นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ เปิดเรื่องให้นายไฮน์ริช เบิล ชาวเยอรมัน นักแปลและล่ามแปดภาษาผู้มีชื่อเสียง ได้รับการติดต่อจาก “กรมพระฯ” เจ้านายชั้นสูงของสยามผู้ลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่ชวา ให้แปลบันทึกความทรงจำที่ยังทรงเขียนไม่จบเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากนั้นผู้เขียนก็พาผู้อ่านเข้าไปสัมผัสชีวิตการต่อสู้ของกลุ่มกองโจรใต้ดินของชวา ซึ่งมีบุหลันหรือบุหรงและศรี อรพินโท เป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ในการต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ายึดครองชวาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา และพร้อมกันนั้นก็พยายามปลดแอกจากอำนาจของชาวดัทช์ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิม
นอกจากสงครามในเอเชีย ผู้เขียนพาผู้อ่านเข้าร่วมรู้บางเสี้ยวของสงครามกลางเมืองสเปนที่ฝ่ายกบฏร่วมรบต่อต้านพวกฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก ผู้นำสเปนซึ่งมีท่านฟูเร่อร์แห่งเยอรมนีหนุนหลัง ผู้เขียนแสดงการหักเหลี่ยมซ้อนกลและความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของสายลับเยอรมันซึ่งเป็นหนอนบ่อนไส้ในกองทหารอาสา อันทำให้เปิดโฉมหน้าของไฮน์ริช เบิล ว่าที่แท้คือ ฟรังซัวร์ อูแบง (สะกดตามนวนิยาย) ซึ่งเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ อัตลักษณ์ และตัวตนของไฮน์ริช เบิล หลังจากเขาถูกสังหารโดยกองทหารนาซี
จากสงครามกลางเมืองในสเปนผู้เขียนนำผู้อ่านกลับเข้าสู่สงครามต่อต้านอำนาจผู้ยึดครองชวา ไฮน์ริช เบิลคนใหม่ยินดีเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่นและขับเคี่ยวกับพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุหลันและศรี อรพินโท ทั้งนี้เพราะเขาหลงรักบุหรง ต่อมาเขาได้รับรู้ความจริงหลังจากเธอถูกสังหารว่าบุหรงคือคนเดียวกับบุหลันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนให้กลุ่มกบฏ และตัวเธอเองก็เป็นนักรบผู้ห้าวหาญในกองทัพใต้ดินของชวา สุดท้ายความพ่ายแพ้และการสูญเสียหญิงที่ตนรักทำให้ไฮน์ริช เบิลหมดไฟชีวิต เขาเผาข้าวของที่เตือนใจให้นึกถึงดินแดนชวา รวมทั้งบันทึกความทรงจำของกรมพระฯ ที่ยังแปลไม่เสร็จนั้นด้วย
อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้ภาพซ้ำของการกบฏไม่ว่าจะเกิดในสยาม ชวา สเปน และญี่ปุ่น สื่อให้เห็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของคนสองฝ่ายต่างอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ทุกแห่งทุกเวลา ความคลุมเครือ ความเหนือจริง ความลึกลับ สัญลักษณ์ อาการกึ่งจริงกึ่งฝัน และเรื่องเล่าลวงๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่อง ย้ำให้ตระหนักถึงความลวงอันเป็นเงาหลอกล่ออยู่เบื้องหน้าความจริง เช่นเดียวกับการเชิดหนังซึ่งผู้ชมมองเห็นแต่เงาดำโลดแล่นอยู่บนฉากขาวที่บดบังตัวหนังและคนเชิดผู้ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
วายัง อมฤต ซึ่งเป็นชื่อของนวนิยายเรื่องนี้ หมายถึงโลกแห่งอุดมคติ โลกที่อาจจะดูเลื่อนลอยเหมือนเงาดำของหนังวายัง กุลิต แต่มีความจริงที่สัมผัสได้อยู่ในนั้น นั่นคืออุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติที่ตกผลึก และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ วายัง อมฤต เป็นโลกที่เรียกร้องให้เราเสียสละละทิ้งตัวตน เหลือเพียงภาพเงาดำชั่วขณะบนฉากขาวเท่านั้น ดังนั้น แม้เรื่องราวของนักปฏิวัติแห่งชวา ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เอเวอร์เดล อามีร์ ฮาริฟุดดิน บุหลันหรืออดิรัต ฮาฟิช และศรี อรพินโท จะกลายเป็นเพียงเงาในฉากประวัติศาสตร์การเมืองของชวา แต่อุดมคติในการเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิมยังคงดำรงอยู่เสมอและส่งทอดต่อมาไม่ขาดสาย ฉะนั้น วายัง อมฤต โลกแห่งอุดมคติจึงมีอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของอีกหลายประเทศทั่วโลก
นอกจากคุณค่าสาระของเรื่องที่ชวนติดตาม การประกอบสร้างนวนิยายด้วยศิลปะการประพันธ์ซึ่งมีชั้นเชิงและการเรียงร้อยด้วยถ้อยภาษากึ่งโบราณอันสอดคล้องกับตัวบท ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องวายัง อมฤต มีความโดดเด่น นวนิยายเรื่องนี้เดินเรื่องรวดเร็ว เริ่มบทแรกก็ “เปิดตัว” ปริศนาสำคัญของเรื่องสองอย่าง อย่างแรกคือบันทึกลับภาษาเยอรมันของกรมพระฯ ซึ่งแม้จะเป็นอัตชีวประวัติแต่ก็ย่อมพาดพิงถึงบุคคลและเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผู้เขียนชิมลางให้ได้อ่านบันทึกกรมพระฯ เพียงหนึ่งย่อหน้า แต่ก็สร้างมายาว่าบันทึกนี้มีอยู่จริงหรือว่าเป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียน? อย่างที่สองคือตัวละครบุหรง หญิงสาวลึกลับ มีเสน่ห์ดึงดูดใจแปลกประหลาด ซึ่งผู้อ่านจะรับรู้ในเวลาต่อมาว่าเธอคือศูนย์กลางของสงครามและความรักที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ของขบวนการปลดแอกชวา
อนุสรณ์ “เล่น” กับ “ทวิภาพ” ของตัวละคร เช่น บุหรง ผู้อ่อนโยนและลี้ลับกับบุหลัน ผู้เร่าร้อน พลุ่งพล่านและเปิดเผย เธอเป็นพี่น้องฝาแฝดหรือว่าเป็นคนคนเดียวกันกันแน่ ศรี อรพินโท อยู่ในภาพของเจ้าของร้านหนังสือผู้สมถะกับนักรบผู้กล้าในขนวนการปลดแอกของชวา ไฮน์ริช เบิล ทหารหนุ่มชาวเยอรมันผู้ชอบอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็เป็นสายลับสืบหาหนอนบ่อนไส้ในกองทหารอาสา ฟรังซัวร์ อูแบง นักรบอาสาชาวฝรั่งเศสในสงครามสเปน ผู้ขโมยอัตลักษณ์ของไฮน์ริช เบิล แล้วปลอมตัวเป็นนักแปลผู้รู้หลายภาษา รูดอล์ฟ เบิร์นฮาร์ด สายลับเยอรมันที่ส่งตรงมาจากท่านฟูเร่อร์ให้แอบแฝงอยู่ในกองกำลังอาสาต่อต้านนายพลฟรังโก ซ้ำร้ายยังเป็นนกสองหัวที่ลอบขายอาวุธสงครามไร้ประสิทธิภาพให้ทั้งฝ่ายทหารของนายพลฟรังโกและฝ่ายต่อต้าน ปีเตอร์ เอเวอร์เดล เป็นทั้งวีรบุรุษผู้ปลดแอกของคนพื้นเมืองและผู้ทรยศในสายตาของเจ้าอาณานิคม แม้แต่สถานที่ รสา ดาราห์ ก็เป็นทั้งซ่องโสเภณีชั้นสูงและกองกำลังของพวกกบฏปลดแอก และการตามหาบุหรง เกอมาเตียน นกแห่งความตายก็เป็นอุปมานิทัศน์แทนการตามหาบุหรง สตรีปริศนาที่ไฮน์ริช เบิลได้ร่วมเสน่หา
นอกจากนี้ ผู้เขียนยัง “เล่น” กับ “เรื่องเล่า” หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของบุหลันเกี่ยวกับสงครามในครอบครัวอันว่าด้วยวาทกรรมแม่เลี้ยงใจร้ายที่เล่าขานซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องเล่าต่างๆ เรื่องเล่าของไฮน์ริช เบิลถึงสงครามโหดร้ายและการหักหลังในสเปน เรื่องเล่าของพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ บูชิโดผู้เหี้ยมโหด ถึงสงครามความอดอยากในวัยเยาว์และสงครามแห่งความตายในหลายพื้นที่ แม้แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับนิ้วหัวแม่โป้งข้างซ้ายที่ขาดหายไปของพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ก็มีมากหลาย แต่ละเรื่องให้ภาพบุคลิกและอุปนิสัยของซามาโมโต้ต่างกันไป เพื่อให้คนอ่านตระหนักถึงความจริงกับความลวง สิ่งที่เหมือนกันในเรื่องเล่าเหล่านี้คือการต่อสู้เพื่อยึดครองหรือขับไล่ อันทำให้สร้างคู่ตรงกันข้ามระหว่างวีรบุรุษกับกบฏ ชัยชนะกับความพ่ายแพ้ ความเป็นกับความตาย การเข่นฆ่ากับมิตรภาพ อุดมคติกับมายาคติ ไปตลอดทั้งเรื่อง ในการเล่นกับความจริงความลวง นอกจากใช้ทวิภาพของตัวละครและเรื่องเล่าหลากหลายแล้ว ผู้เขียนยังนำชื่อบุคคลจริงมาสร้างบุคลิกใหม่ เช่น ชื่อไฮน์ริช เบิล ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลโนเบล ชื่ออังเดร มาลโรซ์ ซึ่งเป็นนักเขียนคนดังชาวฝรั่งเศส
ทุกครั้งที่มีการทำสงคราม ย่อมมีฝ่ายชนะและฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็พบกับความสูญเสีย ความเจ็บปวด การพลัดพราก และบาดแผลในใจที่ไม่อาจเยียวยา แม้ความตายก็อาจเป็นเพียงการพักผ่อนอันยาวนาน แต่ไม่ได้หมายถึงการจบสิ้น จิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าเดิมได้รับการสืบทอดต่อเนื่องไม่ขาดสายนับร้อยนับพันปี จากรุ่นสู่รุ่น ในทุกพื้นที่ของความขัดแย้ง หลายครั้งไม่ใช่เพื่อมาตุภูมิของตน แต่เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมแก่โลก ดังที่ ปีเตอร์ เอเวอร์เดล ลูกครึ่งสยาม-เยอรมัน ต่อสู้เพื่อปลดแอกชวาจากเจ้าอาณานิคมดัทช์ ไฮน์ริช เบิล ในร่างของฟรังซัวร์ อูแบง ร่วมกับกองกำลังใต้ดินของชวาต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ทั้งสองคนถือเป็นภาพแทนของมนุษยชาติที่ร่วมกันขจัดอธรรมเพื่อสร้างโลกที่เป็นธรรม
แนวคิดสำคัญของนวนิยายเรื่องวายัง อมฤต อยู่ที่ “ มิตรภาพ อำนาจ และความไม่จิรังของชีวิต” ซึ่งเป็นสามสิ่งที่กรมพระฯ ต้องการบอกกล่าวไว้ในบันทึกอัตชีวประวัติที่ทรงต้องการให้แปลเป็นภาษาไทย บันทึกประวัติศาสตร์เล่มนี้มีจริงหรือไม่ไม่สำคัญ เพราะหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงย่อมบันทึกถึงความคุณค่าของมิตรภาพ ความหอมหวานของอำนาจ และความไม่จิรังของชีวิตไว้เสมอ
วายัง อมฤต แสดงพัฒนาการด้านฝีมือการประพันธ์ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ที่จัดจ้านขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีผลงานนวนิยายแล้วสี่เรื่องและเรื่องสั้นอีกหลายเล่ม คุณภาพของนวนิยายเรื่องนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในฐานะรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์