ออลฯ เคยสัมภาษณ์นักเขียนหลายท่านที่หนังสือของเขาได้รับการแปลงเป็นละครหรือภาพยนตร์ แต่ยังไม่เคยคุยกับผู้ที่แปลงเรื่องราวจากภาพยนตร์เป็นหนังสือเล่ม ครั้งนี้เรามีโอกาสสนทนากับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับและนักเขียนบทมากฝีมือ ผลงานภาพยนตร์ของเขาโด่งดังและทำรายได้มหาศาล เช่น 2499 อันธพาลครองเมือง นางนาก ฟ้าทะลายโจร หมานคร เปนชู้กับผี และอินทรีแดง
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าความใฝ่ฝันอีกอย่างของวิศิษฏ์คือการเขียนหนังสือ และมีผลงานของตัวเอง เขาได้สานฝันสำเร็จด้วยผลงานเล่มแรก รุ่นพี่ ซึ่งเป็นเรื่องราวขยายจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่วิศิษฏ์ทั้งเขียนบทและกำกับ คนอ่านตอบรับเป็นอย่างดีจนเกิดหนังสือภาคต่อในชื่อ รุ่นน้อง และผลงานเล่มล่าสุด เปนชู้กับผี ซึ่งเคยเป็นภาพยนตร์เช่นกัน แม้ผู้อ่านที่เคยดูภาพยนตร์จะรู้เรื่องราวแล้ว แต่หนังสือก็พาคุณไปสัมผัสอรรถรสแห่งปมเรื่องและความนึกคิดของตัวละครอย่างลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม
เราไม่ค่อยรู้ว่างานเขียนหนังสือเป็นงานที่คุณใฝ่ฝันอย่างหนึ่งด้วย
เป็นเรื่องปกติของคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กที่มักจะมีความฝันอยากเป็นนักเขียนอยู่แล้ว เคยเขียนเรื่องสั้นสมัยยังเรียนมหาวิทยาลัยลงนิตยสารเปรียว เป็นเรื่องตลกๆ ไร้สาระ ไม่ถึงขั้นเป็นวรรณกรรมอะไร ผมรู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ฝีมือสูง ถึงแม้ผมจะเขียนบทภาพยนตร์ แต่บทเป็นเรื่องของการไกด์ไลน์สำหรับถ่ายทำ ไม่ต้องใช้ความสวยงามของภาษาหรือแม้แต่การเขียนบรรยาย บทที่เขียนก็ถูกแปลงออกมาเป็นภาพ ไม่มีใครเห็นนอกจากทีมงานเบื้องหลัง ผมถึงทึ่งกับคนที่เป็นนักเขียน เพราะทุกๆ ตัวอักษรคืองานที่เผยแพร่สู่สาธารณชนทั้งหมดโดยไม่ผ่านการดัดแปลง แถมต้องจับใจคนอ่านได้ด้วย การเขียนหนังสือจึงเป็นความฝันนะ แต่ไม่คิดว่าจะได้ทำ หรือถ้าได้ทำคงเป็นตอนสูงวัยกว่านี้ที่งานไม่ยุ่งแล้วครับ
อย่างไรก็ดี ผลงานเล่มแรก รุ่นพี่ ก็ได้ปรากฏโฉมพร้อมกับภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วอะไรมาก่อนกันระหว่างหนังสือกับภาพยนตร์
ภาพยนตร์มาก่อน ตอนนั้นวางแผนสร้างภาพยนตร์ที่เป็นซีรีส์ อาจเป็นละครทีวีก็ได้ เราจึงสร้างตัวละครที่ใช้ได้เรื่อยๆ จากนั้นเกิดไอเดียทำเป็นนิยายซีรีส์ด้วย เลยปรึกษากับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ว่าสนใจไหม พอดีเขาสนใจเลยได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ข้อดีอย่างหนึ่งของการแปลงเรื่องราวจากบทภาพยนตร์เป็นหนังสือเล่มคือ เรื่องราวทั้งหมดชัดเจนอยู่แล้ว เราเพิ่มเติมในส่วนรายละเอียด ภูมิหลังตัวละครที่ลึกขึ้น ซึ่งภาพยนตร์ไม่สามารถใส่ลงไปได้ทั้งหมดเนื่องจากข้อจำกัดของเวลา บางส่วนถ่ายทำไปแล้วแต่จำเป็นต้องตัดทิ้ง เราก็นำซีนเหล่านั้นมาอยู่ในหนังสืออย่างครบถ้วน พร้อมบทเสริมที่คิดขึ้นใหม่เพื่อฉบับหนังสือโดยเฉพาะ
จากความสำเร็จของ รุ่นพี่ และหนังสือภาคต่อในชื่อ รุ่นน้อง ครั้งนี้ไม่ได้แปลงจากบทภาพยนตร์ แต่เขียนขึ้นเพื่อเป็นหนังสือโดยเฉพาะ ถือเป็นความท้าทายอีกขั้น
ก็ค่อนข้างยากขึ้นนะครับ ทางสำนักพิมพ์เปิดโอกาสให้ ตอนแรกไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม แต่สำนักพิมพ์อยากให้เขียนต่อ ก็ทดลองดู แต่ยอมรับว่ายากขึ้น ข้อดีของการเป็นหนังสือคือไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัด เช่น โลเคชั่นถ่ายทำ อีกทั้งเราสามารถใช้วิธีการของนิยายได้อย่างอิสระ ยิ่งเป็นเรื่องสืบสวนฆาตกรรม ในนิยายสามารถใช้ภาษาหลอกคนอ่านได้ พรางคนร้ายด้วยบทบรรยายแล้วค่อยมาขมวดปมตอนท้าย แต่ภาพยนตร์เป็นเรื่องของภาพ ดังนั้นจึงใช้วิธีเดียวกันไม่ได้
ความแตกต่างของศาสตร์ภาพยนตร์กับศาสตร์การเขียน ทำให้คุณพบปัญหาเรื่องการถ่ายทอดบ้างไหม
บทภาพยนตร์มีไว้เพื่อเป็นไกด์ในการถ่ายทำ หน้าที่ของการบรรยายจึงเป็นเรื่องของภาพ ของสถานที่ถ่ายทำ ดังนั้นในบทภาพยนตร์เราไม่จำเป็นต้องเขียนบทบรรยายสถานที่ แต่นิยายต้องมีเพราะคนอ่านอาจนึกภาพไม่ออก ผมมีปัญหาเรื่องคลังคำเหมือนกัน รวมทั้งวิธีใช้ภาษาให้สละสลวย ไม่ให้คำซ้ำมากเกินไป หรือเวลาเขียนถึงสิ่งเดิมซ้ำอาจต้องเปลี่ยนคำ ผมต้องทวนต้นฉบับหลายรอบเลย แก้ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าโอเค ผมจึงนับถือนักเขียนอาชีพมากๆ บางคนเขียนได้สละสลวยโดยแทบไม่ต้องแก้ ผมว่าเป็นเรื่องพรสวรรค์ ส่วนตัวรู้สึกว่างานเขียนของผมมีข้อติคือ เป็นหนังสือในหมวดวัยรุ่น young-adult แต่เราพ้นวัยนั้นมานานแล้ว ภาษาที่ใช้จึงรุ่นเก่าไปนิดหนึ่ง ก็พยายามใช้ศัพท์ทันสมัยที่สุดเท่าที่พอรู้ครับ
งานเขียนเล่มล่าสุด เปนชู้กับผี เคยเป็นภาพยนตร์เช่นกัน ทำไมถึงเลือกหยิบเรื่องนี้มาเขียนเป็นหนังสือ
จริงๆ แล้ว เปนชู้กับผี คือหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ผมเขียนสำเร็จก่อน รุ่นพี่ อีกครับ เมื่อห้าปีก่อนมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งติดต่ออยากแปลงเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ฉายไปแล้ว เป็นรูปแบบหนังสือ เขาซื้อเรื่องแล้วให้นักเขียนคนอื่นเรียบเรียงให้ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำสิ่งที่เราใฝ่ฝันมาตลอด เลยเสนอตัวขอเขียนเอง ทว่าด้วยเหตุผลบางประการทำให้ไม่ได้พิมพ์ออกมา นี่เพิ่งหมดสัญญากันไป ทางสถาพรบุ๊คส์อยากให้เขียนภาคต่อของรุ่นน้อง แต่ผมไม่มีเวลาจึงเสนอเรื่องนี้ที่เคยเขียนจบไว้แล้ว เขาก็สนใจเพราะมีนโยบายสนับสนุนวรรณกรรมจากละครหรือภาพยนตร์ ซึ่งผมว่าดีมากเพราะเปิดตลาดทั้งคนดูหนังและคนอ่านหนังสือ
เรื่องราวในหนังสือมีการแต่งเติมให้แตกต่างกับภาพยนตร์หรือไม่อย่างไร
เนื้อเรื่องดั้งเดิมมีความซับซ้อนกว่าที่เห็นในภาพยนตร์ ในหนังสือคือบทดั้งเดิม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาของภาพยนตร์ที่มีแค่สองชั่วโมง ทำให้ต้องตัดทิ้งไปบางส่วน ถ้าใครที่กลัวว่าอ่านแล้วจะไม่สนุกเพราะรู้เนื้อเรื่องหมดแล้ว บอกได้ว่าหนังสือไม่เหมือนในหนัง ส่วนตัวผมคิดว่าฉบับหนังสือได้เปิดมิติใหม่ให้เรื่องผี หมายถึงผีก็มีชีวิตของเขา มีการเดินทาง เรียนรู้ เติบโตเหมือนคน เพียงแต่อยู่ในโลกวิญญาณ ประเด็นนี้ยังไม่มีใครทำและคิดว่าน่าสนใจ
เปนชู้กับผี ฉบับภาพยนตร์ได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องความน่ากลัว โดยเฉพาะบรรยากาศแสง สี เสียง ที่ถือเป็นจุดเด่น เมื่อเป็นหนังสือองค์ประกอบดังกล่าวย่อมไม่มีอีกแล้ว ทำอย่างไรที่จะคงความหลอนไว้ได้เมื่อมีแค่ตัวอักษรในการเล่าเรื่อง
ผมก็พยายาม แต่เนื่องจากเป็นการเขียนหนังสือเล่มแรกจึงมีข้อบกพร่องเยอะ อย่างไรก็ตามผมพยายามแปลงบรรยากาศเป็นตัวหนังสือ ใช้คำบรรยายที่สื่ออารมณ์ความเยือกเย็น ชวนให้รู้สึกว่ามีสิ่งลึกลับอยู่รอบตัวตลอดเวลา ในภาพยนตร์ผมตั้งใจทำเพื่อเชิดชูงานของครูเหม เวชกร โดยใช้การจัดแสง สี ตามภาพวาดของท่าน ทีนี้ผมได้อ่านงานวรรณกรรมของครูเหมตั้งแต่เด็ก จึงใช้วิธีครูพักลักจำบ้าง นำกลิ่นอายความรู้สึก การบรรยายแบบครูเหมที่คุ้นเคยตอนเด็กกลับมา แต่ไม่ทราบว่าคนรุ่นนี้รู้สึกอย่างไร ต้องลองดู
งานเขียนทั้งสามเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณหรือผี ส่วนตัวชื่นชอบเรื่องแนวนี้?
เป็นความบังเอิญ แต่ก็มีส่วนที่สนใจอยู่บ้าง เพราะตอนเด็กอ่าน ต่วยตูนพิเศษ เยอะ เกี่ยวกับเรื่องลึกลับ อีกอย่างเราเกิดในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเรื่องแนวนี้ แม้เทคโนโลยีจะรุดหน้าไปไกล แต่คนยังเชื่อเรื่องวิญญาณอยู่ไม่น้อย และพูดตรงๆ ผีของไทยก็ไม่น้อยหน้าใคร เรามีเอกลักษณ์ของเรา เรียกว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างแข็งแรง ถ้าสังเกตจะพบว่าผมพยายามบรรยายเรื่องผีในเชิงพลังงาน ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าร่างกายเราคือพาหนะ วันหนึ่งต้องพังต้องหยุด แต่พลังงานที่อยู่ในนั้นยังไปต่อ ไม่สลายไปพร้อมร่างกาย ส่วนคนที่เห็นเพราะเขามีคลื่นที่จูนตรงกัน ในเรื่อง รุ่นน้อง ผมนำเรื่องภาพถ่ายเคอร์เลียน (Kirlian photography) มาพูดถึง คือเขาทดลองถ่ายภาพใบไม้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยไฟฟ้า โดยตัดใบไม้ทิ้งครึ่งหนึ่ง แล้วนำไปถ่ายภาพ ปรากฏว่าภาพที่ออกมายังเห็นใบไม้ส่วนที่ตัดทิ้งไปแล้ว เป็นพลังงานที่ยังคงรูปร่างเดิมก่อนโดนตัด เมื่อถ่ายอีกครั้งพลังงานที่หลงเหลือจะค่อยๆ จางลง แล้วก็หายไป ส่วนตัวคิดว่านี่คือหลักฐานชิ้นเดียวที่จะนำมาอธิบายเรื่องวิญญาณ
มีแนวไหนอีกไหมที่อยากเขียน
จริงๆ มีอีกเล่มเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา เขียนมา 20 ปีแล้วยังไม่จบ แต่ก็เลยครึ่งเล่มไปแล้ว
ปัจจุบันนับว่ามีผลงานหนังสือออกมาถึงสามเล่มแล้ว ความฝันในการเป็นนักเขียนถือว่าสำเร็จแล้วหรือยัง
จะเรียกว่านักเขียนเต็มตัวยังไม่ได้ เพราะหนังสือของผมเป็นการเอาบทภาพยนตร์มาแปลง ในวงวรรณกรรมเขาไม่นับว่าเป็นการเขียนนัก ผมถือว่ายังไม่สำเร็จ แต่มีเรื่องที่อยากเขียนเยอะ ติดที่ต้องใช้เวลาเพราะงานประจำก็ยังต้องทำอยู่ แต่การเขียนหนังสือเป็นงานที่ชอบที่สุด ส่วนตัวชอบทำงานคนเดียวเงียบๆ มากกว่า อย่างการทำหนังผมชอบช่วงเขียนบทและตัดต่อที่สุด ส่วนออกกองเป็นช่วงที่วุ่นวายมาก
วางแผนอย่างไรต่อไปสำหรับเส้นทางอาชีพนักเขียน
พูดตามตรง สถานการณ์ของตลาดหนังสือทำให้เราคิดหนัก ไม่ใช่ลังเลเรื่องผลตอบแทน แต่เมื่อเราเขียนก็อยากให้คนอ่าน แต่ปัจจุบันมีสื่อต่างๆ มาแย่งพื้นที่เยอะ ขนาดตัวเราที่เคยเป็นนักอ่านยังใช้เวลาอ่านลดลง เหมือนทำหนังทำละครเราก็อยากให้คนชอบเยอะๆ ไม่ใช่ชื่นชมกันในกลุ่มเล็กๆ แล้วเราไม่เหมือนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่เดินทางต่อไปทั่วโลก บ้านเราถ้าคนไทยไม่อ่านก็จบ แต่ก็ยังอยากเขียนต่อไปอยู่นะ อยากสู้ต่อ เพียงแต่ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ครับ
สำหรับคุณแล้ว เสน่ห์ของวงการหนังสือที่ดึงดูดให้อยากเข้ามาเป็นนักเขียนคืออะไร
ผมเรียกว่า “การจมดิ่ง” ถ้าคนอ่านหนังสือจะเข้าใจดี มีช่วงที่เราอ่านจนเหมือนจมหายเข้าไปในหนังสือ เมื่อเราอิน เมื่อเราต่อกับมันติด เราจมอยู่ในนั้น ลืมโลกไปเลย เป็นช่วงเวลาที่ดีมาก แต่ภาพยนตร์ทำไม่ได้ เพราะเวลามันสั้น แล้วภาพยนตร์คอยเตือนเราเสมอว่าสิ่งที่ดูเป็นสิ่งสมมติ เช่น จอขนาดใหญ่ มีผู้คนนั่งอยู่กับเราเยอะ แต่การอ่านหนังสือเราอยู่คนเดียวเงียบๆ เหมือนนั่งสมาธิ มันค่อยๆ ซึมลึกเข้าไป ตอนเป็นนักเรียนผมอ่านถึงเช้า คืนละเล่มเกือบทุกคืน ไม่น่าเชื่อว่าเราจะอยู่กับมันได้นานถึงเจ็ด-แปดชั่วโมง เป็นความอัศจรรย์ที่หนังสือทำได้
3 เล่มในดวงใจ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
• แผ่นดินของเรา “แม่อนงค์” (มาลัย ชูพินิจ) พูดถึงประเด็นความรักได้ไกลกว่าที่คนอื่นพูด และเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง
• ข้างหลังภาพ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) วรรณกรรมขึ้นหิ้งที่พูดถึงประเด็นความรัก ภายใต้บริบทสังคมที่มีข้อห้ามมากมาย ทำให้รู้สึกเศร้าไปกับเรื่องราวของตัวละคร
• Never Let Me Go (แผลลึกหัวใจสลาย) Kazuo Ishiguro เมื่อไม่รู้ว่าชีวิตจะสั้นหรือยาว จะใช้ชีวิตที่มีอย่างไร ความฝันต่างๆ ยังสำคัญอยู่อีกไหม อ่านจบแล้วรู้สึกโตขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น