสั้น ‘บุรุษไปรษณีย์ผู้หลงลืมบ้านของตน’) รางวัลดีเด่นสมาคมภาษาและหนังสือฯ พ.ศ.2537 (เรื่องสั้น ‘เรื่องเล่า สายน้ำ และความตาย’) รางวัลเรื่องสั้นดีเด่น ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ปี พ.ศ.2547 (รวมเรื่องสั้น ‘ชีวิตสำมะหาอันใด’) รางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ.2547 (จากบทกวี ‘แม่น้ำรำลึก’ กวีนิพนธ์ที่นำเสนอเรื่องราวของการย้อนทวนความคิดของชายชรา กลับไปสู่ชีวิตช่วงวัยเยาว์) รวมถึงเป็นนักเขียนรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2557
เรวัตร์เริ่มด้วยการพาพวกเราเดินชมหมู่บ้าน ‘Treasure Hill Artist Village’ ที่แม้ว่าวันนี้ร้านรวงจะพากันปิดไปทั้งหมด ทำให้เราพลาดโอกาสเข้าชมแกลลอรี่หลายๆ แห่ง แต่มนต์เสน่ห์ของอาคารบ้านเรือนที่มีอายุกว่า 70 ปีของหมู่บ้านนี้ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย
รายนามศิลปินและหมายเลขสตูดิโอที่ติดไว้หน้าทางเข้าหมู่บ้าน บ้านเรวัตร์ หมายเลข 4-6
แรกเริ่มเดิมทีเนินเขาริมแม่น้ำซินเตี้ยนเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของทหารพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) นำโดยเจียงไคเช็กที่อพยพข้ามช่องแคบหลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่ราวทศวรรษ 1940 ซึ่งในไทเปมีการตั้งหมู่บ้านทหารเช่นเดียวกันนี้กระจัดกระจายหลายแห่ง และเข้าข่ายการตั้งบ้านเรือนอย่างผิดกฎหมาย ทว่ารัฐบาลไม่ได้รื้อทำลายชุมชนเหล่านี้ แต่กลับรับฟังเสียงประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ และประสานงานกับกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านศิลปะ แล้วก่อเกิดโครงการ Global Artivists Participation Project (GAPP) ที่เน้นการปฏิรูปชุมชนเก่าแก่ให้มีระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้น ในขณะที่จะไม่ทำลายสิ่งปลูกสร้างและวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่จะมีการเติมความคิดสร้างสรรค์และพื้นที่ทางศิลปะเพื่อสร้างชีวิตใหม่และทำให้เป็นชุมชนที่เป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันระหว่าง ‘รากเ‘ง้า’ กับ ‘ความทันสมัย’
หมู่บ้านทหารยุคเจียงไคเช็กในปี พ.ศ.2546 vs หมู่บ้านศิลปิน (ที่บูรณะแล้ว) ในปัจจุบัน
หลังจากปิดหมู่บ้านเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ.2550 โดยได้ Marco Casagrande สถาปนิกชื่อดังชาวฟินแลนด์มารับหน้าที่ควบคุมการฟื้นฟูชุมชนแห่งนี้เป็นระยะเวลาสามปี ‘Treasure Hill Artist Village’ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ศิลปินทั่วโลกสมัครเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายแขนง ซึ่งหากคณะกรรมการพิจารณาว่าโครงการที่นำเสนอมีความน่าสนใจ ก็จะได้รับการตอบรับและสามารถเช่าสตูดิโอหรือที่พักในราคาย่อมเยา ตั้งแต่ 1,000 – 3,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อสัปดาห์ และไม่เพียงหมู่บ้านนี้จะเต็มไปด้วยศิลปินจากทั่วโลกเท่านั้น ยังมีครอบครัวดั้งเดิมทั้งหมดราว 20 ครอบครัวที่ตัดสินใจย้ายกลับมาพำนักที่เดิม รวมถึงคุณปู่ทหารของเจียงไคเช็กซึ่งอายุมากที่สุดและเป็นที่รู้จักไปทั่วไต้หวันด้วย
ดังนั้น ‘Treasure Hill Artist Village’ จึงเป็นบันทึกสำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่รัฐบาลเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ กระทั่งหนังสือพิมพ์ ‘The New York Times’ ยังให้นิยามว่าเป็น ‘จุดหมายปลายทางที่ห้ามพลาดเมื่อคุณมาเยือนไต้หวัน’
เราเดินตามเรวัตร์ขึ้นเนินเขาไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งก่อนถึงยอดเนิน บ้านหลังนี้เป็นบ้านพักของเรวัตร์นั่นเอง และบริเวณโดยรอบยังมีบ้านพักของศิลปินจากทั่วโลกมากมายที่ใช้พื้นที่บนเนินเขาแห่งนี้สร้างสรรค์งานศิลปะของพวกเขา เราขออนุญาตเข้าไปนั่งในบ้านนักเขียนเพื่อแอบดูโต๊ะทำงาน เรวัตร์อธิบายเพิ่มเติมว่าเขาและเพื่อนศิลปินจำนวนหนึ่งมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยรูปแบบที่แตกต่างจากปกติ เพราะพวกเขาได้รับการคัดเลือกจากทางโครงการ ‘Resident Artist’ ของรัฐบาลให้มาพำนักที่นี่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เรวัตร์เล่าว่า “ทุนนี้ไม่มีตัวเงิน มีแต่บ้านพักพร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งสามารถไปแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ประจำโครงการได้” ซึ่งโครงการ ‘Resident Artist’ ที่เรวัตร์สมัครเข้ามาและผ่านการคัดเลือกนั้น เริ่มมาจากการที่เขาได้รับเชิญมาร่วมงานเทศกาลกวีไต้หวัน (Taipei Poetry Festival) เมื่อสองปีที่ผ่านมาเรวัตร์ได้พบกับ ‘ซากีร์’ นักเขียนซีไรต์ชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นแขกรับเชิญเช่นกัน รวมทั้งยังเป็น‘ศิลปินในพำนัก’ ของรัฐบาลไต้หวันอีกด้วย ซากีร์เป็นคนแนะนำให้เรวัตร์สมัครเข้าร่วมโครงการพร้อมทั้งพาไปเยี่ยมชม ‘Treasure Hill Artist Village’ นั่นจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำเรวัตร์ตัดสินใจยื่นใบสมัคร “ในส่วนของขั้นตอนการสมัคร เราก็เขียนประวัติการทำงานที่น่าสนใจของตัวเราเอง รวมทั้งแผนงานที่จะทำในไทเป แล้วส่งตรงไปยังเจ้าของโครงการได้เลย”
เรวัตร์ไม่เคยสมัครเข้าร่วมโครงการประเภทนี้มาก่อน แต่ก็ตัดสินใจเพราะมีความชื่นชอบเมืองนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “ไต้หวันเป็นเมืองในฝันเมืองหนึ่งเลยครับ ทั้งในแง่ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรโดยองค์รวม รวมทั้งศิลปะที่ปรากฏอยู่ทุกซอกมุม และกลายเป็นดุลยภาพให้เมืองอุตสาหกรรมได้อย่างลงตัวและน่าทึ่ง นี่คือเมืองที่มองเห็นคุณค่าของงานศิลปะ และพร้อมให้คนภายนอกเข้ามามองดูมันผ่านผลงานศิลปะของพวกเขาอย่างเป็นอิสระ นี่คือเมืองที่เปิดกว้างและใจกว้างครับ” เขาบอกเล่าที่มาที่ไป “และเท่าที่พอทราบ แต่ละปีมีศิลปินจากทั่วโลกสมัครกันมาราว 700 คน และเขาจะคัดเลือกเหลือเพียง 20-25 คน และอะไรที่เข้าข่ายเป็นงานศิลปะ ก็สามารถยื่นใบสมัครมาได้”
แม้ว่าโครงการ ‘Resident Artist’ ที่เรวัตร์ได้รับการคัดเลือกจะไม่ได้มีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินพอที่จะสามารถนำไปจัดพิมพ์ผลงานเพื่อเผยแพร่ แต่รัฐบาลไต้หวันยังมีโครงการอื่นที่สนับสนุนทุนสำหรับนักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ต่างชาติ รวมถึงทุนสำหรับจัดพิมพ์งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน นั่นคือโครงการ The Pivot South Translation and Publishing Program ของแผนกสิ่งพิมพ์ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่ย่างเข้าสู่ปีที่สามและต่อยอดมาจากโครงการ Translation Grant Program ที่ให้ทุนสนับสนุนการพิมพ์กับสำนักพิมพ์ทั่วโลกที่ซื้อลิขสิทธิ์งานของไต้หวันไปแปล แต่ที่ต่างออกไปคือทุน The Pivot South เน้นการให้ทุนประเทศในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคโอเชียเนีย ซึ่งได้แก่ กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, ลาว, มาเลเซีย,บรูไร, อินโดนีเซีย,เมียนมา, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ศรีลังกา, เนปาล, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, อินเดีย,ภูฏาน, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในระยะสองสามปีมานี้ สำนักพิมพ์และนักแปลชาวไทยก็ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้หลายรายด้วยกัน เรวัตร์เสริมว่า “ในส่วนของเงินทุนสำหรับจัดพิมพ์ผลงาน ผมเสนอขอทุนสนับสนุนจากโครงการ The Pivot South กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และทุนสำหรับค่าครองชีพก็ทำเรื่องขอจากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ในฐานะที่เคยได้รับรางวัลศิลปาธร”
สำหรับเงื่อนไขที่ทาง ‘ศิลปินในพำนัก’ ต้องทำให้กับโครงการนั้น เรวัตร์กล่าวว่าไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก เขาต้องการให้ศิลปินมาสร้างผลงานโดยนำเอาแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการอาศัยอยู่ในไต้หวันมาเป็นองค์ประกอบในชิ้นงาน และก่อนหน้าที่เขาจะได้รับเลือกในปีนี้ ก็มีศิลปินจากประเทศไทยได้รับเลือกมาแล้วหนึ่งคน โดยศิลปินท่านนั้นนำเสนอผลงานในรูปแบบศิลปะ ส่วนเรวัตร์จะนำเสนอผลงานในรูปแบบวรรณกรรม และเขาก็มีพล็อตนิยายที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการแล้ว “นวนิยายที่จะเขียนชื่อ ‘ฝูงนกอพยพ’ ซึ่งได้รับแรงดาลใจจากเมื่อครั้งมาร่วมงานเทศกาลกวี เพราะผมได้มองเห็นดวงตาหวาดหวั่นของบรรดาแรงงานไทยในสนามบินเถาหยวน และเมื่อครั้งเป็นหนุ่มไม่เป็นโล้เป็นพาย แม่เคยแนะนำให้ผมบินมาเสี่ยงโชคที่ไต้หวัน เหมือนชายหนุ่มหลายๆ คนในหมู่บ้าน รวมทั้งได้รับรู้ข่าวสารว่ามีแรงงานไทยบางคนงมหอยในลำธารมาปรุงอาหาร แล้วถูกพยาธิขึ้นสมองจนโคม่า นี่คือโครงเรื่องคร่าวๆ ครับ” เรวัตร์ถึงกระบวนการทำงานในการเขียนนิยายเรื่องนี้ ว่าไม่ได้แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขานัก หลังจากบ่มเพาะเรื่องที่จะเขียนเอาไว้ภายในจนได้ที่ เขาก็จะเริ่มลงมือเขียน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ‘ความรู้สึกร่วม’ เพราะครั้งหนึ่งเรวัตร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาผ่านอาชีพ ‘ใช้แรง’ มาหลากหลายประเภททั้ง รับจ้างตัดอ้อย ผลิตรองเท้า เฝ้าสวนฯลฯ หากไม่ได้เลือกเป็นกวี เขาก็อาจจับพลัดจับผลูมาเป็นแรงงานในไต้หวัน เช่นเดียวกับคนไทยหลายๆ คน “การได้มาที่ไต้หวันทำให้ผมได้สัมผัสดินน้ำลมไฟและฤดูกาลที่เป็นจริง รวมทั้งได้ลงพื้นที่ไปคุยกับแรงงานไทยด้วย ซึ่งขณะเขียนนิยายเริ่งนี้ ผมจะจินตนาการว่าตนเองเป็นแรงงานไทยคนหนึ่งครับ”
ผังงานที่เรวัตร์เขียนเอาไว้ข้างฝาในบ้านพักศิลปิน
หลังจากใช้ชีวิตที่หมู่บ้านศิลปินบนเนินเขานี้มาร่วมสองเดือน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เรวัตร์กำลังจะมีนิทรรศการนำเสนอผลงานเป็นครั้งแรก ในชื่อ ‘BIRD ON WIRE (ฝูงนกอพยพ): Interactive Evening With Rewat Panpipat and His Writing Desk’ (ค่ำคืนแห่งการปฏิสัมพันธ์: เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กับโต๊ะเขียนหนังสือประจำตัว) ซึ่งรูปแบบนิทรรศการจะเป็นการเชิญชวนนักอ่านพบปะนักเขียนในบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมกับแลกเปลี่ยนทรรศนะและแรงบันดาลใจ รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง ‘ฝูงนกอพยพ’ ที่เรวัตร์ใช้ ‘การอพยพของฝูงนก’ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงแรงงานต่างด้าวหรือคนพลัดถิ่นในปัจจุบัน ในขณะที่ฝูงนกไต้หวันอพยพโยกย้ายถิ่นหนีฤดูหนาวจากเกาะเล็กๆ ไปยังเมืองไทย ทว่า ‘ฝูงนก’ อีกกลุ่มหนึ่งจากเมืองไทยกลับหลีกลี้หนีความแร้นแค้นมายังไต้หวันในทุกฤดูกาล เพื่อเสี่ยงโชคหวังจะก่อร้างสร้างตัวและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ชีวิตของ ‘ฝูงนก’ ในกลุ่มหลังนี้อยู่ในสภาวะง่อนแง่น ไม่ต่างจากการแขวนชีวิตเอาไว้บนเส้นด้าย และในนิทรรศการนี้เรวัตร์จะนำโต๊ะเขียนหนังสือที่เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะนวนิยายเรื่องนี้มาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่ให้นักอ่านนำโปสการ์ดติดตัวมาด้วยคนละแผ่น พวกเขาสามารถมานั่งตรงหน้านักเขียน เล่าเรื่องราวของตัวเอง และนักเขียนจะเขียนถ้อยคำสั้นๆ หรือบทกวีลงบนโปสการ์ดแผ่นนั้น เป็นของที่ระลึกจากงานนิทรรศการที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลกนี้
ในวันที่เราพบกันนั้น เรวัตร์กำลังเตรียมพร้อมสำหรับนิทรรศการ เราถามต่อว่าสิ่งที่ชื่นชอบในโครงการ ‘Resident Artist’ นี้คืออะไร เขาตอบว่าน่าจะเป็นเพราะโครงการนี้มีอิสระ ไม่มีเงื่อนไขที่ผูกมัดหรือตีกรอบตัวศิลปิน “เมื่อคุณทำงานจบ เขาก็จะจัดนิทรรศการให้คุณ และมีเงินให้จำนวนหนึ่ง ก่อนจะให้คุณนำผลงานกลับบ้านไป” เรวัตร์ทิ้งท้ายกับเราอีกว่าหลังจบโครงการนี้ “ผมมีแผนงานที่จะทำต่อเนื่องอยู่ ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้นชุด นวนิยาย และกำลังมองหาทุนจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพื่อจะได้เสนอแผนงานใหม่ๆ ด้วยครับ”
ระยะเวลาสามเดือนของโครงการ ‘Resident Artist’ ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ มากมายให้แก่เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ไม่เพียงเขาจะได้มองเห็นไต้หวันในรูปแบบที่มีมิติและแตกต่างออกไปจากภาพข่าวหรือบทความที่ได้อ่านจากเว็บไซต์ แต่รัฐบาลและชุมชนชาวไต้หวันเอง ก็จะได้รับรู้มุมมองกลับด้านที่คนต่างชาติมองเข้ามายังบ้านของพวกเขาด้วย และมุมมองเหล่านั้นจะทำให้พวกเขาสามารถทำความรู้จักกับ ‘ตัวตน’ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และ ‘ตระหนัก’ ว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด เพื่อให้‘คุณค่า’ กับประวัติศาสตร์ พร้อม‘เปิดรับ’ สิ่งใหม่ได้อย่างมีดุลยภาพและพอเหมาะพอควร