แม้ละคร บุพเพสันนิวาส จะลาจอแก้วไปแล้ว แต่ปรากฏการณ์ความโด่งดังยังคงเป็นที่จดจำ กล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงต่างๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือบทละครอันโดนใจ ซึ่งเล่าเรื่องราวของนิยายได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งยังดึงเสน่ห์ของตัวละครออกมาจนเป็นที่รักของคนดูทั่วประเทศ ผู้ซึ่งรับหน้าที่ดัดแปลงบทประพันธ์สู่บทโทรทัศน์คือ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ หรือ “ครูแดง” นักเขียนบทละครมือทองของวงการ การันตีฝีไม้ลายมือและความเชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปี พร้อมรางวัลบทละครยอดเยี่ยมจากเวทีอันทรงเกียรติมากมาย จึงไม่น่าแปลกที่ละครเรื่องนี้จะถูกอกถูกใจคนไทยทั่วประเทศ
ศัลยาเริ่มต้นทำงานเขียนบทละครโทรทัศน์โดยการชักชวนของ “ไพรัช สังวริบุตร” ผู้เป็นครูคนแรกและคนเดียวที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาเขียนบทละครให้แม้เธอจะจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อหรือวงการโทรทัศน์เลย แต่ด้วยความรักการอ่านหนังสือ การอยู่ในครอบครัวที่ทำงานในสาขาอาชีพนี้ ทำให้ศัลยาใกล้ชิดกับบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องละครอยู่เป็นประจำ จนบ่มเพาะและฉายแววความสามารถนี้ออกมา
นักเขียนบทละครกับคนทำอาชีพอื่นอ่านนิยายสักเรื่องย่อมเห็นในสิ่งที่แตกต่างกัน สิ่งที่ครูแดงมองหาเวลาอ่านนิยายเพื่อมาดัดแปลงเป็นบทละครมีอะไรบ้าง
ครูอ่านนิยายไปก็ต้องนึกตลอดว่าจะนำเสนอเป็นภาพอย่างไร เพราะหน้าที่ของครูคือถ่ายทอดตัวอักษรให้เป็นภาพ เสียง การสนทนา แอคติ้ง และโลเคชั่น ถ้าในนิยายไม่ได้กำหนดไว้ ครูต้องคิดขึ้นเองหมด คำบรรยายหรือพรรณนาโวหารทั้งหลายครูต้องเลือกว่าจะยกอันไหนมาแจกแจงขยายเป็นเหตุการณ์ อันไหนควรตัดทิ้ง และอันไหนควรเล่าด้วยประโยคเดียวจบ รวมทั้งครูยังต้องเรียงลำดับเหตุการณ์ในนิยาย ซึ่งบางครั้งผู้เขียนใช้วิธีเล่าสลับหน้าสลับหลัง แต่คนอ่านสามารถเข้าใจได้เพราะเขาอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ทว่าละครไม่สามารถสลับแบบนั้น ต้องเรียงลำดับเหตุการณ์ให้แม่นยำ และบางครั้งเรายังต้องอ่าน between the line หรือนัยที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเพื่อหาคำตอบ หาที่มาที่ไป เช่น ทำไมพ่อแม่เป็นคนดี๊ดี แต่ลูกเลวโดดขึ้นมาเลย ครูต้องหาเหตุผล หาใครสักคนที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมตัวละคร อาจเป็นคนที่เลี้ยงดู เพราะบทละครที่ดีคนดูต้องไม่รู้สึกสะดุดว่าทำไมตัวละครทำแบบนี้
มีนิยายแนวไหนบ้างไหมคะที่ยากสำหรับการทำละคร
นวนิยายทุกเล่มทำละครได้หมด อยู่ที่เราดึงมาใช้มากแค่ไหน บางเรื่องอาจแค่ 20% บางเรื่องใช้ได้ทั้งหมด เช่น นิยายของ “โบตั๋น” ครูใช้ได้หมดตั้งแต่คำแรกถึงคำสุดท้ายเพราะมีรายละเอียดเยอะมาก ถ้าของ “ทมยันตี” ก็จะได้พล็อต (plot) หรือโครงเรื่องที่สมเหตุสมผล มีบทสนทนาที่คมคาย ของ “ศรีฟ้า ลดาวัลย์” เขียนประวัติศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์ ท่านมีความรู้มากทำให้นิยายเต็มไปด้วยข้อมูลที่สมจริง ถ้านักประพันธ์เขียนมาละเอียด คนเขียนบทมีหน้าที่แค่เรียบเรียงใหม่ แต่ถ้าบทประพันธ์หลวมก็เปิดโอกาสให้คนเขียนบทได้ใช้จินตนาการคิดขึ้นเอง เป็นข้อแตกต่างที่ดีคนละแบบ
ละครหลายเรื่องมีการสร้างตัวละครเพิ่มจากบทประพันธ์ มีหลักเกณฑ์ในการเพิ่มเติมตัวละครอย่างไร
คนที่นิยายกล่าวถึงนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีบทบาทสำคัญก็จะถูกตัดออก ส่วนคนที่เติมนั้น เพื่อทำหน้าที่ขยายความให้ตัวละครบางตัว เช่น ตัวเอก ในนิยายไม่ได้กล่าวถึงเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร ดำรงตนเป็นพระเอกลอยๆ ในบ้านหลังมหึมา ครูจำเป็นต้องเพิ่มตัวละครแวดล้อมขึ้น ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพียงให้องค์ประกอบสมบูรณ์ แต่ยังทำหน้าที่ที่เรียกว่า “คู่บท” เขามีอยู่เพื่อถ่ายทอดความคิดความอ่าน ความเป็นไปของตัวเอก อาจจะมาเพื่อรับฟัง ปรึกษา หรือพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับตัวเอก ไม่เช่นนั้นตัวเอกจะอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่มีคนพูดจา หรือกลายเป็นพูดคนเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูไม่ทำเลย บทละครที่ดีต้องไม่พูดคนเดียวเพราะธรรมชาติของคนไม่ทำกัน
“ตัวร้าย” จำเป็นต้องมีในละครไทยไหม หรือตัวร้ายได้กลายเป็นวัฒนธรรมของละครไทยไปแล้ว
กฎเกณฑ์การเกิดเรื่องราวของละครทุกชาติเหมือนกันคือต้องมีคอนฟลิกต์ (conflict) หรือความขัดแย้ง บางทีตัวดีกับตัวดีมีความขัดแย้งกันก็มี ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวร้าย แต่โดยทั่วไปความขัดแย้งเกิดจากอุปนิสัยต่างกัน ความคิดต่างกัน ถ้าเป็นคนดีทั้งคู่แม้คิดต่างก็อาจไม่เกิดความขัดแย้งยาวหรอก แต่ถ้าเป็นคนที่อุปนิสัยไม่เป็นไปตามกติกาสังคมจะสร้างเรื่องราวได้ยาวและน่าสนใจกว่า
ชื่อของ “ศัลยา” ถือเป็นนักเขียนบทละครพีเรียด (ละครย้อนยุค) มือทอง ในการเขียนบทละครพีเรียดมีจุดที่ต้องระวังตรงไหนเป็นพิเศษรึเปล่า
คำว่า “สวัสดี” มักหลุดเป็นประจำ แต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่มีคำนี้ใช้ หรือการใช้ราชาศัพท์ เช่น หม่อมแม่ ไว้เรียกแม่ที่เป็นสามัญชนแล้วแต่งงานกับเจ้า มีฉากที่เล่าย้อนหลังครูก็เขียนบทสนทนาด้วยภาษาธรรมดา ทางกองถ่ายหวังดีไปเปลี่ยนเป็นราชาศัพท์หมดเลย แต่มันไม่ถูกต้อง
ครูแดงมีการติดตามข่าวสารเพื่อประกอบการเขียนอย่างไรบ้าง ดูซีรีส์เกาหลีหรือละครต่างประเทศบ้างไหมคะ
ครูติดตามแต่ข่าว พอเริ่มเขียน บุพเพสันนิวาส มีคนส่งศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้ที่เขาใช้กันมาให้อ่าน แต่ครูก็ไม่ได้ใช้คำเฉพาะเกินไป ศัพท์โบราณเสียอีกที่ต้องค้นเยอะกว่า ส่วนซีรีย์เกาหลีหรือซีรีส์ฝรั่งครูไม่ได้ดูเลย มีเหมือนกันที่บอกว่าบุพเพฯ เหมือนละครเกาหลี ครูไม่เคยดูเขาเป็นยังไง แต่ละครก็คือการเขียนชีวิตคน มันจะไปต่างอะไรกันมากมาย เรื่องเล่าเจ้าหญิงเจ้าชายเหมือนๆ กัน
งานนักเขียนบทละครโทรทัศน์ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันหลากหลาย ครูแดงมีแนวคิดในการทำงานอย่างไรเพื่อรับมือกับความโหดหินที่อาชีพนี้ต้องเจอ
งานหลายอย่างถ้าเราตั้งใจทำให้ดี ผลลัพธ์ที่ได้มักเป็นที่พอใจ แต่งานเขียนบทละครโทรทัศน์นี้แม้เราตั้งใจ 200% แล้ว แต่ใช่ว่าผลตอบรับจะดี เพราะการเดาใจคนดูนั้นยากมาก ครูทำงานตรงนี้มานานจนคิดได้ว่าเราทำเต็มที่ ไม่เคยย่อหย่อนในงาน ถ้าจะไม่ตรงใจคนดู เราก็แค่ยอมรับ เราทำดีที่สุดแล้ว และหยุดความคิดว้าวุ่นไว้ตรงนั้น ไม่เป็นไรเดี๋ยวมีเรื่องใหม่ เรื่องที่จบไปแล้วให้มันจบไป เป็นไปไม่ได้ที่เขียนสิบเรื่องจะดีจะดังทั้งหมด แต่งานทุกวันนี้เริ่มจะโหดกับครูตรงที่ครูยังเขียนบทด้วยลายมือ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ จึงเขียนได้ช้าและมีปวดข้อมือบ้าง
สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ควรมีคุณสมบัติอย่างไรเพื่อไปให้ถึงฝันพร้อมยืนหยัดบนเส้นทางนี้อย่างมั่นคง
ต้องเป็นคนที่ชอบภาษาและหลงใหลเรื่องราวชีวิตคน เพราะอาชีพของเราคือการเล่าเรื่องชีวิตที่นำพาไปสู่จุดสูงสุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความรัก หรือจบลงที่ความตาย ต้องสนุกที่ได้เล่า และถ้าจะให้ยาวนานมั่นคงต้องมีความภาคภูมิใจในอาชีพ มีความปรารถนาดีต่อคนดู เสนอสิ่งที่จรรโลงจิตใจพร้อมให้สาระแก่ชีวิตเขา ไม่เขียนอะไรที่รุนแรงโดยไม่มีคุณค่า เราต้องพยายามให้คนดูรู้ว่าถ้าชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ทางแก้คืออะไร แล้วคุณจะจัดการชีวิตอย่างไร
ละครสมัยนี้มีฉากที่รุนแรงกว่าแต่ก่อน ครูแดงมีความเห็นอย่างไรบ้างกับประเด็นนี้
ชีวิตคนมีระดับอารมณ์ทุกขั้นอยู่แล้ว แต่คนเขียนบทต้องระวัง หากจะเขียนฉากที่แสดงความรุนแรงจำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ ไม่ใช่แรงเพื่อความสะใจ เพื่อความมันในอารมณ์ แรงแล้วต้องมีบทสรุปให้ จะเอาอย่างฝรั่งที่เขียนแรงแล้วจบลงที่ผู้ร้ายชนะไม่ได้ ละครไทยต้องหาบทสรุปของการกระทำที่รุนแรงด้วยสิ่งที่เรียกว่าการคืนสนอง หรือกรรมสนอง คนเลวจะลอยนวลอย่างนี้ไม่ได้ มันคือแง่งามของละคร ที่ละครเรื่องหนึ่งควรให้ความงามเช่นนี้เกิดขึ้น
อุปสรรคที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเจอเมื่อคิดอยากมาเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์คืออะไร
ต้องเจอแน่ๆ คือบทถูกฉีก ซึ่งครูเจอมาแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเลย ทุกอาชีพก็เหมือนกัน ใช่ว่าจะทำได้ดีตั้งแต่เริ่มต้น ทุกคนต้องผ่านการฝึกฝน และแม้ว่าวันนี้ทำได้ดี เขียนแล้วละครปัง ต่อไปวันข้างหน้าอาจไม่ดีก็ได้ งานทุกชิ้นมีขึ้นมีลง ขอเพียงเราทำด้วยใจที่เต็มร้อยก็พอ
ถ้าสมมติให้เป็นตัวละครที่เคยเขียนบทมาแล้วได้หนึ่งวัน ครูแดงอยากไปใช้ชีวิตเป็นใคร
เป็นการะเกดก็ได้ เพราะครูคงไปทำไปพูดอะไรอีกหลายอย่างจากที่การะเกดทำ อาจได้ทำเมนูใหม่ๆ มากขึ้น
3 เล่มในดวงใจ “ศัลยา”
• พิกุลแกมเกดแก้ว โดย “สีฟ้า”
เป็นนิยายความรักและการเมือง ซึ่งผู้เขียนได้สอดแทรกการเมืองอย่างละเอียดมาก เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2475–14 ตุลาคม 2516 เป็นเรื่องที่ครูชอบมากและอยากเขียนบทละครมากที่สุด
• หนังสือธรรมะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
• เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ หรือฉบับหอสมุดแห่งชาติ
เป็นหนังสือที่แสดงสภาพสังคมชาวบ้านสมัยอยุธยา มีครบทุกรสชาติ ถ้าได้เขียนบทละครคงมีความสุขมาก ควรค่าสนับสนุนให้เยาวชนได้รู้จัก